ผ่านมา 15 ปีในไทย หลายๆ คนคงคุ้นชื่อโครงการทุนวิจัยลอรีอัล ‘เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์’ (For Women in Science) ที่มอบรางวัลให้กับนักวิจัยหญิงไทยผู้มีผลงานวิจัยน่าสนับสนุนและต่อยอด

โครงการดังกล่าวของลอรีอัล เริ่มต้นครั้งแรกเมื่อปี 2540 โดยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิลอรีอัลและองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (UNESCO) ตอนนี้มีนักวิจัยหญิงที่ได้รับการสนับสนุนมากกว่า 3,122 คน จาก 117 ประเทศ

“ปัจจุบัน โครงการเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ อยู่ในระดับประเทศ (National) ส่วนในระดับนานาชาติก็ได้แก่ International Rising Talent หรือนักวิทยาศาสตร์ดาวรุ่ง และอีกส่วนเรียกว่าเป็นรางวัลสูงสุดของโครงการ คนที่จะได้รับรางวัลนี้จะเรียกว่าเป็น Laureate แต่ละปีจะมอบให้ 5 รางวัลใน 5 ภูมิภาค คือ แอฟริกาและอาหรับ เอเชียแปซิฟิก ยุโรป ลาตินอเมริกา และอเมริกาเหนือ” อรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย กล่าว

เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์

อรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย

ในจำนวนผู้ที่ได้เป็นลอรีเอตจำนวน 92 รางวัลที่ผ่านมานี้ มีสองท่านได้รับรางวัลโนเบลในเวลาต่อมา ได้แก่ อะดา โยนัต (Ada E. Yonath) นักผลึกศาสตร์ชาวอิสราเอล (ได้รับปี 2008) และอิลซาเบ็ธ เฮเลน แบล็กเบิร์น นักชีววิทยาชาวออสเตรเลียน-อเมริกัน ผู้ร่วมค้นพบเอนไซม์เทโลมีเรส (ได้รับปี 2008) ส่วนอีกหนึ่งท่าน คือนักเคมีชื่อ อมีนาห์ กูริบ-ฟาคิม ที่ต่อมาเป็นประธานาธิบดีหญิงท่านแรกของประเทศมอริเชียส (ได้รับปี 2007)

ความร่วมมือระหว่าง L’Oreal x UNESCO

สิ่งที่หลายคนอาจยังเข้าใจผิดไปเมื่อได้ยินชื่อรางวัลนี้ คือการผูกโยง ‘วิทยาศาสตร์’ เข้ากับแล็บทดลองผลิตภัณฑ์เพื่อความงามของบริษัทลอรีอัล แต่ความจริงแล้ว รางวัลนี้คือรางวัลทางวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง ที่กลายเป็นใบเบิกทางให้กับนักวิทยาศาสตร์ไทยสู่เวทีระดับโลก โดยไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมของลอรีอัล

“ในจำนวนนักวิจัย 64 คนที่เราสนับสนุนตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ไม่มีงานวิจัยใดที่เกี่ยวกับความสวยความงามเลย เพราะเราไม่ได้ต้องการให้เขามาทำงานให้เรา เราแค่ต้องการแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงมีหลายบทบาท ให้เห็นว่าเขาเก่งนะ สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันและพัฒนาโลกเราได้” สิตานัน สิทธิกิจ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กรและองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย อธิบาย

สำหรับโครงการนี้ในประเทศไทย คุณสมบัติผู้วิจัยที่สมัครรับทุนได้ คือนักวิจัยอิสระอายุ 25-40 ปี และมีงานวิจัยที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ ผู้ได้รับเลือกจะได้รับทุน 250,000 บาทเพื่อนำไปต่อยอดการวิจัย และกลายเป็นนักวิจัย fellowships ของลอรีอัล

เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์

“คนที่ได้รับทุนจะรู้สึกว่าเราเป็นเวทีช่วยสนับสนุนงานของเขา เพราะรางวัลนี้มีทั่วโลก เวลาไปทำงานหรือประชุมต่างประเทศก็เหมือนใบเบิกทางให้ได้ อย่างที่สองก็คือ เขาจะเป็นที่รู้จักในสื่อ ซึ่งส่วนนี้ หากจะนำไปต่อยอดอะไร ก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล” สิตานัน กล่าวเสริม

และในปี 2560 ในโอกาสครบรอบ 15 ปีในประเทศไทย FWIS จึงมีรางวัลเชิดชูเกียรติพิเศษ L’Oreal Woman Scientist Crystal Award) หรือคริสตัลอวอร์ดมอบให้นักวิจัยไทยสองคนที่เคยได้รับทุน คือศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ใจ ใจเย็น (2546) และ ดร. อัญชลี มโนนุกุล (2551)

โลกหมุนไว นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสาขารับสมัคร

เพราะโลกทุกวันนี้หมุนไหว องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และนานาการวิจัยจึงเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว บ้างก็เกิดสาขาใหม่ๆ แตกแขนงเพื่อลงลึกไปจากองค์ความรู้เดิม จึงทำให้ปี 2561 นี้ ทางคณะกรรมการผู้พิจารณางานวิจัยของ FWIS ปรับเปลี่ยนรายละเอียดสาขา จากเดิมที่แบ่งเป็นสามสาขา ได้แก่ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ วัสดุศาสตร์ และวิทยาศาสตร์เคมี กลายมาเป็นสองสาขา ได้แก่ วิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Sciences) และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Sciences)

แต่การกระชับจำนวนสาขาลงไม่ได้เป็นการตีวงให้แคบ กลับ ‘ขยาย’ นิยามองค์ความรู้ที่สามารถเอามานำเสนอได้ให้กว้างออกไป รองรับสาขาใหม่ๆ ในอนาคตที่อาจยังไม่มีชื่อเรียกในวันนี้

ศ. ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ หนึ่งในคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวให้เหตุผลที่มีการเปลี่ยนแปลงนี้ว่า

“วงการวิทยาศาสตร์ทั่วโลกมีการปรับเปลี่ยนมากเลย ยกตัวอย่างเช่น วิทยาการดิจิทัล ปัญญาประดิษฐ์ หรือกระทั่งจีโนมิกส์ ก็รวดเร็ว เราจึงมาคิดว่า เพื่อจะรองรับสาขาใหม่ๆ และอาจมีสาขาเดิมที่คนในแวดวงรู้สึกน้อยใจ เช่น ด้านธรณีวิทยา จึงตัดสินใจจัดตั้งวิทยาศาสตร์ชีวภาพขึ้นมาขาหนึ่ง และกายภาพอีกขาหนึ่ง จะได้ครอบคลุมไปทั้งหมด และเพื่อให้ตรงกับการแบ่งสาขาในระดับสากลด้วย ซึ่งสองด้านนี้จะครอบคลุมตั้งแต่ความรู้พื้นฐาน ไปจนถึงความรู้ประยุกต์ เช่นวิศวกรรมศาสตร์”

ยกตัวอย่างวิทยาการใหม่ๆ เช่น Quantum Computing ในสาขาวิทยาศาสตร์ดิจิทัลที่นำควอนตัมมาใช้ในคอมพิวเตอร์ แทนที่รหัส 0,1 อย่างเดิม เพื่อเพิ่มความสามารถในการคิดคำนวณ

“มันต้องเป็นงานที่ใหม่ และมีประโยชน์ในด้านความรู้ ธุรกิจ หรือสังคม เช่น big data ที่ทำให้เรื่องสุขภาพดีขึ้น เชื่อมโยงข้อมูลระหว่างโรงพยาบาล แต่ต้องไม่ใช่แค่แอปพลิเคชันที่เอาความรู้ของคนอื่นมาทำ”

เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์

ศ. ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ หนึ่งในคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

ศ. ดร. ยงยุทธ อธิบายเพิ่มเติมว่า “ทุกวันนี้ มันมีสิ่งที่เรียกว่า disruptive technology เป็นเทคโนโลยีที่มาป่วนโลก ซึ่งล้วนมาจากสิ่งที่เป็นของใหม่ ตอนนี้อาจมีคนบอกว่างานของฉันไม่ตรงกับสาขาที่รับสมัคร แต่เสนอมาได้ ที่จริงแล้ววิทยาศาสตร์ เราต้องการให้มีสิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้น เรียกได้ว่า ถ้าเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ การศึกษาหาความรู้จากธรรมชาติ ก็ส่งมาได้หมดเลย  ยิ่งถ้าเป็นสิ่งที่ไม่ได้คาดคิดมาก่อน อันนี้เรายิ่งอยากได้”

สำหรับปีนี้ โครงการยังคงให้ทุนสนับสนุนงานวิจัยรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 5 ทุน ซึ่งถือว่าไม่น้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้สมัครเฉลี่ยแต่ละปีที่อยู่ที่ 45-60 คน

งานวิจัยไทยอยู่ตรงไหนในโลก

สำหรับการคัดเลือกในโครงการ FWIS ในประเทศไทย หนึ่งในเกณฑ์การวัดผลที่คณะกรรมการฯ ใช้ ก็คือการดู H-index (Hirsch index/Hirsch number) หรือดัชนีที่วัดผลผลิต (productivity) และผลกระทบ (impact) ของงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่โดยนักวิจัย

“H-index ถือเป็นตัววัดว่า เขามีผลงานเป็นที่ยอมรับของประชาคมมากน้อยแค่ไหน สมัยก่อนวัดว่ามีงานตีพิมพ์กี่เปเปอร์ ถ้าเป็นคนช่างเขียนหน่อยก็เขียนใหญ่เลย แต่มันไม่มีความหมายอะไร เขาก็เลยต้องไปดูว่ามีคนอ้างอิงงานนั้นมากน้อยแค่ไหน โดยทั่วไปนักวิทยาศาสตรที่จะได้รับรางวัลก็มักจะมี H-index อยู่ที่ 10 ขึ้นไป” ศ. ดร. ยงยุทธ กล่าว

ปัจจุบัน อันดับ H-index ของนักวิจัยไทยในระดับโลก (ไม่แยกเพศชาย-หญิง) อยู่ที่อันดับราวๆ 40 กว่าในหมวดหมู่สาขาชีววิทยา เคมี และคอมพิวเตอร์ และอันดับที่ 54 ในหมวดหมู่สาขาฟิสิกส์

อย่างไรก็ตาม ศ. ดร. ยงยุทธ อธิบายเสริมว่า เนื่องจากงานบางประเภทเป็นผลงานที่ไม่ได้มีการตีพิมพ์งานวิจัย เช่น งานเขียนซอฟต์แวร์ ทำให้มีค่า H-index ไม่สูง ทำให้เมื่อพิจารณางานเหล่านี้จึงต้องดูที่ผลต่อสังคมมากกว่า

“เราหวังว่านักวิทยาศาสตร์ไทยจะไปได้รางวัลระดับสากล ซึ่งในจำนวนคนที่ได้รับรางวัลเหล่านั้นก็มีตัวอย่างคนที่ได้รางวัลโนเบลต่อไป ตอนนี้ เรามีนักวิทยาศาสตร์หญิงที่เก่งก็จริง แต่พอไปเทียบในระดับโลกแล้ว ยังสู้ไม่ได้

“ในระดับสากล เขาจะมีกรรมการในระดับโลกที่จะมาดูว่างานนี้เป็นงานที่สร้างสรรค์และเด่นจริงหรือไม่ ของเราก็ถือว่าเด่น แต่เขาก็บอกว่ามันยังมีงานอื่นอีก เรียกง่ายๆ ว่าโลกไม่ใช่เมืองไทย มีตั้ง 200 ประเทศในโลกนี้ เพราะฉะนั้นก็ต้องใจเย็นๆ”

ศ. ดร. ยงยุทธ กล่าวถึงสถานการณ์แวดวงวิทยาศาสตร์และนักวิจัยสตรีว่า แต่ก่อนอาจมีอุปสรรคความคาดหวังที่สังคมไทยมีต่อผู้หญิง และความคาดหวังที่ผู้หญิงมีต่อตัวเองจากค่านิยมของสังคม ทำให้ไม่มีเวลาต่อยอดงานในสายการวิจัย แต่เรื่องเหล่านี้จะค่อยๆ หมดไปในอนาคต

เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองสัดส่วนนักวิจัยในภาคเอกชน ยังถือว่าน้อยกว่าที่ควร

“ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์จะอยู่ในภาคมหาวิทยาลัยของรัฐ กล่าวคืออยู่ในภาครัฐเป็นหลัก แต่วิทยาศาสตร์ไทยจะไปได้จริงๆ ก็ต่อเมื่อภาคเอกชนเป็นตัวหลัก ขึ้นมาเป็นผู้นำ ในระดับสัดส่วน เอกชน 70: รัฐ 30 แต่ตอนนี้ภาคเอกชนก็ยังมาจ้างนักวิทยาศาสตร์ภาครัฐทำวิจัย และแม้ว่าบริษัทใหญ่ๆ จะมีนักวิจัยของตัวเองก็จริง แต่ก็ถือว่าน้อยไปถ้าเทียบกับขนาดของกิจการ” ศ. ดร. ยงยุทธ อธิบายอย่างเป็นห่วง

“แต่ในช่วง 10 ปีข้างหน้า เราจะต้องเปลี่ยนแล้ว เพราะเราค้าขายกับนานาชาติ การวิจัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ”

เก่งแล้ว แต่พัฒนาได้อีก

นักวิจัยสตรีที่ได้รับรางวัล FWIS มีความรู้ความสามารถในแวดวงนักวิจัยอย่างไม่ต้องสงสัย แต่โครงการก็ยังมองเห็นศักยภาพที่นักวิจัยเหล่านี้จะไปได้ไกลในเวทีสากลและในสายอาชีพ หากได้ติดเครื่องมือเสริมเข้าไปในชีวิต เช่นองค์ความรู้ด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

เมื่อเร็วๆ นี้ มูลนิธิลอรีอัลจัดตั้ง For Women in Science Academy ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ช่วยในการเสริมทักษะต่างๆ ให้กับนักวิจัยสตรีในสี่ด้าน ได้แก่ การบริหารจัดการ การพัฒนาทักษะสู่ความเป็นผู้นำ การสื่อสาร และการแนะนำแหล่งความรู้และเครื่องมือเสริมการทำงาน ให้แก่นักวิจัยสตรี

ปัจจุบันมีเนื้อหาออนไลน์แล้วกว่า 170 เรื่อง อาทิ การพัฒนาความสามารถผู้ร่วมงาน การบริหารจัดการอุปสรรคและความท้าทายจากการทำงาน การบริหารจัดการความเป็นผู้นำของตนเอง การสื่อสารในโลกดิจิทัล หรือแนวทางในการตีพิมพ์ผลงานวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

นักวิจัยที่เคยได้รับทุนและเป็น fellowships สามารถเข้าใช้แพลตฟอร์มนี้ได้ และไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มดังกล่าว นอกจากจะทำให้เหล่านักวิจัยสตรีเหล่านี้ได้พัฒนาทักษะด้านอื่นๆ นอกจากวิทยาศาสตร์แล้ว ยังได้สร้างเครือข่ายกับเหล่านักวิจัยจากทั่วโลก เพราะการได้รางวัล FWIS ไม่ได้จบแค่การได้รับทุนเท่านั้น

Fact Box

  • การส่งใบสมัคร

ในปีนี้ ปรับเปลี่ยนมาเป็นระบบรับสมัครผ่านทางออนไลน์ แทนการส่งเอกสารทางไปรษณีย์แบบปีที่ผ่านมา ผู้สมัครสามารถส่งใบสมัครพร้อมเอกสารงานวิจัยเป็นไฟล์ PDF ที่อีเมลล์ [email protected] เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 31 กรกฎาคม 2561 และจะประกาศผลภายในเดือนกันยายน 2561

  • รายละเอียดสาขาที่เปิดรับสมัคร
    • วิทยาศาสตร์กายภาพ (Physical Sciences) การศึกษาวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องราวต่างๆ ของสิ่งที่ไม่มีชีวิตครอบคลุมถึง วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมเคมี วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์โลก วิศวกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วัสดุศาสตร์ วิศวกรรมเครื่องกล วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์นาโน และ วิทยาศาสตร์ดิจิทัล
    • วิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Sciences) การศึกษาวิทยาศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องราวต่างๆ ของสิ่งที่มีชีวิตที่ครอบคลุมถึง ชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ ชีววิทยาระดับเซลล์และอณูชีววิทยา วิทยาศาสตร์ทางทะเล วิทยาศาสตร์ทางทะเล ชีวฟิสิกส์ พืชศาสตร์ จุลชีววิทยา วิศวกรรมชีวการแพทย์ วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม และ วิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์นาโน