จะว่าไปแล้ว ลำพังเขาคนเดียวคงไม่เกิดความคิดที่จะเขียนหนังสือสำหรับเด็กขึ้นได้เลย แต่เป็นเพราะบรรณาธิการสำนักพิมพ์ในนิวยอร์กนั่นละ ที่มีส่วนผลักดันให้หนังสือเล่มที่โด่งดังและขายดีไปทั่วโลกเกิดขึ้น

อองตวน เดอ แซงเตกซูเปรี (Antoine de Saint-Exupéry) และเคอร์ติซ ฮิตช์ค็อค (Curtice Hitchcock) นัดเจอกันเมื่อตอนต้นปี 1942 ที่ภัตตาคารแห่งหนึ่งในนครนิวยอร์ก และเหมือนเช่นทุกครั้งที่แซงเตกซูเปรีมักจะสเก็ตช์ภาพนั่นนี่ลงบนกระดาษเช็ดปากระหว่างพูดคุยกัน ข้างฝ่ายฮิตช์ค็อคก็คอยสังเกตสังการูปวาดของคู่สนทนาด้วยความสนใจใคร่รู้ และระหว่างรับประทานอาหารมื้อกลางวันในวันนั้นก็เช่นกัน ฮิตช์ค็อคสนใจภาพสเก็ตช์รูปเด็กผู้ชายเล็กๆ ภาพหนึ่ง จึงเอ่ยปากเสนอกับแซงเตกซูเปรี ให้เขาเขียนเรื่องเล่าเป็นนิทานเกี่ยวกับเด็กผู้ชายในภาพ

นั่นคือจุดกำเนิดของเจ้าชายน้อย (Le Petit Prince) ที่มักถูกกล่าวถึง ในขณะที่เรื่องราวอีกเวอร์ชันหนึ่งบอกว่า มาจากภรรยาของยูจีน เรย์นัล (Eugene Reynal) หุ้นส่วนของฮิตช์ค็อค ที่หลงใหลได้ปลื้มกับเด็กชายตัวน้อยๆ ที่แซงเตกซูเปรีสเก็ตช์ภาพทิ้งไว้ตามที่ต่างๆ ไม่ว่าบนขอบกระดาษจดหมาย กระดาษเช็ดปาก หรือกระดาษโน้ต จนนึกอยากให้เขาบันทึกเป็นเรื่องเล่า

แต่ไม่ว่าจะเป็นไอเดียจากใครก็ตาม ไม่ช้าแซงเตกซูเปรีก็เริ่มทำงานเขียน วันที่ 6 เมษายน 1943-หนึ่งปีถัดมา หนังสือ ‘เจ้าชายน้อย’ ก็เริ่มวางขายอยู่ตามร้านหนังสือในนิวยอร์ก เล่าเรื่องราวของเด็กชายตัวน้อยๆ ผมบลอนด์หยักศกที่ต้องออกเดินทางเพราะทะเลาะกับดอกไม้ จากถิ่นกำเนิดเพื่อท่องไปในโลกกว้าง และมันยิ่งไกลไปกว่าเรื่องราวในนิทาน แซงเตกซูเปรีได้เขียนผลงานแห่งศตวรรษที่ปัจจุบันสามารถจำหน่ายได้เกินกว่า 145 ล้านเล่ม แต่ตอนนั้นยังไม่มีใครล่วงรู้ เพราะช่วงแรกมันเป็นหนังสือที่ยอดขายไม่พุ่งเอาเสียเลย

ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1943 หนังสือ เจ้าชายน้อย ได้รับการตีพิมพ์อีกครั้ง พร้อมออกวางตามร้านจำนวน 30,000 เล่ม มันไต่อันดับขึ้นอย่างเชื่องช้าสู่ลิสต์หนังสือขายดีของนิวยอร์ก ไทมส์ได้เพียงหนึ่งสัปดาห์ และนานสองสัปดาห์บนลิสต์ของเฮรัลด์ ทริบูน จนปลายปี 1943 หนังสือ เจ้าชายน้อย’ก็ค่อยๆ ถูกลืมไป แทบไม่มีใครพูดถึงงานเขียนของแซงเตกซูเปรีอีกเลย

การที่หนังสือเล่มนี้เป็นที่รับรู้และยอมรับในวงจำกัด อาจเพราะว่ามันไม่สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของนักบินผู้เคร่งขรึมลุ่มลึกที่เขียนหนังสือได้ แซงเตกซูเปรีเดินทางลี้ภัยจากฝรั่งเศสระหว่างการยึดครองของเยอรมันช่วงปี 1940 ไปยังสหรัฐอเมริกา มีชื่อเสียงอยู่บ้างเกี่ยวกับการเขียนเล่าเรื่องราวผจญภัยที่มากไปด้วยปรัชญา ซึ่งเขาเก็บเกี่ยวได้จากประสบการณ์การเป็นนักบินในแอฟริกา ยุโรป และอเมริกาใต้ ซึ่งเรย์นัลและฮิตช์ค็อคเคยตีพิมพ์ผลงานเขียนของเขาครั้งก่อนหน้าเมื่อปี 1942 ชื่อเล่ม Flight to Arras (Pilote de guerre) เคยกลายเป็นหนังสือขายดี มียอดจำหน่ายสูงถึงแสนเล่ม แต่เล่มนี้กลับเป็นผลงานหนังสือนิทาน

การที่หนังสือเล่มนี้เป็นที่รับรู้และยอมรับในวงจำกัด อาจเพราะว่ามันไม่สอดคล้องกับภาพลักษณ์ของนักบินผู้เคร่งขรึมลุ่มลึกที่เขียนหนังสือได้

สำนักพิมพ์เรย์นัล & ฮิตช์ค็อคเองก็รู้ดีว่า เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจและยอมรับ จึงเบนประเด็นไปสู่อารมณ์ขัน เขียนโฆษณาหนังสือเล่มนี้ว่า “นักวิจารณ์คงจะสนุกไปกับการอธิบายคุณว่ามันเป็นหนังสืออะไร แต่สำหรับเราแล้ว นี่คือหนังสือเล่มใหม่ของอองตวน เดอ แซงเตกซูเปรี”

แต่นักวิจารณ์เองก็ไม่สามารถบอกได้เหมือนกันว่าพวกเขาอ่านอะไรกันไป พวกเขาเพียงแค่เขียนชมสำนวนและภาษา สำหรับนักอ่านที่เป็นผู้ใหญ่ ดูมันจะเป็นหนังสือเด็กเกินไป และสำหรับเด็กมันก็เป็นหนังสือผู้ใหญ่เกินไปเช่นกัน “หรือว่าแซงเตกซูเปรีจะเขียนปรัชญาให้เด็กๆ อ่าน ข้าพเจ้าเชื่อว่าเด็กๆ คงอ่านแล้วไม่เข้าใจ” เป็นท่อนหนึ่งจากข้อเขียนวิจารณ์หนังสือในนิวยอร์ก ไทม์ส 

…แล้วใครกันเล่าที่ควรอ่าน

การแจ้งเกิดของหนังสือกลับปรากฏขึ้นในอีกหนึ่งปีให้หลัง และมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับโศกนาฏกรรมความตายของแซงเตกซูเปรีด้วย

ก่อนที่หนังสือ เจ้าชายน้อย จะตีพิมพ์ออกมา แซงเตกซูเปรีได้เดินทางออกจากสหรัฐอเมริกา ไปปักหลักอยู่ในแอลจีเรีย และจากที่นั่นเขายังคงปฏิบัติหน้าที่บินลาดตระเวนให้กับกองทัพอากาศของฝรั่งเศส ในวันที่ 31 กรกฎาคม 1944 เครื่องบินที่เขาขับออกไปลาดตระเวนนั้นไม่หวนกลับมาอีกเลย ทิ้ง เจ้าชายน้อย เป็นผลงานสุดท้ายของเขา และในเวลาต่อมาได้กลายเป็นอนุสรณ์ที่เตือนให้รำลึกถึงมิตรภาพและมนุษยชาติ

31 กรกฎาคม 1944 เครื่องบินที่เขาขับออกไปลาดตระเวนนั้นไม่หวนกลับมาอีกเลย ทิ้งเจ้าชายน้อยเป็นผลงานสุดท้ายของเขา และกลายเป็นอนุสรณ์ที่เตือนให้รำลึกถึงมิตรภาพและมนุษยชาติ

สองปีถัดมา สำนักพิมพ์กัลญิมารฺด์ในกรุงปารีสได้ตีพิมพ์ เจ้าชายน้อยฉบับที่มีการปรับปรุงเล็กน้อย มันไม่ใช่หนังสือเล่มเดียวกันอีกแล้วเมื่อผนวกเข้ากับชะตากรรมของแซงเตกซูเปรี จู่ๆ มันคล้ายมีอะไรบางอย่างลึกลับติดอยู่กับหนังสือ ราวกับมันได้คาดการณ์เกี่ยวกับความตายของแซงเตกซูเปรีไว้ล่วงหน้า 

คราวนี้ผู้อ่านจะได้รับรู้เรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า แซงเตกซูเปรีนั้นโดดเดี่ยว ป่วยไข้ และเศร้าใจอย่างไรระหว่างที่ต้องลี้ภัยไปอยู่สหรัฐอเมริกา และการที่เขาต้องสิ้นหวังกับผู้คนที่มืดบอดด้วยอำนาจ ความโลภ และความอาฆาตพยาบาท ซึ่งทั้งหมดนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ผ่านภูมิปัญญาของเจ้าชายน้อย

คราวนี้ผู้อ่านจะได้รับรู้เรื่องราวที่สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า แซงเตกซูเปรีนั้นโดดเดี่ยว ป่วยไข้ และเศร้าใจอย่างไรระหว่างที่ต้องลี้ภัยไปอยู่สหรัฐอเมริกา และการที่เขาต้องสิ้นหวังกับผู้คนที่มืดบอดด้วยอำนาจ ความโลภ และความอาฆาตพยาบาท ซึ่งทั้งหมดนั้นถูกวิพากษ์วิจารณ์ผ่านภูมิปัญญาของเจ้าชายน้อย

มีการเล่าลือสืบต่อกันอยู่นานหลายสิบปีว่า เขาสมัครใจที่จะบินไปตายเอง และตราบถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีใครสามารถชี้แจงข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องบินของเขาที่ตกในเขตเมืองตูลองได้

เรื่องเล่าที่งดงามและแปลกประหลาดของหนังสือเล่มนี้ให้ความรู้สึกกินใจผู้อ่านในยุคสมัยนั้นอย่างไร อะเดรียนน์ มงนิเยร์ (Adrienne Monnier) เจ้าของร้านหนังสือ-สำนักพิมพ์และผู้สื่อข่าว เคยบรรยายภาพความรู้สึกนั้น หลังจากค้นพบความสามารถด้านการเขียนของแซงเตกซูเปรี และเธอเคยนำผลงานเขียนชิ้นแรกของเขาลงตีพิมพ์ในนิตยสาร Navire d’Argent ของเธอในปี 1926

มงนิเยร์พูดเล่าในเวลาต่อมาว่า เธออ่าน เจ้าชายน้อย แล้วถึงกับหลั่งน้ำตา ไม่ใช่เพราะเรื่องราวที่น่าเศร้า แต่เพราะแซงเตกซูเปรีถ่ายทอดความเป็นตัวเองของเขาลงไปอย่างมากมาย เธอร้องไห้ให้กับเขา และเชื่อว่ายังมีผู้ที่เคยอ่านหนังสือเล่มนี้อีกหลายคนน่าจะรู้สึกเช่นเดียวกับเธอ

ตราบถึงทุกวันนี้มีผู้คนผลัดเปลี่ยนกันเข้าสู่วงจรความรู้สึกเกี่ยวกับชีวิตของแซงเตกซูเปรี นั่นเพราะ ‘เจ้าชายน้อย’ ยังนับเป็นหนังสือหนึ่งในจำนวน 20 เล่มที่มีคนอ่านมากที่สุดในโลก 

อ้างอิง:

Fact Box

ปลายปี 2016 มีการประมูลหนังสือ เจ้าชายน้อย ในกรุงปารีส เป็นเล่มดั้งเดิมที่สำนักพิมพ์เรย์นัล & ฮิตช์ค็อคตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1943 ซึ่งอองตวน เดอ แซงเตกซูเปรีได้มอบให้กับเพื่อนคนหนึ่ง ผู้ไม่ประสงค์ออกนามประมูลได้ไปครอบครองในราคา 89,467 ยูโร

Le Petit Prince ต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส ได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ The Little Prince โดยแคเธอรีน วูดส์ (Katherine Woods) ในการตีพิมพ์ครั้งแรกพร้อมกันทั้งสองภาษานั้นถูกจำกัดจำนวน เป็นภาษาอังกฤษ 525 เล่ม และภาษาฝรั่งเศส 260 เล่ม

ปัจจุบันหนังสือ เจ้าชายน้อย ได้รับการแปลแล้วกว่า 350 ภาษาและภาษาถิ่น มียอดขายทั่วโลกมากกว่า 145 ล้านเล่ม มีการตีพิมพ์บ่อยครั้งและจำนวนมากรองจากคัมภีร์ไบเบิล ทว่าแซงเต็กซูเปรี-นักเขียนซึ่งเกิดที่เมืองลียง เมื่อปี 1900 กลับไม่มีโอกาสรับรู้ถึงความสำเร็จในผลงานเขียนของตนเอง

Tags: , , , , , ,