ที่เมืองโลซาน, มกราคม 2481

เมืองโลซาน (Lausanne) ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มันคือเมืองใหญ่อันดับที่สี่ของประเทศ ด้วยจำนวนประชากร (ณ เดือนพฤศจิกายน 2558) 146,372 คน ในพื้นที่ 41.38 ตารางกิโลเมตร

ผู้คนที่นี่ใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นหลัก เนื่องจากพรมแดนทางทิศตะวันตกและทิศใต้อยู่ติดกับประเทศฝรั่งเศส โดยมีเทือกเขาจูราและทะเลสาบเจนีวาเป็นพรมแดนธรรมชาติ

เมืองที่เงียบสงบแห่งนี้เป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล เป็นเมืองขนาดเล็กที่สุดในโลกที่มีระบบรถไฟใต้ดิน และที่สำคัญคือผู้ที่ไปเยือนสวนสาธารณะเดอน็องตูในเขตเทศบาลเมืองโลซาน จะได้พบกับ ‘ศาลาไทย’ (Le Pavillon Thailandais) ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ในโอกาสงานฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และเป็นที่ระลึกในโอกาสครบรอบ 75 ปีแห่งการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยและสมาพันธรัฐสวิสในปี 2549

ส่วนที่สำคัญที่สุดของศาลาหลังนี้คือลวดลายที่หน้าจั่ว (หรือที่เรียกว่าหน้าบัน) ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระปรมาภิไธยย่อของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสองพระองค์ ด้านหน้าทางทิศใต้คือพระปรมาภิไธยย่อ ภปร. ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ด้านตะวันตกคือพระปรมาภิไธยย่อ อปร. ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และด้านตะวันออกคือพระนามาภิไธยย่อ สว. ในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

โลซานจึงเป็นมากกว่าเมืองที่น่าอยู่ที่สุดเมืองหนึ่งในทวีปยุโรป เพราะนี่คือเมืองที่มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับทั้งสามพระองค์

ครูเกลย์องกับในหลวงอานันท์

การสวรรคตของสมเด็จพระบรมราชชนกในปี 2472 และสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอนภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ทำให้สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงแนะให้สมเด็จพระบรมราชชนนีพาพระราชนัดดาทั้งสามพระองค์ เสด็จไปพำนักและศึกษาต่อที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ปีต่อมา ทั้งสี่พระองค์ก็เสด็จพระราชดำเนินสู่เมืองโลซาน โดยพำนักที่วิลลาหลังหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง และสมาชิกของครอบครัวก็ตั้งชื่อวิลลาหลังนี้ว่า ‘วิลลาวัฒนา’

ที่โลซาน ครอบครัวชาวกรีกครอบครัวหนึ่ง มีความสนิทสนมกับครอบครัวของหม่อมเจ้ารัศมีสุริยัน สุริยง พระราชปนัดดาในรัชกาลที่ 5 ซึ่งทรงเป็นนักศึกษาวิชาแพทยศาสตร์อยู่ที่โลซาน ผู้เป็นสามีและพ่อของครอบครัวนี้คือ ‘เกลย์อง เซไรดารีส’ นักศึกษาปริญญาเอกแห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโลซาน ซึ่งในระหว่างเตรียมตัวเขียนวิทยานิพนธ์ เกลย์องก็ทำงานหารายได้พิเศษโดยการเป็นครูสอนเทนนิสและวิชาต่างๆ ให้กับนักเรียน

หม่อมเจ้ารัศมีสุริยัน สุริยง มีความประทับใจในอุปนิสัยของเพื่อนชาวกรีกผู้นี้เป็นอย่างมาก จึงทรงชักชวนให้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมราชชนนี

หลังจากได้พบกับเกลย์อง สมเด็จพระบรมราชชนนีก็ทรงเสนอให้เกลย์องเป็นครูส่วนพระองค์ของในหลวงทั้งสองพระองค์ ซึ่งเกลย์องก็ตอบรับโดยไม่ลังเล

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 2476 และ เกลย์อง เซไรดารีส ก็ทำหน้าที่นี้ตลอดระยะเวลา 26 ปีหลังจากนั้น

ที่เมืองอโรซา ปี 2482

เกลย์อง เซไรดารีส เกิดเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2449 ที่เมืองเดรสเดน ประเทศเยอรมนี เขาเป็นน้องคนสุดท้องของพี่ชาย 4 คน เป็นนักเทนนิสฝีมือดี และเป็นนักการศึกษาหัวก้าวหน้า

ลีซองดร์ เซไรดารีส บุตรคนสุดท้องของ เกลย์อง เซไรดารีส กล่าวว่าพ่อของเขาก็ละทิ้งหน้าที่การงานทางด้านกฎหมายเพื่อทำหน้าที่ครูส่วนพระองค์อย่างเต็มตัว “เพราะในโลกนี้มีทนายความเป็นล้านคน แต่คนที่ได้รับเกียรติให้ทำหน้าที่ดูแลทางด้านการศึกษาให้กับกษัตริย์สองพระองค์ ในโลกนี้มีอยู่ไม่กี่คน”

ในฐานะศิษย์เก่าของโรงเรียน เกลย์องเห็นว่า ‘เอกอล นูเวล เดอ ลา สวิส โรมองด์’ คือโรงเรียนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนของเขา และทั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระเชษฐาธิราชก็ทรงเข้าศึกษาที่โรงเรียนแห่งนี้ในช่วงปี 2478-2488

เอกอล นูเวล เป็นโรงเรียนสหศึกษาของเอกชน มันก่อตั้งในปี 2449 และเป็นหนึ่งในโรงเรียนลำดับแรกๆ ที่เปิดสอนหลักสูตรนานาชาติ (International Baccalaureate: IB) โดยเปิดสอนตั้งแต่ปี 2514

ที่นี่ไม่เพียงมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะด้านวิชาการ แต่ยังเน้นการพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ซึ่งสิ่งนี้ก็สะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีจากพระปรีชาสามารถในด้านต่างๆ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไม่ว่าจะเป็นด้านการช่าง การถ่ายภาพ การดนตรี การเกษตร วิทยาศาสตร์ และศิลปะ ซึ่งล้วนมีจุดเริ่มต้นจากโรงเรียนแห่งนี้

ลีซองดร์อธิบายเพิ่มเติมว่า “เมื่อก่อตั้งโรงเรียนในปี 2449 ที่นี่ใช้การสอนแบบใหม่ เนื่องจากในอดีต นักเรียนมีหน้าที่เพียงฟังสิ่งที่ครูพูด แต่เอกอล นูเวล ใช้การสอนแบบใหม่ที่ไม่ใช่เพียงแค่ฟังสิ่งที่ครูพูดและอ่านสิ่งที่อยู่ในหนังสือ แต่นักเรียนจะออกไปนอกห้องเรียน ไปปลูกผัก ทำงานไม้ เล่นกีฬา เรียนรู้ธรรมชาติ และอื่นๆ อีกมากมาย”

นอกจากสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเอกอล นูเวล ครูเกลย์องก็มีส่วนอย่างยิ่งในการบ่มเพาะประสบการณ์อันล้ำค่าในดินแดนเขตหนาวให้กับลูกศิษย์ของเขา ทั้งการเล่นสกี ฮอกกี้น้ำแข็ง และสเก็ตน้ำแข็ง การสร้างอิกลู (ที่พักอาศัยของชาวเอสกิโม) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวิชางานช่าง

ครูเกลย์องร่ำเรียนวิชางานช่างมาจากโรงเรียนเอกอล นูเวล ก่อนที่จะได้รับคำแนะนำและการฝึกฝนจากบิดาของภรรยาซึ่งเป็นช่างเครื่องเรือนไม้ จนกระทั่งกล่าวได้ว่ามีฝีมือในระดับมืออาชีพ

ในหลวงทั้งสองพระองค์ต่างก็หลงใหลในศิลปะแขนงนี้เช่นกัน และในวิลลาวัฒนาก็มีห้องทำงานช่างไม้ที่ครบครันไม่แตกต่างจากห้องทำงานของมืออาชีพ

ที่เมืองอโรซา ปี 2482

ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ออกจากโลซานกลับประเทศไทยเพื่อปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะประมุขของประเทศเมื่อปี 2494 หลังจากประทับอยู่ที่โลซานเป็นเวลา 18 ปี ขณะที่ครูเกลย์องก็ยังคงถวายการรับใช้อยู่ที่โลซาน

จนกระทั่งปี 2505 ครูเกลย์องก็กราบบังคมทูลลาเนื่องจากเกษียณ และจนถึงปี 2533 ครูก็ยังคงเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมราชชนนีและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เมื่อทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์เป็นประจำ

ในปี 2531 ครูเกลย์องมีโอกาสได้พบกับลูกศิษย์ของครูอีกครั้ง หลังจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้ครูเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยพร้อมกับบุตรชายและครอบครัว ในโอกาสที่มีอายุครบ 82 ปี

นอกจากได้เข้าเฝ้าฯ ในหลวงอีกครั้งหลังจากการจากลาอันเนิ่นนาน ครูเกลย์องยังได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมราชชนนีและสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ อีกด้วย

ครูเกลย์องถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2540 สามเดือนก่อนที่เขาจะมีอายุครบ 91 ปี

ในหนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ และเจ้านายไทยในโลซานน์ ลีซองดร์ เซไรดารีส บันทึกไว้ว่า “เกลย์อง เซไรดารีส พักผ่อนชั่นนิรันดร์อยู่ที่สุสานบัวส์ เดอ โวซ์ เมืองโลซานน์ ตั้งแต่วันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๐ และปรากฏเป็นหนึ่งในรายชื่อของบุคคลสำคัญของเขตปกครองที่พำนักอยู่อย่างสงบ ณ สุสานแห่งนั้น”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชวโรกาสให้ครูเกลย์องและครอบครัวเข้าเฝ้าฯ เมื่อปี 2531

 

ภาพจากหนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ และเจ้านายไทยในโลซานน์: บันทึกความทรงจำของครูส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ ๙
รวบรวมโดย ลีซองดร์ เซ. เซไรดารีส

 

FACT BOX:

  • โรงเรียนเอกอล นูเวล เดอ ลา สวิส โรมองด์ เปิดรับนักเรียนชายและหญิงอายุ 3-18 ปี ปัจจุบันมีนักเรียนมากกว่า 630 คน ซึ่ง 50 คนเป็นนักเรียนประจำ เปิดสอนหลักสูตรสำหรับนักเรียนประจำ (ตั้งแต่อายุ 12 ปี) สำหรับนักเรียนไป-กลับ และสำหรับซัมเมอร์แคมป์
  • ที่นี่ใช้ภาษาฝรั่งเศสและภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน หลักสูตรการศึกษาประกอบด้วยหลักสูตรสวิส สอนด้วยภาษาฝรั่งเศส (Swiss Maturite) และหลักสูตรนานาชาติ (International Baccalaureate)

 

DID YOU KNOW?

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๙ และเจ้านายไทยในโลซานน์: บันทึกความทรงจำของครูส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ ๙
รวบรวมโดย ลีซองดร์ เซ. เซไรดารีส บุตรคนสุดท้องของ เกลย์อง เซ. เซไรดารีส
ราคา 999 บาท
ฉบับภาษาอังกฤษหาซื้อได้ที่ร้าน Asia Books
ฉบับภาษาไทยหาซื้อได้ที่ร้านหนังสือทั่วไป

 

 

Tags: , , , , , , , , ,