ใครที่ไม่รู้จักผลงานของวินเซนต์ ฟาน กอกห์ (Vincent van Gogh) หรือในสำเนียงไทย คือแวน โก๊ะห์ จิตรกรชาวดัตช์ผู้นี้ อย่างน้อยก็คงจะเคยรับรู้มาบ้างว่า เขาคือศิลปินที่ตัดใบหูของตนเอง เหตุผลหรือแรงจูงใจในการกระทำนั้นยังมืดมน จนปรากฏทฤษฎีต่างๆ นานาเพื่ออธิบาย
และเวอร์ชันที่ใกล้เคียงความเป็นไปได้เท่าที่มี กล่าวถึงความขัดแย้งกับพอล โกแกง (Paul Gauguin) จิตรกรร่วมวงการและเพื่อนร่วมที่พักอาศัย ที่ได้ชื่อว่าเป็นศิลปินแนวโพสต์-อิมเพรสชันนิสม์ เนื่องจากในคืนวันที่ 23 ธันวาคม 1888 ทั้งสองมีปากเสียงกันจริง
แต่การทะเลาะวิวาทครั้งนั้นนำไปสู่การกระทำที่คลุ้มคลั่งอย่างไร ไม่มีใครสามารถอธิบายได้
คืนเสียหู
ในตอนเช้าของวันคริสต์มาสอีฟปี 1888 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งจากพอล โกแกงให้ไปที่บ้านเช่าในเมืองอาร์เลส์ หลังที่เรียกกันว่า ‘บ้านสีเหลือง’ ตามสีที่ทารอบผนังบ้าน เพื่อให้มาดูอาการของแวน โก๊ะห์ ซึ่งเหยียดนอนอยู่บนเตียง มีเลือดไหลที่บริเวณศีรษะที่เขาใช้ผ้าพันไว้ และอยู่ในสภาพกึ่งสิ้นสติ ก่อนหน้านั้นไม่กี่ชั่วโมง จิตรกรชาวดัตช์ตัดใบหูของตนเอง แล้วส่งไปที่ซ่องโสเภณี ‘เมซอง เดอ โทเลรองซ์’ มอบให้กับกาเบรียลล์ แบร์ลาทิเยร์ (Gabrille Berlatier) ลูกสาวชาวนาอายุ 18 ปีที่ทำงานอยู่ในซ่อง และเป็นโสเภณีคนโปรดของเขา เพื่อเป็นของขวัญวันคริสต์มาส และเมื่อเธอเปิดกล่องแล้วถึงกับเป็นลมล้มพับไป
วินเซนต์ แวน โก๊ะห์ เป็นที่รู้จักของผู้คนในเมืองว่าเป็นคนขี้เมา ชอบเที่ยวเตร่ตามซ่องโสเภณี และมีบ้านหลังสีเหลืองที่เขาอยู่ร่วมกันกับศิลปินอีกคน ที่ดูน่ากลัวกว่า ถึงแม้ว่าไม่เคยบ้าไม่เคยเมาให้ใครๆ เห็นก็ตาม ศิลปินที่กล่าวถึงคือ พอล โกแกง หลังจากให้การยืนยันกับตำรวจว่า เพื่อนของตนหมดสติไปเหตุเพราะใช้มีดตัดใบหูของตัวเอง และเขาเป็นคนส่งโทรเลขแจ้งน้องชายของแวน โก๊ะห์ ให้รีบเดินทางมาทันที จากนั้นเขาก็เดินทางกลับไปปารีสอย่างเร่งด่วน และไม่คิดจะหวนกลับไปที่นั่นอีก
ท้ายที่สุดโกแกงก็ไปถึงทะเลใต้ ไปเป็น ‘คนดึกดำบรรพ์ที่ทันสมัย’ คนแรกของที่นั่น ส่วนแวน โก๊ะห์ ถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาล ก่อนจะถูกเธโอ (Theo) ผู้เป็นน้องชาย แนะนำแกมบังคับให้เขาเข้าไปบำบัดในคลินิกผู้ป่วยโรคจิตในแซงต์-เรมี อันเป็นที่มาของภาพ ‘The Starry Night’ และ ‘Cypresses’ ที่โด่งดัง
ฮานส์ เคาฟ์มันน์ (Hans Kaufmann) และริตา วิลเดกันส์ (Rita Wildegans) สองนักวิชาการชาวเยอรมัน เขียนหนังสือ Van Goghs Ohr: Paul Gauguin und der Pakt des Schweigens (ใบหูของแวน โก๊ะห์ : พอล โกแกง และสนธิสัญญาแห่งความเงียบ) ออกมาในปี 2009 และเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กับคำกล่าวอ้างในหนังสือที่ว่า โกแกงเป็นคนตัดใบหูของแวน โก๊ะห์ ด้วยมีดดาบ และที่ทั้งสองพากันปิดปากนิ่งเงียบ ไม่ยอมเปิดเผยความจริงนั้น เพราะแวน โก๊ะห์ รู้สึกอับอาย ส่วนโกแกงรู้สึกผิด
มีข้อมูลจากนักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันเพิ่มเติมว่า พอล โกแกงเป็นนักฟันดาบ และได้พกมีดดาบติดตัวไปอาร์เลส์ด้วย
อุดมการณ์สานฝัน
ปี 1888 ที่แวน โก๊ะห์ ตัดสินใจเดินทางมายังอาร์เลส์ เขามีเหตุผลหลายอย่างที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกันทั้งหมด เขาคาดหวังว่าบรรยากาศทางใต้จะช่วยทำให้เรื่องเพศและจิตวิญญาณของเขาดีขึ้น จากจินตภาพว่าเมืองนี้เต็มไปด้วยโสเภณีที่งดงามและเคร่งศาสนา สาวชาวเมืองอาร์เลส์เองก็ได้ชื่อว่าเป็นหญิงงามที่สุดของยุโรป เขาจึงคิดอยากจะมาแสวงหาความสุขที่นี่
และที่สำคัญ แวน โก๊ะห์ มีความใฝ่ฝันเดิมๆ ที่โรแมนติก ถึงการอยู่ร่วมกันของศิลปิน เพราะเมื่อศิลปินใช้ชีวิตและทำงานร่วมกันแล้ว ก็จะเกื้อกูลกันทำให้ผลงานเป็นที่ยอมรับและเป็นที่ต้องการมากขึ้น ซึ่งในอดีตกลุ่มจิตรกรนาซารีนในกรุงโรม ลัทธิหนึ่งของคริสต์ศาสนาเมื่อช่วงต้นศตวรรษที่ 19 เป็นกลุ่มแรกที่มีแนวความคิดแบบนี้
ภาพฝันถึงการอยู่ร่วมกันของศิลปินที่มีอุดมการณ์เดียวกันถูกบรรยายในจดหมายของแวน โก๊ะห์ …เราสามารถอยู่ร่วมทำงานด้วยกัน เหมือนดั่งเช่น ชาวประมงในไอซ์แลนด์! พระสงฆ์ในพุทธศาสนา! ชาวนาช่างฝีมือ! กองทหารต่างด้าวฝรั่งเศส! ครั้นเมื่อเดินทางถึงอาร์เลส์ได้ไม่นาน เขาก็เขียนจดหมายถึงโกแกง ชักชวนไปร่วมก่อตั้งสตูดิโอด้วยกัน ใช้ชีวิตและทำงานอยู่ด้วยกัน ใต้หลังคาเดียวกัน
บ้าน-สีเหลือง
วินเซนต์ แวน โก๊ะห์เป็นศิลปินที่ปราศจากความสุขในชีวิต และเป็นคนคลั่งไคล้ใหลหลงในสีเหลือง ภาพเขียนของเขามักมีสีเหลืองปรากฏอยู่เกือบทั่วไป สำหรับเขาแล้ว สีเหลืองเป็นสีที่สะท้อนถึงความสุข ความอบอุ่น ซึ่งช่วยเยียวยาจิตวิญญาณที่แหลกร้าวของเขาได้เป็นอย่างดี
เหตุเพราะต้องการใช้ชีวิตอย่างมัธยัสถ์ แวน โก๊ะห์ จึงตัดสินใจเช่าบ้านสีเหลือง ระหว่างใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นเพียงไม่กี่ปี เขาสามารถวาดรูปได้มากกว่า 1,000 รูป และภาพสีน้ำมันอีกเกือบ 900 รูป ราวกับคนบ้างาน เขาเขียนรูปเยอะ นอนและกินอาหารน้อย กระทั่งทุกอย่างส่งผลต่อสภาพจิตใจให้เกิด ‘สภาวะบ้าคลั่ง’
พอล โกแกงตอบรับคำเชิญ และเดินทางจากกรุงปารีสไปใช้ชีวิตและทำงานอยู่กับแวน โก๊ะห์ ในความเป็นจริงแล้ว เธโอ-น้องชายของแวน โก๊ะห์ อยู่เบื้องหลังการไปเยือนอาร์เลส์ของโกแกง อีกทั้งเธโอยังเป็นคนคอยประสานในยามที่โกแกงรู้สึกอึดอัดและไม่พอใจแวน โก๊ะห์ บ่อยครั้งเธโอต้องเขียนจดหมายเตือนพี่ชาย “เขาเป็นเพื่อนที่น่าสนใจจริงๆ เขารู้เรื่องการทำอาหารดีเยี่ยม ฉันเชื่อว่านายน่าจะเรียนรู้จากเขาได้บ้าง”
แต่ทั้งสองมีเรื่องทะเลาะกันบ่อยครั้ง เหตุเพราะความคิดเห็นทางศิลปะที่แตกต่างกัน กระทั่งในคืนก่อนคริสต์มาสอีฟก็เกิดเหตุการณ์จากความคลุ้มคลั่งของแวน โก๊ะห์
หลังจากนั้นแวน โก๊ะห์ ต้องเทียวไปเทียวมาตามคลินิกบำบัดจิตอยู่หลายครั้งหลายแห่ง ตราบถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีคำอธิบายเกี่ยวกับความป่วยไข้ของเขา และครั้งหนึ่งระหว่างที่มีอาการคลุ้มคลั่ง เขาเคยพยายามกินสีที่เขาใช้เขียนรูปด้วย
สีเหลือง มีส่วนผสมของความสุขที่จะแผ่ซ่านออกจากข้างใน …บางทีเขาอาจจะคิดอย่างนี้ก็ได้
วันที่ 17 กรกฎาคม 1890 จิตรกรวัย 37 ปีใช้ปืนยิงที่หน้าอกของตนเอง และเสียชีวิตลงในอีกสองวันต่อมา ไม่กี่เดือนหลังความตายของเขามีบทความเขียนชื่นชมงานภาพเขียนของเขาครั้งแรก แต่ทว่าเรื่องราวอันเป็นตำนานของวินเซนต์ แวน โก๊ะห์ เพิ่งเป็นที่รู้จักกว้างขวางในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
อ้างอิง:
https://www.20min.ch/wissen/news/story/Van-Gogh-hats-aus-Frust-ueber-den-Bruder-getan-22871094
https://www.kino-zeit.de/film-kritiken-trailer-streaming/van-gogh-an-der-schwelle-zur-ewigkeit-2018
https://futter.kleinezeitung.at/darum-hat-van-gogh-gelbe-farbe-gegessen/
https://www.n-tv.de/archiv/150-Geburtstag-Van-Goghs-article111785.html
Tags: แวนโก๊ะห์, พอล โกแกง, วินเซนต์ แวนโกะห์