ถ้อยคำหนึ่งที่เราได้ยินกันบ่อยจากสื่อมวลชนเมื่อพูดถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ​ ก็คือ ‘บิ๊กป้อม’ เป็นผู้ที่เปี่ยมไปด้วยบารมีในกองทัพ

ทุกวันนี้ แม้ พล.อ.ประวิตรจะไม่ได้เป็นผู้นำของประเทศอย่างเป็นทางการ เพราะตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ยังคงเป็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะที่ พล.อ. ประวิตรนั้นเป็นรองหัวหน้า คสช. รวมถึงรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่การจะเรียก พล.อ. ประวิตรว่าเป็น ‘หมายเลขสอง’ ของ คสช. นั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่จะพูดได้เต็มปากเท่าไรนัก เพราะกล่าวกันว่าหากจะวัดกันในเชิง ‘บารมี’ แล้ว พล.อ. ประวิตรยังนำหน้า พล.อ. ประยุทธ์อยู่หลายช่วงตัว

สำหรับสังคมที่บารมีเป็นเรื่องสำคัญมากอย่างสังคมไทย การที่ใครสักคนจะมีอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจจนได้รับการนับหน้าถือตาจากคนอื่นอย่างเป็นวงกว้างนั้น ไม่ได้มาจากตำแหน่งหรือยศถาบรรดาศักดิ์ที่เป็นทางการเพียงอย่างเดียว แต่ยังมาจากบารมีที่เป็นคุณลักษณะส่วนตัวของแต่ละคน ดังนั้นการที่ พล.อ.ประวิตรเป็นใหญ่เป็นโตอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้เป็นเพราะตำแหน่งรัฐมนตรีเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะบารมีส่วนบุคคลที่จะหาใครเทียบได้ยาก ด้วยเหตุนี้ สังคมแบบนี้จึงมักจะยกเอาความสำคัญของบุคคลขึ้นมาไว้ก่อนระบบ

จริงๆ แล้วในภาวะการปกครองของ คสช. อย่างที่เป็นอยู่ ก็เอื้อต่อความสำคัญของตัวบุคคลมากกว่าระบบอยู่แล้ว แต่ถึงกระนั้น แม้แต่ในยุคประชาธิปไตยก็ตาม สมมติถ้าคนอื่นมาเป็นรัฐมนตรีในตำแหน่งเดียวกันกับ พล.อ. ประวิตร ก็ไม่ได้แปลว่าเขาผู้นั้นจะเป็นใหญ่เทียบเท่า พล.อ. ประวิตรอย่างในทุกวันนี้ได้ เพราะเขาผู้นั้นอาจไม่ได้มีบารมีอย่างที่ พล.อ.ประวิตร มี กล่าวได้ว่า สังคมไทยเราเห็นความสำคัญของบารมีทั้งในยุคที่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นประชาธิปไตย

อำนาจกับบารมี

เรื่องบารมีนี้ นักคิดคนสำคัญในโลกตะวันตกอย่าง แมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) เคยอธิบายไว้จนเป็นที่โด่งดังมาแล้วเมื่อเกือบร้อยปีก่อน ใจความที่เวเบอร์กล่าวไว้ก็คือ การแยกแยะสิ่งที่เรียกว่า ‘อำนาจอันชอบธรรม’ ออกเป็นสามแบบ คือ อำนาจตามจารีตประเพณี (Traditional authority) อำนาจเชิงบารมี (Charismatic authority) และอำนาจตามกฎหมายและความเป็นเหตุเป็นผล (Legal-rational authority)

อำนาจตามจารีตประเพณี ก็คืออำนาจที่ยึดโยงอยู่กับประเพณีอันสืบทอดกันมายาวนานในสังคม ซึ่งมักจะเห็นได้ชัดเจนในสังคมก่อนสมัยใหม่ ขณะที่อำนาจเชิงบารมีนั้นเป็นสิ่งที่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล โดยคนที่จะถูกยกให้มีบารมีนั้นก็คือคนที่ได้รับการยอมรับว่ามีคุณลักษณะเฉพาะตัวที่พิเศษมากๆ บางอย่าง ส่วนอำนาจตามกฎหมายและความเป็นเหตุเป็นผล ก็คืออำนาจที่มาพร้อมกับระบบกฎหมายอันเป็นทางการ มีการระบุกฎเกณฑ์ชัดเจนว่าใครมีอำนาจหน้าที่อย่างไร ซึ่งอำนาจในแบบหลังนี้ เป็นลักษณะสำคัญของสังคมสมัยใหม่

สิ่งที่เวเบอร์เน้นย้ำไว้มากก็คือ อำนาจทั้งสามแบบนี้ไม่จำเป็นจะต้องตัดขาดออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ในความเป็นจริงแล้ว เรามักเห็นอำนาจทั้งสามแบบปรากฏตัวอยู่อย่างผสมผสานกันไป บุคคลหนึ่งสามารถที่จะมีอำนาจและใช้อำนาจได้มากกว่าหนึ่งแบบในเวลาเดียวกันก็ได้

ใจความที่เวเบอร์กล่าวไว้ก็คือ การแยกแยะสิ่งที่เรียกว่า ‘อำนาจอันชอบธรรม’ ออกเป็นสามแบบ คือ อำนาจตามจารีตประเพณี อำนาจเชิงบารมี และอำนาจตามกฎหมายและความเป็นเหตุเป็นผล 

คำว่าบารมีในที่นี้ อาจถกเถียงกันได้อีกยาวว่าเป็นคำแปลที่เหมาะสมสำหรับคำว่า ‘charisma’ ในภาษาอังกฤษหรือไม่ แต่ในบทความนี้อยากจะเน้นถึงสิ่งหนึ่งที่เวเบอร์ต้องการจะสื่อออกมา นั่นคือ บารมีไม่ใช่สิ่งที่ปรากฏอยู่ด้วยตัวมันเอง แต่ขึ้นอยู่กับความเชื่อและมุมมองของคนรอบข้าง คำกล่าวเช่นนี้หมายความว่า เป็นไปไม่ได้ที่ใครคนหนึ่งจะอ้างขึ้นมาลอยๆ ว่าตนเองมีบารมี แต่คนที่มีบารมีก็คือคนที่มีคุณลักษณะพิเศษจนได้รับการยอมรับนับถือและยกย่องจากคนอื่นๆ

ซาเวียร์ มาเกซ (Xavier Marquez) อาจารย์มหาวิทยาลัย Victoria University of Wellington ประเทศนิวซีแลนด์ นักวิชาการที่ศึกษาระบอบเผด็จการในโลกสมัยใหม่ ให้ความเห็นไว้ว่า วิธีการวัดว่าใครมีบารมีนั้น ดูได้จากความสามารถในการจูงใจผู้คน กล่าวคือ ผู้มีบารมีคือผู้ที่จูงใจคนจำนวนมากให้ทำตามที่เขาต้องการได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้กำลังบังคับหรือใช้เหตุผลอันหนักแน่น คนที่มีบารมีนั้นเปรียบเหมือนกับมีมนต์สะกดบางอย่างที่ทำให้คนเคารพยำเกรงโดยอัตโนมัติ ส่วนคนที่ขาดบารมีนั้น จะมีความยากลำบากมากกว่าในการพยายามจูงใจคนอื่น

ในแง่นี้ บารมีคือสิ่งที่ค่อนข้างไร้เหตุผล แต่ขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนเป็นหลัก เราอธิบายได้ยากว่าใครมีบารมีเพราะอะไร อาจพอกล่าวอย่างกว้างๆ ได้ว่า คุณลักษณะบางประการ เช่น ประวัติส่วนตัว  ความสามารถในการพูด การแสดงอารมณ์ การสื่อสาร และความใกล้ชิดกับผู้มีอำนาจหรือผู้ร่ำรวย เป็นส่วนสำคัญของการสร้างบารมี แต่ถึงกระนั้นก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าการสร้างบารมีนั้นมีสูตรสำเร็จตายตัว เพราะอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดเดาได้

ผู้มีบารมีคือผู้ที่จูงใจคนจำนวนมากให้ทำตามที่เขาต้องการได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้กำลังบังคับหรือใช้เหตุผลอันหนักแน่น

ในกรณีประเทศเวเนซูเอลา อดีตผู้นำผู้ล่วงลับอย่าง ฮูโก ชาเวซ (Hugo Chavez) เคยเป็นผู้นำที่มีบารมีอย่างเห็นได้ชัด แต่ผู้ที่สืบทอดอำนาจจากเขา คือ นิโคลัส มาดุโร (Nicolas Maduro) ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน กลับไม่สามารถสร้างบารมีเทียบเท่ากับชาเวซได้แม้จะพยายามลอกเลียนวิธีการพูดและแสดงออกมาจากอดีตผู้นำแทบทุกกระเบียดนิ้วก็ตาม แต่ในอีกมุมหนึ่ง บารมีก็ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการพูดและการแสดงออกที่ชัดเจนเสมอไป บางครั้ง ผู้ที่ไม่ได้มีทักษะด้านการพูดก็สามารถสร้างบารมีได้ ตัวอย่างเช่น ฮิโปลิโต อิริโกเยน (Hipólito Yrigoyen) อดีตประธานาธิบดีของอาร์เจนตินาซึ่งมีบุคลิกนิ่งเงียบ แต่กลับจูงใจผู้คนได้ดีอย่างน่าทึ่ง

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความสามารถของผู้มีบารมีในการจูงใจผู้คนนั้น มีความหมายรวมถึงการทำให้ผู้คนพร้อมจะปกป้องผู้มีบารมีจากคำวิจารณ์และข้อกล่าวหาต่างๆ ด้วย นั่นคือ ในสถานการณ์ที่มีสิ่งไม่ดีเกิดขึ้น ผู้นำที่ขาดบารมีก็ย่อมจะถูกประชาชนกล่าวโทษหรือเรียกร้องความรับผิดชอบ แต่สำหรับผู้นำที่มีบารมีแล้ว ประชาชนกลับมักจะปกป้องตัวผู้นำไว้ก่อน แล้วหันไปกล่าวโทษคนอื่นหรือสิ่งอื่นแทน

บารมี: เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

เมื่อบารมีเป็นสิ่งที่อธิบายได้ยาก ก็คงไม่แปลกอะไรที่เราจะรู้สึกเช่นกันว่า การจะตอบคำถามที่ว่าบารมีของ พล.อ. ประวิตรมาจากไหนนั้น ไม่อาจทำได้โดยง่าย อาจพออนุมานได้ระดับหนึ่งว่าบารมีของ พล.อ. ประวิตรน่าจะมาจากความใกล้ชิดกับบุคคลสำคัญจำนวนมากทั้งในแวดวงกองทัพ ธุรกิจ การเมือง สังคม และชนชั้นนำ เป็นที่รู้กันว่า พล.อ. ประวิตรต่อสายคุยกับระดับหัวแถวของทุกวงการและทุกขั้วการเมืองได้หมด ส่วนคุณลักษณะอื่นๆ ของ พล.อ. ประวิตรที่ทำให้ถูกยกให้เป็นผู้มีบารมีในกองทัพนั้นจะมีอะไรบ้างก็คงเป็นเรื่องที่คนในกองทัพเองทราบดีที่สุด

แต่ทั้งนี้ ซาเวียร์ มาเกซ ยังให้ความเห็นที่สำคัญไว้อีกประเด็นหนึ่ง คือแม้ว่าบารมีจะมีความสำคัญเพียงใดก็ตาม แต่บารมีไม่ใช่สิ่งตายตัว เพราะบารมีเป็นสิ่งที่ผูกโยงอยู่กับความสำเร็จด้วย ผู้นำที่มีบารมีแต่ไม่สามารถสร้างความสำเร็จหรือมีผลงานใดๆ ให้ประชาชนหรือคนรอบข้างได้เห็น ก็ไม่อาจจะรักษาบารมีของตนได้ และเมื่อใดที่ผู้นำหมดบารมี ความเคารพยำเกรงที่คนรอบข้างเคยมีให้ก็ย่อมจะเสื่อมลงตามไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้

Tags: , , ,