กล่าวกันว่าการเมืองไทยในช่วงทศวรรษ 2520-2530 คือยุค ‘เจ้าพ่อครอง(การ)เมือง’ หนึ่งในเจ้าพ่อผู้ทรงอิทธิพลและเป็นที่รู้จักดีของสังคมไทยก็คือ สมชาย คุณปลื้ม หรือ กำนันเป๊าะแห่งซุ้มบ้านใหญ่บางแสน

กำนันเป๊าะเกิดเมื่อปี 2480 เป็นลูกชายของผู้ใหญ่บ้าน ในปี 2509 ก็ตามรอยพ่อเข้าสู่ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มเส้นทางการเมืองระดับท้องที่อย่างเป็นทางการ ตลอดชีวิต 82 ปีของเขา กำนันเป๊าะมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนักการเมืองให้ก้าวเข้าสู่รัฐสภาผ่านการเลือกตั้งอย่างน้อย 17 คน เช่น บุญชู โรจนเสถียร, นิคม แสนเจริญ และสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รวมถึงลูกชายทั้ง 4 คนของเขาที่อยู่ในการเมืองทั้งระดับชาติและท้องถิ่น คือ สนธยา-วิทยา-อิทธิพล-ณรงค์ชัย คุณปลื้ม

คงไม่จำเป็นต้องสาธยายประวัติของกำนันเป๊าะในที่นี้ เพราะหลังการเสียชีวิตของเขาในวันที่ 17 มิถุนายน สื่อทุกสำนักต่างนำเสนอประวัติชีวิตของเขา แต่บทความสั้นๆ ชิ้นนี้อยากชวนคุยถึงบทบาทอันรุ่งเรืองและโรยราของ ‘เจ้าพ่อ’ ที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองของรัฐไทยผ่านชีวิตทางการเมืองของกำนันเป๊าะ

กำนันเป๊าะเกิดหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 5 ปี และมีอายุ 24 ปีตอนที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ผู้นำในระบอบเผด็จการนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาใช้ขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเพื่อเปลี่ยนประเทศไทยจากประเทศเกษตรกรรมสู่ประเทศอุตสาหกรรม โครงการ ‘พัฒนา’ นี้เกิดขึ้นในบริบทของระบอบการเมืองแบบอำนาจนิยมและรัฐราชการรวมศูนย์ ซึ่งไม่ได้เปิดพื้นที่ให้ผู้คนทุกกลุ่มทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงกระบวนการตัดสินใจนโยบายของรัฐได้ ขณะเดียวกัน รัฐที่มีอำนาจล้นเหลือเช่นนี้กลับไร้ความสามารถและไร้เจตจำนงที่จะจัดสรรทรัพยากรส่วนรวมให้เป็นไปอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม

สภาพการณ์เช่นนี้นอกจากจะทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่สมดุลและไม่เป็นธรรมแล้ว ยังสร้าง ‘เจ้าพ่อ’ ขึ้น หากพิจารณาประวัติทางการเมืองและทางธุรกิจของเจ้าพ่ออย่างกำนันเป๊าะและคนอื่นๆ พวกเขามักไต่เต้ามาจากการเป็นผู้ใกล้ชิดสัมพันธ์กับรัฐ/ตัวแทนของรัฐในพื้นที่ ได้รับประโยชน์จากโครงการพัฒนาของรัฐที่ขยายตัวไปยังภูมิภาคจนสามารถสะสมความมั่งคั่งได้เหนือคนกลุ่มอื่นในพื้นที่ และสามารถนำส่วนเกินทางเศรษฐกิจเหล่านี้มาสร้างเครือข่ายเพื่อแสดงบทบาทในฐานะ ‘ผู้อุปถัมภ์’ ของประชาชนในพื้นที่แทนที่รัฐ

ในช่วงเวลานี้ กำนันเป๊าะแห่งตระกูลคุณปลื้มสามารถสร้างอาณาจักรธุรกิจหลายอย่าง เช่น ผู้แทนจำหน่ายสุรา และบริษัทบางแสนมหานครซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้างและพัฒนามาสู่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจท่องเที่ยวของตระกูลคุณปลื้มในเวลาต่อมา

เมื่อบรรยากาศทางการเมืองเปิด ระบอบประชาธิปไตยแบบมีรัฐสภาเริ่มลงหลักปักฐาน การเลือกตั้งเริ่มกลายเป็นช่องทางเดียวที่ชอบธรรมในการเข้าสู่รัฐสภา เจ้าพ่อผู้อุดมด้วยทรัพยากรทางเศรษฐกิจและทรัพยากรทางการเมือง (เครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าพ่อกับประชาชน) จึงก้าวเข้าสู่การเมืองระดับชาติในฐานะตัวแทนของคนชนบท ในแง่หนึ่ง เจ้าพ่อจึงคือตัวแทนของผู้คนในพื้นที่เชิงภูมิศาสตร์หนึ่งๆ ที่เข้าไปขอปันทรัพยากรจากรัฐที่ส่วนกลางมาแจกจ่ายให้กับผู้คนในพื้นที่ความดูแลของตนเอง หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ผู้คนที่อยู่ในเครือข่ายความอุปถัมภ์ของเจ้าพ่อ โครงสร้างและบริบททางการเมืองเช่นนี้ไม่เอื้อให้ประชาชนมีสำนึกถึงการเป็นเจ้าของประเทศหรือกระทั่งสำนึกเชื่อมโยงระหว่างตนเองกับเพื่อนร่วมชาติที่อยู่ห่างไกลออกไป แต่เอื้อต่อการเกิดสำนึกที่โยงใยเชื่อมโยงตนเองเข้ากับเครือข่ายอุปถัมภ์ในระดับพื้นที่มากกว่า ยิ่งรัฐไทยอยู่ในระบบการเมืองเช่นนี้นานเท่าใดและเข้มข้นเท่าใด ก็ยิ่งเสริมกำลังให้เจ้าพ่อมาขึ้นเท่านั้น

จนกระทั่งถึงทศวรรษ 2530 บทบาททางการเมืองของเจ้าพ่อก็ขึ้นสู่จุดสูงสุดเมื่อพรรคชาติไทยชนะเลือกตั้งและส่งให้คุณบรรหาร ศิลปอาชาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 21 [1] ในยุครุ่งเรืองของเจ้าพ่อนี้ กำนันเป๊าะมีส่วนสนับสนุนนักการเมืองอย่างน้อย 17 คนให้ก้าวเข้าสู่รัฐสภาไทยผ่านการเลือกตั้ง รวมถึงตัวกำนันเป๊าะเองก็ชนะเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรีเมืองแสนสุขด้วย

บทบาทของกำนันเป๊าะและเจ้าพ่อในเศรษฐกิจการเมืองไทยเปลี่ยนไปหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 ด้วยกลไกอย่างน้อย 3 อย่าง คือ

1) การกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เปิดโอกาสให้องค์กรนี้กลายเป็นตัวแทนเชิงภูมิศาสตร์ของประชาชนทั่วประเทศในการปันส่วนทรัพยากรจากรัฐที่ส่วนกลางมาดูแล และ ‘พัฒนา’ พื้นที่ของตน องค์กรนี้กลายเป็นสถาบัน ‘ตัวแทน’ ที่เป็นทางการแทน ‘เจ้าพ่อ’ ซึ่งเป็นสถาบันที่ไม่เป็นทางการ

นอกจากนี้ การกระจายอำนาจยังสอนให้ประชาชนรู้จักวิธีจัดการความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับนักการเมืองและเจ้าพ่อเสียใหม่ เพราะมันได้การกระจาย ‘กระบวนการตัดสินใจทางการเมือง’ ที่เคยรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลางออกไปยัง อปท.ที่กระจายทุกหัวระแหงของรัฐไทย ทำให้ประชาชนทั่วประเทศเข้าถึง/ส่งอิทธิพลเหนือกระบวนการตัดสินใจนโยบายของรัฐได้ง่ายขึ้น เหมือนเนื้อสไลด์ชิ้นบางที่มีพื้นที่สัมผัสกับความร้อนมากกว่าสเต็กเนื้อชิ้นใหญ่ ความสามารถในการเข้าถึงที่ว่านี้ทำให้ประชาชนเรียนรู้วิธีที่จะต่อรอง-ให้คุณให้โทษ-ปรับดุลอำนาจระหว่างพวกเขากับเจ้าพ่อและเครือข่ายของเจ้าพ่อผ่านการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเป็นประจำสม่ำเสมอ

2) ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน (List Proportional Representative) ที่ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรก เอื้อให้ผู้เลือกตั้งตัดสินใจเลือกด้วยเหตุผลที่ไกลไปจากพื้นที่เชิงภูมิศาสตร์หรือตัวบุคคล (เช่นนโยบายหรืออุดมการณ์ของพรรคการเมือง) และเอื้อให้ผู้เลือกตั้งที่อยู่กันคนละเขตเลือกตั้งจินตนาการหรือมีสำนึกโยงใยถึงกันและกันได้ (แม้ ‘พวกเรา’ ในเขตเลือกตั้งนี้จะมีน้อยจนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งได้ แต่ยังมี ‘พวกเรา’ ที่อยู่นอกเขตเลือกตั้งนี้ที่จะแสดงพลังผ่านระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนร่วมกันได้) จินตนาการหรือสำนึกเช่นนี้บ่อนเซาะทำลายฐานอำนาจและความชอบธรรมของเจ้าพ่อไม่น้อย เพราะเจ้าพ่อทำงานในเชิงพื้นที่

และ 3) บทบัญญัติและระบบเลือกตั้งที่เอื้อให้เกิดรัฐบาลพรรคเดียว/เข้มแข็งซึ่งทำให้รัฐบาลสามารถขับเคลื่อนนโยบายที่สัญญาไว้ในระหว่างเลือกตั้งได้ เท่ากับว่าภายใต้โครงสร้างทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2540 รัฐไทยที่นำโดยรัฐบาลไทยรักไทยสามารถเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ-เจ้าพ่อ-ประชาชนได้ด้วยการจัดสรรทรัพยากรส่วนรวมใหม่ ให้รัฐเป็นผู้แจกจ่ายส่วนแบ่งให้แก่ประชาชนทั่วประเทศโดยตรง ผ่านนโยบายสาธารณะที่ถูกเรียกว่าเป็นนโยบายประชานิยม บทบาทนี้ของรัฐไทยขีดเส้นแห่งสำนึกของผู้คนในพื้นที่ต่างจังหวัดของไทยใหม่ จากที่เคยผูกโยงตนเองอยู่ในเครือข่ายความสัมพันธ์กับผู้อุปถัมภ์ในระดับท้องถิ่นอย่างเจ้าพ่อ มาสู่การมีสำนึกในสถานะเจ้าของและหุ้นส่วนหนึ่งของรัฐไทย และดังนั้นจึงควร/สามารถมีอิทธิพลต่อกระบวนการตัดสินใจนโยบายสาธารณะและควรเข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐได้เช่นเดียวกับคนกลุ่มอื่นในสังคม สภาพเช่นนี้บั่นทอนความชอบธรรมและความจำเป็นในการดำรงอยู่ของเจ้าพ่ออย่างยิ่ง จึงไม่น่าแปลกใจที่เจ้าพ่อและนักการเมืองเจ้าของพื้นที่หลายคนพ่ายแพ้การเลือกตั้งในทศวรรษต่อมา

ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการเมืองครั้งสำคัญนี้ ตระกูลคุณปลื้มยังต้องสูญเสียหัวเรือใหญ่อย่างกำนันเป๊าะที่จำเป็นต้องลดบทบาททางการเมืองเนื่องจากถูกจำคุกในคดีจ้างวานให้ผู้อื่นพยายามฆ่ากำนันยูร (ประยูร สิทธิโชติ) ส่งผลให้กลุ่ม ‘เรารักชลบุรี’ ของตระกูลคุณปลื้มแพ้เลือกตั้งแก่พรรคประชาธิปัตย์ทั้งจังหวัดในปี 2551 ตระกูลคุณปลื้มจึงพยายามจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของพวกเขาในสนามการเมืองชลบุรีและการเมืองไทยเสียใหม่ ด้วยการตั้งพรรคพลังชลลงแข่งในการเลือกตั้งปี 2554

การตั้งพรรคพลังชลถือเป็นความพยายามในการขีดเส้นแห่งสำนึกของคนชลบุรีให้กลับมาโยงใยอยู่ในระดับพื้นที่อีกครั้ง แทนที่จะโยงใยอยู่กับขั้วการเมืองระดับชาติ (เหลือง-แดง) โดยชูแนวทางแบบ ‘บ้านของเรา พรรคของเรา’ [2] ควบคู่ไปกับการทำงานทางวัฒนธรรมของสโมสรฟุตบอลชลบุรีตามแนวทาง ‘ทีมของเรา ทางของเรา’ [3]  และการทำงานผ่านเครือข่ายทางการเมืองในรูปแบบเก่าซึ่งทำให้กลุ่มบ้านใหญ่ชลบุรีกลับมาชนะเลือกตั้งระดับชาติ 6 จาก 8 ที่นั่ง และรักษาพื้นที่การเมืองท้องถิ่นทั้งในองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี เมืองพัทยา และเทศบาลเมืองแสนสุขไว้ได้แม้จะไม่มีกำนันเป๊าะบัญชาการใกล้ชิดด้วยตนเอง

อย่างไรก็ตาม ผลการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมาคงแสดงให้เห็นแล้วว่า การแข่งขันทางการเมืองสนามชลบุรีไม่ใช่ของตายของตระกูลคุณปลื้มเหมือนในยุค ‘เจ้าพ่อครอง(การ)เมือง’ อีกแล้ว ชัยชนะของพรรคอนาคตใหม่ใน 3 เขตเลือกตั้ง (รวมถึงเขต 6 ที่อิทธิพล คุณปลื้มลงแข่งด้วยตนเอง) อาจจะกำลังบอกว่า วิธีทำการเมืองของตระกูลคุณปลื้มไม่สามารถจับใจคนชลบุรีที่มีความเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่องค์ประกอบประชากรและฐานะทางเศรษฐกิจได้ คนชลบุรีจำนวนไม่น้อยตัดสินใจเลือกตั้งด้วยเหตุผลที่ไม่ได้ยึดโยงกับการเมืองเชิงพื้นที่ภูมิศาสตร์ (ซึ่งเป็นจุดแข็งที่กลุ่มตระกูลคุณปลื้มใช้ต่อสู้มาโดยตลอด)

จากนี้ไปคงเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับคุณปลื้มรุ่นลูกว่า พวกเขาจะเป็น ‘เจ้าของพื้นที่’ หรือ ‘เสาไฟฟ้า’ หากพวกเขาสามารถหาตำแหน่งที่และกลยุทธ์ที่เหมาะสมได้ พวกเขาก็จะคงสถานะ ‘เจ้าของพื้นที่’ ซึ่งเป็นต้นทุนทางการเมืองที่สั่งสมมาในรุ่นพ่อ หากทำไม่ได้ พวกเขาอาจจะกลายเป็นเพียง ‘เสาไฟฟ้า’ ในการเมืองระดับชาติเมื่อประชาชนผู้เลือกตั้งพากันผูกพันภักดีต่อนโยบายและอุดมการณ์ของพรรคการเมืองระดับชาติมากขึ้นเรื่อยๆ

 

เชิงอรรถ:

[1] ผู้เขียนตระหนักดีว่าการเรียกคุณบรรหารว่า ‘เจ้าพ่อ’ อาจจะไม่ยุติธรรมกับคุณบรรหารนัก แต่ก็ถือว่าเขามีคุณลักษณะหลายประการสอดคล้องกับคำอธิบายเรื่อง ‘เจ้าพ่อ’

[2] สโลแกนของพรรคพลังชลในการรณรงค์เลือกตั้งปี 2554

[3] สโลแกนของสโมสรชลบุรี เอฟซีในปี 2555 (ปีเดียวกับการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี)

 

อ้างอิง:

  • ผาสุก พงษ์ไพจิตร และสังศิต พิริยะรังสรรค์. คอรัปชั่นกับประชาธิปไตยไทย. กรุงเทพมหานคร: ศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2537.,
  • พรชัย เทพปัญญา. นักการเมืองถิ่นจังหวัดชลบุรี. กรุงเทพมหานคร: สำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า, 2552.,
  • โอฬาร ถิ่นบางเตียว. “ตระกูลคุณปลื้ม: พัฒนาการสะสมทุนทางเศรษฐกิจและสังคม” ใน รายงานสืบเนื่องจากการประชุมวิชาการ (Proceeding) การประชุมวิชาการและการนำเสนองานวิจัยและวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา ครั้งที่ 3. เชียงใหม่: คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. 2554.,
  • นภัทร เฉลิมศิลป์. พัฒนาการของกลุ่มการเมืองท้องถิ่นสู่การจัดตั้งพรรคการเมือง: กรณีศึกษา ‘พรรคพลังชล’ จ. ชลบุรี. (ภาคนิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต). มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ สาขาวิชาการเมืองการปกครอง. 2555.
  • ชาลินี สนพลาย. บทบาทของสโมสรชลบุรีเอฟซีในการรักษาและสร้างฐานเสียงทางการเมืองของกลุ่มเรารักชลบุรี. วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต, สาขาการเมืองการปกครอง, คณะรัฐศาสตร์, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. 2558.

Fact Box

  • สมชาย คุณปลื้ม หรือ กำนันเป๊าะ นักการเมืองและนักธุรกิจในจังหวัดชลบุรี เกิดเมื่อ 30 กันยายน พ.ศ. 2480 และเสียชีวิตเมื่อ 17 มิถุนายน 2562 ขณะมีอายุได้ 82 ปี กำนันเป๊าะเป็นทั้งอดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองแสนสุข และเป็นผู้สนับสนุนนักการเมืองในชลบุรีหลายคน เขาถูกสั่งจำคุกในคดีจ้างวานฆ่า กำนันยูร - ประยูร สิทธิโชติ เป็นเวลา 25 ปี แต่หลบหนีคดีก่อนที่จะถูกจับกุมตัวได้ในปี 2556 ที่กรุงเทพฯ
Tags: , , , , , ,