ก่อนที่ความแปลกแยกและความโดดเดี่ยวจะกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของฮารุกิ มุราคามิ สองสิ่งนี้ถือได้ว่าเป็นหัวใจและเป็นธีมหลักอันทรงพลังในงานเขียนของยาสุชิ อิโนะอุเอะ (Yasushi Inoue) นักประพันธ์ชาวญี่ปุ่นคนสำคัญยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ดังที่ปรากฏชัดในนวนิยายสั้น The Hunting Gun (1961) วรรณกรรมที่นำเสนอภาพของมนุษย์ผู้โดดเดี่ยวไว้อย่างโดดเด่นท้าทาย

The Hunting Gun เป็นเรื่องราวของ ข้าพเจ้า—กวีคนหนึ่ง ที่วันดีคืนดีเพื่อนเก่าสมัยมัธยมได้รบเร้าให้เขียนบทกวีชิ้นหนึ่งให้แก่นิตยสารสำหรับผู้นิยมชมชอบการล่าสัตว์ ทั้งที่ตัวกวีเองก็ไม่ได้มีความสนใจหรือมีความรู้เกี่ยวกับกีฬาล่าสัตว์แม้สักนิด

A large seaman’s pipe in his mouth,

A setter running before him in grass,

The man strode up the early winter path of Mount Amagi,

And frost cracked under boot-sole.

The band with five and twenty bullets,

The leather coat, dark brown,

The double-barrelled Churchill –

What made him cold, armed with white, bright steel,

To take the lives of creatures? (…)

บทกวีดังกล่าวจึงเป็นภาพจากแรงบันดาลใจบวกจินตนาการของตัวกวีเองแทบจะล้วนๆ มันเป็นห้วงขณะที่เขาได้แลเห็นนักล่าและสุนัขดุ่มเดินไปอย่างโดดเดี่ยว โดยมีฉากเป็นภูเขาอามากิ และเวิ้งน้ำที่ก้นบึ้งสะท้อนประกายสีขาววับวาวเย็นเยียบจับใจ หลังจากบทกวีได้รับการตีพิมพ์ออกไปแล้ว ผู้เขียนก็ได้แต่นึกหวั่นหวาดว่าจะมีสมาชิกนิตยสารจดหมายมาต่อว่า เพราะบทกวีดังกล่าวแสดงท่าทีต่อต้านและมีอคติต่อกีฬาล่าสัตว์ทั้งโดยตรงโดยนัย จนเมื่อหลายเดือนผ่านไป ก็ได้มีจดหมายฉบับหนึ่งจ่าหน้าซองถึงกวีผู้นั้น

ยาสุชิ อิโนะอุเวะ นักประพันธ์ชาวญี่ปุ่นคนสำคัญยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

มันไม่ใช่จดหมายด่าทอว่ากล่าว หากแต่เป็นข้อความอันบอกกล่าวว่า นักล่าที่กวีแลเห็นและได้นำไปเป็นต้นแบบของกวีนิพนธ์นั้น ก็คือเจ้าของจดหมายผู้ใช้นามว่า ‘โจสุเกะ มิสุกิ’ โดยทั้งเวลา สถานที่ ยี่ห้อปืนและสุนัขล่าเนื้อ ถือว่ามีรูปพรรณสัณฐานต้องตรงกันอย่างไม่น่าเชื่อ สิ่งที่โจสุเกะไม่ทราบก็คือรายละเอียดทั้งสองอย่างหลังนั้นตัวกวีได้ใช้วิธีค้นคว้าและเลือกสุ่มเอา เพราะกวีไม่มีความรู้ว่าปืนล่าสัตว์หรือแม้แต่สุนัขล่าเนื้อพันธุ์ดีนั้นเป็นอย่างไร กวีจึงปรึกษาเอาจากหนังสือที่ให้ข้อมูลเหล่านี้

แม้จะออกตัวว่าไม่ได้มีความเข้าใจในกวีศาสตร์แต่อย่างใด ทว่าเมื่อโจสุเกะได้อ่านบทกวีในนิตยสารที่รจนาไว้อย่างกับเป็นภาพวาดบุคคลของตนเอง ก็พลันบังเกิดความเชื่อมั่นในโลกทัศน์บางอย่างของกวี และโจสุเกะก็ตั้งใจไว้ว่าจะขอส่งต่อจดหมายอีก 3 ฉบับที่ส่งมาถึงเขา (และอาจเรียกได้ว่าผลักดันให้เขากลายเป็นคนโดดเดี่ยวและหันหลังให้แก่สังคมอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน) ให้แก่กวี

จดหมายทั้ง 3 ฉบับ เขียนขึ้นโดยผู้หญิง 3 คน ฉบับแรกเป็นของ ‘โชโกะ’ เด็กวัยแรกรุ่น บุตรสาวของหญิงที่เป็นชู้รักของเขา เธอเขียนมาขอบคุณสำหรับการเป็นธุระในงานศพของแม่ และต้องขอแจ้งแก่เขาให้ทราบว่า เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างโจสุเกะกับแม่ เธอรู้จนหมดเปลือกแล้ว รู้ได้อย่างไรนะหรือ ก็รู้ได้จากอนุทินของแม่ที่ได้เขียนบอกเล่าไว้อย่างละเอียด อนุทินที่ก่อนสิ้นใจ แม่ขอให้เธอเอาไปเผาทำลาย แต่เธอกลับขโมยมันไปนั่งอ่าน พร้อมด้วยความนึกหวาดหวั่นพรั่นพรึงถึงชะตาชีวิตผิดธรรมดาของทั้งแม่ โจสุเกะ และคุณน้า (ภรรยาของโจสุเกะที่เด็กสาวเคยรักเหมือนแม่แท้ๆ ของเธอ) จดหมายลงท้ายไว้ว่าเธอได้ทำลายอนุทินฉบับนั้นลงไปแล้ว ความลับระหว่างโจสุเกะกับแม่น่าจะตายไปพร้อมกับแม่และอนุทินฉบับนั้น

จดหมายฉบับที่สอง เป็นของ ‘มิโดริ’ ภรรยาโจสุเกะ ผู้เป็นเพื่อนที่สนิทสนมรักใคร่กับหญิงชู้ เธอมีอายุและประสบการณ์ชีวิตน้อยกว่าหญิงชู้ แต่เธอก็ระแคะระคาย หรือล่วงรู้ถึงความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างโจสุเกะกับหญิงชู้มาเนิ่นนานพอสมควรแล้ว และในห้วงเวลาก่อนหน้าที่หญิงชู้จะเสียชีวิตไม่นาน เธอก็ได้เดินเข้าไปบอกหล่อนว่าเธอรู้เรื่องราวระหว่างหล่อนกับสามีตั้งนานแล้ว ก็ชุดกิโมโนสีม่วงที่เธอเห็นนี่ไง ที่เรียกเอาความทรงจำในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อนกลับมา ตอนนั้นเธอยังคงเป็นเด็กสาวผู้ไม่ประสีประสาที่เพิ่งจะย่างเข้าสู่วัยยี่สิบ แต่ต้องมาพบกับเหตุการณ์น่าพรั่นพรึงที่แปรเปลี่ยนชีวิตที่เหลือของเธอไปอย่างสิ้นเชิง จดหมายฉบับนี้มิโดริเขียนด้วยความรู้สึกตื่นเต้นแบบเด็กสาวในตอนต้น แต่ลงท้ายด้วยการขอหย่าและแบ่งทรัพย์สมบัติอย่างไร้เยื่อใย ในจดหมายฉบับนี้เธอยังกล่าวถึงความคิดเกี่ยวกับตัวโจสุเกะที่ว่า นายโจสุเกะนั้นไม่ใช่คนประเภทที่โดดเดี่ยวอะไรหรอก ซึ่งนั่นยิ่งผลักให้เขากลายเป็นคนโดดเดี่ยวยิ่งขึ้นไปอีก

จดหมายฉบับที่สามเป็นของ ‘ไซโกะ’ หญิงชู้ผู้เติมเต็มความรักความปรารถนาด้วยการร่วมเป็น ‘คนบาป’ กับนายโจสุเกะ จดหมายฉบับนี้ฉายให้เห็นอดีตอันเป็นโศกนาฏกรรมของเธอ ชะตากรรมที่เหมือนได้ลิขิตไว้ให้เธอและโจสุเกะต้องกลายมาเป็นชู้กัน ความคิดเกี่ยวกับความรักที่ว่า จะรักหรือถูกรัก การกระทำของเราก็ช่างสมเพช รวมถึงความคิดเกี่ยวความเป็นมนุษย์ที่ว่า ภายในตัวเราแต่ละคนล้วนมี อสรพิษ แฝงอยู่ภายใน อสรพิษที่มีความแตกต่างและทำให้ถึงที่สุดแล้ว เราแต่ละคนไม่มีวันเหมือนกัน

ภาพหน้าปกของ The Hunting Gun ฉบับแปลอังกฤษที่จัดพิมพ์ออกมาล่าสุดโดยสำนักพิมพ์ Pushkin Press มีการนำงูในเรื่องมาเป็นภาพประกอบบนปก

ความโดดเดี่ยวที่ความรักไม่อาจเยียวยา

The Hunting Gun จบลงด้วยการที่เรา—ผู้อ่าน หรือกวี—ผู้เล่าเรื่อง ได้กลายเป็นประจักษ์พยานของความสัมพันธ์อันเร้นลึกของตัวละครทั้งสี่ ความโดดเดี่ยวอันไม่อาจเยียวยาได้แผ่ซ่านครอบคลุมมาถึงเราผู้อ่าน เป็นความรู้สึกที่คล้ายคลึงกับการได้เห็นก้นบึ้งของแม่น้ำที่เป็นประกายวับวามสีขาว

เป็นไปได้หรือไม่ หากจะกล่าวว่า ‘ความโดดเดี่ยว’ ใน The Hunting Gun ยาสุชิ อิโนะอุเอะเป็นสภาวะที่เกิดขึ้นจากปัจจัยภายใน เป็นความแปลกแยกในตัวตนความเป็นมนุษย์ (human alienation) ที่ทำให้ปัจเจกรู้สึกว่าตนเองเป็นคนแปลกหน้า? ยิ่งพวกเขาแสดงหาหนทางในการดำรงอยู่ (how to live) เขาก็ยิ่งสูญเสียความหมายของตัวตน (who I am) และความเป็นตัวเองไปทุกขณะ?

เห็นได้ชัดในกรณีของโจสุเกะ มิสุกิ ซึ่งเป็นตัวละครที่คล้ายจะโดดเดี่ยวที่สุดในตัวละครทั้งหมด ดังที่เขาได้กล่าวไว้ในจดหมายว่า “หลายปีมาแล้ว ผมสนใจในกีฬาล่าสัตว์ แต่ปัจจุบันนี้ ผมกลายเป็นคนโดดเดี่ยวและไม่มีใครอยู่เคียงข้าง ทั้งที่ในห้วงเวลาที่ผ่านมานั้น ผมประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งในแวดวงสังคมและชีวิตส่วนตัว และปืนล่าสัตว์ที่ผมสะพายไว้บนบ่านั้นก็เป็นเสมือนสิ่งซึ่งผมไม่สามารถขาดมันได้” 

คำถามที่น่าสนใจก็คือความโดดเดี่ยวของโจสุเกะ มิสุงิเกิดขึ้นจากอะไร? ในเมื่อเขาน่าจะเป็นบุคคลหนึ่งที่มีความสุขความพึงใจกับชีวิตได้ไม่ยาก จากทั้งหน้าที่การงาน ครอบครัว และการเป็นที่นับหน้าถือตาในสังคม

คำตอบของคำถามนี้เหมือนจะอยู่ในกรอบความคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ไซโกะเป็นผู้อธิบาย โดยเราจะเห็นได้ว่า ‘อสรพิษ’ ของไซโกะนั้นใกล้เคียงกับแนวคิดเรื่อง self หรือ ‘ตัวตน’ ทางปรัชญาที่เราแต่ละคนมี และด้วย ‘ตัวตน’ ชนิดนี้เองที่ทำให้หลายครั้ง คนที่มีความรัก มีครอบครัว หน้าที่การงานและความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ รายรอบรู้สึกได้ถึงความเกี่ยวโยงแนบชิดกับ ‘ตัวตน’ อื่นๆ บนโลก

แต่ทว่าในบางครั้ง ความเกี่ยวโยงแนบชิดชนิดนี้ก็เป็นสิ่งที่เรากลับเข้าถึงไม่ได้ หรือหากรู้สึกได้ก็จะเป็นไปในทางตรงกันข้าม หรือเป็นสิ่งที่นักเขียนชาวอเมริกันโธมัส วูลฟ์ (Thomas Wolfe) เรียกว่าเป็น “การเดินไปบนถนนชีวิตเพียงลำพัง”

ความตายอันโดดเดี่ยว

เช่นเดียวกัน ความรู้สึกไม่ข้องเกี่ยว สภาวะผ่านพบไม่ผูกพันเช่นว่านี้ สามารถทำให้บุคคล หรือปัจเจกบุคคลทั้งหลายรู้สึก ‘แปลกแยก’ ต่อบทบาท สถานะ และแม้แต่ ‘ตัวตน’ ของเขาเอง ที่เป็นไปได้อย่างยิ่งว่า ความรู้สึกถึงความเปล่าดายไร้ความหมายนี้ปรากฏอยู่ภายในตัวละครโจสุเกะ มิสุกิ ตั้งแต่ก่อนหน้าโศกนาฏกรรมทั้งหมดจะเกิดขึ้นมาด้วยซ้ำไป

ความรู้สึกที่ต้องการจะตัดขาดจากโลก หรือไม่ต้องการจะมีส่วนข้องแวะกับชีวิตอื่นๆ ได้สะท้อนให้เห็นในเรื่องสั้นอีกชิ้นของยาสุชิ อิโนะอุเอะที่ชื่อ Obasute ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของหญิงชราคนหนึ่ง (มารดาของ ‘ข้าพเจ้า’ ผู้เล่าเรื่อง) ที่ต้องการไปใช้ชีวิตเพียงลำพังบนภูเขา โดยเรื่องสั้นชิ้นนี้ได้ผูกโยงความปรารถนาที่จะถูกทอดทิ้งเข้ากับตำนาน Obasute หรือ Ubasute ที่บอกเล่าถึงยุคสมัยหนึ่ง ซึ่งทางการกำหนดให้ลูกหลานต้องอุ้มพ่อแม่ผู้แก่ชราขึ้นบ่าไปทิ้งให้ตายบนภูเขา เพื่อลดจำนวนประชากรที่ไร้ประโยชน์

ภาพพิมพ์ที่แสดงพิธี Obasute

เรื่องสั้นดังกล่าวพูดถึงสังคมในยุคหลังสงคราม และความโดดเดี่ยวของมนุษย์ที่ความรักความผูกพันในครอบครัวไม่อาจเยียวยาแก้ไข จะเห็นได้ว่า ‘ความโดดเดี่ยว’ ในเรื่องสั้นนี้อาจไม่ใช่ความเลวร้าย หรือสิ่งที่มนุษย์เราต้องหวาดกลัว ความปรารถนาของหญิงชราอาจหมายถึงความเข้าใจถึงสภาวะที่แท้จริงของการดำรงอยู่ตามแนวคิดแบบตะวันออก หรือไม่ก็เป็นตะวันออกมากๆ ในสายตาของชาวตะวันตก

เพราะเมื่อเราสืบย้อนกลับไปยังความคิดของกรีกโบราณ คนถือเป็นสัตว์สังคมโดยรากฐาน คนที่ต่อต้านสังคมหรือการอยู่ร่วมกันกับมนุษย์ผู้อื่นนั้นจะไม่นับว่าเป็นคนเต็มขั้น เหมือนดังที่อริสโตเติลได้อธิบายเกี่ยวกับ ‘idiotes’ หรือ บุคคลที่ไม่มีส่วนข้องเกี่ยวทางการเมืองเอาไว้ ซึ่งแน่นอนศัพท์ดังกล่าวได้กลายมาเป็นรากศัพท์ของคำว่า idiot ในปัจจุบัน

แต่หากพิจารณาเฉพาะความหมายของคำว่า ความแปลกแยก (alienation) ก็จะพบว่าเมื่อแรกเริ่มนั้นถูกใช้ทั้งในความหมายที่เป็นบวกและลบ

ในทางที่เป็นบวกถูกใช้ในบริบททางอภิปรัชญา อันหมายความถึงสภาวะที่ดำรงอยู่เหนือความคิด ความปีติยินดี หรือเหนือกว่าสิ่งที่ดำรงอยู่อื่นๆ บนโลก ซึ่งผู้ที่ใช้คำว่าความแปลกแยก หรือ alloiosis คือโพลตินุส (Plotinus) นักปรัชญาชาวกรีกผู้มีชีวิตอยู่ในช่วงปีค.ศ. 204-270

ในขณะความหมายในด้านลบของมัน เกี่ยวโยงกับแนวคิดทางด้านศาสนา นั่นคือการตัดขาดจากพระเจ้าและความศรัทธา เช่นในพระคัมภีร์ภาคพันธสัญญาใหม่ก็มีการใช้คำว่า apallotrioomai ในภาษากรีกที่แปลว่า “แปลกแยกจาก” หรืออย่างตำนานเกี่ยวกับการกำเนิดมนุษย์ที่แบ่งออกเป็นยุคต่างๆ นั้นก็มีการกล่าวถึงการตกจากสรวงสวรรค์ของมนุษย์ที่ทำให้มนุษย์แปลกแยกจากพระเจ้า หรือพระผู้สร้าง ในขณะที่สังคมโรมันในยุคโบราณ ความแปลกแยกนั้นมีความเกี่ยวโยงกับสถานะทางกฎหมายและการเมือง เช่นคำว่า alienato หมายถึงทรัพย์สินที่ต้องโอนถ่ายให้แก่ผู้อื่น

อย่างคำละติน alienus นั้นก็สามารถแปลทั้งเป็นของที่อื่น หรือบุคคลอื่น ชาวโรมันในสมัยโบราณใช้คำนี้เรียกทาสของผู้อื่นว่า alienus ขณะที่แพทย์ชาวกรีก-โรมันใช้คำเดียวกันนี้ในความหมายของสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามารบกวน หรือคุกคามร่างกาย เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ หรือเป็นสภาวะขาดสมดุล เหมือนอาการเจ็บป่วยที่ Asclepiades เรียกว่า ‘alienatio mentis’

จนล่วงเลยมาถึงศตวรรษที่ 17 แนวคิดที่ว่าคนทุกคนมี ‘อำนาจในการปกครองของตัวเอง’ (sovereign authority) เพียงแต่เขาต้องยอมให้สิทธิโดยธรรมชาตินั้นถูกรุกล้ำเพื่อประโยชน์สุขส่วนรวม และนั่นก็นำไปสู่การกำเนิดของทฤษฎีสัญญาประชาคมของฌ็อง-ฌาคส์ รุสโซ หรือสิทธิอำนาจที่รุกล้ำได้และไม่ได้ทางกฎหมายของนักปรัชญาชาวสกอตแลนด์ ฟรานซิส ฮัทชิสัน (Francis Hatcheson) นั่นเอง

 

อ้างอิง

Yasushi Inoue, The Counterfeiter and Other Stories, (Hong Kong: Tuttle Publishing, 2000).

Fact Box

ในกรอบความคิดแบบมาร์กซิสต์ ความแปลกแยก หรือ Entfremdung (estrangement) นี้เกิดขึ้นจากหมวดการผลิตแบบทุนนิยมที่กรรมาชีพหรือคนงานสูญเสียอำนาจในการกำหนดหรือนิยามชีวิตของตนเอง

Tags: , , , , , ,