ในช่วงชีวิตของการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ วัยที่เรามีเริ่มความคิดที่ซับซ้อนขึ้น เริ่มเข้าใจโลกใบนี้ในมุมที่แตกต่างหลากหลาย สวนทางกับจินตนาการเรียบง่ายสมัยเป็นเด็กที่ค่อยๆ หายไป รู้ตัวอีกทีเราต่างก็มีงานที่ต้องทำเพื่อเลี้ยงตัวเอง มีภาระหน้าที่ต้องรับผิดชอบพร้อมกับโบกมือลาความสดใสไร้เดียงสาในวัยเยาว์ เราเข้มแข็งและจริงจังขึ้นกับการใช้ชีวิต และเมื่อเรามีครอบครัว เรามองเห็นความสุข เห็นความสนุกสนานในการเผชิญโลกแบบง่ายๆ ของลูกเราอีกครั้ง ทำให้เราหวนนึกย้อนถึงอดีตเลือนรางเมื่อนานมาแล้ว

หากจะมีงานแสดงแบบไหนที่พาเรากลับไปสัมผัสกับความรู้สึกแบบนั้นอีกครั้ง การแสดงที่พาเราปลดเปลื้องจากความเป็นจริงสู่ความเป็นไปได้ของจินตนาการในอากาศ งานที่ไม่ว่าจะเป็นคนวัยไหนก็กลับไปเป็นเด็กได้อีกครั้ง คงจะเป็นงาน ‘เทศกาลละครใบ้ในกรุงเทพฯ Pantomime in Bangkok’ ที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกเช่นนั้นทุกครั้งที่ไปดู

เทศกาลของคนรักละครใบ้และคนที่หัวใจอยากกลับเป็นเด็ก Pantomime in Bangkok เริ่มต้นครั้งแรกตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 โดยทศเทพ วงศ์หนองเตย ผู้ที่สมัยมัธยมปลายได้รับแรงบันดาลใจจากละครใบ้ ‘คนหน้าขาว’ ของครูอั๋น – ไพฑูรย์ ไหลสกุล ผู้นำศาสตร์ละครใบ้ให้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในประเทศไทย ความชื่นชอบในสมัยเด็กเป็นแรงผลักดันให้เกิดเทศกาลนี้ต่อเนื่องกันจนถึงครั้งที่ 16 ในปีนี้

ผู้เขียนเองเคยมางานเทศกาลนี้หลายต่อหลายครั้ง ปีนี้เทศกาลจัดขึ้นที่โรงละคร M Theatre ในช่วงวันที่ 20-21 กรกฎาคมที่ผ่านมา บรรยากาศในปีนี้ยังเต็มไปด้วยรอยยิ้มของผู้ชมที่มาเป็นครอบครัวซึ่งจะเป็นผู้ชมกลุ่มใหญ่ที่จะเห็นได้ทุกปี ทุกคนตื่นเต้นรอดูนักแสดงละครใบ้ทั้งหน้าเก่าประจำเทศกาลที่แต่ละคนชื่นชอบ รวมถึงนักแสดงหน้าใหม่ที่มาสร้างฐานผู้ชมที่นี่เป็นครั้งแรก 

Pantomime in Bangkok เกิดจากความร่วมมือระหว่างทศเทพและโปรดิวเซอร์ละครใบ้ชาวญี่ปุ่นในการเฟ้นหานักแสดงละครใบ้ยอดฝีมือจากญี่ปุ่นมาแสดงที่นี่ ที่ผ่านมามีทั้งระดับปรมาจารย์ของประเทศและคลื่นลูกใหม่ของวงการมาแจ้งเกิดที่เทศกาลนี้หลายต่อหลายคน บางปีก็มีนักแสดงจากประเทศอื่นๆ รวมทั้งนักแสดงไทยมาเข้าร่วมด้วยเช่นกัน

แสงไฟส่องสว่างเป็นเส้นไปทั่วโรงละครพร้อมกับเสียงจากแอคคอเดียนเพลงธีมของเทศกาลเป็นสัญญาณเริ่มต้นการแสดง เปิดตัวด้วย GURI GURI GIRL สาวน้อยแสนซนกับหน้ากากเด็กผู้หญิงผมจุกพร้อมมือแอคคอเดียนคู่ใจที่ปรากฏตัวกลางที่นั่งผู้ชมและเดินทักทายทุกคน เธอและเพลงประกอบเป็นเหมือนมาสคอตประจำเทศกาลไปแล้ว ผู้ชมในโรงละครปรบมือตามจังหวะอย่างพร้อมเพรียง ตามมาด้วยด้านหน้าเวทีที่มีป้ายผ้าขนาดใหญ่ที่ยาวกินพื้นที่แถวหน้าที่นั่งผู้ชมทั้งหมดเขียนว่า ‘Pantomime in Bangkok 16’ นักแสดงช่วยกันส่งป้ายผ้าให้ผู้ชมช่วยกันส่งต่อขึ้นไปเป็น wave ราวกับทุกคนในที่นั้นได้ร่วมกันเปิดเทศกาลนี้ด้วยกัน

จากนั้น GURI GURI GIRL ทำหน้าที่เหมือนพิธีกรพาเราไปชมการแสดงของศิลปินแต่ละคนผ่านการเปิดป้ายชื่อเรื่องและชื่อศิลปินเพื่อขั้นแต่ละโชว์ หลังจากนั้นความเงียบก็เข้าปกคลุมเหลือเพียงจินตนาการและเสียงหัวเราะของผู้ชมตลอดการแสดง (ผู้เขียนจะขอแนะนำเป็นรายศิลปินไปโดยไม่ได้เรียงลำดับการแสดง)

เริ่มด้วย Yano Kazuki นักแสดงชาวญี่ปุ่นที่ทำงานในประเทศไทยมากว่า 20 ปี เขาทำงานละครใบ้อย่างต่อเนื่องโดยนำเรื่องราวของสังคมไทยเรามาจิกกัดได้อย่างเหลือร้ายผ่านตัวละครซามูไรซึ่งคุณยาโน่ก็ยังจิกกัดความสเตอริโอไทป์ที่ผิดที่ผิดทางของซามูไรซ้อนเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง ปีนี้เขาแสดงเรื่อง SAMURAI OFFICER WORKER เสียดสีระบบการทำงานแบบราชการไทยแบบเก่าๆ ที่ต้องติดต่อเป็นทอดไม่จบไม่สิ้นเสียที จนคุณซามูไรทนไม่ไหวฆ่าล้างบางมันทั้งตึกซะเลย อารมณ์ขันของคุณยาโน่ยังเป็นตลกร้ายที่มีจังหวะตัดฉับแบบเด็ดขาดเช่นเคย

ต่อมาเป็นงานของ AYUKOJI เป็นกลุ่มดูโอที่จับคู่กันระหว่างปรมาจารย์ละครใบ้ญี่ปุ่น Kojimaya Mansuke ผู้เป็นขาประจำเทศกาลนี้มาตั้งแต่ปีแรก กับนักแสดงละครใบ้ที่กำลังมาแรง Ayumi ทั้งคู่มาในเรื่อง HOSPITAL เรื่องราวของคนไข้ที่มารักษาในช่วงที่คุณหมอไม่อยู่ มีเพียงแค่พยาบาลสาวสายซาดิสม์ที่ขออาสาดูอาการให้เพราะต้องการฉีดยาใครก็ได้ที่หลงเข้ามา ความต่างวัยของคู่หูคู่นี้ที่ต่างกันถึง 34 ปีกลับไม่ทำให้เรารู้สึกขัดกันเท่าไหร่นัก ทั้งคู่มีฝีมือที่สูงมากๆ และเก็บรายละเอียดในการแสดงได้ดี เนื้อเรื่องยังคงสไตล์ของอาจารย์โคจิมายะที่มานิ่งๆ ในช่วงแรกก่อนจะเร่งความเร็ว เพิ่มความอลหม่าน และถึงจุดพีคในช่วงท้ายอย่างงดงาม

หากงานของอาจารย์โคจิยามะเน้นที่เนื้อเรื่องที่สนุกสนาน งานต่อไปของ Suzuki Hideshiro ก็เป็นงานที่เน้นการสร้างภาพที่ชัดมากกว่าเนื้อเรื่อง ด้วยสกิลการเคลื่อนไหวร่างกายที่ละเอียดมากๆทำให้เราสามารถจินตนาการตามภาพที่ ‘เกินจริง’ ของคุณซูสุกิได้อย่างง่ายดาย ปีนี้เขานำการแสดงมาสองชุด เริ่มจาก KISS OF FIRE เรื่องของชายคนหนึ่งที่ปกปิดความลับกับคู่รักของตัวเองมาตลอด ความลับนั้นก็คือร่างกายของเขาที่แก่และหย่อนยานไปทั้งตัว เขาต้องใส่แขนขาและเครื่องดัดหลัง ฟันปลอม วิกผม และอื่นๆ อีกมากมายเพื่อหลอกแฟนสาว แต่ท้ายเรื่องก็ปรากฏว่าฝ่ายหญิงสาวก็ทำแบบเดียวกัน ทั้งคู่จึงถอดเครื่องช่วยต่างๆ ออกและกอดกันด้วยร่างกายที่แท้จริง เป็นงานที่พูดเรื่องนามธรรมอย่าง ‘ความสัมพันธ์’ ได้เห็นภาพชัดเจนมากๆ ส่วนอีกเรื่องคือ EGG พูดถึงคนชนเผ่าที่ล่าไข่นกกินเป็นอาหาร วันหนึ่งเขาไปเจอรังนกยักษ์ที่มีไข่ใบใหญ่เกินกว่าเขาจะกินหมด เขาแอบเข้าไปซ่อนตัวในเปลือกไข่จนกระทั่งไข่อื่นในรังฟักออกมา เขาเลยต้องแกล้งทำตัวเป็นนกไปด้วย เวลาผ่านไปเขาเองก็มีไข่ออกมา เมื่อไข่ฟักเป็นตัวก็ออกมาเป็นเด็กคนหนึ่ง ทั้งสองจึงพากันออกเดินทางต่อไป งานชิ้นนี้เล่นกับความเกินจริงมากๆ ทั้งขนาดของไข่และนกยักษ์ แถมยังสอดแทรกเรื่องของการเรียนรู้คุณค่าของชีวิตและการเป็นพ่อคนอีกด้วย ซึ่งเป็นลายเซ็นที่ชัดมากๆ ของคุณซูสุกิ

มาพูดถึงศิลปินไทยกันบ้าง ปีนี้มีคุณ TA จากกลุ่ม BABYMIME ส่งผลงานเดี่ยวมาแสดงในเทศกาล CAMERAMAN เป็นมนุษย์ที่มีหัวเป็นกล้อง เป็นตัวละครที่คุณธาสร้างขึ้นมาได้น่ารักน่าหยิก การแสดงมีการชวนผู้ชมขึ้นมาร่วมเล่นด้วยโดยการให้เป็นนางแบบนายแบบถ่ายภาพแต่งงาน ระหว่างทางมีการหลอกและหักมุมอยู่หลายครั้งทำให้เกิดอุปสรรคต่างๆ นานา แต่สุดท้ายก็ได้ถ่ายรูปสมใจแถมยังเป็นมนุษย์กล้องโพลารอยด์ที่ปริ๊นต์รูปออกมาให้ผู้ชมเอากลับไปเป็นที่ระลึกด้วย เป็นงานที่สร้างความสนุกและทำให้ผู้ชมอมยิ้มไปกับการแสดงได้ง่ายๆ 

ศิลปินอีกคู่เป็นคณะจากญี่ปุ่นที่โด่งดังในระดับโลก SIVOUPLAIT ที่มาในคาแรคเตอร์คู่รักญี่ปุ่นหน้าเด๊ด มีทั้งความประหลาดและน่ารักในเวลาเดียวกัน เป็นอีกกลุ่มที่เป็นขวัญใจของผู้เขียน ปีนี้มาในเรื่อง DO YOU BELIEVE? ที่มาในเชิงจิกกัดเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องปาฏิหาริย์ต่างๆ โดยซิวูเพลย์ตั้งไมค์ไว้ตรงกลางเวที และแอคชั่นอะไรง่ายๆ แต่ใส่ความสโลว์และเพิ่มเพลงประกอบให้ดูยิ่งใหญ่ และจะตบท้ายด้วยการพูดใส่ไมค์เป็นเสียงเอคโค่ว่า “MIRACLE” แถมยังชวนคนดูขึ้นทำด้วย หลังๆ ผู้ชมก็เริ่มรู้ว่าต้องพูดคำนี้ตอนไหน ให้อารมณ์เหมือนการสะกดจิตหมู่ที่ตลกและเสียดสีในที อีกเรื่องคือ I’M HOME พูดถึงสามีที่เดินทางกลับบ้านจากที่ทำงานโดยมีภรรยารออยู่ที่บ้าน เมื่อกลับมาถึงปรากฏว่าสามีกลายเป็นลิงซะอย่างนั้น ปล่อยให้ภรรยาต้องคอยดูแลและระวังไม่ให้เพื่อนบ้านที่แวะมานั้นรู้ว่าสามีเป็นลิงจ๋อ แถมยังหักมุมตอนท้ายว่าคุณภรรยาก็เป็นลิงเหมือนกันแถมยังใหญ่กว่าคุณสามีเสียด้วย เป็นเรื่องที่สะท้อนสภาพสังคมที่เราต้องพยายามรักษาภาพลักษณ์มากๆ เสียจนอยากปลดปล่อยความเป็นตัวเองเวลาอยู่ในที่ที่เป็นของเราอย่างในบ้าน แต่นำเสนอในแบบสุดโต่งมากๆ

ศิลปินเดี่ยวอีกคนคือ Kunii Miwako ปีนี้น่าจะเป็นปีแรกสำหรับการเข้าร่วมเทศกาล เธอเป็นลูกศิษย์ของอาจารย์ละครใบ้ชื่อดังของญี่ปุ่น งานของเธอเน้นจินตนาการไปที่ตัวละครที่ไม่ใช่มนุษย์ ด้วยความคิดที่ว่าถ้ามันเล่าเรื่องได้มันจะอยากพูดอะไรกับเรา เรื่องแรกของเธอคือ A COCKROACH TRAP พาไปดูชีวิตประจำวันของแมลงสาบสุดเก๋า ก่อนที่จะติดกาวกับดักแมลงสาบ หรือเรื่อง BELLY MEAT เธอแสดงเป็นก้อนไขมันที่หลุดออกมาจากท้องของผู้หญิง ก้อนไขมันที่กินทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองอยู่รอด ไม่ต่างจากพวกเราที่พยายามลดไขมันส่วนเกินเพื่อให้เราอยู่รอดเช่นกัน เป็นมุมมองการเล่าเรื่องที่น่าสนใจมากๆ แม้จะมีบางช่วงที่รู้สึกหลุดจากเรื่องบ้าง แต่ผู้เขียนก็ยังอยากเห็นงานของเธออีกในปีถัดไป

สุดท้ายคืออีกหนึ่งสุดยอดปรมาจารย์ละครใบ้ที่อยู่คู่มากับเทศกาลตั้งแต่ปีแรกๆ และเป็นอาจารย์ของคุณคุนิอิ นั่นคือคุณ Yamamoto Koyo ในปีนี้ได้นำละครใบ้มาแสดงสองเรื่อง THE END OF VAMPIRE เรื่องราวของแวมไพร์อดอยากที่ไม่สามารถล่าใครได้เลย ได้พบกับเด็กทารกที่ร้องไห้ตลอดเวลา จะกินก็กินไม่ลงต้องคอยดูแลจนถึงเช้าก่อนที่จะโดนแสงอาทิตย์สลายไปแบบงงๆ อีกหนึ่งเรื่องเป็นการแสดงที่เป็นมาสเตอร์พีซของเขา อาจารย์โคโยได้กลับมาแสดงอีกครั้งที่งานนี้หลังจากเคยแสดงไว้ใน Pantomime in Bangkok ครั้งที่ 9 คือเรื่อง MEMORIAL PHOTO เล่าเรื่องชีวิตของชายคนหนึ่งตั้งแต่เด็กจนกระทั่งแก่ผ่านร้านถ่ายรูปแห่งหนึ่งที่เขามาถ่ายเป็นประจำในแต่ละช่วงของชีวิต ภาพที่น่าประทับใจที่สุดเป็นตอนสุดท้ายที่ชายคนนั้นเดินออกมาจากเก้าอี้ เหลือเพียงเก้าอี้เปล่าอยู่ในเฟรมภาพและมีเสียงชัดเตอร์ถ่ายภาพดังขึ้นก็แสงไฟจะดับลง เป็นการปิดท้ายโชว์ของ Pantomime in Bangkok 16 ด้วยอารมณ์ซาบซึ้งกินใจ

เสน่ห์ของละครใบ้สำหรับผู้เขียน คือความเงียบที่มีเพียงจินตนาการเท่านั้นที่ผูกนักแสดงกับผู้ชมไว้ด้วยกัน เราสนุกไปกับภาพที่เราเห็นผ่านนักแสดงประกอบกับจินตนาการที่อยู่ในหัวของเรา รายละเอียดของภาพอาจไม่เหมือนกันแต่เราก็สนุกไปด้วยกันได้ ความรู้สึกเหมือนกับตอนเด็กๆ ที่เราวาดภาพจากความว่างเปล่าในอากาศและโลดแล่นไปกับจินตนาการที่บริสุทธิ์ การมาดู Pantomime in Bangkok ในทุกครั้งของผู้เขียน ภาพที่เห็นหลังจากออกมาจากประตูโรงละครคือรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของครอบครัว ทั้งเด็กและผู้ใหญ่วิ่งไปขอถ่ายรูปกับศิลปินนักแสดงผู้ทำให้เรากลับไปเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง ผู้เขียนมักจะยืนมองอยู่ตรงนั้นครู่หนึ่งและหอบความสุขที่ได้รับจากภาพนั้นกลับบ้านไปด้วย

 

ขอบคุณภาพจาก PANTOMIME IN BANGKOK

Fact Box

เทศกาลละครใบ้ในกรุงเทพฯ Pantomime in Bangkok จะเวียนมาในเดือนกรกฎาคมของทุกปี ติดตามรายละเอียดได้ที่ Facebook เพจ PANTOMIME IN BANGKOK

Tags: , ,