ชายผู้ก่อนเคยเป็นสมาชิกหนึ่งในสองของวง WHAM! และเคยมีสมญานามว่า ‘Animal Andy’ ทุกวันนี้เหลือเค้าเพียงชายย่างเข้าวัยชรา แต่งกายมีสไตล์ ใบหน้ายังดูหล่อเหลา แม้เส้นผมจะกลายเป็นสีดอกเลา กิริยาวาจาสุภาพอ่อนน้อมแบบผู้ดีอังกฤษมากเสียจนทำให้ลืมว่า แต่ก่อนเขาเคยหิ้วแฟนเพลงขึ้นเตียงแทบทุกคืน และมักตกเป็นข่าวซุบซิบอยู่ตลอดเวลา
ดูคล้ายเป็นช่วงเวลาลำเค็ญในฐานะสมาชิกวง WHAM! ซึ่งเริ่มฟันฝ่าเข้าวงการเมื่อต้นทศวรรษ 1980s และมีเพลงฮิตเพลงแรกขึ้นอันดับหนึ่งของชาร์ต (Wake me up before you go-go) แอนดรูว์ ริดจ์ลีย์ (Andrew Ridgeley) และเพื่อนร่วมโรงเรียน-จอร์จ ไมเคิล (George Michael) พากันเดินทางไปยังลอนดอนพร้อมเทปเดโมเพื่อนำเสนอผลงานของพวกเขากับค่ายเพลงต่างๆ แต่ก็ได้รับคำปฏิเสธไปเสียหมด
ความจริงแล้วยามนั้นเด็กหนุ่มทั้งสองไม่ได้มีแผน และไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับแวดวงดนตรี สื่อมวลชน หรือกฎเกณฑ์ในเรื่องของธุรกิจ ซึ่งใครที่คิดจะเข้าไปได้จะต้องแกร่งและอดทน หากจอร์จ ผู้มีความคิดสร้างสรรค์และอารมณ์อ่อนไหวต้องดิ้นรนตามลำพังแล้ว เขาคงไม่มีวันได้เข้าสู่วงการ
จอร์จ ไมเคิล มีชื่อจริงสมัยเรียนมัธยมฯปลายว่า จิออร์จิออส พานายิโอทู (Georgios Panayiotou) แอนดรูว์ ริดจ์ลีย์รู้ได้ทันทีว่า สำหรับการเป็นศิลปินหน้าใหม่แล้ว ชื่อที่แปลกปลอมไม่มีทางเกิดแน่นอน นอกจากนั้น ‘โย้ก’ (Yog) อย่างที่ริดจ์ลีย์เรียกเขาในเวลาต่อมานั้น ยังสวมแว่นสายตาเลนส์หนา และผมหยักศก แต่ถึงอย่างนั้น ริดจ์ลีย์ก็อาสาตั้งแต่วันแรกว่าจะขอเป็นพี่เลี้ยงให้กับโย้ก บางทีอาจเป็นเพราะเขาเองก็มีรากเป็นผู้อพยพมาก่อน แม้ว่านามสกุลของเขาไม่ได้ฟังดูแปลกปลอมก็ตาม
พ่อของแอนดรูว์อพยพโยกย้ายมาจากอียิปต์ ส่วนจิออร์จิออสมาจากไซปรัส บุพการีของทั้งสองเดินทางออกจากบ้านเกิดเมืองนอนก่อนความวุ่นวายทางการเมืองจะปะทุขึ้น ริดจ์ลีย์เชื่อว่า การที่เขาอาสาดูแลโย้กนั้น อาจเป็นเพราะเขาชอบที่จะทดลองหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แม้ว่าไม่ช้าต่อมาผลการเรียนของเขาจะตกต่ำ และรู้สึกเบื่อโรงเรียนก็ตาม
แม่…ปลุกผมด้วยก่อนที่แม่จะไป-ไป
สมัยที่แอนดรูว์ ริดจ์ลีย์ยังเรียนหนังสือ เขาเป็นคนชอบปาร์ตี้ นอนขี้เซา รวมทั้งขี้เกียจ และมักแปะโน้ตข้างตู้เย็น เตือนแม่ “Mum, wake me up before you go go” ตราบถึงทุกวันนี้ริดจ์ลีย์เองก็จำไม่ได้เสียแล้วว่า ทำไมเขาถึงเขียนคำว่า go ซ้ำสองคำ หรือทำไมเขาต้องให้แม่ช่วยปลุกด้วย แต่ข้อความนั้นกลายเป็นมุกตลก และสะกิดตาโย้ก มันชวนให้หวนนึกถึงเพลงร็อกแอนด์โรลล์ที่ฮิตในช่วงทศวรรษ 1950s ก่อนที่จะกลายมาเป็นเพลงฮิตระดับโลก ‘Wake me up before you go-go’ ของทั้งสอง
ในช่วงเวลานั้น สถิติผู้ว่างงานในสหราชอาณาจักรภายใต้การบริหารประเทศของมาร์กาเร็ต แท็ตเชอร์ มีตัวเลขค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในยุโรป โดยเฉพาะคนวัยหนุ่มสาว แทบไม่มีแม้สถานที่ฝึกงาน ซิงเกิล ‘Wham Rap!’ เป็นเพลงที่ทำให้ศิลปินทั้งสองได้รับการยอมรับจากนักวิจารณ์หลายคนเกี่ยวกับการวิพากษ์สังคม แม้ว่ามันจะไม่ใช่ความจริงทั้งหมด ริดจ์ลีย์และไมเคิลอาจจะว่างงานก็จริง แต่เนื้อหาของเพลงท่อนหนึ่ง “Wham! Bam! I am! The man! Job or no job, you can’t tell me that I’m not“ กลับเป็นการพรรณนาถึงไลฟ์สไตล์ของนักศึกษาเกียจคร้านของริดจ์ลีย์เป็นหลัก เรื่องนี้จอร์จ ไมเคิลเคยให้สัมภาษณ์ในภายหลัง “พ่อแม่ของเขาไม่เคยบังคับจริงๆ จังๆ ให้เขาทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน เขาใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันแบบว่าใช้เงินที่หามาได้ตลอดทั้งวันหมดในคราวเดียว เขาชอบแบบนั้น”
เป็นเรื่องน่าแปลก โดยเฉพาะริดจ์ลีย์ ที่ปกติเป็นคนไม่เคยมีเป้าหมายอะไรในชีวิต เพียงแค่ไม่ต้องการทำงานออฟฟิศหรือมีชีวิตผูกติดกับงานประจำ แต่กลับกลายมาเป็นนักดนตรีวง WHAM! ที่ประสบความสำเร็จได้ ซึ่งแน่นอนว่าจอร์จ ไมเคิลมีส่วนช่วย ด้วยความสามารถทั้งด้านการร้องและแต่งเพลง ทุกครั้งที่ทั้งสองเข้าห้องบันทึกเสียง ไมเคิลจะแสดงตัวเป็นผู้นำ กระทั่งเมื่อวงมีเกือบหนึ่งปี ซึ่งขณะนั้นทั้งสองอยู่ในวัย 20 ริดจ์ลีย์ก็ยอมรับในข้อตกลงว่า ต่อแต่นี้ไปเขาจะไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับการแต่งเพลงอีกแล้ว
“ผมมาเสียใจเอาภายหลัง” ริดจ์ลีย์กล่าวในวันนี้ “แต่ผมก็รู้ว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้วสำหรับวงของเรา” นั่นเพราะไมเคิลมีความสามารถมากกว่าเขาเยอะ
การตัดสินใจเช่นนั้น ความจริงแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนหนุ่มที่เพิ่งลิ้มรสความสำเร็จครั้งแรก แต่เขาต้องฝืนเก็บความรู้สึก และนิ่งเงียบ ยอมทำตัวเป็น ‘ใครอื่นอีกคน’ ของวง WHAM! “มีความแตกต่างระหว่างคำว่าอิจฉากับริษยา” ริดจ์ลีย์พูดถึงอดีตในวันนี้ “ผมรู้สึกอิจฉาในความสามารถด้านดนตรีของไมเคิล แต่ผมไม่เคยรู้สึกริษยาเขาเลย”
รูดซิปให้ด้วยก่อนที่เธอจะไป-ไป
แม้จะเป็นส่วนหนึ่งของวง WHAM! ที่มีชื่อเสียง แต่แอนดรูว์ ริดจ์ลีย์ก็อดหวั่นไหวไม่ได้ ที่จอร์จ ไมเคิล-คู่หูของเขามีรูปร่างหน้าตาที่ดึงดูดใจกว่า แต่ไมเคิลเองนั้นก็ตกอยู่ในสภาพบีบคั้นตลอดเวลาจากครอบครัวของตนเอง ที่เข้มงวดกว่าครอบครัวของริดจ์ลีย์ พ่อของไมเคิลคาดหวังความสำเร็จของลูกชายมากจนทำให้ผู้ถูกคาดหวังรู้สึกกดดัน
การเป็นโฮโมเซ็กชวลก็เช่นกัน ไมเคิลต้องฝืนปกปิดอยู่นาน ก่อนที่จะถูกเปิดเผยออกมา หลังจากเขาถูกตำรวจจับข้อหามีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายคนหนึ่งในห้องน้ำสาธารณะที่นครนิวยอร์ก ‘Zip me up before you go-go’ กลายเป็นประโยคพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์เดอะ ซัน ไม่ช้าต่อมาจอร์จ ไมเคิลจึงปริปากพูดเรื่องโฮโมเซ็กชวลของตนเอง
ฝ่ายริดจ์ลีย์นั้นรับรู้เรื่องนี้ก่อนหน้านานแล้ว ตั้งแต่ตอนไปถ่ายมิวสิกวิดีโอเพลง ‘Club Tropicana’ ที่อิบิซา ไมเคิลชวนเขาไปที่ห้องพัก “ฉันมีเรื่องจะบอกนาย ฉันเป็นเกย์” ริดจ์ลีย์ได้ฟังแล้วถึงกับอึ้ง แสดงอาการประหลาดใจเล็กน้อย แต่สำหรับริดจ์ลีย์แล้วเรื่องนี้ไม่เป็นปัญหา อีกทั้งยังทำให้เขาเริ่มเข้าใจบางอย่างชัดเจนขึ้น เช่นว่า ทำไมไมเคิลไม่ค่อยสนใจผู้หญิง แม้บ่อยครั้งจะถูกรุมตอมทั้งหน้าหลัง และต่อจากนั้นมันก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไรสำหรับทั้งสองที่จะพูดถึงอีก
จอร์จ ไมเคิลเปิดเผยเรื่องโฮโมเซ็กชวลของตนเองหลังจากที่แยกวง แยกทางกับริดจ์ลีย์แล้ว ตามมาด้วยข่าวที่เขาถูกจับคดียาเสพติดหลายคราวบนหน้าหนังสือพิมพ์ ปี 2010 เขาต้องโทษจำคุกนานแปดสัปดาห์ด้วยข้อหาเมาแล้วขับ ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ภาวะกดดันทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับความสูญเสีย ทั้งแฟนหนุ่มของเขาที่เสียชีวิตจากเอดส์ และแม่ที่เขารัก สุดท้ายทุกเรื่องราวที่อัดอั้นในใจของเขาก็ถูกระบายออกมาอย่างเปิดเผย
แต่นั่นไม่ใช่จอร์จที่แอนดรูว์รู้จัก สำหรับเขาแล้ว โย้กยังเป็นคนเดิมเหมือนในอดีต เพียงแต่มันเป็นปัญหาใหญ่ที่โย้กจัดการด้วยตนเองไม่ได้ตั้งแต่เริ่มต้นเข้าวงการ นั่นคือการรับมือกับทุกเรื่อง ระหว่างชีวิตส่วนตัวและการเป็นบุคคลสาธารณะ
“จอร์จค่อนข้างเก็บตัวมากผมเสียอีก” ริดจ์ลีย์สารภาพ
ชีวิตที่ปราศจากคู่ดูโอ
WHAM! แยกวงเมื่อปี 1986 แอนดรูว์ ริดจ์ลีย์มีสภาพไม่ต่างจากคนว่างงาน เขาถอยตัวเองออกจากวงการ แต่งงานกับคาเรน วูดเวิร์ด (Karen Woodward) นักร้องสาววง Bananarama มีลูกชายด้วยกันหนึ่งคน และประกาศแยกทางกันในปี 2017
แม้ว่ารายได้ค่าลิขสิทธิ์เพลง ‘Last Christmas’ จะตกเป็นของจอร์จ ไมเคิลแต่ผู้เดียว แต่ริดจ์ลีย์ยังคงมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากผลงานเพลงที่เป็นกรรมสิทธิ์ของ WHAM! อยู่ โดยเฉพาะ ‘Careless Whisper’ เพลงฮิตของไมเคิลที่อย่างน้อยเขาก็มีชื่อเป็นผู้ร่วมแต่งเพลง ปี 1990 ริดจ์ลีย์มีผลงานอัลบั้มเดี่ยว ‘Shakes’ ออกมา แต่ไม่ประสบความสำเร็จ งานเพลงของเขาไต่ชาร์ตเพลงในอังกฤษสูงสุดได้แค่อันดับ 58 ครั้งเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นเขาก็ถอนตัว ไม่ยุ่งเกี่ยวกับวงการดนตรีอีกเลย
จอร์จ ไมเคิล เสียชีวิตจากภาวะหัวใจล้มเหลวในปี 2016 แต่ริดจ์ลีย์ยังอยู่ สุขภาพแข็งแรงดี เขารู้สึก ‘ตื่นเต้น’ เล็กน้อยที่ตนเองกลายเป็นประเด็นข่าวในสื่ออีกครั้ง เมื่อมีผลงานหนังสือ WHAM! George & Me ออกมาเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา
เขาสามารถพูดถึงเพลงดังต่างๆ ของ WHAM! ได้โดยไม่รู้สึกขมขื่น ที่กรรมสิทธิ์ส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นของเขา แต่กลับยิ้มหัวเมื่อได้พูดเล่าถึงเรื่องราวแต่หนหลัง เช่นว่า
จอร์จ ไมเคิลสั่งตัดมิวสิกวิดีโอหลายฉากที่เขาไม่พอใจกับทรงผมของตนเองทิ้งไปโดยไม่สนใจความคิดเห็นของใครๆ “เรื่องหน้ากระจกเป็นแค่บางเรื่องของจอร์จที่ทำให้ผมประสาท” จอร์จดราม่าหนักมากกับเรื่องทรงผมของเขา และใช้สเปรย์ฉีดผมรุนแรง จนริดจ์ลีย์นำมาพูดตลกว่ามันกระทบกระเทือนถึงภาวะเรือนกระจก
แต่นั่นเป็นเรื่องที่ทั้งสองมักคุ้นและรู้จักกันมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมฯ พวกเขาเคยฟังดนตรีด้วยกัน รักดนตรีเหมือนกัน และแต่งเพลงด้วยกัน กอดคอกันทั้งยามสุขยามเศร้า
ทว่าไม่เคยลึกซึ้งอย่างที่ควรเป็น
อ้างอิง:
- https://schwulissimo.de/media/stars-sternchen/andrew-ridgeley-sein-leben-und-sein-neues-buch
- https://www.welt.de/icon/partnerschaft/article204359694/Last-Christmas-Wham-Star-Andrew-Ridgeley-ueber-sein-Lieblingslied.html
อ่านเพิ่มเติมได้จาก:
Andrew Ridgeley, WHAM! Michael & Me, Michael Joseph (2019)
Tags: แอนดรูว์ ริดจ์ลีย์, จอร์จ ไมเคิล, Andrew Ridgeley, George Michael, WHAM!, Last Christmas