ช่วงหลายปีมานี้มีคณะละครไทยที่เริ่มผลิตงานละครเพลงที่เป็น original ของไทยกันมากขึ้น ผู้ชมได้รู้จัก musical ที่นอกเหนือจากวิกของรัชดาลัยเธียเตอร์ ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็นเรื่องที่ดีกับผู้ชมที่จะได้เห็นความหลากหลายของลีลาและรสชาติในการเล่าเรื่องของแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกันไป และฟีดแบ็กจากผู้ชมที่ได้เห็นงานของแต่ละคณะ ก็จะเป็นแรงสะท้อนในการต่อยอดและพัฒนางานของกันและกันให้ดียิ่งขึ้น
ครั้งนี้ผู้เขียนได้มาชมงานคณะละคร Be Musical เป็นครั้งแรก และ สูตรเสน่หา The Musical ก็เป็นเรื่องที่สามของคณะนี้ โดยนำเค้าโครงเรื่องมาจากนิยายชื่อเดียวกันของกิ่งฉัตร ซึ่งบทประพันธ์นี้เคยถูกนำไปสร้างละครทีวีจนโด่งดังมาแล้ว ผู้เขียนจำเรื่องราวของฉบับละครทีวีได้รางๆ และไม่เคยอ่านนิยาย จึงจะขอเขียนถึงเรื่องนี้โดยไม่อ้างอิงถึงเวอร์ชั่นก่อนๆเพราะเนื้อหาอาจมีความแตกต่างกัน
เรื่องราวโดยย่อพูดถึง อลิน (เชียร์ – ฑิฆัมพร ฤทธิ์ธาอภินันท์) อดีตดาราสาวชื่อดังที่มาเป็นพิธีกรรายการอาหารเพื่อต้องการชนะใจคุณอนุชา (เพชร – กรุณพล เทียนสุวรรณ) โปรดิวเซอร์รายการ อลินจึงให้นายตัวเปี๊ยก (อาร์ม – กรกันต์ สุทธิโกเศศ) เพื่อนและเบ๊คนสนิทไปจ้าง พสุ (เก้ง – เขมวัฒน์ เริงธรรม) มาเป็นครูสอนทำอาหารส่วนตัวให้อลิน เรื่องราวความรักดำเนินไปพร้อมกับการค้นหาความหมายของคำว่า ‘ชีวิตที่สมบูรณ์แบบ’
ไอเดียที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสมบูรณ์แบบคือการที่ตัวละครแต่ละคนมีครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์พร้อมตามขนบของสังคมไทยทั่วไป ได้รับความรักกันคนละสูตร จึงส่งผลให้ตัวละครหลักอย่างอลินตามหาชีวิตที่ตัวเองเชื่อว่าสมบูรณ์แบบ แต่เสียดายที่โฟกัสของละครไม่ได้ให้น้ำหนักกับไอเดียนี้เท่าไหร่นัก วิธีการคลี่คลายปัญหาของตัวละครก็ไม่ได้ยึดโยงกับปมครอบครัวขนาดนั้น คือถูกพูดถึงแต่ไม่ได้ให้น้ำหนัก พอถึงฉากที่เน้นปมจริงๆ กลับปล่อยผ่านง่ายไปหน่อย
เรื่องการแสดงผู้เขียนรู้สึกประหลาดใจกับการแสดงละครเวทีครั้งแรกของ เชียร์—ฑิฆัมพร อยู่พอสมควร เพราะในส่วนของการแสดงเธอทำออกมาได้ดีมาก จังหวะคอเมดี้เป็นสิ่งที่เหมาะกับเธอจริงๆ มีความเป็นธรรมชาติและความสบายเวลาอยู่บนเวที อยู่กับแต่ละโมเมนต์ของตัวละครและเก็บรายละเอียดในแอคช่นเล็กๆ น้อยๆ ได้ดี มีจังหวะการแสดงที่คม ชัดทีเดียว สำหรับละครเวทีเรื่องแรกของเชียร์ จึงรู้ได้ว่าผ่านการทำการบ้านและเตรียมตัวที่ดี ทำหน้าที่เป็นคน hold ละครตลอดทั้งเรื่องได้เลยทีเดียว แต่จุดด้อยหนึ่งที่เห็นชัดก็คงจะเป็นเรื่องการร้องเพลง ซึ่งก็เห็นความมั่นใจและตั้งใจของเธอผ่านน้ำเสียงและการแสดงออก และผู้เขียนหวังว่าเธอจะมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในทุกๆ รอบ เพราะแน่นอนว่าเมื่อเป็นละครที่จั่วหัวว่าเป็น musical แล้ว การร้องเพลงก็เป็นสิ่งที่ผู้ชมจะอดตั้งความหวังไม่ได้เช่นกัน
เพลงในละครเรื่องนี้เรียบเรียงได้ดี มีเนื้อความที่เข้าใจง่ายและติดหูและใช้ลูกเล่นในการร้องที่น่าสนใจ หลายช่วงก็ใช้เพลงดำเนินเรื่องได้ดีตามขนบของละครเพลง แต่บางเพลงไม่ค่อยทำหน้าที่ดำเนินสถานการณ์ให้ไปข้างหน้าเท่าไหร่นัก ประกอบกับภาพการเคลื่อนไหวของตัวละครบนเวทีในหลายเพลงที่นิ่งและธรรมดาเกินไป ไม่ได้หมายถึงว่าตัวละครจะต้องโลดโผนเต้นรำตลอดเวลา แต่ในมุมมองผู้เขียน มันควรจะมีมู้ดบางอย่างที่ต่างออกไปจากการพูดปกติของตัวละครให้เห็นถึงความจำเป็นว่าทำไมต้องสื่อสารฉากนั้นๆ ด้วยเพลง บางช่วงละครก็ใช้เพลงและเนื้อหาของเพลงมาเล่าสรุปเรื่องราวและขมวดจบให้ในเพลง ทำให้มนต์เสน่ห์โดยรวมในการใช้เพลงของละคร musical มันหายไป
สิ่งที่ติดใจมากที่สุดสำหรับผู้เขียนน่าจะเป็นเรื่องตัวบทละครและแอททิจูดของตัวละคร ละครพยายามพูดถึงการอย่าตัดสินคนที่ภายนอก ความดีและความสมบูรณ์มันเกิดขึ้นจากความเข้าใจคุณค่าของแต่ละคน แต่ตัวบทละครกลับให้คุณค่าของตัวละครแต่ละตัวไม่เท่ากัน ตัวเอกก็ทำเรื่องที่รุนแรงอย่างการบุลลี่คนอื่นมาตลอด แต่หลังจากได้คลี่คลายปมของตัวเองในตอนจบเรื่อง ก็ทำให้เธอดูเป็นคนดีที่ทุกคนยอมรับได้ ต่างกับอีกตัวละครหนึ่งที่ใช้ความรุนแรงเช่นกันและมีเป็นผลมาจากปมของครอบครัวเหมือนกัน สุดท้ายก็โดนลงโทษ
ขณะที่ความจริงที่ว่าตัวเอกได้ใช้ความรุนแรงกับทุกคนยังอยู่ แต่ถูกเคลือบด้วยความตลกของตัวบท ทั้งหมดจึงขัดแย้งกับสิ่งที่ละครพยายามจะพูดตอนต้นพอสมควร ทั้งยังเป็นการผลิตซ้ำวิธีคิดที่ทำให้คนไทยชาชินกับการบุลลี่คนอื่น ผ่านการให้ตัวละครแต่ละคนยอมรับความรุนแรงทางคำพูดและการกระทำเหล่านั้นได้ด้วยการทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องตลก ซึ่งไม่แน่ว่าผู้ชมก็จะได้ความรู้สึกแบบนั้นและเห็นด้วยไปกับตัวละครอื่นๆ โดยไม่รู้ตัว ยังไม่นับมุกตลกที่ใช้คำพูดเหยียดกันเหมือนตัวร้ายในสมัยก่อน (หรือสมัยนี้ก็อาจจะยังมี) ซึ่งหลายมุกได้รับการยอมรับจากผู้ชมผ่านเสียงหัวเราะ สำหรับผู้เขียนรู้สึกว่าค่อนข้างอันตรายและเป็นสิ่งที่ทีมงานควรระมัดระวัง
อย่างไรก็ตามมีอยู่สองฉากที่ส่วนตัวของผู้เขียนคิดว่าน่าสนใจมากๆ ยิ่งเมื่อประกอบกับข้อสังเกตที่เพิ่งกล่าวมา นั่นคือฉากวัยเด็กของอลินที่ถูกเลี้ยงโดยป้า 3 คน ตัวละครป้าที่แต่งตัวดูเกินจริงและจริตที่เหมือนนางร้ายแบบสเตอริโอไทป์สุดๆ ออกมาร้องเพลงสั่งสอนอลินให้เกลียดพ่อตัวเอง อีกฉากคืออลินร้องเพลงขณะกำลังถูกลักพาตัวและลองนึกถึงสิ่งที่ตัวเองต้องทำเวลาถ่ายละครและเข้าฉากกับผู้ร้าย ทั้งสองฉากล้วนเป็นเรื่องน่ากลัวและคอขาดบาดตาย แต่กลับทำออกมาในลักษณะของคอเมดี้ ทั้งปัญหาการเลี้ยงดูและปัญหาความรุนแรงถูกขยายให้เกินจริงจนดูไม่ซีเรียสนับเป็นการเสียดสีและชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นจริงของสิ่งที่เราเสพในสื่อต่างๆ รวมถึงชวนให้ตั้งคำถามต่อความรุนแรงที่แยบยลทีเดียว นี่จึงอาจจะเป็นอีกสูตรหนึ่งที่น่าจับตา หากได้นำมาปรับใช้กับโครงเรื่องส่วนอื่นๆ หรือในเรื่องอื่นๆ ที่น่าจะทำให้อาหารจานต่อไปของ Be Musical มีรสชาติกลมกล่อมและมีมิติมากขึ้น
Tags: ละครเวที, Musical, สูตรสเน่หา, สูตรสเน่หา The Musical