“อา…เราแต่ละคนต่างก็ตายลงไปทุกวัน สิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับคนอื่นๆ เป็นเพียงความทรงจำในแต่ละชั่วขณะเท่านั้น ช่วงที่เรารู้จักพวกเขา พวกเขาก็เปลี่ยนแปลงไปหลังจากนั้น (…) การแสร้งแสดงว่าเราและพวกเขาเป็นเหมือนเดิม เป็นเรื่องที่มีประโยชน์และสะดวกสบายดีสำหรับแบบแผนทางสังคมที่บางครั้งก็ชำรุด เราต้องจำไว้ให้ดีว่าในทุกการพบกันเราต่างเผชิญกับคนแปลกหน้า”
T.S. Eliot, The Cocktail Party
ค็อกเทล (Cocktail) เมื่อแรกก่อนนั้นหมายความถึง เครื่องดื่มแบบอเมริกันที่เสิร์ฟแบบเย็นๆ มีรสชาติเข้มข้นและฤทธิ์กระตุ้นรุนแรงที่เริ่มเป็นที่รู้จักครั้งแรกในช่วงปี 1795 โดยเภสัชกรนามว่า อ็องตวน อเมเด เปย์โชด์ (Antoine Amédée Peychaud) ชาวนิวออร์ลีนส์เชื้อสายฝรั่งเศสเป็นผู้คิดค้น
ส่วนทำไมต้องเป็น ‘หางไก่’ หรือ cocktail ว่ากันว่ามาจากรูปแบบการตัดหางของม้าให้สั้นและจัดแต่งให้ตั้งขึ้นเหมือนหางไก่ และเพราะม้าชนิดที่ตัดหางมักเป็นม้าพันทางหรือลูกผสม ค็อกเทลก็เลยกลายเป็นชื่อเรียกเครื่องดื่มชวนคึกคักนี้ไปโดยปริยาย
งานเลี้ยงค็อกเทล (Cocktail Party) เป็นงานสังสรรค์ที่เสิร์ฟเหล้าผสม โดยมีจุดมุ่งหมายทางสังคมทั้งในแง่ของการพบปะพูดคุยทั่วไปและเรื่องธุรกิจ งานเลี้ยงค็อกเทลถูกจัดขึ้นครั้งแรกในช่วงปี 1925 ที่กรุงลอนดอน โดยนักเขียนชาวอังกฤษ อเลค วอห์ (Alec Waugh) พี่ชายของนักเขียนหญิงผู้โด่งดัง อีฟลิน วอห์ (Evelyn Waugh) ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ริเริ่ม
ประเด็นที่เราจะกล่าวถึงต่อไป ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของงานเลี้ยงค็อกเทลโดยตรง แต่เป็นการหยิบยกเอาความโดดเดี่ยวเดียวดายเหลือทนของชีวิตอันเป็นประเด็นสำคัญในบทละครเรื่อง The Cocktail Party (1949) ของ ที.เอส. เอเลียต (T.S. Eliot) มาทำการวิเคราะห์พูดคุยกัน
Unlucky in love, lucky in game.
หากเอ่ยถึงที.เอส. เอเลียต หลายคนคงเคยได้ยินชื่อเขามาบ้างจากบทกวีชิ้นยอดเยี่ยมอย่าง The Love Song of J. Alfred Prufrock (1915) และ The Waste Land (1922) อันทำให้เขาเป็นนักเขียนคนสำคัญที่มีบทบาทเทียบชั้นได้กับเจมส์ จอยซ์ (James Joyce) เวอร์จิเนียร์ วูล์ฟ (Virginia Woolf) และเกอร์ทรูด สไตน์ (Gertrude Stein) เอเลียตได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1948 อันเปรียบเหมือนมงกุฎประดับเพชรของยอดนักประพันธ์ที่หลายคนถวิลหา แต่ไม่ได้ครอบครอง
ที.เอส. เอเลียตเป็นนักเขียนชาวอังกฤษที่มีถิ่นกำเนิดในอเมริกา ด้วยสุขภาพที่อ่อนแอในวัยเด็กทำให้เขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเขียนและอ่านวรรณกรรม The Adventures of Tom Sawyer (1876) ถือเป็นวรรณกรรมเล่มกำหนดชีวิตและความคิดในช่วงวัยเยาว์ของเขา และถ้ามีใครถามว่า นักเขียนคนไหนที่เขายกย่องมากที่สุด เอเลียตก็จะตอบว่า มาร์ค ทเวน (Mark Twain)
ในด้านการศึกษาต้องกล่าวว่า เอเลียตเป็นหนึ่งในนักเขียนที่มุ่งมั่นในการเรียนอย่างที่สุด เอเลียตสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาตรีทางด้านปรัชญาที่ฮาวาร์ดภายในเวลาเพียง 3 ปี (ปกติแล้วใช้เวลา 4 ปี) และได้รับปริญญาด้านวรรณคดีเปรียบเทียบชั้นตรีและโทภายในเวลา 4 ปี และหลังจากเป็นอาจารย์สอนปรัชญาที่ฮาวาร์ด 1 ปี เขาก็เดินทางไปศึกษาต่อที่ซอร์บอร์นทางด้านปรัชญาในปี 1909 ซึ่งเวลานั้นมี อ็องรี แบร์กซง (Henri Bergson) นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเป็นอาจารย์ประจำที่นั่น เขาเดินทางกลับมาฮาวาร์ดเพื่อเรียนต่อทางด้านปรัชญาอินเดียและวรรณคดีสันสกฤต และหลังจากนั้นไม่นาน เขาก็ได้รับทุนให้ไปศึกษาต่อที่อ็อกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษ ที่ที่เขาได้กลายเป็นพลเมืองของที่นั่นในเวลาต่อมา
ในด้านการงานต้องถือว่าเอเลียตประสบความสำเร็จอย่างมาก การทำงานในสำนักพิมพ์ Faber and Gwyer (ที่ต่อมากลายเป็น Faber and Faber) ภายหลังจากลาออกจาก Lloyds Bank ถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงสำคัญที่กลายเป็นวิชาชีพตลอดชีวิตของเขา ซึ่งแน่นอนว่า ชื่อเสียงและคุณภาพของสำนักพิมพ์ Faber and Faber ที่ได้รับการยอมรับกันทั่วโลกส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากความสามารถของเอเลียตไม่มากก็น้อย
เพียงแต่เมื่อกล่าวถึงชีวิตสมรสของเขาแล้ว ต้องกล่าวว่าตรงกันข้ามหรือกลับตาลปัตรเลยทีเดียว เอเลียตในวัยหนุ่มเชื่อว่า ตัวเขาเองนั้นผูกพันกับการมีชีวิตอยู่ร่วมกับผู้หญิง และเพราะเช่นนี้ในระหว่างที่เขากำลังศึกษาต่อที่ออกซ์ฟอร์ด เพื่อนแสนดีคนหนึ่งจึงได้แนะนำให้รู้จักกับวิเวียน ไฮห์-วูด (Vivienne Haigh-Wood) ผู้หญิงที่จะแต่งงานกับเขาในเวลาถัดจากนั้นไม่นาน
วิเวียนเป็นสาวสังคม พูดจาเปิดเผยไม่อ้อมค้อม แต่งตัวด้วยเสื้อผ้ามีสีสันจัดจ้าน สูบบุหรี่ และชอบเต้นรำ เอเลียตที่ในเวลานั้นอายุเพียง 26 ปี ยังคงใหม่และอ่านผู้คนในสังคมอังกฤษไม่ออก ดังนั้นวิเวียนที่แม้จะมีพ่อเป็นจิตรกรและพื้นฐานครอบครัวมีฐานะดีก็ไม่สามารถจะเข้ากันได้กับเขาที่เป็นคนอเมริกันและเพื่อนๆ ของเขาที่มาจากชนชั้นสูง ยิ่งเมื่อประกอบรวมกับสุขภาพพื้นฐานที่ย่ำแย่ก็หญิงทำให้วิเวียนกลายเป็นผู้หญิงที่หงุดหงิดง่ายและเจ็บป่วยบ่อย จึงไม่แปลกที่ความสัมพันธ์ระหว่างเอเลียตกับวิเวียนเป็นไปแบบชืดชาในเวลาอันรวดเร็ว และทั้งคู่ก็ประคับประคองมันอยู่นานถึง 18 ปี ว่ากันว่าความสัมพันธ์อันแห้งแล้งนี้ได้กลายเป็นที่มาของบทกวีเรื่องยิ่งใหญ่ The Waste Land
Make the best of the bad job.
เอเลียตเขียนบทละคร The Cocktail Party ในตอนที่เขามีอายุได้ 61 ปี ภายหลังจากได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม 1 ปี บทละครเรื่องนี้ได้ต้นเค้ามาจาก Alcestis ของยูริปิดีส (Euripides) โดยเปลี่ยนฉากและสถานที่ให้เป็นงานเลี้ยงค็อกเทลที่จัดขึ้นในแฟลตแห่งหนึ่งใจกลางกรุงลอนดอน
เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นที่ลาวิเนีย ภรรยาของเอ็ดเวิร์ด แชมเบอร์เลน ได้หายตัวไปโดยไม่ได้บอกกล่าว และทิ้งให้เอ็ดเวิร์ดจัดงานเลี้ยงค็อกเทลเพียงลำพัง ด้วยกลัวว่ามิตรสหายในสังคมจะรู้ว่าเขากับภรรยามีปัญหาที่ถึงขั้นพร้อมจะแตกหักลงได้ทุกเมื่อ เขาจึงโกหกทุกคนว่าลาวิเนียเดินทางไปเฝ้าไข้คุณป้าที่ป่วย เป็นป้าที่ไม่มีใครรู้จักแต่รักและผูกพันกับลาวิเนียเป็นอย่างมาก
งานเลี้ยงดำเนินไปด้วยดี จะมีที่ผิดประหลาดไปบ้างก็ตรงที่มีแขกที่ไม่มีใครรู้จักชื่อเข้ามาร่วมงานเลี้ยง เป็นชายวัยกลางคนที่ดูจะรับรู้ปัญหาระหว่างเอ็ดเวิร์ดกับลาวิเนียเป็นอย่างดี กระทั่งพูดว่าเขาสามารถพาลาวิเนียกลับมาได้ ซึ่งเมื่อได้ยินเช่นนี้เอ็ดเวิร์ดก็พร้อมจะทำตามหรือให้ความร่วมมืออย่างไม่มีข้อแม้ ที่ก็แสดงให้เห็นว่า ภายใต้ความชืดชา ความไร้ซึ่งเสน่หาเขายังคงต้องการลาวิเนีย และทำให้เราทราบว่า หนึ่งในแขกที่มา คือเด็กสาวผู้มีนามว่า เซเลีย ผู้เป็นชู้รักของเอ็ดเวิร์ด ซึ่งชัดเจนว่า เขาเลือกจะจบความสัมพันธ์นี้กับเซเลียเพื่อได้ลาวิเนียกลับมา
ดังที่เอ็ดเวิร์ดได้กล่าวกับเซเลียว่า “…มันไม่ใช่ว่าผมรักลาวิเนีย ผมไม่รู้ว่าผมเคยรักเธอจริงๆ หรือเปล่า หากว่าผมเคยรัก–หากผมคิดว่าผมเคยมี–ผมก็ไม่เคยรักใครนอกจากคุณ–และอาจจะยังรักอยู่ แต่มันไม่สามารถจะไปต่อได้ มันไม่สามารถจะเป็น…สิ่งที่คงอยู่ตลอดไป คุณควรได้เจอกับคน ในวัยเดียวกันกับคุณ”
หลังจากนั้นเรื่องราวทั้งหมดมาคลี่คลายว่า แขกนิรนามต้นเรื่องที่แท้แล้วคือเซอร์ ไรลี่ย์ จิตแพทย์ชื่อดังที่เข้ามาช่วยเหลือเยียวยาความสัมพันธ์ระหว่างเอ็ดเวิร์ดกับลาวิเนียไม่ให้พังลง โดยคนที่อยู่เบื้องหลังก็คือบรรดาเพื่อนๆ ของทั้งสองคน
ประเด็นสำคัญหนึ่งที่ The Cocktail Party หยิบยกมากล่าวถึงอยู่ตรงสิ่งที่เซเลียกล่าวกับไรลี่ย์ว่า “เราสามารถรักในสิ่งที่เราจินตนาขึ้นเองได้ไหม? จริงๆ แล้วเราทั้งหมดต่างก็รักไม่ได้และถูกรักไม่ได้ ฉะนั้นแล้วเราทั้งหลายต่างก็อยู่เพียงลำพัง และถ้าเราอยู่เพียงลำพัง คนที่เรารักและคนที่รักเราก็ไม่เคยมีอยู่จริงเท่าๆ กัน นักฝันก็ไม่ได้มีตัวตนจริงน้อยไปกว่าความฝันของเขา”
ในมุมมองของไรลี่ย์ การอยู่ร่วมกันของ “คนสองคนที่ไม่เคยเข้าใจกันและกัน ให้กำเนิดเด็กๆ ที่พวกเขาไม่เข้าใจ และจะไม่มีวันเข้าใจ” นั้นเป็น “ชีวิตที่ดี” เพียงพอแล้วในโลกที่เต็มไปด้วย “ความบ้าคลั่ง ความรุนแรง ความโง่เขลา ตัณหา…”
ดังที่ไรลี่ย์ได้อธิบายให้เอ็ดเวิร์ดฟังก่อนหน้า (ในตอนที่ยังเป็นแขกนิรนาม) ว่า ถึงที่สุดแล้ว เราแต่ละคนต่างก็เป็นคนแปลกหน้าของกันและกัน แม้แต่ตัวของเราเอง และเราไม่ควรจะหลอกตัวเอง หลอกผู้ด้วยตัวตนที่เราไม่ได้เป็น ซึ่งแน่นอนว่า นั่นเป็นปัญหาสำคัญของชีวิตคู่ทั้งหลาย
นรกคือตัวเราเอง
กระนั้นสิ่งที่เลวร้ายกว่าชีวิตคู่ที่ย่ำแย่ก็คือการต้องอยู่ลำพัง หรือการไม่สามารถมีคู่ชีวิต ซึ่งเป็นความคิดที่เอเลียตต้องการนำเสนอ หรืออย่างน้อยที่สุดก็คือทำให้ตัวละครจำนวนหนึ่งในเรื่องพยายามทำให้ชีวิตคู่ของเอ็ดเวิร์ดกับลาวิเนียคงอยู่ต่อไป แม้จะไม่ดี แต่ก็ไม่เลวร้ายกว่าการที่จะไม่มีเลย
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ The Cocktail Party จะมีบทที่เหมือนจะโต้ตอบถ้อยคำจาก Huis clos ละครเรื่องดังของ ฌ็อง-ปอล ซารตร์ (Jean-Paul Sartre) ที่ว่า “นรกคือผู้อื่น” ด้วยการให้เอ็ดเวิร์ด ตัวละครเอกของเขาพูดว่า “…นรกคือตัวเราเอง นรกคือการอยู่เพียงลำพัง ร่างเงาของคนอื่นๆ เป็นเพียงภาพฉายก็เท่านั้น”
เพราะสำหรับเอเลียตแล้ว ผู้อื่น หรือคนแปลกหน้าเป็นสิ่งที่ต้องมีอยู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การมีอยู่ของใครสักคนแม้แต่คนที่ไม่เข้าใจเราเลยก็เป็นเครื่องปลอบประโลมใจอันสำคัญยิ่งสำหรับการมีชีวิตอยู่บนโลกอันแห้งแล้งแห่งนี้ หรืออย่างน้อยที่สุดเขาก็ทำให้ตัวละครใน The Cocktail Party เชื่อเช่นนั้น หรืออย่างน้อยๆ เขาเองก็เชื่อเช่นนั้น เพราะมิฉะนั้นแล้วเอเลียตคงไม่เลือกแต่งงานใหม่กับหญิงวัย 30 ปี ตอนที่เขามีอายุได้ 68 ปีเป็นแน่
อ้างอิง
T.S. Eliot, The Cocktail Party, (London: Faber and Faber, 1950)
Lars Svendsen, A Philosophy of Loneliness, (London: Reaktion Books, 2018)
Tags: Nobel Prize, Soliloquy, T.S.Eliot, The Cocktail Party