ถ้าหากโควิด-19 ระลอกใหม่ ไม่ระบาดจากแรงงานข้ามชาติที่สมุทรสาคร ปัญหาการลักลอบเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติอย่างผิดกฎหมาย หรือขบวนการนำพาแรงงานข้ามชาติ น่าจะยังคงเป็นธุรกิจสีเทาที่ยังเป็นสวรรค์ของคนบางกลุ่ม ซึ่งไม่ถูกจับตามองมากนัก

ทั้งหากโควิด-19 ระลอกใหม่ส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด ไม่ระบาดจากบ่อนการพนัน ขบวนการธุรกิจสีเทาแขนงนี้ก็น่าจะยังคงเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้อย่างมหาศาลกันต่อไป

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จึงเสมือนการเปิดเปลือยให้เห็นขบวนการธุรกิจสีเทาที่เกี่ยวพันกับบ่อนการพนัน และขบวนการนำพาแรงงานข้ามชาติ ที่ไม่ว่าสังคมหรือกฎหมายจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่พวกเขายังคงมีช่องทางและโอกาสอยู่เสมอ ซ้ำยังเป็นขบวนการที่เติบโต เชื่อมโยงคนหลายกลุ่ม โดยเฉพาะข้อครหาต่อผู้บังคับใช้กฎหมาย

 

มุมมืดในอดีตของขบวนการนำพาแรงงาน

โควิด-19 ระลอกใหม่ที่มีจุดเริ่มต้นในผู้ค้าตลาดกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร มีการยืนยันจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเป็นสายพันธุ์ GH เหมือนกับที่พบในจังหวัดท่าขี้เหล็กของเมียนมา ตรงข้ามอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และในจังหวัดเมียวดี ของเมียนมา ตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก โดยสายพันธุ์นี้มีต้นทางจากอินเดีย เข้าทางรัฐยะไข่ของเมียนมา

เมื่อเป็นสายพันธุ์เดียวกับที่ระบาดในเมียนมา อีกทั้งการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็วในหมู่แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมาที่ขายแรงงานอยู่ในสมุทรสาคร ทำให้เกิดคำถามถึงการเล็ดลอดผ่านชายแดนอย่างผิดกฎหมายของแรงงานข้ามชาติ ในห้วงที่มีการปิดชายแดน นับตั้งแต่การระบาดระลอกแรกเมื่อมีนาคม 2563 เป็นต้นมา และผู้ที่ถูกตั้งคำถามมากที่สุด คือผู้บังคับใช้กฎหมาย และฝ่ายความมั่นคง ซึ่งถูกมองอย่างเคลือบแคลงว่ามีผลประโยชน์กับขบวนการนำพาแรงงานข้ามชาติหรือไม่ และมุมมองเช่นนี้ไม่ต่างจากอดีตที่ขบวนการนำพาแรงงานข้ามชาติดำเนินการอย่างเป็นล่ำเป็นสัน

ก่อนหน้าปี 2552 แรงงานข้ามชาติเมียนมา กัมพูชา และลาว ที่เข้ามาทำงานในไทย ส่วนใหญ่เป็นแรงงานเถื่อนผิดกฎหมาย พวกเขายอมจ่ายเงินให้ขบวนการนำพาแรงงานข้ามชาติเพื่อหวังแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า เงินค่านำพาลักลอบเข้าไทยในตอนนั้น อยู่ระหว่างคนละ 5 พันถึง 7 พันบาท หลายคนเข้ามาเสี่ยงโชคได้งาน และได้เงินค่าจ้างที่สูงกว่างานที่บ้านเกิดหลายเท่า แต่ในห้วงนั้นกลับปรากฏข่าวอุบัติเหตุการลักลอบขนแรงงานข้ามชาติบ่อยครั้ง และหลายครั้งมีผู้เสียชีวิต

ครั้งที่สร้างความหดหู่ สะเทือนใจ และสะท้อนให้เห็นความล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติในขณะนั้น คือการเสียชีวิตของแรงงานข้ามชาติชาวเมียนมา 54 ชีวิต ระหว่างขบวนการนำพาลักลอบขนย้ายแรงงานชาวเมียนมาจากจังหวัดระนอง มุ่งหน้าปลายทางที่จังหวัดภูเก็ต ด้วยรถห้องเย็นที่ใช้บรรทุกอาหารทะเล

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นคืนวันที่ 9 เมษายน 2551 หรือเมื่อ 13 ปีที่แล้ว บริเวณบ้านบางกล้วยนอก ตำบลนาคา อำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง รถห้องเย็นที่มีพื้นที่เพียง 15 ตารางเมตร บรรทุกแรงงานชาวเมียนมาร์อัดแน่น 121 ชีวิต แต่ระบบทำความเย็นเกิดเสียระหว่างทาง ทำให้พวกเขา 54 คน เสียชีวิตอย่างทรมาน

อูตัดล่วย ชายชาวเมียนมาเชื้อสายมอญ เป็นหนึ่งในเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายในเหตุการณ์นั้น เขากับภรรยามาจากเมืองเมาะลำไย หรือเมาะละแหม่ง หวังแสวงหาโอกาสที่ดีกว่า จึงจ่ายเงินให้นายหน้าของขบวนการนำพาแรงงานคนละ 6 พันบาท แลกกับการเข้ามาทำงานในไทย

ขบวนการนำพาแรงงานพาเขาและภรรยามาพักที่เกาะสองของเมียนมา 7 วัน จากนั้นนั่งเรือข้ามมาพักในโกดังแพปลาแห่งหนึ่งในตัวเมืองระนอง พร้อมกับเพื่อนชาวเมียนมาอีกนับร้อยชีวิต เพื่อรอวันเวลาเดินทาง แต่เมื่อถึงวันที่ต้องเดินทาง คืนวันที่ 9 เมษายน เขาและภรรยาปฏิเสธการเดินทางนั้น เพราะรถบรรทุกแช่เย็นจุคนมากเกินไป

“ก็มาอยู่ในโกดัง 2 วันครับ หลังจากวันที่ 3 มีรถสิบล้อเข้ามาประมาณช่วงทุ่มกว่าๆ ถึงสองทุ่ม และก็ให้พวกเราขึ้นรถ วันนั้นบนรถมีชุดแรกขึ้นไปกันหมดแล้วคนเยอะ และชุดของผมจะไม่ขึ้นไปเพราะว่าคนเยอะ คนคุมให้พวกผมขึ้นไป ผมบอกจะไม่ขึ้นไป แต่คนคุมขู่เอาไม้ขู่ให้ขึ้นไป ผมก็เลยต้องขึ้นไป”

เขาและภรรยาถูกบังคับขึ้นรถเป็นคนท้ายๆ พร้อมกับเสียงปิดบานประตู ภายในรถมีแต่ความมืด แสงไฟสลัวๆ จากหลอดไฟเล็กๆ ส่องสว่างไม่ทั่วถึงพื้นที่ 15 ตารางเมตรนั้น 121 ชีวิต ยืนแออัดเบียดเสียด และเมื่อรถแล่นไปได้ระยะหนึ่ง สิ่งผิดปกติก็เริ่มเกิดขึ้น

“พอออกจากที่นั่นมาประมาณหนึ่งชั่วโมงเริ่มหายใจไม่ค่อยได้ ผมไม่แน่ใจว่าแอร์เสียหรืออะไรยังไงเพราะว่าร้อนและก็หายใจไม่ได้ พออีกพักหนึ่งก็เริ่มเงยหัวไปเพื่อที่จะเอาอากาศหายใจ”

ไม่นาน ภรรยาที่ยืนอยู่ติดกันก็เริ่มไม่ไหว และในที่สุดเธอก็หมดสติในอ้อมกอดของเขา อูตัดล่วยทำได้เพียงแค่อุ้มภรรยาไว้ แต่ไม่มีโอกาสแม้แต่จะได้คิดช่วย เพราะจากนั้นไม่นานเขาก็ไม่รู้สึกตัวเช่นกัน

เขาฟื้นขึ้นอีกครั้งในสถานที่แห่งหนึ่งและหมดสติอีกรอบ รู้สึกตัวอีกครั้งที่โรงพยาบาล และตอนนั้นเองที่อูตัดล่วยได้รู้ว่าผู้เป็นภรรยาเสียชีวิตแล้ว

แรงงานข้ามชาติบนรถห้องเย็นมรณะคันนั้น ส่วนใหญ่มาจากเมืองเมาะลำไย จ่ายเงินให้ขบวนการนำพาแรงงานคนละ 5 พันถึง 7 พันบาท มีนายหน้าไปรับมาจากหมู่บ้าน นายหน้าจากฝั่งเมียนมาส่งต่อพวกเขาให้กับนายหน้าทางฝั่งไทย ข้ามเรือมาพักที่แพปลา ก่อนจะถูกขนย้ายด้วยรถบรรทุกแช่เย็น

ช่วงนั้น พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ เพิ่งจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 30 มกราคม 2551 และจะมีผลบังคับใช้ 120 วันนับจากวันประกาศ คือราวกลางเดือนมิถุนายน 2551 แต่เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกัน ทำให้ไม่สามารถเอาผิดผู้เกี่ยวข้องตามกฎหมายค้ามนุษย์ได้ จึงต้องดำเนินคดีด้วยกฎหมายอื่น โดยเฉพาะ พ.ร.บ. คนเข้าเมือง นั่นทำให้ผู้รอดชีวิต 67 คน ต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ

“ผมอยู่ในเรือนจำ 10 วัน อยู่ในห้องขังของตำรวจตรวจคนเข้าเมืองอีก 45 วัน หลังจากนั้นถูกส่งไปที่เกาะสอง ถูกขังอีก 2 เดือน ถึงจะได้กลับไปที่บ้าน” อูตัดล่วยเล่าย้อนถึงชะตากรรมอันโหดร้าย และต้องกลับไปบอกลูกสองคนที่บ้านเกิดด้วยน้ำตานองหน้า

แต่แม้จะผ่านเรื่องราวที่ยากจะลืม ทุกวันนี้ อูตัดล่วยยังคงกลับมาแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าในประเทศไทย ด้วยการเดินทางอย่างถูกกฎหมาย หลังไทยพยายามแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติที่มีอยู่ในประเทศนับล้านคนให้ถูกกฎหมาย ด้วยการร่วมมือกับ 3 ชาติ คือเมียนมา กัมพูชา และลาว ตั้งศูนย์พิสูจน์สัญชาติแรงงานนับจากเดือนสิงหาคม ปี 2552 เป็นต้นมา

 

ปัจจุบันของขบวนการนำพาแรงงาน

แม้จะมีการพิสูจน์สัญชาติตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา โอกาสในการเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎหมายมีมากขึ้น แต่ขบวนการนำพาแรงงานข้ามชาติยังคงมีโอกาสอยู่เสมอ พวกเขามีวิธีการปรับตัวเพื่อหาเงิน ทั้งจากการนำพาแรงงานที่ไม่ได้รับอนุญาตอย่างถูกกฎหมายเข้ามาทำงาน ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย ส่วนแรงงานข้ามชาติที่ขออนุญาตทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ยังมีช่องว่างให้ขบวนการเหล่านี้ใช้หาเงินได้เช่นกัน

ปัจจุบัน แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ที่ได้รับอนุญาตทำงานอย่างถูกกฎหมาย โดยเฉพาะชาวเมียนมา ยังคงใช้บริการของขบวนการนำพาแรงงานในการเดินทางเข้าออกไทย ซึ่งมักอ้างว่าปลอดภัยจากการตรวจค้นของด่านตรวจรายทางมากกว่าการเดินทางด้วยรถขนส่งสาธารณะ

แรงงานหญิงชาวเมียนมาเชื้อสายกะเหรี่ยงรายหนึ่ง ซึ่งทำงานในกรุงเทพฯ บอกว่า เธอกับเพื่อนเข้ามาทำงานอย่างถูกกฎมาย และเมื่อใดที่ต้องเดินทางกลับบ้านเกิด ต้องใช้บริการรถยนต์ของขบวนการนำพาแรงงานจากกรุงเทพฯ ไปส่งยังชายแดนปลายทางที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ซึ่งต้องจ่ายค่าเดินทาง 4 พันบาทต่อครั้ง เพราะมั่นใจในความปลอดภัยจากการถูกเรียกตรวจ

“มันเป็นการเดินทางที่ปลอดภัยกว่า ถ้าเราเดินทางด้วยรถโดยสารเอง เวลาถูกเจ้าหน้าที่ตรวจ ก็เสี่ยงที่อาจต้องถูกจับดำเนินคดี หรือเสียเงินมากกว่านั้น” หญิงสาวให้เหตุผลที่ต้องจ่ายค่าเดินทางราคาแพง และการเดินทางของเธอหลายครั้งก็ไม่ได้มีปัญหาเกิดขึ้นรายทาง ทำให้มั่นใจว่าการยอมจ่ายเงินที่สูงกว่าผ่านขบวนการนำพา ทำให้การเดินทางปลอดภัยกว่าด้วย

ส่วนในช่วงการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรกช่วงเดือนมีนาคมปีที่แล้ว กระทั่งมีการปิดชายแดน ทำให้เธอไม่ได้เดินทางกลับบ้านเกิดอีก แต่เธอบอกว่า ยังมีเพื่อนแรงงานจากชาติเดียวกันที่มีความจำเป็นต้องเดินทางกลับบ้านเกิด โดยใช้บริการของขบวนการนำพาเหมือนเดิม

คำบอกเล่าของหญิงสาวชาวเมียนมาเชื้อสายกะเหรี่ยงรายนี้ สะท้อนให้เห็นว่าขบวนการนำพาแรงงานข้ามชาติยังคงมีช่องทางอยู่เสมอ แม้ในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด และมีการปิดด่านชายแดน ทั้งการรับส่งแรงงานถูกกฎหมาย และนำพาแรงงานผิดกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันค่าใช้จ่ายในกลุ่มแรงงานผิดกฎหมายจากเมียนมา เพิ่มขึ้นเป็น 9 พันถึง 1 หมื่นบาทต่อคน แม้ราคาจะสูงขึ้น หลายคนยังคงมองเห็นโอกาสงานสร้างเงินจากเมืองไทยเสมอ และเพียงแค่ตัดสินใจเดินทาง ขบวนการนำพาก็สามารถสร้างรายได้ก้อนโตจากพวกเขาก่อนเดินทางด้วยซ้ำ

 

บ่อนพนัน ธุรกิจสีเทากับผู้บังคับใช้กฎหมาย

บ่อนการพนันที่ลักลอบเปิด เสมือนถูกโควิด-19 กระชากหน้ากากออกมาให้สังคมได้รับรู้ชัดเจนขึ้น หลังจากหลายจังหวัดในภาคตะวันออก ประกอบด้วย ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด ทยอยแถลงผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่รับเชื้อมาจากบ่อนการพนัน นั่นทำให้ตำรวจซึ่งเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายหลายจังหวัดแบ่งรับแบ่งสู้ทำนองว่าเป็นการลักลอบเล่นการพนัน ไม่ใช่บ่อน หรือเป็นบ่อนที่เพิ่งแอบเปิดได้ไม่นาน แต่ตำรวจบางจังหวัดถึงกับยืนยันว่า จังหวัดที่ตนดูแลไม่มีบ่อน

จากเหตุการณ์นี้ทำให้ผู้บังคับการตำรวจใน 4 จังหวัดดังกล่าว ถูกย้ายไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 2 และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจแห่งชาติ

แต่อดีตนายตำรวจเกษียณราชการที่มักเปิดโปงมุมมืดในวงการตำรวจ พันตำรวจเอกวิรุตน์ ศิริสวัสดิบุตร กลับมองการย้ายผู้บังคับการตำรวจที่เกี่ยวพันกับบ่อนพนันต่างออกไป เขาบอกว่า สาเหตุที่บ่อนเถื่อนขนาดใหญ่ยังคงสามารถเปิดท้าทายกฎหมายได้เพราะมักมีเส้นสายโยงใยกับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ ส่วนตำรวจชั้นผู้น้อยในพื้นที่รู้ว่าเป็นบ่อน แต่ทำอะไรไม่ได้ ดังนั้น การย้ายไปช่วยราชการจึงเป็นเสมือนพฤติกรรมช่วยคุ้มครอง เมื่อเวลาผ่านไป สังคมลืม ตำรวจที่ถูกย้ายอาจได้กลับไปอยู่ที่เดิม หรือย้ายไปเติบโตที่อื่น ไม่มีใครถูกดำเนินคดีอาญาหรือวินัย

“ปัญหาบ่อนการพนันทุกวันนี้ แก้ง่ายนิดเดียว ตำรวจไม่ต้องตามปราบปราม แค่ตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไม่ให้เปิด บ่อนก็ไม่มีแล้ว”

อดีตนายตำรวจที่เคยถูกลอบวางระเบิดบาดเจ็บสาหัส สมัยเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรลำลูกกา จ.ปทุมธานี เมื่อปี 2548 เหตุเพราะเกาะติดสืบสวนผู้มีอิทธิพลที่เกี่ยวพันกับคดียิงคนตายและยาเสพติด กล่าวย้ำถึงต้นตอปัญหาบ่อนการพนันที่ไม่อาจหมดสิ้นไปได้

พันตำรวจเอกวิรุตน์ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า บ่อนการพนันถูกเปิดโปงเพราะโควิด-19 ในพื้นที่ของกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 แต่ไม่ใช่พื้นที่นี้พื้นที่เดียวที่มีบ่อนพนันขนาดใหญ่ ยังมีอีกพื้นที่หนึ่งที่ยังไม่ถูกเปิดเผย ซึ่งพบว่ามีบ่อนพนันในหลายจังหวัดเช่นกัน และนอกจากบ่อนการพนัน นายตำรวจผู้นี้ยืนยันว่า ปัจจุบันมีตู้ม้าซึ่งเป็นเครือข่ายเดียวกันกับเจ้าของบ่อนที่ถูกเปิดโปง วางอยู่หลายจังหวัดทั่วประเทศ คาดว่ามีประมาณ 3 หมื่นตู้ แต่ในช่วงที่บ่อนพนันถูกเปิดโปง ตู้ม้าเหล่านี้ในบางจังหวัดถูกนำไปซุกซ่อน บางแห่งถึงขั้นนำไปทิ้งลงแม่น้ำ

 

บ่อนพระราม 3 สะท้อนภาพบ่อนและตำรวจ

ในเหตุการณ์ยิงกันเสียชีวิต 4 ราย ในบ่อนพระราม 3 เมื่อคืนวันที่ 3 สิงหาคม 2563 ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลแถลงหลังเกิดเหตุว่า สถานที่ดังกล่าวมีการลักลอบเล่นการพนัน แต่ไม่ยืนยันว่ามีลักษณะเป็นบ่อนการพนันหรือไม่

การแถลงเช่นนี้ยิ่งทำให้สังคมยิ่งเชื่อว่าบ่อนดังกล่าวมีความเกี่ยวพันกับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ การให้ข้อมูลว่ามีการลักลอบเล่นการพนัน เป็นเสมือนการพยายามลดทอนภาพความเป็นบ่อนขนาดใหญ่ที่มีพนักงานร้อยกว่าคน ให้เป็นแค่คนไม่กี่คนลอบเล่นการพนันเท่านั้น ทั้งที่เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังเกิดเหตุ สังคมได้รับรู้ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และสื่อมวลชนที่ติดตามความเป็นไปว่า บ่อนพระราม 3 มีลักษณะเป็นบ่อนขนาดใหญ่

นักพนันหญิงวัย 50 ปีคนหนึ่ง ที่เป็นลูกค้าบ่อนพระราม 3 และอยู่ในเหตุการณ์คืนนั้น ฉายภาพภายในบ่อนให้เห็นว่า แบ่งเป็น 2 โซน คือโซนวีไอพี และโซนสนามทราย โดยโซนวีไอพีเป็นการแทงพนันหลักแสนถึงหลักล้านบาท ส่วนโซนสนามทรายเป็นการแทงพนันหลักร้อยถึงหลักหมื่นบาท

เธอบอกว่า ในบ่อนพระราม 3 มีนักพนันวันละเกือบ 2 ร้อยคน พนักงานอีกราว 100 คน การพนันที่เป็นที่นิยม คือบาคารา เสือมังกร และถั่วสองตังค์ ซึ่งมีการได้เสียค่อนข้างเร็ว ไม่ใช้เวลานาน

“ฉันเล่นโซนสนามทราย เพราะแทงไม่เยอะ แต่จุดที่เขายิงกันอยู่ในโซนวีไอพี ได้ยินเสียงปืน แต่ไม่เห็นเหตุการณ์” หญิงนักพนันรายนี้ให้รายละเอียดและเล่าว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ยิงกัน คนคุมบ่อนให้นักเล่นออกประตูด้านหลัง และลำเลียงอุปกรณ์ในบ่อนออก ซึ่งใช้เวลาราวชั่วโมง

นักพนันหญิงวัย 50 ปี บอกด้วยว่า เธอเล่นพนันเป็นหลัก ไม่ใช่คนในพื้นที่ที่บ่อนตั้งอยู่ แต่เช่าห้องพักห่างจากบ่อนเพียงไม่ถึงร้อยเมตร โดยบ่อนพระราม 3 ย้ายมาจากบ่อนสีลมที่ถูกเปิดโปงไปก่อนหน้า ซึ่งทำให้เธอต้องย้ายตามบ่อนไปยังที่แห่งใหม่ด้วย

ส่วนชาวบ้านที่อยู่ละแวกที่ตั้งบ่อนมักไม่ใช่ลูกค้าของบ่อน และแม้จะรู้ว่าเป็นบ่อนการพนัน แต่หลายคนไม่อยากยุ่งด้วย เพราะในคืนเกิดเหตุ แม้สถานีตำรวจจะตั้งอยู่ไม่ห่างจากบ่อน เพียงแค่ไม่ถึง 3 กิโลเมตร แต่กว่าตำรวจจะเดินทางไปถึงที่เกิดเหตุก็กินเวลาเป็นชั่วโมง

นั่นยิ่งทำให้ผู้คนในสังคมจินตนาการไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างบ่อนพระราม 3 กับตำรวจ ว่าเป็นไปในรูปแบบอย่างไรได้บ้าง

 

ปฏิบัติการปราบปราม หวังลบภาพจำของสังคม

หลังทั้งบ่อนการพนัน และแรงงานข้ามชาติ กลายเป็นแหล่งแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ จนถูกสังคมมองว่า เพราะผู้บังคับใช้กฎหมายมีผลประโยชน์ได้เสียกับขบวนการธุรกิจสีเทาเหล่านี้ ทำให้ทั้งตำรวจและฝ่ายความมั่นคงที่เกี่ยวข้อง ต้องปฏิบัติการปราบปรามให้เห็นทั้งการจับกุมกวาดล้างบ่อนพนัน และการตรวจค้นเครือข่ายนำพาแรงงาน

ไม่ว่าจะเป็นตำรวจทหารเข้าค้นบ้านพักหลายจุด ในอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นบ้านพักของกลุ่มนายหน้าลักลอบนำพาแรงงานข้ามชาติจากเมียนมาเข้าไทย หรือการจับกุมบ่อนขนาดย่อยที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี การตรวจค้นบ่อนที่แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ พร้อมนักพนันจำนวนหนึ่ง

แต่ปฏิบัติการเหล่านี้ยากที่จะลบภาพจำของสังคมที่มีต่อผู้บังคับใช้กฎหมายว่าอาจเกี่ยวพันกับธุรกิจสีเทา เพราะครั้งนี้ บ่อนพนัน และการลักลอบนำพาแรงงานข้ามชาติ ดันเป็นต้นตอของการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่ทำให้ผู้คนเดือดร้อนไปทั้งประเทศ

 

Tags: , , , , ,