รุ่งอรุณของปี 2562 พึ่งสาดแสงได้ไม่นาน บ่งบอกถึงสิ่งที่กำลังรอคอยเราอยู่ทั้งดี-ร้าย เล็ก-ใหญ่ ทั้งเรื่องที่ส่งผลแค่กับตัวเราในฐานะปัจเจกชน และเรื่องที่จะกำหนดชะตาดวงเมืองและสังคมไทยของเราร่วมกันอย่าง ‘การเลือกตั้ง’ ที่หลายๆ คนต่างเฝ้ารอ

8 ปี เป็นระยะเวลาที่สังคมไทยเราห่างหายจากการเลือกตั้ง ช่วงปีพ.ศ. 2535-2543 เป็นปีเกิดของคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่เคยมีโอกาสเข้าคูหากาบัตรเลือกตั้ง ซึ่งประมาณการเป็นคะแนนเสียงราว 8 ล้านคน

ในด้านหนึ่ง ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนความล้าหลัง ชะงักงัน และอืดอาดของการเมืองไทย แต่ในอีกด้านหนึ่งตัวเลขเหล่านี้ก็เป็นเสมือนขุมพลังเงียบที่สุกสกาว สดใส เปี่ยมไปด้วยความหวัง

ใช่ การเลือกตั้งครั้งนี้เต็มไปด้วยกลเกมอำพรางความไม่โปร่งใส ไร้เที่ยงธรรม และบิดเบี้ยว ที่ฝ่ายผู้มีอำนาจซุกซ่อนเอาไว้ทั้งแนบเนียน และเปิดฉ่างอย่างอุกอาจ แบบที่เราอยากจะขอเรียกว่าเป็นการกระทำอย่างหน้าตาย

แต่ผลแพ้ชนะของการเลือกตั้งก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราควรพะว้าพะวง จนตัดใจเทสิทธิ์เสียงโดยชอบธรรมของเราลงน้ำ ด้วยการไม่ยอมไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง “เพราะการเลือกตั้งและประชาธิปไตยเป็นกระบวนการที่คล้ายสเปกตรัม มันมีการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า และถดถอยกลับหลังอยู่ตลอดเวลา” รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าสาขาวิชาการเมือง การปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ บอกกับเราเช่นนั้น

ทั้งๆที่แผ่นดินอันงดงาม กำลังจะคืนกลับมา ทำไมเราถึงยังควรตั้งหน้าตั้งตารอการเลือกตั้ง ทำไมคนรุ่นใหม่ที่มีจำนวนไม่ถึงครึ่งของประชากรทั้งประเทศถึงเป็นกุญแจสำคัญ และควรเหลียวหันมาสนใจสังคม-การเมืองให้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน และทำไมอาจารย์ถึงยังชักชวนให้เรายังมองสิ่งต่างๆ ในแง่บวก และสดใส  อาจารย์ยังมองเห็นความเป็นไปได้ใดทั้งก่อน – หลัง การเลือกตั้ง เรายังควรมีความหวังอยู่ใช่ไหมท่ามกลางความมืดที่เนิ่นนานเช่นนี้ 

ระบบจัดสรรปันส่วนผสมอย่างลึกลับ

เหล่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ออกแบบระบบการเลือกตั้งที่ ‘สร้างสรรค์’ อย่างน่าเหลือเชื่อ เพราะค่อนข้างซับซ้อน ซ่อนเงื่อน ระบบนี้ออกแบบโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะนำไปปรุงให้ถูกปากโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อนถูกเรียกด้วยชื่อที่ชวนสับสนว่า ‘ระบบจัดสรรปันส่วนผสม’ ซึ่งเป็นระบบที่เคยใช้ในเยอรมนีเมือปีค.ศ. 1949 หรือภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หนึ่งปี และจากนั้นก็ยกเลิกทันที

การเลือกตั้งครั้งนี้ ผู้ลงคะแนนจะได้รับบัตรเลือกตั้งหนึ่งใบ ใช้เลือกทั้งพรรคและบุคคล ซึ่งเราขออธิบายระบบการคิดคะแนนเป็นขั้นตอนคร่าวๆ ดังนี้

1. สมมติว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด มีประมาณ 50 ล้านคน

2. สมมติว่ามีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 75% ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด คิดเป็น 35 ล้านเสียง (หักลบบัตรเสีย และบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน)

3. คะแนนดีทั้งหมด 35 ล้านเสียง จะถูกนำไปหารกับจำนวนที่นั่งในสภาทั้งหมดของส.ส.คือ 500 ที่นั่ง คิดเป็น ส.ส. 1 คน ต่อ 70,000 คะแนนเสียง (ลองกดเครื่องคิดเลขดูนะครับ)

4. บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ จะถูกนำมาคำนวณหาทั้งผู้สมัครแบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ โดยการนำคะแนนที่ประชาชนลงให้พรรคนั้นๆ ทั้งประเทศมารวมกัน เช่น อนาคตใหม่ ได้คะแนนในกรุงเทพ 3 แสน + คะแนนเชียงใหม่ 2 แสน + …… + …..

5. สมมติต่อ ว่า ‘พรรคเพื่อไทย’ ได้รับคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ 14 ล้านเสียง และชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตไปแล้ว 100 คน กกต.จะนำคะแนนมาคิดเป็นขั้นตอน ดังนี้

14,000,000/70,000 = 200 คน คือ จำนวน ส.ส. ที่พึงมีจากคะแนนเสียงรวม

          200 – 100 = 100 คน  นำจำนวน ส.ส.ที่พึงมีจากคะแนนเสียงรวม มาลบด้วยจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขต ผลลัพธ์ที่ได้คือจำนวนส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

สรุป พรรคเพื่อไทยจะได้รับ ส.ส. แบ่งเขต 100 คน และได้รับ ส.ส. บัญชีรายชื่อเพิ่มอีก 100 คน รวมเป็น 200 คน

สมมติต่ออีกว่า พรรคพลังประชารัฐ ได้รับคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ 7 ล้านเสียง แต่ชนะการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตไปแค่ 14 คน

7,000,000 / 70,000 = 100 คน คือ จำนวนส.ส. ทั้งหมดที่พลังประชารัฐพึงมีจากคะแนนเสียงรวม

                  100 – 14 = 86 คน นำจำนวน ส.ส. ที่พึงมีจากคะแนนเสียงรวม ลบด้วยจำนวน ส.ส.

ที่ได้มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต

สรุป พรรคพลังประชารัฐได้รับ ส.ส. แบบแบ่งเขตไปแล้ว 14 คน และจะได้รับ ส.ส. บัญชีรายชื่อเพิ่มอีก 86 คน รวมเป็น 100 คน

แบบจำลองการเลือกตั้ง 2562

การเลือกตั้งรูปแบบนี้ ออกแบบมาเพื่อให้คุณค่ากับทุกๆ คะแนนเสียงหรือพยายามจะ ‘ไม่ให้มีคะแนนเสียงตกน้ำ’

ถึงอย่างไรก็ตาม อาจารย์สิริพรรณมองว่า “ถ้าพรรคต่างๆ เลือกใช้กลวิธี ‘แตกแบงค์พัน’ เป็นแบงค์ร้อย ก็จะทำให้มีคะแนนเศษที่ถูกปัดทิ้งลงน้ำมากขึ้นอยู่ดี”

วิธีการคิดคะแนนแบบนี้ทำให้พรรคขนาดกลางและเล็กมีโอกาสมากขึ้นที่จะมีตัวแทนของตนอยู่ในสภา ซึ่งก็เป็นหนึ่งในความตั้งใจของผู้ออกแบบ เพื่อป้องกันการซ้ำรอยของปรากฏการณ์ ‘เผด็จการเสียงข้างมากในสภา’

แต่อาจารย์ไม่เห็นด้วย และชักชวนให้เรามองนิยามของคำนี้เสียใหม่ว่า เสียงข้างมากในสภาไม่ใช่เรื่องผิดวิสัย เพราะการจัดตั้งรัฐบาลและความเข้มแข็งของรัฐบาลย่อมเกิดจากการครองใจประชาชน เพื่อได้รับที่นั่งในสภาที่สอดรับกับคะแนนเสียง แต่สิ่งสำคัญ คือวิธีตรวจสอบถ่วงดุล และการออกแบบระบบที่ทำให้ฝ่ายบริหารอยู่ในกติกา และมุ่งบริหารประเทศเพื่อประชาชนส่วนรวมเสียมากกว่า

อีกทั้งระบบบัตรเลือกตั้งนี้ มีแนวโน้มว่าจะทำให้ประชาชนเทคะแนนเสียงให้กับบุคคลที่มีอิทธิพลกับตัวเองและพื้นที่ มากกว่าให้ความสนใจในจุดยืนและนโยบายของพรรค ซึ่งจะทำลายสายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับพรรคการเมือง รวมถึงเปิดช่องให้ระบบเจ้าพ่อ-แม่ และระบบอุปถัมภ์กลับมามีอิทธิพลอีกครั้ง

การเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวยังอาจจะทำให้เกิดสถานการณ์ อาทิ จอห์นเป็นคนจังหวัดสุรินทร์ที่เข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ เขาอยากลงคะแนนให้พรรคสามัญชน แต่ในภูมิลำเนาบ้านเกิดของเขาที่จังหวัดสุรินทร์ ไม่มีผู้สมัครจากพรรคสามัญชนเลยสักคนเดียว ทำให้นายจอห์นไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนให้พรรคสามัญชน เพราะในบัตรเลือกตั้งครั้งนี้ อนุญาตให้กาคะแนนเสียงให้เฉพาะผู้สมัครในพื้นที่เท่านั้น

ตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งครั้งนี้ กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คนมีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีก 500 คน ที่จะมาจากการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ รวมเป็นทั้งสิ้น 750 เสียงซึ่งเป็นเรื่องกระตุกไมเกรนหลายฝ่าย เพราะสมาชิกวุฒิสภาซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่มีจุดยึดโยงกับประชาชน กลับมีอำนาจเลือกผู้นำประเทศได้

ที่มาของสมาชิกวุฒิสภา 250 คนครั้งนี้ ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วน

  1. การเลือกแบบไต่ระดับในกลุ่มสาขาอาชีพตั้งแต่ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ คัดหา 200 คนเป็นตัวแทน ก่อน กกต. จะส่งให้ คสช. เคาะครั้งสุดท้ายให้เหลือ 50 คน
  2. คณะบุคคลที่ คสช. แต่งตั้งอีก 194 คน
  3. เป็นโดยตำแหน่ง 6 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

อีกทั้งสมาชิกวุฒิสภาชุดนี้ มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี กล่าวคือ ส.ว. ชุดนี้จะมีโอกาสเลือกนายกรัฐมนตรี 2 สมัยคือ ในปี 2562 และ 2566 (ถ้ามีการเลือกตั้งเกิดขึ่้น)

ที่มาของสมาชิกวุฒิสภาทั้ง 250 คน

ปัยจัยหรือกับดักสำคัญที่ถูกซุกซ่อน

ระบบการเลือกตั้งควรถูกออกแบบให้สอดรับกับบริบท ปัญหา และวัฒนธรรมการเมืองของสังคมนั้น แต่เมื่อกรอบกติกาและแนวคิดของการเลือกตั้งเปลี่ยนไป ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งนั้นย่อมไม่เหมือนเดิม อาจารย์สิริพรรณ ได้วิเคราะห์ปัจจัยสำคัญรวมถึงกับดักที่ถูกอำพรางไว้ที่มีส่วนกำหนดผลการเลือกตั้งครั้งนี้ 4 ข้อ ดังนี้

ปัจจัยที่หนึ่ง คือ จุดยืนทางการเมืองของทั้งพรรคและผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง อาจารย์ให้ความเห็นว่า “บริบทการเมืองปัจจุบันทำให้บรรดาพรรคต่างๆ ถูกแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งที่สนับสนุน คสช. และฝั่งที่ต่อต้าน คสช.” อาจารย์เสริมว่า อันที่จริงยังมีอีกกลุ่มหนึ่ง คือ กลุ่มที่ยังลังเลไม่ตัดสินใจ อาทิ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคประชาธิปัตย์

ปัจจัยที่สอง คือ ผู้ลงสมัครเลือกตั้งของแต่ละพรรค เป็นปกติที่นักการเมืองในพื้นที่มักจะเป็นคนที่ทำงานในพื้นที่และใช้เวลาคลุกคลีกับปัญหาของประชาชน สอดคล้องกับสภาพสังคมไทยที่ยังคงยึดติดกับตัวบุคคลและสายสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์ที่คอยดูแล ซึ่งยิ่งระบบราชการมีความล้าหลังและไร้ประสิทธิภาพ ก็เอื้อให้อำนาจท้องถิ่น และการดูแลแบบอุปถัมภ์จากตัวของผู้สมัครยังคงมีอิทธิพลสำคัญอยู่

ปัจจัยที่สาม คือ ประเด็นทางการเมือง หรือ Single Issue เป็นประเด็นเดี่ยวๆ ที่เกิดขึ้นในสภาพเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ขณะนั้น อย่างเช่น การยกเลิกเกณฑ์ทหาร การเรียกร้องให้ลดการผูกขาด หรือข้อเสนอเพิ่มงบประมาณสาธารณสุข ประเด็นเหล่านี้จะเป็นตัวแปรที่มีบทบาทสำคัญต่อการตัดสินใจของประชาชนเช่นเดียวกัน

ปัจจัยที่สี่ คือ การเสนอชื่อ ‘ว่าที่นายกรัฐมนตรี’ รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุไว้ว่า ทุกพรรคมีสิทธิ์เสนอชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรคจำนวน 3 คน แตกต่างจากการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านๆ มาที่หัวหน้าพรรคหรือ ส.ส. ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อลำดับต้นๆ จะเสมือนเป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรีของพรรคนั้น จากกรณีนี้ อาจารย์ให้ความเห็นว่า ความรู้สึกของประชาชนที่อยากจะเลือกนายกรัฐมนตรีจากรายชื่อที่แต่ละพรรคเสนอ ก็จะส่งผลการการตัดสินใจของประชาชนในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม อาจารย์แสดงความเป็นห่วงถึงสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง เพราะกลไกของรัฐธรรมนูญฉบับนี้เปิดทางให้สมาชิกวุฒิสภา 250 คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกของประชาชนมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จึงมีความเป็นไปได้ที่ประชาชนจะรู้สึกว่า เสียงของตัวเองถูกเพิกเฉยและไร้ค่า นำไปสู่คำถามต่อความชอบธรรมของระบบการเลือกตั้ง ตลอดจนสถาบันการเมืองทั้งระบบ ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุที่ปูทางไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่ก็เป็นไปได้

คนรุ่นใหม่ – ความหวังอันโลเล

ในขณะที่หัวข้อการสนทนาเริ่มเบนเข็มมาถึงเรื่องคนรุ่นใหม่กับการเลือกตั้ง เราจึงอดไม่ได้ที่จะลั่นประโยคที่ผู้ใหญ่มักจะกล่อมเกลาเรามาสม่ำเสมอว่า ‘อย่าไปยุ่งกับการเมือง การเมืองเป็นเรื่องของผู้ใหญ่’ อาจารย์ยิ้ม ก่อนที่ชี้ถึงความสำคัญของคนรุ่นใหม่ต่อการเมือง และความเชื่อมโยงระหว่างปัญหาในชีวิตประจำวันกับการเมืองที่เราไม่เคยถูกสอนให้มองเห็น ถึงแม้ว่าจะมี GAT เชื่อมโยงให้สอบก็ตาม

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง หรือกกต. ประมาณการจำนวนคนรุ่นใหม่ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งในครั้งนี้เอาไว้ที่ 8 ล้านคน ฉะนั้น ถ้าหากคนรุ่นใหม่มาใช้สิทธิ์ครบทุกคน สามารถเปลี่ยนคะแนนเสียงเป็น ส.ส.ได้กว่า 114 ที่นั่ง (นำ 8,000,000 คน หารด้วย 70,000 คะแนน)

อย่างไรก็ตาม อาจารย์สิริพรรณมองว่า ปัญหาของคนรุ่นใหม่ ประการแรกคือ ไม่ค่อยมีความตื่นตัวด้านการเมือง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่นอกสถาบันการศึกษา ซึ่งจำนวนมากมีวิถีชีวิตหาเช้ากินค่ำ ความอัตคัต คัดแค้นตีบตันในชีวิตประจำวันทำให้ขาดแรงบันดาลใจและความตื่นตัวทางการเมือง

ประการที่สอง ต้นทุนการเลือกตั้ง การเดินทางกลับภูมิลำเนาเพื่อไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งมาพร้อมต้นทุนค่าเสียโอกาสหลายอย่าง ทั้งเวลาที่ต้องใช้เดินทางกลับภูมิลำเนา รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ตามมา อาทิ ค่าเดินทาง ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้คนรุ่นใหม่ที่กำลังศึกษาอยู่ หรือมีวิถีชีวิตหาเช้ากินค่ำต้องชั่งน้ำหนักความสำคัญ ถือเป็นกลุ่มที่ต้องใช้ต้นทุนในการเลือกตั้งสูงกว่าคนกลุ่มอื่นๆ

ประการที่สาม ระยะเวลากว่า 8 ปีที่ที่สังคมไทยห่างหายจากการเลือกตั้ง ขยับขยายระยะห่างระหว่างประชาชนกับพื้นที่การเมือง ส่งผลต่อความรู้สึกและความเคยชินของคนรุ่นใหม่ที่อาจจะชินชากับระบบเผด็จการทหาร จนมีทัศนะที่มองว่า การเลือกตั้งไม่ใช่เรื่องสำคัญ อีกทั้งมองว่า การเลือกตั้งอาจจะนำพาไปสู่ความขัดแย้งวุ่นวายอีกครั้ง

ประการที่สี่ ระบบการศึกษา รวมถึงระบบการกล่อมเกลาทางสังคมอื่นๆ อาทิ ละคร สถาบันครอบครัว ศาสนา อาจารย์ให้ความเห็นว่า “ระบบเหล่านี้กดทับและตัดรอนสายสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนกับระบบการเมือง ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการตกตะกอนของ 14 ตุลา และ 6 ตุลา ทำให้คนรุ่นพ่อ – แม่ รุ่นปู่ – ย่า ไม่อยากให้เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของความสูญเสีย ทั้งที่จริงแล้วเราสามารถมีส่วนรวมกับการเมืองโดยไม่นำไปสู่ความรุ่นแรงได้ ถ้าหากเรามีการเลือกตั้ง”

อาจารย์กล่าวต่อว่า “ระบบการศึกษาและระบบการกล่อมเกลาเหล่านี้ ทำให้เยาวชนขาดกระบวนการเชื่อมโยงระหว่างปัญหาในชีวิตประจำวันกับระบบการเมือง เช่น การยืนเข้าแถวหน้าเสาธงในตอนเช้า การเดินทางกลับบ้านหลายตลบทั้ง จับรถไฟ โหนรถเมล์ ต่อรถเครื่อง ใช้เวลาในการเดินทางกว่า 2-3 ชั่วโมงต่อวัน ตลอดจนกระทั่งเรื่องอย่าง ยี่ห้อและคุณภาพเบียร์ที่มีจำกัดในท้องตลาด”  

อาจารย์ขยายความต่อว่า “ปัญหาเหล่านี้จะทุเลาลง ถ้าเรามีการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งจะทำให้เราเลือกคนที่สามารถแก้ปัญหาในชีวิตของเรา ซึ่งถ้าหากเราเลือกเขามาแล้ว เขาแก้ไขปัญหาไม่ได้ ในครั้งหน้าเราก็จะไม่เลือกเขาอีก แต่ถ้าเขาสามารถทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของเราดีขึ้น ครั้งหน้าเราก็จะเลือกเขาขึ้นมาใหม่ มันเป็นเหตุ–ผล ต่างตอบแทน เป็นเส้นตรงชัดเจน ทั้งหมดนี้คือกลไกที่มันเป็นผลมาจากระบบการเมือง          

พยากรณ์ผลการเลือกตั้งปี 2562

เป็นปกติที่มนุษย์อยากรู้อนาคตและคลื่นของปัญหาที่จะถาโถมเข้ามาในชีวิตเรา แม้เพียงเค้าลางบางส่วนก็ยังดี เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและตระเตรียมทางหนีทีไล่ในกรณีที่เลวร้าย ในแง่การเลือกตั้งก็เช่นเดียวกัน เราถามอาจารย์สิริพรรณถึงความเป็นไปได้ของผลการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น โดยอาจารย์ได้ประเมินผ่านตัวเลข บริบทสังคมการเมืองไทย และกฎกติการที่ถูกออกแบบโดยคสช. อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้อาจารย์ย้ำกับเราว่า เป็นเพียงการคาดคะเน ที่อาจผิดพลาดได้

อาจารย์แบ่งขั้วทางการเมืองออกเป็นทั้งหมด 3 ฝ่าย ได้แก่ พรรคฝ่ายคสช. พรรคต่อต้านคสช. และพรรคที่อยู่ระหว่างการตัดสินใจ โดยหยิบจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 50 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ประมาณโดยกกต. ก่อนที่จะนำมาหักลบจำนวนผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิ์ออกเสียง รวมถึงบัตรเสีย และบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน เหลือทั้งสิ้น 35 ล้านเสียง สุดท้าย อาจารย์นำข้อมูลต่างๆ มาคาดการณ์ผลลัพธ์การเลือกตั้งเอาไว้ทั้งหมด 4 รูปแบบ ดังนี้

ขั้วการเมืองทั้ง 3 ฝ่าย

รูปแบบที่หนึ่ง คสช.และพรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจ ได้รับคะแนนเสียงส่วนมากในสภา ซึ่งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นถ้าหากพรรคที่ไม่สนับสนุนคสช.ได้คะแนนเสียงรวมกันเพียงร้อยละ 40-45 ของคะแนนเสียงทั้งประเทศ (คิดเป็น 200-225 ที่นั่ง) ในขณะที่ประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐได้รับประมาณ 100-110 ที่นั่ง เท่าๆ กัน

ถ้าเป็นไปในทิศทางนี้ คะแนนของพรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคสช. ร่วมกับ 250 คะแนนเสียงจากวุฒิสภา อีกทั้งมีแนวโน้มว่าพรรคประชาธิปัตย์อาจจะเข้าร่วม ทำให้คสช.และทีมงานมีโอกาสสืบทอดอำนาจต่อสูงมาก อีกทั้งยังกุมคะแนนเสียงส่วนมากในสภาอีกด้วย

ฝ่ายสนับสนุนคสช.ได้รับชัยชนะ และกุมเสียงข้างมากในสภา

รูปแบบที่สอง เพื่อไทยและพรรคที่ต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคสช. ได้รับคะแนนเสียงเกินร้อยละ 50 ของคะแนนเสียงทั้งหมด (250 ที่นั่งหรือมากกว่า) ขณะที่ประชาธิปัตย์และพลังประชารัฐได้รับคะแนนเสียงไล่เลี่ยกันอยู่ที่ 100 – 110 ที่นั่งในสภา

ในกรณีนี้ คสช.และพรรคที่สนับสนุน ก็ยังมีแนวโน้มที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้เช่นเดิม เพราะยังมี 250 คะแนนเสียงจากวุฒิสภาคอยหนุนหลัง หากแต่จะทำให้เป็นฝ่ายบริหารที่อ่อนแอ มีโอกาสโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตาม หากฝ่ายที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคสช. ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนถึงระดับนี้ ก็สร้างความเป็นไปได้ที่พรรคประชาธิปัตย์จะทบทวนการจับมือกับพรรคเพื่อไทย รวมถึงอาจจะทำให้สมาชิกวุฒิสภาทบทวนตนเองเรื่องความยึดโยงกับประชาชน

ฝ่ายสนับสนุนคสช.ได้รับชัยชนะ แต่เป็นฝ่ายบริหารที่อ่อนแอ

รูปแบบที่สาม เกิดกรณีแลนไสลด์คะแนนเสียงอย่างถล่มทลาย (Super Super Majority) ให้แก่พรรคเพื่อไทย กล่าวคือ พรรคเพื่อไทยและพรรคที่ไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคสช.ได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 75 เปอร์เซนต์ของคะแนนเสียงทั้งหมด (375 ที่นั่ง) จะทำให้คสช.ต้องยินยอมให้พรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาล เพราะเสียงของประชาชนสะท้อนอย่างชัดเจนว่า ไม่สนับสนุนให้อำนาจนิยมทำงานอีกต่อไป

ฝ่ายประชาธิปไตยจัดตั้งรัฐบาล

รูปแบบที่สี่ เปฺ็นรูปแบบที่น่าหวั่นเกรงที่สุดจากการคาดการณ์ของอาจารย์ คือ พรรคที่สนับสนุนคสช. พรรคที่ต่อต้านคสช. และพรรคประชาธิปัตย์ มีคะแนนที่ยื้อแย่งกันอยู่ 3 ฝ่าย ซึ่งอาจจะนำไปสู่วิกฤตกาลที่ทำให้จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้

คะแนนยื้อแย่งกัน อาจทำให้จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้

ปัจจัยหนึ่งที่เอื้อผลการเลือกตั้งแบบนี้ คือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ระบุว่าจะต้องใช้ระยะเวลาในการจัดตั้งรัฐบาลทั้งหมดกี่วัน เพียงระบุว่าเมื่อผลการเลือกตั้งออกมาและได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรร้อยละ 95 ของที่นั่งทั้งหมดของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (475 ที่นั่ง) จะต้องประชุมสภาภายใน 15 วัน หลังจากประชุมสภา 15 วัน คือการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ได้ระบุว่าต้องใช้ระยะเวลานานแค่ไหน ซึ่งเป็นผลดีต่อคสช. เพราะคสช.จะยังคงทำงานต่อไปในสถานการณ์นี้ อีกทั้งมาตรา 44 ก็จะยังมีผลบังคับใช้ต่อไป

Tags: , , , , ,