วิกฤตโควิด-19 กระทบไปทุกภาคส่วน โดยเฉพาะค้าปลีกของประเทศไทย ภายหลังมีคำสั่งจากทางภาครัฐให้ปิดศูนย์การค้าตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา และกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งในวันที่ 17 พฤษภาคม ตามมาตรการคลายล็อกดาวน์ระยะสอง 

เอ็มบีเคเซ็นเตอร์ เปรียบเสมือนแลนมาร์กสำคัญใจกลางสี่แยกปทุมวัน แต่ละวันมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาใช้บริการนับหมื่นคน แต่เมื่อวันหนึ่งจำเป็นต้องปิดทำการชั่วคราว เพราะโรคระบาด นับเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน

สมพล ตรีภพนารถ กรรมการผู้จัดการธุรกิจศูนย์การค้า บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) บอกกับเราว่าตลอดชีวิตการทำงานครั้งนี้นับเป็นวิกฤตที่เลวร้ายที่สุด มากกว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง กีฬาสีทางการเมือง หรือแม้แต่โรคระบาดอย่างโรคซาร์ส เพราะไม่มีครั้งไหนที่ต้องปิดห้างเหมือนวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ 

36 ปีของ MBK เจอวิกฤตมาหลายครั้ง แต่ครั้งนี้หนักสุดถึงขนาดต้องปิดห้าง 

ผมว่าค้าปลีกโดยรวมกระทบหมดและหนักสุด เพราะเหมือนจำกัดห้ามการจับจ่ายใช้สอย แล้วสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือคนมีกำลังซื้อหรือเปล่า ไม่ใช่แค่ว่าห้างเปิดได้หรือไม่ได้ แต่วันนี้เราอยากบอกว่าความปลอดภัยและเศรษฐกิจต้องไปด้วยกัน ถ้าคนมีความปลอดภัย แต่ทำมาหากินไม่ได้ ก็คงลำบาก ผมว่าสังคมต้องอยู่ได้และปลอดภัย เศรษฐกิจไม่ดี คนไม่มีกำลังซื้อ อยู่แต่บ้าน ผมคิดว่าไม่ถูกทั้งสองทาง มันต้องมีกระบวนการจัดการที่ให้ไปด้วยกันได้

ผมไม่เคยเจออะไรแบบนี้มาก่อน ขนาดอายุ 60 กว่าปีแล้ว เคยมีแต่ปิดชั่วคราวเป็นบางสาขา ตอนทำงานแบงก์ ช่วงประท้วง 14 ตุลา 2516 แต่วันนี้ปิดทั้งประเทศ ผมไม่เคยนึกภาพว่าห้างต้องปิดเลย อย่างต้มยำกุ้ง หรือกีฬาสีทางการเมือง ยังถือว่าควบคุมได้ โรคระบาดอย่างซาร์ส ก็แค่บางประเทศ แต่โควิด-19 โดนเหมือนกันหมดทั่วโลก ปิดประเทศ สายการบินหยุด ทุกคนอยู่บ้าน สิ่งที่ขายได้มีแค่ของกินของใช้ สุดท้ายผมกลัวนะว่าคนจะตกงานกันเยอะมากๆ โดยเฉพาะหลังเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป ถ้าธุรกิจยังเดินต่อไม่ได้ อาจมีคนตกงานไม่ต่ำกว่า 5-10 ล้านคน

วิกฤตครั้งนี้ MBK ได้รับความเสียหาย หรือผลกระทบอย่างไร

ได้รับผลกระทบเต็มๆ ครับ เพราะห้างเกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว การจับจ่ายใช้สอย อย่างของเรามีลูกค้าเข้ามาเดินห้างเฉลี่ย 80,000 คนต่อวัน เป็นต่างชาติ 60-70% ที่เหลือเป็นคนไทย แน่นอนว่าทันทีที่มีคำสั่งให้ปิดห้าง ลูกค้าหายหมด ส่วนร้านค้าก็ขายของไม่ได้ เพราะรายได้หลักของเรามาจากธุรกิจค่าเช่าพื้นที่ เราก็ต้องมีทางออกอื่นที่จะทำให้อยู่รอด 

ร้านค้าเราก็ต้องแบ่งเป็นสองส่วนตามมาตรการของภาครัฐ คือ ร้านค้าที่ห้ามเปิดเลย เช่น ร้านทำผม ร้านเสื้อผ้า กับร้านที่เปิดได้ เช่น ร้านขายยา ร้านอาหาร เป็นต้น แต่จริงๆ ก็ยังมีปัญหาในแง่ว่าคนไม่ค่อยสะดวกว่าต้องซื้อกลับบ้าน ทำให้ความสบายไม่เกิด แต่บางอย่างอาจขายดี เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารบางร้านก็ผันตัวสู่ออนไลน์ แต่บางร้านถ้าไม่เคยทำมาก่อนก็จะยากพอสมควร เราก็ต้องช่วยเหลือร้านค้าเหล่านี้ โดยอาจจะทำช่วยโปรโมทผ่านเฟซบุ๊ก และช่องทางต่างๆ มีเบอร์โทรศัพท์ที่โทรมาที่เราและเชื่อมไปยังร้านค้าได้เลย 

“นอกจากผลกระทบจากค่าเช่าร้านค้าแล้ว เรายังต้องแบกต้นทุนต่อวันนับสิบล้านบาท เพราะเราไม่ได้ให้พนักงานคนไหนออกเลย แม้แต่ลูกจ้างรายวันก็ตาม”

การบริหารงานในช่วงนี้ต้องเจอกับความท้าทายอะไรบ้าง และอะไรที่เป็นอุปสรรค

ถ้าท้าทายที่สุดคงเป็นเรื่องการทำอย่างไรให้ร้านค้าอยู่กับเราในฐานะผู้เช่า แม้เขาจะยังขายของไม่ได้ อย่าลืมว่าถ้าเขาอยู่ไม่ได้ เราก็อยู่ไม่ได้ ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีที่น่าจะสต็อกสินค้าไว้แล้วด้วยเงินสด ซื้อมาขายไป สิ่งเหล่านี้มันยากในการทำธุรกิจ การบริหารจัดการที่มีต้นทุนพอควร เพราะเราก็ขาดรายได้ มีแต่สิ่งที่ต้องจ่ายออก ค่าน้ำ ค่าไฟ เงินเดือนพนักงาน แต่รับค่าเช่าไม่ได้ คือมีรายจ่ายแต่ไม่มีรายรับ

ก่อนหน้านั้นมีข่าวผู้เช่าประท้วงขอลดค่าเช่า มันเกิดอะไรขึ้น เราจัดการอย่างไร แล้วตอนนี้ห้างปิด มีมาตรการช่วยเหลือผู้เช่าอย่างไรบ้าง

ต้องอธิบายก่อนว่า เราเป็นบริษัทมหาชน จะประกาศมาตรการอะไรออกไป ก็ต้องคิดให้รอบคอบ เพราะอาจได้รับผลกระทบไปหลายส่วน  แต่ผมก็เข้าใจว่าบางครั้งผู้เช่าก็อยากได้คำตอบเลย เลยมีการออกมากดดันเพราะกลัวไม่ได้ แต่ช่วงนั้นผมก็คิดเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก คือคนเดินห้างก็ต้องปลอดภัย ไม่มีการแพร่เชื้อ เพราะถ้าไม่ปลอดภัยก็ไม่มีใครกล้าเข้ามาเดินห้างอยู่ดี

จริงๆ เราคุยกับผู้เช่าตลอด ก่อนหน้าที่จะมีการปิดห้าง เราก็ประกาศลดค่าเช่าลง 20% เป็นเวลา 6 เดือน คือ มันเหมือนจะไม่มาก แต่ถ้าคำนวณจริงๆ ก็จ่ายค่าเช่าแค่สิบเดือนกว่าๆ ตอนนั้นเราคิดว่าโควิด-19 น่าจะจบช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน มีวัคซีนป้องกันได้ 

เพราะเราก็ต้องมองภาพใหญ่กว่าทั้งเราและผู้เช่าอยู่รอดไปด้วยกันได้ เวลาเราทำอะไร ลูกค้าด่าเรา เรายอม แต่อยากให้เขาอยู่กับเรายาวๆ คิดแก้ปัญหาเลยว่าผู้เช่ากับเรารอดไปด้วยกัน คุณกับผมลงเรือลำเดียวกัน ต้องแจวเรือลำนี้ไปถึงฝั่งพร้อมกัน โดยไม่ทิ้งคนใดคนหนึ่ง 

แต่พอมีคำสั่งปิดห้างตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม ที่ผ่านมา แผนเปลี่ยน เราก็ไม่ได้เก็บค่าเช่าร้านค้าแม้แต่บาทเดียว ทั้งส่วนกลางที่ต้องจ่ายด้วย เราก็เป็นคนรับผิดชอบทั้งหมด เพราะร้านค้าขายของไม่ได้ เราก็ต้องรับหน้าเสื่อไว้ก่อน ยอมเจ็บตัวเยอะกว่าเขาดีกว่า 

ซึ่งเราก็ต้องพาเรือลำนี้ไปตลอดรอดฝั่ง 

ถามว่าถูกใจทุกคนเหมือนกันหมด คงไม่ได้ แต่เราต้องเลือกคนส่วนใหญ่ ที่คิดว่าเราให้เขาด้วยความจริงใจ และสมเหตุสมผล ในเมื่อลงเรือลำเดียวกันแล้ว เราเคียงบ่าเคียงไหล่กับคุณ มีเหตุมีผล ผมถามเลยว่าห้างไม่เปิด ขายของไม่ได้ ก็ไม่ควรเสียค่าเช่าส่วนกลาง วันนี้เราไม่เก็บค่าส่วนกลาง ผู้เช่าก็สบายใจมากขึ้น เราต้องทำให้เขาเชื่อมั่นว่า เรื่องทุกข์ร้อนเรารับอะไรได้บ้าง และบางเรื่องรับด้วยกัน บางเรื่องรับแทนเขา แต่เรารับแล้วต้องไม่ตายด้วยนะครับ แล้วเราก็บอกว่าจะมีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น ที่จะมาเติมเต็มอะไรให้เขา เพราะไม่ใช่แค่การขายพื้นที่ แต่มีการตลาดให้ด้วย

ในวิกฤตครั้งนี้ ทักษะแบบไหนที่ผู้บริหารควรมีเพื่อพาองค์กรให้อยู่รอด

ผมว่าต้องเป็นคนที่มองการณ์ไกล และสามารถสร้างความรักและความสามัคคีให้กันคนในองค์กรได้ คืออย่างพนักงานต้องอยู่รอดให้ได้ ในวันที่เขาลำบาก เราเป็นนายจ้าง ก็ต้องให้คุณธรรมแก่เขา อย่างลูกจ้างรายวัน เราก็ไม่ได้ให้เขาออก ต้องทำให้เขาอยู่ได้ แต่อาจจะลดค่าโอทีแทน ลดชั่วโมงการทำงาน จากเดิมทำงานวันละ 12 ชั่วโมง เหลือ 8 ชั่วโมง เขาก็จะรู้สึกว่าองค์กรเป็นผู้ให้ แล้วเขาก็จะดูแลเรา ดูแลผู้เช่าของเรา 

 MBK หลังกลับมาเปิดจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แล้วศูนย์การค้าหลังโควิด-19 จะหน้าตาเป็นอย่างไร

หน้าตาห้างเปลี่ยนแน่นอน ผมไม่มีสินค้าเป็นของตัวเอง ถ้าไม่มีคนเข้าห้าง​ ผมก็เจ๊ง ผมก็ต้องเน้นเรื่องการบริการและของกิน อย่างบริการก็ต้องเป็นสิ่งที่มาด้วยตัวเอง เช่น ทำพาสปอร์ต บัตรประชาชน หรือโรงเรียนกวดวิชา หรือบริการซ่อมมือถือ เพราะคนมาใช้บริการแล้ว ก็ต้องหาอะไรกินฆ่าเวลา อย่างไรก็ตามต้องมีความปลอดภัย มาแล้วสบายใจ มีการป้องกันอย่างดี ถ้าไม่กล้ากดลิฟต์ เรามีพนักงานกดลิฟต์ให้ ส่วนพวกสินค้าเสื้อผ้าน่าจะแย่หน่อย แต่ว่าก็อาจจะทำเชื่อมโยงระหว่างออนไลน์และออฟไลน์​เช่นว่า มาห้างเพื่อลองเสื้อผ้า แล้วก็มีบริการส่งไปถึงบ้าน 

เพราะพฤติกรรมคนเปลี่ยนแน่ การอยู่ร่วมกัน ทุกคนเน้นความเน้นความปลอดภัยกับตัวเอง หน้ากากจะต้องใช้ไปตลอดทั้งปี เพราะคนยังไม่มั่นใจกับวัคซีนที่ยังไม่เกิดขึ้น คนจะป้องกันตัวเอง คนเดินห้างต้องใส่หน้ากาก การกินอาหาแบบที่รู้สึกว่านั่งกับคนไม่รู้จักไม่ได้แล้ว สินค้าแฟชั่นจะขายยาก สินค้าอุปโภคบริโภคมีความจำเป็น สำคัญที่สุด 

Fact Box

  • ห้างสรรพสินค้าในกรุงเทพมหานครถูกสั่งให้ปิดชั่วคราวตามคำสั่งของกทม. ตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา และกลับมาเปิดได้อีกครั้งในวันที่ 17 พฤษภาคม ตามมาตรการคลายล็อกดาวน์ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ (ศบค.) 
  • ห้างเอ็มบีเคก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มีลูกค้าราว 80,000 ต่อวัน โดยเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ 60-70% 
  • หลังจากต้องปิดชั่วคราว ห้างเอ็มบีเคก็ได้รับผลกระทบหนัก เพราะร้านค้าไม่สามารถขายของได้ ห้างเอ็มบีเคก็ไม่สามารถเก็บค่าเช่าได้
  • สามารถติดตามบทสัมภาษณ์ในซีรีส์นี้ได้ที่ https://themomentum.co/tag/from-crisis-to-new-normal/
Tags: , ,