จะมีใครล่วงรู้ได้บ้างว่าความโดดเดี่ยวนั้นมิใช่ถ้อยคำโดยทั่วไป แต่คือความน่าสยดสยองอันเปลือยเปล่า?

—โจเซฟ คอนราด

 

ทั้งหมดที่มีเพียงหนึ่ง

ในโลกวรรณกรรม คำว่า lonely ได้รับการบันทึกว่าถูกใช้เป็นครั้งแรกในบทละคร Coriolanus ของวิลเลียม เชคสเปียร์ (William Shakespeare) ในองก์ที่ 4 ฉากที่ 1 ที่โคริโอลานัสกล่าวว่า “Believe’t not lightly—though I go alone, Like to a lonely dragon..”

lonely ที่เชคสเปียร์กล่าวหมายถึงอะไร หากอ่านตามบริบท ความหมายของคำนี้ย่อมสอดคล้องกับคำว่า alone ที่อยู่ในข้อความข้างหน้า ซึ่งก็คือการอยู่เพียงลำพัง (aloneness) ที่ก็มาจากคำว่า all+one หรือ “ทั้งหมดมีเพียงหนึ่ง” เป็นความหมายที่ผูกพันกับจำนวนของผู้คนที่อยู่รายล้อม ซึ่งในบทละครตัวเอกของเรื่องได้กล่าวคำนี้เมื่อเขากำลังจำต้องลาจากแม่และภรรยาไป

ทว่าความโดดเดี่ยวใน Coriolanus ย่อมแตกต่างจากความโดดเดี่ยวที่เรารู้จักและอ้างถึงในปัจจุบัน เพราะความโดดเดี่ยวของเรานั้นอาจพูดได้ว่าเป็นสภาวะที่สามารถเกิดขึ้นได้แม้เราไม่ได้มีชีวิตอยู่เพียงคนเดียว สังคมสมัยใหม่หรือโดยเฉพาะสังคมในเมืองใหญ่กลายเป็นต้นตอบ่อเกิดของความโดดเดี่ยวนี้ เหมือนดังที่เกออร์ก ซิมเมล (Georg Simmel) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมันได้กล่าวไว้ว่า “ไม่มีที่ใดจะทำให้คนเรารู้สึกโดดเดี่ยวและเคว้งคว้างมากเท่ากับการอยู่ในฝูงชนแห่งมหานครอีกแล้ว”

เกออร์ก ซิมเมล (Georg Simmel) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ในความเรียงชิ้นสำคัญ The Metropolis and Mental Life (1903) ซิมเมลได้อธิบายให้เราเห็นว่า ความคิดอันเป็นผลิตผลจากสังคมนับจากสังคมโบราณ ผ่านการอยู่ร่วมกันในระบบศักดินา (Feudal Community) มาสู่สังคมเมืองสมัยใหม่ แทบไม่เคยมีมาก่อนที่ความเป็นอิสระนี้จะวางอยู่ตรงกันข้ามกับการอยู่เป็นชุมชนแบบชนบท ด้วยเพราะพื้นที่อันจำกัด ระบบความนึกคิดของคนในเมืองได้สร้างระยะห่างระหว่างบุคคลขึ้นมา และอาจเป็นครั้งแรกๆ ที่ความเป็นอิสระไม่ได้ส่งผลให้อิสรชนพึงใจมากเท่ากับรู้สึกโดดเดี่ยวและเดียวดายแม้อยู่ในท่ามกลางคนทั้งหลาย ยิ่งสังคมเมืองเติบโตหรือพัฒนาไปมากเท่าไหร่ขอบเขตอันไพศาลในโลกของความเป็นปัจเจกก็ยิ่งขยายออกไปมากขึ้นเท่านั้น

เคว้งคว้างในท่ามกลางฝูงชน

สิ่งนี้ดูจะสอดพ้องกับความรู้สึกที่ถูกบรรยายไว้ในนวนิยายเรื่อง Dark Passage (1946) ของเดวิด กูดิส (David Goodis) ในบทตอนหนึ่งที่คนขับรถแท็กซี่สนทนากับตัวละครเอกว่า

“นี่ไอ้น้อง น้องไม่เคยขับแท็กซี่ น้องไม่รู้หรอกว่ามันโดดเดี่ยวมากแค่ไหน”

“จะโดดเดี่ยวได้ยังไง ได้เจอคนตั้งเยอะ”

“เพราะอย่างนี้ไงไอ้น้อง พี่ได้พบเจอคนตั้งมากมาย ได้ขับรถพาพวกเขาไปในหลายที่ พี่ได้เห็นเขาเดินออกไปและเข้าไปในที่พัก พี่รับคนอื่นๆ ขึ้นมาแล้วก็ได้ฟังพวกเขาพูดมาจากเบาะหลัง พี่นั่งตรงนี้เพียงลำพังและก็ยังรู้สึกโดดเดี่ยว”

สิ่งที่น่าสนใจก็คือฉากตอนนี้เกิดขึ้นภายหลังจากตัวเอกแยกตัวออกมา ภายหลังจากได้สนทนากับตัวละครหญิงเกี่ยวกับชีวิตแต่งงานของเธอที่พังพินาศลงไปก่อนหน้านั้น ซึ่งเธอได้อธิบายไว้ว่า

“…ฉันเจอกับเขาเมื่อ 3 ปีก่อน เรารู้จักกันได้เพียง 4 เดือนจากนั้นเราก็แต่งงานกัน เราเองก็เป็นแค่คนโดดเดี่ยวทั้งคู่ และฉันเดาว่านี่เป็นเหตุผลเดียวที่เราแต่งงานกัน

ภาพปกหนังสือ Dark Passage (1946) ของเดวิด กูดิส ฉบับพิมพ์ครั้งแรก

ความรู้สึกโดดเดี่ยวซึ่งถูกอ้างอิงถึงใน Dark Passage (ที่แม้จะตีพิมพ์มาแล้ว 76 ปี) น่าจะเรียงได้ว่าสอดพ้องหรือใกล้เคียงกับความโดดเดี่ยวที่เรารู้จักในโลกปัจจุบัน ซึ่งแน่นอนว่ายังเป็นถ้อยคำที่วรรณกรรมร่วมสมัยจำนวนหนึ่งที่หยิบยกมาใช้บรรยายความรู้สึกของตัวละคร  

เพียงแต่ถ้าเราพิจารณาสถิติของการใช้คำว่า lonely (หรือ Lonely) ในสิ่งพิมพ์นับจากศตวรรษที่ 19 เรื่อยมาจนปัจจุบันจะพบว่ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ไม่ก็ยังมากเท่าช่วงที่เคยถูกใช้สูงสุดในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1900-1920 ในขณะที่คำว่า loneliness (หรือ Loneliness) กลับมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 1990 เรื่อยมา

สถิติการใช้คำว่า lonely และ Lonely จากปี 1800-ต้นปี 2000

สถิติการใช้คำว่า loneliness และ Loneliness จากปี 1800-ต้นปี 2000

ในขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์ในโลกตะวันตกพยายามอธิบายว่า อินเทอร์เน็ต และโซเชียลมีเดียคือสิ่งที่ทำให้มนุษย์รู้สึกแปลกแยกต่อกัน มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันน้อยลง หรือกระทั่งทำลายสายสัมพันธ์ที่มีต่อกัน เช่นที่บ้านเรารู้จักในนามของสังคมก้มหน้า ซึ่งถูกจินตนาการไว้อย่างสุดโต่งนวนิยายวิทยาศาสตร์ Naked Sun (1957) ของไอแซค อาซิมอฟ (Isaac Asimov) ในงานเขียนชุด Robot ที่กล่าวถึง วัฒนธรรมอันแปลกประหลาดของดาว Solaria ที่จำกัดจำนวนประชากร 20,000 คน และแต่ละคนจะต้องอาศัยเพียงลำพัง หรืออย่างมากที่สุดก็เป็นคู่ ซึ่งจะทำการติดต่อผ่านมนุษย์คนอื่นๆ ได้ก็แต่เพียงเครื่องมือสื่อสารเท่านั้น

ภาพจินตนาการของอาซิมอฟถูกนำมาอธิบายปรากฏการณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่ครั้นเมื่อเราได้ทำการศึกษาเจาะลึกลงไปจริงๆ โดยผู้วิจัยจำนวนมากในปัจจุบันที่อินเทอร์เน็ทกลายเป็นสิ่งพื้นฐาน หรือมิได้จำกัดอยู่เฉพาะชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง ผ่านการจัดเก็บข้อมูลที่แม่นยำและเป็นรูปธรรมมากขึ้น กลับพบว่า การใช้เครื่องมือสื่อสารต่างๆ มักเกิดขึ้นระหว่างคนในครอบครัว คนใกล้ชิด หรือบุคคลที่พวกเขารู้จักอยู่ก่อนแล้ว ข้อเท็จจริงนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ที่เข้าใจหรือสามารถใช้สังคมเครือข่ายในการสื่อสารจะมีทักษะในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมมากขึ้นด้วย

จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างทั้งเยาวชนและผู้ใหญ่จำนวน 2,000 คนในประเทศนอร์เวย์เป็นเวลา 3 ปี กลับพบว่าทั้งหมดของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียกลับมีการพบปะกันจริงๆ มากกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้ ซึ่งก็สามารถใช้เป็นข้อสรุปได้ชัดเจนว่า โซเชียลมีเดียทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกันเป็นสังคมได้ดีขึ้นและไม่ได้ลดการพบปะสังสรรค์ลงแต่อย่างใด

เพียงแต่สำหรับคนที่รู้สึกโดดเดี่ยวแปลกแยกนั้นก็มีงานศึกษาในปัจจุบันที่พบว่า อินเทอร์เน็ตและโซเชียลทำให้พวกเขารู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น คล้ายกับที่เดวิด ฟอสเตอร์ วอลเลซ (David Foster Wallace) ได้กล่าวไว้ว่า “คนโดดเดี่ยวมีแนวโน้มที่จะโดดเดี่ยวมากขึ้น เพราะพวกเขาปฏิเสธที่จะแบกรับราคาทางจิตใจของการอยู่ท่ามกลางมนุษย์ทั้งหลาย พวกเขาเป็นภูมิแพ้ผู้คน ผู้คนที่ส่งผลกระทบต่อพวกเขาอย่างรุนแรง”

แต่ถึงกระนั้น ความโดดเดี่ยวนี้ก็ไม่อาจกล่าวโทษว่าเป็นผลจากเทคโนโลยีแต่เพียงอย่างเดียว ถ้าเช่นนั้นผู้อ่านอาจสงสัยว่า ความโดดเดี่ยวนั้นเป็นผลมาจากไหน? จากยีนส์ภายในตัวเราแต่ละคนที่ส่งผลให้เรารู้สึกเข้มข้นมากน้อยแตกต่างกันไป จากการอยู่ในรัฐเผด็จการที่ทำให้เราไม่สามารถไว้ใจใครได้เลยเช่นที่ฮันนาห์ อาเรนท์ (Hannah Arendt) ได้บรรยายไว้ The Origins of Totalitarianism (1951) ใช่ไหม? ถึงตรงนี้ผู้เขียนยังไม่มีคำตอบ แต่หากยังมีเวลาและโอกาส ก็คงจะได้อภิปรายเรื่องนี้กันต่อไป แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้เราคงไม่สามารถตีขลุมไปว่าโซเชียลมีเดียจะทำให้เราแปลกแยกต่อกันยิ่งขึ้นอีกแล้ว เพราะมันอาจจะเพียงเปลี่ยนวิธีเข้าสังคมเป็นรูปแบบอื่นไปเสียมากกว่า

อ้างอิง

Lars Svendsen, A Philosophy of Loneliness, (London: Reaktion Books, 2018)

David Goodis, Five Noir Novels of the 1940s & 50s, (New York: Library of America, 2014)

Tags: , ,