อะไรนะไม่ได้ยิน!?

พูดอีกทีซิ!?

ดังกว่านี้อีก!?

นี่คือเหตุการณ์ปกติเมื่อเราอยู่ในปาร์ตี้ ท่ามกลางเสียงเพลงดังอึกทึกจากดีเจคนโปรด แล้วต้องคุยกับเพื่อนไปด้วย หรือบางทีก็ต้องรับโทรศัพท์แฟนหรือแม่

เราต้องตะโกนแข่งกับเสียงลำโพง

แล้วคุณเคยสังเกตไหมว่าทำไมบางประโยคเราจึงฟังออกแม้จะอยู่ในที่เสียงดัง

คริสโตเฟอร์ โฮลด์กราฟ (Christopher Holdgraf) กับเพื่อนนักประสาทวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ของสหรัฐอเมริกา ได้ศึกษาการทำงานของสมองมนุษย์เมื่อพูดคุยในที่เสียงดัง หรือที่เรียกว่า ‘The Cocktail Effect’ และพบว่าสมองของเราสามารถกรองเสียงที่จะฟังในสภาพแวดล้อมที่เสียงดัง และมีเสียงมากมายรบกวนได้ หากเราเคยได้ยินประโยคนั้นในสภาพแวดล้อมที่เงียบมาก่อน

ทีมนักประสาทวิทยาศาสตร์ได้ทำการทดลองกับผู้ป่วยโรคลมบ้าหมู 7 คน ที่ถูกติดตั้งขั้วไฟฟ้าไว้ที่ผิวสมอง เพื่อศึกษาการทำงานของสมองขณะได้ยินบทสนทนาในที่เสียงดัง

 

การทำงานของสมอง

ลำดับแรกพวกเขาได้ทดลองเปิดบทสนทนาที่มีเสียงรอบข้างรบกวน ซึ่งแทบจะไม่มีใครฟังรู้เรื่อง แล้วหลังจากนั้นจึงเปิดบทสนทนาเดิม แต่คราวนี้ได้ยินชัดเจน และสุดท้ายกลับมาเปิดบทสนทนาในสภาพแวดล้อมที่มีเสียงรบกวนอีกครั้ง ซึ่งพบว่าผู้ป่วยจะกลับไปฟังบทสนทนาในที่เสียงดังเข้าใจ หลังจากได้ยินเวอร์ชันเงียบแล้ว

“หลังจากได้ยินบทสนทนาเดิม แต่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่มีเสียงรอบข้างรบกวน ผู้ป่วยจะสามารถเข้าใจและแยกเสียงบทสนทนานั้นออกมาจากเสียงดังรบกวนรอบๆ ได้”

สิ่งนี้ยืนยันจากขั้วไฟฟ้าที่บันทึกการทำงานของสมอง ซึ่งแสดงให้เห็นการทำงานของสมอง ที่บ่งบอกว่าสมองรับรู้และเข้าใจบทสนทนานั้นแม้จะอยู่ในที่เสียงดัง เพราะนักประสาทวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้เราจะเห็นการทำงานของสมองส่วนนี้น้อยมาก

การทดลองนี้ค้นพบว่า สมองส่วนของการได้ยินเสียงจะเปลี่ยนการทำงาน ที่ทำให้สมองสามารถเข้าใจบทสนทนาในที่ที่มีเสียงรบกวนไปเอง

โฮลด์กราฟเปิดเผยว่า “สมองจะเปลี่ยนวิธีการทำงาน โดยการหันไปพุ่งเป้าที่เสียงอื่นๆ ในสภาพแวดล้อมที่เสียงดัง เมื่อผู้ป่วยได้ยินประโยคที่ชัดเจนแล้วหนึ่งครั้ง สมองส่วนที่ประมวลผลเสียงที่ได้ยินจะเพิ่มการรับรู้ประโยคนั้น”

 

การค้นพบที่จะนำไปสู่การพัฒนาเครื่องช่วยฟัง

การค้นพบว่าสมองสามารถกรองเสียงที่จะทำให้มนุษย์สามารถเข้าใจบทสนทนาในสภาพแวดล้อมที่เสียงดังได้นั้น ทำให้เราเห็นว่าสมองสามารถพัฒนาการทำงาน โดยเฉพาะการประมวลผลเสียงที่ได้ยิน ซึ่งกลไกการทำงานของสมองนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเครื่องช่วยฟัง

โฮลด์กราฟเปิดเผยถึงประโยชน์ของการค้นพบครั้งนี้ว่า “การที่เราเข้าใจว่าสมองสามารถกรองเสียงได้ ทำให้เกิดความหวังว่าเราจะสามารถผลิตอุปกรณ์ที่ช่วยให้คนที่มีอุปสรรคต่อการพูดและการฟัง มีความสามารถในการได้ยินเสียงดีขึ้น”

ด้านศาสตราจารย์ โรเบิร์ต ไนต์ (Robert Knight) บอกว่า “มันไม่น่าเชื่อว่าสมองจะทำงานได้รวดเร็วเพียงนี้ และนี่คือครั้งแรกที่เรามีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าสมองของมนุษย์ทำงานอย่างไร”

ศาสตราจารย์ไนต์และทีมงานตั้งเป้าว่าจะนำการค้นพบนี้ไปพัฒนาอุปกรณ์ช่วยฟังที่ติดตั้งที่สมอง เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบประสาท ซึ่งกระทบต่อความสามารถในการพูด

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai
อ้างอิง:
     – http://www.bbc.com/news/science-environment-38381915
​     – http://www.nature.com/articles/ncomms13654

Tags: , , ,