ปีนี้เป็นปีที่อัลบั้ม Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band ครบรอบวาระการออกจำหน่าย 50 ปีพอดี ผลงานของ The Beatles ชิ้นนี้ถือเป็น ‘หมุดหลัก’ ของต้นกำเนิดดนตรีร็อกแนวใหม่ที่เรียกกันว่า ‘ไซเคเดลิกร็อก’ (Psychedelic Rock) และ ‘โพรเกรสซิฟร็อก’ (Progressive Rock) ในเวลาต่อมา
อย่างที่เขียนในตอนก่อนหน้าว่าปลายยุค 60s มีการเจริญเติบโตของคีตศิลป์แยกเป็นแนวดนตรีมากมายหลายแขนง แต่สำหรับช่วงเวลานี้ของ The Beatles ต้องถือว่าเป็นจุดสูงสุดของความเป็นวงดนตรียอดนิยมที่เพียบพร้อมไปด้วยบุคลิกอันหล่อเหลา บทเพลงที่มีท่วงทำนองไพเราะ เนื้อหาตรงใจวัยรุ่น ตลอดจนความสำเร็จทางด้านรายได้ จนกระทั่งมีคำกล่าวอันน่าสนใจว่า “ดนตรีร็อกทำให้นักดนตรีกลายเป็นพระเจ้า”
The Beatles เป็นทุกอย่างเช่นที่กล่าวมา
เมื่อขึ้นสู่ความสำเร็จอย่างรวดเร็ว (ในช่วงปี 1960-1966) การสร้างสรรค์ผลงานชิ้นต่อๆ มาจึงกลายเป็นเรื่องยาก และเป็นปัญหาสำคัญที่สมาชิกทั้งสี่คน หรือ The Fab Four ต้องหาทางฝ่าไปให้ได้ แต่ด้วยประสบการณ์และฝีมือ ตลอดจนแนวความคิดที่ก้าวกระโดดในการสร้างสรรค์ผลงาน จึงทำให้ Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band มีสุนทรียะอันแปลกประหลาดแตกต่างไปจากผลงานก่อนหน้านี้โดยสิ้นเชิง
อะไรคือความแตกต่างที่ว่า
คำตอบแรกคือรูปแบบและสไตล์ดนตรีอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นร็อกหนักๆ อย่าง ‘Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band’ เพลงที่ออกแนวตลกขบขันอย่าง ‘When I’m Sixty-Four’ เพลงหวานๆ ที่เรียบเรียงเสียงประสานด้วยเครื่องสายออร์เคสตราใน ‘She’s Leaving Home’ เพลงสไตล์โชว์ละครสัตว์อย่าง ‘Being for the Benefit of Mr. Kite!’ ดนตรีแขกใน ‘Within You Without You’ หรือเพลงสุดหลอนอย่าง ‘A Day in the Life’
ความหลากหลายเหล่านี้ทำให้ตัวดนตรีมีเสน่ห์และดูเท่ขึ้นอย่างมาก
ประการต่อมาคือความหมายของเนื้อเพลงที่แฝงความหมายถึงการใช้สารเสพติดไว้ในหลายเพลง อันถือได้ว่าเป็นการท้าทายต่อข้อห้ามของสังคม แต่ดนตรีในแบบไซเคเดลิกถือกำเนิดขึ้นมาได้ก็จากการที่ศิลปินนำประสบการณ์ความหลอนขณะใช้ยามาคิดค้นผ่านสรรพเสียง และถ่ายทอดออกมาเป็นบทเพลงเหล่านี้นั่นเอง (อย่าให้ทางการจับได้ก็แล้วกัน)
ประการสุดท้ายคือการร้อยเรียงเพลงต่างๆ เป็นเรื่องราวต่อเนื่องด้วยการใช้ซาวด์เอฟเฟกต์ เช่น เสียงของวงออร์เคสตราที่กำลังเทียบเสียง เสียงบรรยากาศของคอนเสิร์ต เสียงร้องของสัตว์ชนิดต่างๆ ตลอดจนการนำเสียงนานาชนิดมาตัดต่อวนลูป (loop) เพิ่มความก้องกังวาน (reverb) และปรับให้เสียงยาวขึ้น (delay) ด้วยวิธีการแบบ ‘ซาวด์คอลลาจ’ (Sound Collage) อันเป็นการสร้างเรื่องราวสร้างจินตนาการด้วยการใช้ ‘เสียง’ ที่ไม่จำกัดเฉพาะเสียงที่เป็นตัวโน้ตและเสียงที่มาจากเครื่องดนตรี โดยนำมาใช้ในฐานะของสื่อศิลปะร่วมสมัย จนเกิดเป็น ‘คอนเซ็ปต์อัลบั้ม’ (Concept Album) หรืองานเพลงที่เรียงร้อยต่อกันเป็นเรื่องราวขึ้นเป็นครั้งแรกของวงการเพลงป็อป-ร็อก
ผลงาน Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย ทั้งคำชื่นชมจากบรรดานักวิจารณ์และยอดขายที่ถล่มทลาย รวมทั้งรางวัลเกียรติยศมากมาย
หลังจากนั้นไม่นานนัก The Beatles ก็ออกผลงานที่มีแนวเพลงใกล้เคียงกับ Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band อีกชุดหนึ่ง คือ Magical Mystery Tour (1967) ซึ่งเป็นเพลงประกอบจากรายการโทรทัศน์ฉลองเทศกาลคริสมาสต์ของ BBC โดยเป็นอัลบั้ม EP ขนาดสั้น ซึ่งหลังจากนี้ The Beatles ก็ไม่ได้มีผลงานอัลบั้มในสไตล์ไซเคเดลิกร็อกเช่นนี้อีก ยกเว้นผลงานเดี่ยวของจอร์จ แฮร์ริสัน (George Harrison; 1943-2001)
แฮร์ริสันเป็นหนึ่งในสี่เต่าทองซึ่งสนใจความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากที่สุด เขาสั่งซื้อเครื่องซินธิไซเซอร์จากบริษัทมูก (Moog) โดยที่มี ‘เบอร์นี เคราส์’ เป็นผู้ฝึกสอนการใช้เครื่อง
ในระหว่างนั้น แฮร์ริสันได้บันทึกเสียงการทดลองบรรเลงและปรับแต่งเสียงซินธิไซเซอร์ ซึ่งภายหลังนำออกจำหน่ายในชื่อชุด Electronic Sound (1989) โดยเป็นเสียงสังเคราะห์อันแปลกประหลาดเหนือจินตนาการเช่นเดียวกันกับซาวด์คอลลาจใน Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band แต่เนื่องจากซาวด์ในผลงานชุดนี้เป็นเสียงอิเล็กทรอนิกส์ล้วนๆ ความยาว 40-50 นาที บรรดาแฟนๆ ของ The Beatles จึงพิศวงงงงวยกันพอสมควร
ในอีกด้านหนึ่ง แฮร์ริสันสนใจศึกษาดนตรีอินเดีย และฝึกทักษะการบรรเลงเครื่องดนตรีที่เรียกว่า ‘ซีตาร์’ (Sitar) จากปรมาจารย์ระวี ชังการ์ (Ravi Shankar; 1920-2012) จนถึงกับบินไปเรียนตัวต่อตัวกับชังการ์ยังประเทศอินเดียนานเกือบ 6 เดือน (ในช่วงปลายปี 1966) แต่ก่อนหน้านั้น แฮร์ริสันก็ใช้เครื่องดนตรีอินเดีย ทั้งซีตาร์ ตานปุระ (Tanpura) และกลองตับลา (Tabla) มาบรรเลงในผลงานของ The Beatles อยู่หลายเพลง เช่น ‘Norwegian Wood (This Bird Has Flown)’, ‘Love You To’, ‘Tomorrow Never Knows’ และ ‘The Inner Light’ ส่วนผลงานในอัลบั้ม Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band คือ ‘Within You Without You’ และ ‘Strawberry Fields Forever’ ก็ก้าวหน้ายิ่งขึ้น เมื่อได้โปรดิวเซอร์คู่ใจ-จอร์จ มาร์ติน (George Martin; 1926-2016) มาเรียบเรียงเสียงประสานของวงออร์เคสตรา
หลังจากอัลบั้ม Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band แฮร์ริสันมีโอกาสประพันธ์ดนตรีประกอบภาพยนตร์เป็นครั้งแรกในเรื่อง Wonderwall (1968) ซึ่งก็เป็นภาพยนตร์แนวไซเคเดลิกที่แฮร์ริสันสนใจเป็นพิเศษ แม้ว่าเหตุการณ์ในภาพยนตร์จะเป็นเรื่องราวกึ่งจินตนาการที่เกิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษ แต่แฮร์ริสันกลับใช้ดนตรีอินเดียเป็นหลักของเรื่อง ผนวกแนวบรรเลงของกีตาร์ คีย์บอร์ด-ซินธิไซเซอร์ และสีสันของร็อกแบนด์เสริมเข้าไป ผลงานชุดนี้เป็นคำตอบของความหลงใหลในดนตรีภารตะของแฮร์ริสันได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นการผนวกเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้กับเครื่องดนตรีจากสายวัฒนธรรมที่หลากหลาย อันเป็นต้นกำเนิดของดนตรีนิวเอจ (New Age) ในเวลาต่อมา
สำหรับระวี ชังการ์ ผู้เป็นทั้งเพื่อนและอาจารย์ของแฮร์ริสันที่สานสัมพันธ์มายาวนานชั่วชีวิตของคนทั้งสอง ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ระวี ชังการ์ ได้รับการยอมรับในระดับโลกนั้น เหตุผลหนึ่งก็มาจากความสนิทสนมกับสมาชิกของ The Beatles นี่เอง จะด้วยการที่อินเดียเคยอยู่ภายใต้การปกครองของประเทศอังกฤษมาอย่างยาวนานหรือไม่ก็ตาม สายสัมพันธ์ของดนตรีร็อกของแฮร์ริสันและดนตรีคลาสสิกอินเดียของระวี ชังการ์ ต่างก็ประสานเชื่อมเข้าหากันให้ทั่วโลกได้รู้จัก
แฮร์ริสันร่วมประพันธ์และเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับชังการ์ในชุด Shankar Family & Friends (1973) และ Chants of India (1997)
ก่อนหน้านี้ แฮร์ริสันชวนเพื่อนๆ ในวงมาร่วมกันทำเพลงให้กับวัดอินเดียในกรุงลอนดอนในอัลบั้มชุด Chant And Be Happy (Indian Devotional Songs, 1970) อันเป็นการผสมผสานภาค rhythm section (กีตาร์-เบส-กลองชุด) เข้ากับเพลงสวด เพื่อให้ฟังง่ายและติดหูผู้คนทั่วไป เพื่อนๆ วง The Beatles จึงพลอยมีโอกาสรับรู้และเข้าถึงปรัชญาตะวันออกด้วยเช่นกัน
ด้วยความใกล้ชิดกับชาวอินเดีย เมื่อเกิดอุทกภัยในบังกลาเทศเมื่อปี 1971 จอร์จ แฮร์ริสัน และระวี ชังการ์ จึงเป็นโต้โผใหญ่ให้กับคอนเสิร์ตการกุศลช่วยเหลือผู้ประสบภัย (The Concert for Bangladesh) อันเป็นคอนเสิร์ตที่ยิ่งใหญ่ครั้งหนึ่งของวงการเพลงร็อก และแสดงให้เห็นถึงความเป็นศิลปินที่อุทิศตนเพื่อสังคมของพวกเขา
จะว่าไป ผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดต่อ The Fab หมายเลขหนึ่งอย่างจอห์น เลนนอน (John Lennon; 1940-1980) ก็คือ โยโกะ โอโนะ (Yoko Ono, เกิด 1933) ภรรยาสุดที่รักของเขานั่นเอง โอโนะเป็นศิลปินแนว Conceptual Art ที่สนใจความหลากหลายของสื่อที่นำมาใช้สร้างงาน เธอเคยเป็นสมาชิกกลุ่มศิลปินดนตรีทดลองในกรุงนิวยอร์กชื่อ The Fluxus Group ซึ่งรับอิทธิพลโดยตรงจากจอห์น เคจ (John Cage; 1912-1992)
กลุ่ม Fluxus มีแนวคิดปฏิเสธทิศทางและสุนทรียะแบบเก่าอย่างสุดขั้ว การจัดแสดงผลงานตามอาร์ตแกลเลอรีจึงเป็นไปด้วยความน่าตื่นเต้น จากการแสดงศิลปะที่ไม่อาจคาดเดา (จนบางครั้งอาจจะเป็นความน่าสะพรึงกลัว เพราะศิลปินกลุ่ม Fluxus ชอบแกล้งผู้ชมอยู่เนื่องๆ)
เมื่อเลนนอนได้พบกับโอโนะ เธอจึงเป็นผู้นำพาเลนนอนเข้าสู่วงการศิลปะแนวล้ำยุคอย่างที่เรียกกันว่าอาว็อง-การ์ด (Avant-garde) ที่ให้ความสำคัญกับไอเดียการสร้างสรรค์ การท้าทายระบบความคิดแบบเดิมๆ และปฏิเสธเรื่องราวรักโรแมนติกหวานแว๋วตามแบบที่ดนตรีของ The Beatles เคยเป็นมา
จอห์น เลนนอน และโยโกะ โอโนะ มีผลงานร่วมกันในแนวซาวด์คอลลาจหรือดนตรีอาว็อง-การ์ด 3 ชุด โดยใช้ชื่อว่า Unfinished Music โดยชุดที่หนึ่งคือ No. 1: Two Virgins (1968) เป็นการเล่นเทปลูป เสียงจากบทกวี บทเพลงจากกีตาร์และเปียโน รวมถึงบทสนทนาส่วนตัวของเลนนอนและโยโกะ (คงพอทราบกันว่าปกอัลบั้มชุดนี้เป็นภาพถ่ายเปลือยกายของทั้งสอง ในการจัดจำหน่าย บริษัทจะหุ้มปกด้วยซองสีน้ำตาล เพื่อป้องกันเยาวชนซื้อหรือมองเห็น)
Unfinished Music ชุดที่สองคือ No. 2: Life with the Lions เพลงแรกที่ชื่อ ‘Cambridge 1969’ เป็นการแสดงด้นสดของโยโกะ (เสียงร้อง) และเลนนอน (กีตาร์ไฟฟ้า) โดยเครื่องดนตรีอื่นอย่างแซกโซโฟนและกลองร่วมแจม ส่วนอีกด้านของแผ่นเป็นการบันทึกเสียงในช่วงที่โยโกะเข้ารักษาตัวจากการแท้งลูกคนแรกกับเลนนอนที่โรงพบาบาล Queen Charlotte’s ในกรุงลอนดอน แทร็กที่โด่งดังเป็นที่รู้จักกันคือการที่เลนนอนบันทึกเสียงหัวใจของทารกน้อยที่ค่อยๆ หยุดเต้นและเสียชีวิตภายในครรภ์ของโอโนะ
Unfinished Music ชุดที่สามคือ No. 3: Wedding Album (1969) ซึ่งพวกเราคงจะเคยเห็นภาพของเลนนอนซึ่งไว้ผมและหนวดกับโอโนะนั่งอยู่บนเตียงเรียกร้องสันติภาพ อันเป็นการใช้ตัวเองมาเซ็ตเป็น Happening Art โดยทั้งคู่ใช้เวลาอยู่บนเตียงในห้อง 902 ของโรงแรมฮิลตัน กรุงอัมสเตอร์ดัม เป็นเวลา 7 วัน และเปิดห้องให้ผู้สื่อข่าวเข้าสัมภาษณ์ เสียงที่บันทึกไว้มีทั้งเสียงที่เลนนอนและโอโนะร้องและเล่นดนตรีด้วยกัน เสียงการพูดคุยให้สัมภาษณ์ และการบันทึกเสียงหัวใจของตัวเอง
ในช่วงเวลาเดียวกัน สมาชิกทั้งสี่รวมตัวกันอีกครั้งเพื่อผลิตผลงานต่อจากชุด Magical Mystery Tour ซึ่งก็คือ The Beatles (White Album, 1968) แม้ว่าวงจะตั้งใจให้ผลงานชิ้นนี้เป็นงานระดับมหากาพย์อีกชิ้นหนึ่ง เพราะเป็นอัลบั้มคู่ โดยมีเพลงรวมกันทั้ง 2 แผ่นถึง 30 เพลง ซึ่งหนึ่งในเพลงเหล่านี้คือ ‘Revolution 9’ โดยเลนนอนและโอโนะชวนแฮร์ริสันมาทำเพลงในแบบซาวด์คอลลาจอีกครั้ง
นี่คือเพลงที่มีความยาวกว่า 8 นาที และเป็นเพลงแนวทดลองเพลงสุดท้ายที่สร้างสรรค์ขึ้นในนาม The Beatles
แม้สมาชิกคนอื่นๆ จะไม่มีผลงานแนวดนตรีทดลองสุดขั้วเช่นนี้ออกมาให้เห็น แต่สำหรับพอล แม็กคาร์ตนีย์ (Paul McCartney เกิด 1942) เมื่อได้สั่งสมความรู้ทางดนตรีคลาสสิกจนออกดอกออกผลดีแล้ว เขาก็ออกอัลบั้มแนวซิมโฟนีออร์เคสตราและโอเปร่าถึง 5 ชุด คือ Liverpool Oratorio (1991), Standing Stone (1997), Working Classical (1999) Ecce Cor Meum (2006) และ Ocean’s Kingdom (2011) ซึ่งก็แสดงให้เห็นถึงความสามารถและความรักในดนตรีหลากหลายรูปแบบ
ดนตรีป็อป-ร็อกมีสถานะในการหล่อเลี้ยงสังคม ส่วนดนตรีแนวก้าวหน้าหรือดนตรีทดลอง แม้ว่าผู้คนทั่วไปอาจจะให้ความสนใจหรือให้ความสำคัญน้อยกว่า แต่ผลงานเหล่านี้ก็เป็นสิ่งยืนยันถึงแนวทางการสร้างสรรค์ที่แตกต่างและไม่เหมือนใคร เป็นความพยายามของศิลปินที่จะใฝ่หาความเป็นเลิศ หรืออาจถึงขั้นเป็นนวัตกรรม (Innovation) ที่จะส่งผลงอกงามต่อไปในอนาคต
ดังเช่นที่อัลบั้ม Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band ปูทางไว้ให้
Tags: โพรเกรสซิฟร็อก, Magical Mystery Tour, จอร์จ แฮร์ริสัน, ระวี ชังการ์, Wonderwall, จอห์น เลนนอน, โยโกะ โอโนะ, The Beatles, พอล แม็กคาร์ตนีย์, เบอร์นี เคราส์, Sgt. Pepper’s Lonely Hearts Club Band, ไซเคเดลิกร็อก