ซ้อน A NEW MUSICAL

ถ้าพูดถึงมือหนึ่งด้านมิวสิคัลในบ้านเราแล้ว ชื่อแรกๆ ที่นึกถึงคงหนีไม่พ้น Dreambox ผู้เขียนยังคงประทับใจเสมอกับผลงานเรื่อง แม่นาค เดอะมิวสิคัล (2009) ที่เป็นละครเวทีที่ร้องเพลงตลอดเรื่องโดยไม่มีบทพูดปกติเลย (หรือที่เรียกว่า Sung-through) นอกจากบทเพลงที่ไพเราะทรงพลัง สิ่งที่ชื่นชอบอีกอย่างคือการตีความที่น่าสนใจ จำได้ว่ากว่าตัวแม่นาคจะตายก็ตอนจบองก์แรก เพราะ ‘แม่นาค’ ของ Dreambox ไม่ได้เน้นความเฮี้ยนของแม่นาค แต่กำลังพูดถึงผู้หญิงที่ยังไม่พร้อมยอมตาย

แต่หลังจากนั้น ก็ไม่มีผลงานมิวสิคัลใดของ Dreambox ที่จับใจผู้เขียนได้เท่า ‘แม่นาค’ อีกเลย ไม่ว่าจะ น้ำใสใจจริง เดอะ มิวสิคัล (2010), Fame the Musical (2011) หรือ DREAMGIRLS (2012) จนทำให้ผู้เขียนห่างเหินกับงานมิวสิคัลของ Dreambox ไปพักใหญ่ (แต่ละครพูดปีที่แล้วอย่าง ราตรีที่สิบสองหรือเอาที่สบายใจ ก็ถือว่าเพลิดเพลินทีเดียว)

เมื่อ Dreambox ประกาศว่าปีนี้จะมีมิวสิคัลเรื่องใหม่ชื่อ ซ้อน A NEW MUSICAL ผู้เขียนก็ตั้งความหวังพอสมควร ประกอบกับสื่อประชาสัมพันธ์ที่เป็นรูปบ้านในเงาทะมึนและกล่องเหล็กปริศนา ดูลึกลับและไม่ค่อยบอกอะไรกับผู้ชมนัก บางคนเข้าใจไปว่านี่เป็นละครผีน่ากลัว แต่แท้จริงแล้ว ‘ซ้อน’ ว่าด้วยความทรงจำราวร้อยปีที่ถูกบรรจุอยู่ในบ้านหลังหนึ่ง ผ่านการบอกเล่าของผู้คนหลายรุ่นหลายสมัย

ละครเปิดเรื่องด้วยยุคปัจจุบัน ชายหนุ่มคนหนึ่งมายังบ้านเก่าแก่ประจำตระกูลพร้อมกับเพื่อนอีกสามคน กลุ่มหนุ่มสาวพยายามสืบเสาะเรื่องอดีตของบ้านหลังนี้ ทั้งจากรูปถ่าย เอกสารภายในบ้าน รวมไปถึงการค้นข้อมูลจากสมาร์ตโฟน ไปๆ มาๆ มันจึงไม่ใช่เพียงการแกะรอยอดีต หากแต่กลายเป็นการสืบสาวถึงรากเหง้าของตัวเอง

จุดที่น่าสนใจของ ‘ซ้อน’ คือการเล่าเรื่องแต่ละช่วงเวลาด้วยการเอาพื้นที่มาช่วย ละครดำเนินไปในบ้านหลังเดิมตลอดเรื่อง มีห้องนั่งเล่นตรงกลางและห้องอีกสี่ห้องอยู่ตามมุม เรื่องราวต่างๆ เกิดขึ้นสลับไปมาในสี่ห้องนี้ นั่นคือไม่ต้องมีการเปลี่ยนฉากให้วุ่นวาย แต่การเปลี่ยนตำแหน่งห้องสามารถแทนการ ‘เปลี่ยนยุค’ ได้ ซึ่งถือเป็นกลวิธีการเล่าที่น่าสนใจและผู้ชมสามารถตามเรื่องได้อย่างง่าย

‘ซ้อน’ เป็นละครที่ใช้วิธีแบบ Sung-through เช่นเดียวกับ ‘แม่นาค’ มีสองคนที่เป็นนักแสดงเสียงดีระดับตัวแม่นั่นคือ ธีรนัยน์ ณ หนองคาย และมณีนุช เสมรสุต ซึ่งในเรื่องนี้ พวกเธอก็ทำได้ดีแบบไม่เสียมาตรฐาน อย่างไรก็ดี เนื้อเรื่องในองก์แรกไม่ได้น่าสนใจนักสำหรับผู้เขียน มันวนเวียนอยู่ที่เรื่องชู้สาวและความรักที่ไม่สมหวัง ถ้าให้พูดตรงๆ คือออกจะน่าเบื่อหน่ายอยู่ไม่น้อย

องก์ที่สองของ ‘ซ้อน’ มีความเซอร์ไพรส์ขึ้นมาบ้างด้วยพล็อตหักมุมเกี่ยวกับเรื่อง LGBT แต่ก็ไม่ได้เหนือความคาดหมายอะไรและเชื่อว่าผู้ชมหลายคนเดาล่วงหน้าได้ แต่สิ่งที่เซอร์ไพรส์จริงๆ ของครึ่งหลังคือการปรากฏตัวของตัวละคร ‘เพียงใจ’ ที่รับบทโดย พัชราวลี ดำรงค์ธรรมประเสริฐ ซึ่งถือเป็นนักแสดงที่ร้องเพลงได้ไพเราะจับใจที่สุด โดยเฉพาะตอนร้องเพลงไฮไลท์ ‘มีความทุกข์เมื่อไรให้มองเดือน’ อันว่าด้วยชีวิตคนเราที่ต้องผ่านเรื่องราวดีและร้ายเป็นสามัญ

ผู้เขียนยิ่งรู้สึกออกห่างจาก ‘ซ้อน’ มากขึ้นทุกทีในช่วงท้ายเรื่องที่จังหวะละครเร่งเร้าขึ้นเพราะเป็นช่วงเฉลยคลี่คลายความลับของตัวละครทั้งหมด ละครใช้เทคนิคการร้องเพลง ‘ความทรงจำในหีบเหล็ก’ ซ้ำไปมาอยู่ 3-4 รอบ แต่ดูจะเป็นการย้ำคิดย้ำทำมากกว่าน่าตื่นเต้น และเรื่องราวที่ถูกเฉลยออกมาก็ไม่ได้น่าตื่นเต้นตื่นใจอะไร

ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เขียนรู้สึกไม่คล้อยตามไปกับการตัดสินในตอนจบ เมื่อเด็กหนุ่มตัดสินใจจะเก็บบ้านหลังนี้เอาไว้เพราะมันมีความทรงจำที่มีคุณค่า แต่ผู้เขียนรู้สึกว่ามันไม่ได้พิเศษขนาดนั้น ประกอบกับความเชื่อส่วนตัวที่ว่าสรรพสิ่งบางอย่างก็ควรสูญสลายไปตามกาลเวลา ทว่ามันก็โยงใยมาถึงชีวิตจริงของเราว่าเรื่องประเภทการให้คุณค่าบางทีเราก็ไม่ควรจะไปตัดสินคนอื่น อย่างเรื่องราวใน ‘ซ้อน’ ที่เป็นเพียงเรื่องที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปสำหรับผู้เขียน แต่กลับเป็นประวัติศาสตร์แห่งครอบครัวที่สวยงามสำหรับเหล่าตัวละคร

WATER TIME

ละครเวทีเรื่อง WATER TIME เคยทำการแสดงมาแล้วเมื่อปี 2009 โดยฝีมือการกำกับของ พันพัสสา ธูปเทียน เก้าปีผ่านไป โชโกะ ทานิกาวะ ผู้เขียนบทนำละครเรื่องนี้กลับมาอีกครั้ง ยังคงรับบทแสดงหลักเหมือนเดิม พ่วงด้วยหน้าที่ใหม่คือลงมือกำกับด้วยตัวเอง

เรื่องราวของ WATER TIME เกิดขึ้นในห้องเช่าเล็กๆ แห่งหนึ่งในกรุงนิวยอร์ก เคนจิและน้ำ คู่สามีภรรยาชาวญี่ปุ่น-ไทยอาศัยอยู่ในห้องนี้ด้วยกัน ฝ่ายชายเป็นนักเขียนบทละครเวทีที่ไม่ได้ผลิตงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอันมาสักพัก ส่วนฝ่ายหญิงต้องออกไปทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว เดาได้ไม่ยากเลยว่าความสัมพันธ์ของทั้งคู่กำลังอยู่ในภาวะง่อนแง่นใกล้พังทลาย

ตามชื่อเรื่องที่มีคำว่า Time ดังนั้น ‘เวลา’ จึงเป็นหัวใจสำคัญ เรื่องราวของ WATER TIME แบ่งเป็นสองส่วนด้วยกัน ครึ่งแรกเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนึ่งวันและแทบจะดำเนินเรื่องตามเวลาจริง (real time) ดังนั้นเรื่องจึงไม่ได้มีอะไรมาก เป็นเพียงการทะเลาะกันไปมาของเคนจิกับน้ำ แต่จากเดิมที่สื่อสารกันเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อความโกรธครอบงำทั้งคู่ เคนจิจึงพูดญี่ปุ่น ส่วนน้ำก็พูดไทย ต่างฝ่ายต่างไม่เข้าใจกัน เดือดร้อนพี่ห้องข้างๆ ที่ต้องมาเป็นล่ามช่วยทั้งสองคน

ช่วงกลางเรื่องว่าด้วยการแปลของพี่เพื่อนบ้านที่เฉไฉบิดเบือนสารเพื่อให้ทั้งคู่กลับมาคืนดีกัน ตอนแรกก็ดูเป็นมุกที่ขำขันดีอยู่ แต่เมื่อฉากนี้ลากยาวนาน มันก็เริ่มซ้ำจนไม่สร้างผลอะไรอีกต่อไป นอกจากนั้นผู้เขียนยังรู้สึกถึงความผิดที่ผิดทางหลายประการ เช่น ตัวละครพี่ข้างห้องที่ดูอายุน้อยกว่าเคนจิ ฝั่งเคนจิกับน้ำก็ไม่ค่อยเหมือนสามีภรรยากันสักเท่าไร หรือบรรยากาศของฉากที่ให้ความรู้สึกเหมือนแฟลตแถวสุทธิสารมากกว่าห้องเช่านิวยอร์ก (แต่นั่นก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญเท่าไร)

ส่วนครึ่งหลัง น้ำกลับมาหาเคนจิด้วยสถานะที่ต่างไปจากเดิม ช่วงท้ายเต็มไปด้วยอารมณ์ที่เข้มข้นของนักแสดง ทั้งคู่อินกับบทจนร้องไห้กันจริงๆ แต่ไม่รู้ทำไมผู้เขียนกลับไม่รู้สึกร่วมตามสักเท่าไร แถมช่วงจบที่เคนจิพูดประโยคซ้ำไปมาก็ดูจะฟูมฟายเกินเหตุไปกันใหญ่

บางทีมันอาจจะเป็นเรื่องของประสบการณ์ชีวิตส่วนตัวก็ได้ รุ่นน้องคนหนึ่งไม่อินกับละครเรื่องนี้ด้วยเหตุผลว่าไม่เคยมีแฟนมาก่อน ส่วนผู้เขียนเองก็อาจจะไม่อินเพราะห่างเหินตายด้านกับเรื่องทำนองนี้มาหลายปี คงเรียกได้ว่า WATER TIME มาในช่วงเวลาที่ไม่ตรง ‘จังหวะ’ กับชีวิตของผู้เขียนสักเท่าไร แม้ว่าความรู้สึกเฉยเมยต่อละครเรื่องนี้จะเหมือนกับเมื่อครั้งที่ดูเมื่อ 9 ปีก่อน และเชื่อว่าหาก 9 ปีข้างหน้ามีการนำมาสร้างใหม่ ก็อาจจะยังรู้สึกเหมือนเดิม

Fact Box

  • ซ้อน A New Musical แสดงถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2561 ณ M Theatre (ถ.เพชรบุรีตัดใหม่) ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/events/464780510617663/
  • WATER TIME แสดงถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2561 ณ Democrazy Theatre Studio (MRT ลุมนิพี) ดูรายละเอียดที่ https://www.facebook.com/events/1823157647730858/
Tags: , , , , ,