การให้สัมภาษณ์พิเศษของเจ้าชายแฮร์รี ดยุกแห่งซัสเซกซ์และเมแกน ดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ในรายการทีวีของพิธีกรชื่อดัง โอปราห์ วินฟรีย์ เคยเป็นกระแสข่าวดังก่อนหน้า และกระทั่งออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสของสหรัฐอเมริกา กระแสนั้นยิ่งรุนแรงหนักขึ้นกว่าเก่า

นั่นเพราะแฮร์รีและเมแกนกล่าวถึงการเหยียดผิว การตัดความช่วยเหลือ และการโป้ปดในสำนักราชวังของอังกฤษ บทสัมภาษณ์ครั้งนี้เน้นย้ำถึงการทำลายราชวงศ์ และการเริ่มต้นชีวิตใหม่ในแคลิฟอร์เนีย แม้ว่าบุคคลทั้งสองจะเน้นย้ำระหว่างให้สัมภาษณ์ว่า พวกเขายังคงมีสัมพันธ์อันดีกับสมเด็จพระราชินีก็ตาม

การสัมภาษณ์ครั้งนี้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับราชวงศ์อังกฤษอีกครั้ง หลังจากเคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งที่บีบีซีสัมภาษณ์เลดี้้ไดอานาในปี 1995 ครั้งนั้นไดอานาเล่าถึงความสัมพันธ์ที่แตกร้าวกับเจ้าชายชาร์ลส์ รวมถึงวิพากษ์วิจารณ์ราชสำนักอย่างไม่เก็บกัก

หลังการหย่าร้าง ไดอานาหลุดพ้นจากสายตาของสาธารณชนไปนานถึงหนึ่งปี และไม่หวนกลับสู่ราชสำนักอย่างเป็นทางการเหมือนเจ้าชายแฮร์รี อีกทั้งหลังจากเสร็จสิ้นการหย่าร้างในปี 1996 เธอยังต้องสละฐานันดรศักดิ์ HRH (Her Royal Highness) ตามกฎของราชสำนักด้วย

นอกจากเลดี้ ไดอานาแล้ว ถัดมายังมีกรณีของ ซาราห์ เฟอร์กูสัน อดีตชายาของเจ้าชายแอนดรูว์ รวมถึงกรณีของเจ้าชายแฮร์รีและเมแกนเช่นกัน แต่ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในอดีตเคยมีสมาชิกของราชวงศ์ที่ยอมสูญเสียฐานันดรศักดิ์ หรือแม้กระทั่งยอมสละราชบัลลังก์ด้วยเหตุผลส่วนตัวมาแล้ว

 

เจ้าหญิงแพทริเซียแห่งคอนน็อต (Princess Patricia of Connaught)

สมาชิกราชวงศ์อังกฤษซึ่งมีสถานะเป็นหลานของควีนวิกตอเรีย เคยยุติบทบาทหน้าที่ในราชวงศ์ด้วยเหตุผลของความรัก ปี 1919 เจ้าหญิงแพทริเซียเข้าพิธีสมรสกับเซอร์ อเล็กซานเดอร์ แรมเซย์ (Sir Alexander Ramsay) นายพลเรือ ณ มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ ตอนยืนที่หน้าแท่นพิธีเธอยังเป็นเจ้าหญิงแพทริเซีย แต่ครั้นพอก้าวพ้นจากโบสถ์ไปแล้วเธอมีสถานะใหม่เป็น ‘เลดี้้’

การสมรสครั้งนั้นกลายเป็นประเด็นร้อนแรงในยุคสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 เนื่องจากเจ้าหญิงแพทริเซียถูกจับคู่กับเจ้าชายเชื้อพระวงศ์ต่างประเทศอยู่หลายพระองค์ ในจำนวนนั้นมีมกุฎราชกุมารแห่งโปรตุเกสและสเปน รวมถึงแกรนด์ดยุกไมเคิลแห่งรัสเซีย แต่ท้ายที่สุดแล้วเธอก็เลือกคู่ครองเป็นบุรุษสามัญชน

เลดี้้ แพทริเซียและแรมเซย์ใช้ชีวิตคู่อย่างมีความสุขเรื่อยมาจนกระทั่งถึงบั้นปลายของชีวิต

 

เจ้าชายฟริโซแห่งออเรนจ์-นัสเซา (Prince Friso Of Orange-Nassau)

โอรสองค์กลางของควีนเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์ แม้ไม่ได้สืบราชบัลลังก์โดยตรง แต่แผนการแต่งงานกับมาเบล วิสเซ สมิต (Mabel Wisse Smit) หญิงสามัญชน สร้างแรงสะเทือนให้กับราชสำนัก แต่นั่นไม่ใช่เพราะเธอเป็นสามัญชน เพราะกษัตริย์วิลเลม-อเล็กซานเดอร์ (Willem-Alexander) ซึ่งเป็นพระเชษฐาก็เสกสมรสกับหญิงชนชั้นสูงจากดินแดนห่างไกลเช่นกัน หากแต่มากกว่านั้น เนื่องจากมาเบลเคยเป็นแฟนเก่าของคลาส บรูอินสมา (Klaas Buinsma) พ่อค้ายาเสพติดชื่อดังของเนเธอร์แลนด์นั่นเอง กระทั่งบรูอินสมาถูกสมาชิกแก๊งมาเฟียจากยูโกสลาเวียยิงเสียชีวิต ความสัมพันธ์ของเธอกับเขาก็สิ้นสุดลง

แผนการวิวาห์ของเจ้าชายฟริโซไม่ผ่านความเห็นชอบของรัฐบาลและรัฐสภา ครั้งนั้น ยัน เปเตอร์ บัลเกอเนนเดอ (Jan Peter Balkenende) นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นให้ความเห็นว่า “ที่ไม่อนุญาตให้เจ้าชายฟริโซสมรสกับมาเบล เพราะเธอมีคดีพัวพันกับเจ้าพ่อค้ายาระดับชาติของเนเธอร์แลนด์” แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็เข้าพิธีแต่งงานกับมาเบลในปี 2004 จนได้ โดยแลกกับฐานันดรศักดิ์ เขาหลุดพ้นจากการเป็นรัชทายาทในการสืบราชบัลลังก์ลำดับ 2 แต่ต่อมา มาเบลได้รับการสถาปนาเป็น ‘เจ้าหญิง’ พร้อมฐานันดร Royal Highness

ทั้งสองครองรักกันมาอย่างราบรื่น จนกระทั่งเจ้าชายฟริโซประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตในปี 2012

 

คาร์ล โจฮัน เบอร์นาดอตต์ เคานต์แห่งวิสบอร์ก (Carl Johan Bernadotte, Count of Wisborg)

เจ้าชายแห่งสวีเดนผู้มีศักดิ์เป็นน้าของควีนมาร์เกร็ตเธที่ 2 แห่งเดนมาร์ก (Queen Margrethe II) ยอมสละฐานันดรของตนเพื่อเดินทางไปสมรสกับเคอร์สติน วีกมาร์ค (Kerstin Wijkmark) นักข่าวสาวที่นครนิวยอร์กเมื่อปี 1946  

ทั้งสองใช้ชีวิตอยู่ในนิวยอร์ก ปารีส และลอนดอน ก่อนที่จะโยกย้ายกลับไปใช้ชีวิตในสวีเดนอีกครั้งในปี 1973 และครองรักกันจนกระทั่งภรรยาของเขาเสียชีวิตในปี 1987

คาร์ล โจฮัน เบอร์นาดอตต์เสียชีวิตเมื่อปี 2012 ในวัย 95 ปี เขาได้ชื่อว่าเป็นเหลนของควีนวิกตอเรียที่มีอายุขัยยืนยาวเป็นคนสุดท้าย     

 

กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 8 (Edward VIII)

ดยุกแห่งวินด์เซอร์ สืบทอดราชบัลลังก์ต่อจากพระเจ้าจอร์จที่ 5 ซึ่งเป็นพระบิดาเมื่อต้นปี 1936 แต่แล้วก็ต้องยอมสละราชสมบัติในปีเดียวกันนั้น เหตุเพราะความรักที่เขามีต่อ วอลลิส ซิมป์สัน (Wallis Simpson) หญิงอเมริกันชนชั้นสามัญชน กลายเป็นประเด็นทางการเมือง

ความคิดที่จะรับหญิงหม้ายจากการหย่าร้างมาเป็นคู่ครองหรือสถาปนาเธอเป็นมเหสี ถูกขัดขวางด้วยกฎของคริสตจักรแห่งอังกฤษ อีกทั้งเขายังตกเป็นที่ครหาตลอดระยะเวลาสิบเดือนที่ครองสถานภาพ ‘กษัตริย์’ โดยเขาใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับหญิงคนรักที่บ้านชนบทในเซอร์เรย์ ท้ายที่สุดด้วยแรงกดดันของรัฐสภา ทำให้กษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 8 ต้องหาทางออกด้วยตนเองด้วยการสละราชสมบัติ

คำปราศรัยผ่านวิทยุกระจายเสียงของกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 8 มีความยาวหกนาที บอกถึงความเป็นไปไม่ได้ที่จะแบกรับภาระการเป็นประมุขของประเทศโดยปราศจากแรงหนุนของสตรีที่เขารัก ชาวอังกฤษนับล้านคนได้ฟังแล้วพากันช็อก ขุ่นเคือง และรู้สึกคล้ายถูกทอดทิ้ง 

“ข้าพเจ้ายังไม่ลืม ไม่ว่าประเทศหรือจักรวรรดิ ตลอดระยะเวลายี่สิบห้าปีที่ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งเป็นรัชทายาทและกษัตริย์” คือประโยคที่เขากล่าวด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น

พระเจ้าจอร์จที่ 6 (George VI) พระบิดาของควีนเอลิซาเบธสืบราชบัลลังก์แทน และสถาปนาฐานันดรศักดิ์ใหม่ให้กับเอ็ดเวิร์ดเป็นดยุกแห่งวินด์เซอร์ ด้วยเหตุนี้เอ็ดเวิร์ดที่ 8 จึงกลายเป็นกษัตริย์องค์แรกในประวัติศาสตร์ของอังกฤษที่ไม่เคยผ่านพิธีราชาภิเษก และต้องลี้ภัยไปอยู่ฝรั่งเศส

ตลอดช่วงชีวิตที่เหลือ เอ็ดเวิร์ดพยายามถอยห่างจากราชสำนัก เขาทำสวน เขียนหนังสือ และพร้อมเปิดรับข้อเสนองาน แต่เขาไม่เคยได้งานอย่างเป็นทางการแม้สักครั้ง ไม่ว่างานภาครัฐหรือภาคเอกชน ภรรยาของเขาเคยกล่าวถึงเรื่องนี้ว่า “เป็นเหมือนบทลงโทษอยู่นานหลายปี”

ชะตากรรมของเอ็ดเวิร์ด ดยุกแห่งวินด์เซอร์ กับวอลลิส ซิมป์สัน ฟังดูคล้ายกับของเจ้าชายแฮร์รีและเมแกน แม้ว่าสองคนหลังกำลังพีกในสื่อและในสายตาของชาวโลก แต่ปัญหานั้นไม่ต่างกันตรงที่ว่า อดีตเชื้อพระวงศ์จะสามารถทำงานอะไรได้บ้างโดยไม่ต้องติดขัดหรือกังวลกับกิจกรรม (แบบราชสำนัก) ก่อนหน้านี้ หรือส่งผลกระทบต่อราชวงศ์

ชะตากรรมของเจ้าชายแฮร์รีและเมแกนจะลงเอยคล้ายกันหรือไม่ อาจจะเป็นคำถามของใครหลายคนที่คอยติดตามเรื่องนี้

 

อ้างอิง

https://www.nzz.ch/panorama/diese-royals-haben-bereits-vor-harry-und-meghan-der-liebe-wegen-ihre-titel-niedergelegt-und-sogar-auf-den-thron-verzichtet-ld.1605676

https://adelswelt.de/aktuell/royals-die-aus-liebe-alles-ausgegeben-haben/

https://www.unofficialroyalty.com/march-17-daily-featured-royal-date/

https://adelswelt.de/aktuell/liebesgeschichte-prinz-friso-und-prinzessin-mabel/

https://www.deutschlandfunk.de/grosse-reden-edward-viii-die-frau-die-ich-liebe.795.de.html?dram:article_id=390455

Tags: , ,