“ชีวิตของคนคือนวนิยาย ซึ่งพระเจ้ากับภูตผีผลัดกันเขียน”

วิตต์ สุทธเสถียร

สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้พล่าผลาญชีวิตไปมากมาย โลกอุดมคติถูกทำลาย ความเป็นเหตุผลกลับกลายเป็นเครื่องมือให้เราสามารถประหัตประหารกันอย่างเลือดเย็นและทรงประสิทธิผลยิ่งขึ้น

ในห้วงแห่งหายนะนี้เอง โลกแห่งอักษรได้ก่อกำเนิดผลงานประพันธ์สำคัญจำนวนหนึ่งขึ้นมาในท่ามกลางซากปรักหักพังของอารยธรรมตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นนวนิยายเสียดสีการเมืองสุดแสบสันต์ Animal Farm (1945) ของจอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) มหากาพย์แห่งยุโรปกลาง The Bridge on the Drina (1945) ของอิโว อันดริค (Ivo Andric) นักเขียนเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1961 หรือ The Death of Virgil (1945) ของแฮร์มันน์ บรอค (Hermann Broch) นักเขียนชาวออสเตรียอพยพผู้ใช้เวลาส่วนหนึ่งเขียนในเรือนจำ ต่างก็นับว่าเป็นผลิตผลเรื่องยิ่งใหญ่ที่ตีพิมพ์ในห้วงแห่งการสิ้นสุดของมหาสงคราม

ขณะที่สังคมไทยภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ก่อกำเนิดคำเรียก ‘คนยุคปรมาณู’ ขึ้นมา ด้วยเพราะคนหนุ่มสาวในห้วงเวลานี้มีความนึกคิดและค่านิยมที่ผิดแผกแตกต่างไปจากยุคก่อนหน้าอย่างมากมาย ดังที่นักเขียนหญิงแห่งยุคปรมาณู ‘ร. จันทพิมพะ’ ได้รจนาไว้ในงานเขียนหลายๆ ชิ้นของเธอ

ผู้หญิงที่พึ่งพาตัวเองได้ (independent woman) ถือเป็นแม่แบบและพิมพ์นิยมของตัวละครจำนวนมากในห้วงเวลานี้ นอกเหนือจากการเลี้ยงตัวเองแล้ว การเป็นอิสระจากถูกครอบครองโดยชายคนหนึ่งคนใดก็ได้กลายมาเป็นประเด็นสำคัญที่งานเขียนจำนวนมากหยิบมากล่าวถึง

ไม่ใช่เพียงแต่ในงานของนักเขียนหญิง ฝ่ายนักเขียนชายก็ได้รังสรรค์ความสัมพันธ์ทำนองนั้น ความรักในยุคปรมาณูคือความรักแบบมาเร็วไปเร็ว แต่งง่ายก็เลิกง่าย ซึ่งผลงานที่ฉายภาพความสัมพันธ์ในยุคดังกล่าวได้ดีจนไม่หวั่นหวาดว่าจะชนกำแพงศีลธรรมก็มี วิญญาณเปลือย ของ ‘วิตต์ สุทธเสถียร’ ชิ้นหนึ่งที่โดดเด่นออกมา โดยให้บังเอิญว่า เป็นนวนิยายที่ได้พูดถึงความเดียวดายของชีวิตไว้อย่างน่าสนใจด้วยเช่นกัน และนี่ก็จะเป็นประเด็นที่เราจะได้พูดคุยกันต่อไป ภายหลังจากแนะนำตัวผู้เขียนแล้ว

วิตต์ สุทธเสถียร นักเขียน-นักหนังสือพิมพ์หนุ่มที่นอกจากตัวเขาจะก้าวล้ำในเรื่องการเขียนแล้ว แฟชั่นการแต่งกายก็นับว่าเป็นผู้นำสมัยเช่นเดียวกัน

ปากกาสวิง

วิตต์ สุทธเสถียร เป็นบุตรชายของพระยาเมธาธิบดี (สาตร์ สุทธเสถียร) นักเขียน-นักแปลคนสำคัญผู้แปล นิทานอีสป และ บรมเดชานุภาพแห่งยุติธรรม ของอนาโตล ฟร็องซ์ (Anatole France) กับคุณหญิงเมธาธิบดี วิตต์เริ่มต้นเข้าสู่วงการหนังสือในฐานะนักข่าวฝึกหัดและนักวาดการ์ตูนตั้งแต่มีอายุเพียง 15 ปี โดยมีนามปากกาว่า วิตตมิน

วิตต์เป็นหนึ่งในนักเขียนไทยเพียงไม่กี่คนที่มีโอกาสเดินทางไปศึกษาต่อวิชาหนังสือพิมพ์โดยตรงที่มหาวิทยาลัย ซานโตโทมัส (UST) ประเทศฟิลิปปินส์ ที่ในเวลานั้นถือว่ามีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมต่างๆ อย่างมาก

กรุงมะนิลามีธุรกิจการพิมพ์ที่รุ่งเรืองถึงขนาดมีเครื่องไลโนไทป์ (Linotype) แทนการเรียงพิมพ์แบบเดิม การขนส่งคมนาคมมีแท็กซี่มิเตอร์สีเหลืองบริการ ชีวิตยามค่ำคืนก็เต็มไปด้วยโรงหนัง โรงละคร ราตรีสโมสร และสถานบันเทิงต่างๆ ที่ทำให้ท้องถนนสุกสว่างไปด้วยป้ายไฟนีออนขด

น่าเสียดายว่า มหาสงครามได้ทำให้วิตต์ต้องเดินทางกลับกรุงเทพฯ ก่อนจบการศึกษาเพียงปีเดียว แต่ถึงกระนั้นการกลับมาของวิตต์ก็ได้เพิ่มเติมสีสันให้กับประวัติศาสตร์วรรณกรรมไทยด้วยการที่เขาได้เข้าร่วมทำงานกับคณะหนังสือพิมพ์สุภาพบุรุษ-ประชามิตร ที่มีกุหลาบ สายประดิษฐ์ (ศรีบูรพา) และมาลัย ชูพินิจเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง และภายหลังจากนั้นก็ได้กลายเป็นบรรณาธิการ ชาติไทย-วันอาทิตย์ ที่ทั้งเนื้อหาและรูปเล่มมีความสวยงามนำสมัย

ในตอนที่เขายังประจำอยู่ในกองบรรณาธิการข่าว สุภาพบุรุษ-ประชามิตร วิตต์รับผิดชอบดูแลข่าวต่างประเทศและข่าวสังคม ที่ทำให้เขาได้ทดลองใช้ภาษาแบบโทรเลขที่รวบรัดประหยัดคำ ซึ่งเมื่อเขาได้เขียน ตระเวนมนิลา ออกมาก็ได้สร้างความแปลกใหม่ให้แก่วงการสิ่งพิมพ์ จนได้ชื่อว่าเป็นผู้คิดค้น ‘ภาษาสะวิง’ ด้วยข้อเขียนของวิตต์มีถ้อยคำกระชับ มีการคิดประโยคแบบใหม่ในการบรรยาย ตัดฉากสลับไปมาอย่างรวดเร็ว ทั้งยังสอดแทรกฉากอีโรติกลงไปในเรื่องจนกลายเป็นที่ฮือฮาในหมู่ผู้อ่าน จนได้รับการยกย่องจากนายตำรา ณ เมืองใต้ให้เป็น ‘นักเขียนสวิงคนแรกในเมืองไทย’

ปกหนังสือ ตระเวนมนิลา ของวิตต์ สุทธเสถียร ที่ส่งให้เขากลายเป็น ‘นักเขียนสวิงคนแรก’

ตัวอย่างของภาษาสวิงที่ปรากฏใน ตระเวนมนิลา ท่อนที่คนจดจำได้ก็เช่น “โรสหยุดกึกลง จากความอ่อนโยนของ ‘บลู แดนูบ ว้อลส์’  ร่างน้อยของหล่อนเริ่มไหว–ขาคู่โยกย้ายท่วงทีระรัวขึ้นตามจังหวะของ ‘บลู แดนูบ อิน สวิง’ หากว่าโจฮาน สเตร๊าซ์ สามารถลุกจากหลุมมานั่งฟังในยามนี้แล้ว ก็เชื่อว่าคงจะจำเพลงที่ตัวเองแต่งไม่ได้เลย เนื่องจากทรัมเป็ตผะแผดเสียงสูงเล่นสร้อยบทเกินของเก่า–ทรอมโบนยั่วด้วยเสียงยานคาง–กีตาร์ตอดพร่าๆ ซึ่งมิใช่จังหวะ 3–คนกลองนั้นระรัวไม้เสียรวดเร็วอย่างที่เขาเคี้ยวชูอิงกัมอยู่–และเปียโนนั้นถูกกระแทกกระทั้น จนไฟแทบจะลุกบนคีย์งา”  หรือวิธีบรรยายถึงการผันผ่านไปอย่างรวดเร็วของเวลาวิตต์ก็ใช้ภาพเปรียบเปรยของการทะยานไปเช่น “เวลากระโจนไปตามส่วนโค้งของโลกเหมือนติดปีก…” ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องแปลกใหม่อย่างมาก

หนังสือส่วนตัว

ด้วยความที่วิตต์เป็นนักทดลองกับรูปแบบการเขียน ดังนั้นจาก ตระเวนมนิลา ที่เป็นนวนิยายกึ่งสารคดี วิญญาณเปลือย ก็ถูกเขียนโดยใช้รูปแบบอนุทิน (Diary) ของหญิงสาวที่เปิดเปลือยชีวิตของเธออย่างหมดเปลือก วิตต์เคยกล่าวไว้ว่า การเล่าเรื่องผ่านสายตาของสตรีนี้ได้อิทธิพลมาจาก หญิงคนชั่ว ของ ก. สุรางคนางค์

นวนิยายเรื่อง วิญญาณเปลือย เป็นผลงานที่วิตต์รักมากเท่าๆ กับ ตระเวนมนิลา ซึ่งถ้าใครได้อ่านก็จะพบว่า วิญญาณเปลือย มีประเด็นที่ก้าวล้ำนำสมัย และเป็นแง่มุมที่นักสตรีนิยม (Feminist) น่าจะสนใจศึกษาอย่างมาก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของสิทธิในการทำแท้ง (abortion) ที่วิตต์ก็ได้เขียนถึงไว้อย่างห้าวหาญ

วิญญาณเปลือย เป็นเรื่องราวที่อยู่ในบันทึกของกรรณิการ์ บุสราคำ นักหนังสือพิมพ์สาวหัวสมัยใหม่ที่ชอบแต่งตัวกระทั่งยอมอดอาหารให้มีเสื้อผ้าสวยงามใส่ ดังที่เธอได้เขียนเอาไว้หลังจากมีชายหนุ่มทักว่า “‘อุแม่เจ้า! คุณผอมอะไรอย่างนั้น!’ เขาทักดังนี้ เราไม่รู้ตัวว่าผอม แต่ก็คงเป็นอย่างเขาว่า อาทิตย์ละสิบห้าบาท–ต้องแต่งตัวให้เป็นผู้ดีย่อมจะไม่เหลือไว้เป็นค่าอาหารเท่าไหร่หรอก” และจากเหตุการณ์เดียวกันนี้เองที่ทำให้เราได้เห็นว่า กรรณิการ์ไม่ใช่ผู้หญิงธรรมดาเช่นนางเอกพิมพ์นิยมที่เราคุ้นเคยโดยทั่วไปเมื่อฝ่ายชายเอ่ยปากชวนเธอว่า “‘มากินข้าวกับผมสักคืนเถอะน่ะ คุณกรรณิการ์’ เขาชวนคล้ายกับจะรู้ความคิดของเรา ความจริงไม่อยากไป คราวก่อนก็ทะเลาะกันครั้งหนึ่งแล้ว แต่เมื่อมือแกว่งไปถูกรอยชุนข้างสะโพกเข้า รู้สึกว่าได้ทุ่นค่าอาหารฟรีไปมื้อหนึ่ง เห็นจะพอสำหรับผ้าสองเมตร จึงตอบว่า ‘ค่ะ’”

กรรณิการ์คงจะเป็นผู้หญิงที่ร้ายในสายตาของคนที่คาดหวังจะอ่านความคิดแบบนางเอก แต่ก็เป็นดังที่เธอได้บอกเตือนเราผู้อ่านตั้งแต่แรกแล้วว่า “สมุดบันทึก–มิใช่สมุดเล่มน่าเอ็นดู ผูกด้วยริบบิ้น อันภายในบรรจุด้วยข้อความสวยสดงดงามแลอุดมคติ สมุดบันทึกของเราเป็นสถานที่ระบายความรู้สึกนึกคิดต่อตัวของเราเอง และต่อผู้อื่น ฉะนั้นมันจึงไม่ใช่ (และต้องไม่ใช่) สำหรับบุรุษที่สองอ่าน แม้กระทั่งผัวของเราเอง–หากมี–ล่วงรู้วิญญาณอันแท้จริงของเราแม้แต่น้อย ความสัตย์จริงจะเป็นที่ยอมรับได้ก็แต่เมื่อผู้อื่นไม่รู้ ฉะนั้น อันใดที่เราบันทึกลงในสมุดเล่มนี้ จึงเป็นความจริงที่แก้ผ้าออกอย่างไม่อับอาย–หาใช่ความจริงที่ตบแต่งปลิ้นปล้อนตอแหลไม่”

กรรณิการ์คบหากับผู้ชายหลายคนก่อนหน้าที่เธอจะตัดสินใจหาใครสักคนมาอุปการะผ่านสถาบันสมรส โดยมากก็จะเป็นคนในแวดวงเดียวกับเธอ เช่นอนุชิตที่เป็นนักวิจารณ์ที่มักจะได้หนังสือ ตั๋วหนัง ตั๋วละครฟรีๆ มาให้เสมอ แต่ที่ไปไม่รอดไม่ใช่เพราะอนุชิตคบหาหลายคนเหมือนกันกับเธอ แต่เพราะเขาเป็นคนที่เขียมเหลือเกิน กรรณิการ์ได้สละพื้นที่หลายหน้าในอนุทินเพื่อวิจารณ์ความราคาถูกของวิชาชีพหนังสือพิมพ์ที่ “ตอบแทนแรงงานและพลังสมองถูกที่สุดในโลก” และเพราะเช่นนี้ เธอจึงตกลงใจจะแต่งกับวิทยา ผู้ที่กำลังจะได้มรดกจากลุง ซึ่งก็จะทำให้เธอสามารถกลายเป็นสุภาพสตรีที่ไม่ต้องหาเลี้ยงตัวเองอีกต่อไป กรรณิการ์ลาออกจากงานเพื่อเตรียมพร้อมเป็นเจ้าสาว

แต่โชคร้ายที่วิทยามาประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตเสียก่อน ความฝันของกรรณิการ์จึงพังทลายจนทำให้เธอตัดสินใจฆ่าตัวตาย แต่รอดมาได้ แต่นั่นยังไม่ร้ายพอ เพราะเจตนีเพื่อนสนิทได้มาสารภาพว่า วิทยาตายไปเพราะกำลังจะข้ามถนนไปหลับนอนกับเธอ ดังนั้นเขาจึงไม่มีค่าพอให้ฆ่าตัวตายตามไป

จากความแออัดคับคั่งในวงการหนังสือพิมพ์ กรรณิการ์ยังหางานทำไม่ได้ จนวันหนึ่ง ริน ชายหนุ่มผู้เป็นญาติห่างๆ ของวิทยาได้มาพบและตกหลุมรักเธอ กรรณิการ์จึงได้ใช้นามสกุลและทรัพย์สินของเขาในเวลาต่อมา

ชีวิตในแวดวงคนชั้นสูงทำให้กรรณิการ์ได้เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ได้พบกับปะกับผู้คนมากมาย ได้เห็นชีวิตที่เต็มไปด้วยแสงสีและความวูบไหวของความปรารถนา แต่จุดเปลี่ยนแปลงสำคัญในชีวิตก็มาถึง เมื่อกรรณิการ์ทราบว่าตัวเองกำลังตั้งครรภ์ เธอขอให้หมอที่ดูแลช่วยเอาเด็กออก จ่ายเท่าไหร่เท่ากัน หมอสวนเธอกลับไปว่า “รู้หรือเปล่า ว่านั่นเป็นการฆ่าคน-ฆ่าเด็กเล็กเล็กๆ ซึ่งได้ฟักเป็นตัวเป็นตนแล้ว” ภายหลังจากที่เธอตะโกนใส่หน้าหมอซ้ำๆ ว่า “ฉันไม่ต้องการมีลูก”

เธอให้คนใช้พาไปหาหมอตำแยรีดลูก แต่ด้วยเพราะความสกปรก ความสลดหดหู่ของสถานที่ทำให้เธอไม่ได้กลับไปหาตามนัด แม้ตัดสินใจจะเก็บเด็กไว้ตามความต้องการของริน แต่กรรณิการ์สูญเสียลูกไปจากอุบัติเหตุรถชน เธอปลอดภัยแต่เด็กไม่รอด

ชีวิตสมรสของกรรณิการ์กับรินหลังจากนี้เต็มไปด้วยชืดชาหน่ายแหนง กรรณิการ์ยังคงไปออกงานสังคมและเริ่มมีสัมพันธ์ลงลึกกับนักกฎหมายหนุ่มนามว่า นิวัต ที่พาเธอท่องเที่ยวไปทั้งไซง่อนและมะนิลา จนเธอคิดว่าจะหย่าขาดกับรินเพื่อแต่งงานกับนิวัตให้จงได้ เพียงแต่รักระหว่างนิวัตกับกรรณิการ์ต้องมาจบลงด้วยเพราะ การเผลอใจไปมีชั่วขณะอัศจรรย์กับชิเนนทร์ ชายหนุ่มอีกคนที่เธอเพิ่งรู้จักเพียงไม่นานที่มะนิลา

ภายหลังจากกลับมาไทย รินได้ขอให้กรรณิการ์หยุด ‘ความไวไฟ’ เพื่อกลับมาเป็นเมียของเขาอีกครั้ง แต่โชคร้ายของกรรณิการ์ไม่จบลงเพียงเท่านี้ หมอตรวจพบว่าเธอเป็นเนื้องอกในมดลูก (โรคเดียวกับที่ฆ่าเจตนี) เธอจึงตัดสินใจฆ่าตัวตายก่อนที่โรคร้ายจะลุกลาม บันทึกหน้าสุดท้ายของเธอเขียนไว้ว่า “…มองกระจกจะแต่งผมเห็นมฤตยูกำลังยืนยิ้มอยู่ข้างหลังคล้ายจะพูดว่า ‘อะไร๊! นี่พยายามสวยเพื่อฉันรึ?’ คิดดูก็น่าขัน ว่านี่เป็นครั้งสุดท้ายที่จะได้เขียนต่อไปในหนังสือเล่มนี้ เพราะอีกไม่นานเราก็จะไปแล้ว จากไปแสนไกลจนไม่มีใครจำได้ว่ามีผู้หญิงคนหนึ่งชื่อ กรรณิการ์ บุสราคำ อยู่ในโลก ร่างกายก็สูญหายไปพร้อมกับชีวิต เราคิดว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะไม่พลาดเช่นเดียวกับการที่เคยพลั้งนานาประการมาในชีวิต เราต้องลอบหายไปจากโลก ไม่ใช่ถูกฉุดกลับมาอีก (…)”

ชีวิตไร้ค่าถ้ารักจากไป

สิ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือความคิดของกรรณิการ์ในตอนหนึ่งที่กล่าวถึงความเป็นไปของกรุงเทพฯ มหานครว่า “บันทึกจ๋า พระนครนี้ช่างหงอยเหงาเสียจริงนะ บางทีเราเดินทะลุตรอกโน้นออกตรอกนี้ทั่วหนแห่งโดยไม่พบหน้าค่าตาของความเป็นมิตร ตึกแถวผ่านไปเหมือนกำแพงอันเป็นที่อาศัยของคนแปลกหน้า ร้านขายของจ้องเราแข็งกระด้างเหมือนจะถามว่า ‘แกมีเงินไหม?’ ถ้าไม่–เราไม่อยากรู้จัก!’ ตกกลางคืน–พระนครผยองเดชคล้ายจะแข่งรัศมีกับดวงดาว ใครๆ มักเล่าถึงความเงียบของชนบท แต่เราเห็นว่าพระนครนี่แหละเงียบเหงาอย่างที่สุด ที่บ้านนอกเรามีต้นไม้เป็นเพื่อน–ทุกสุมทุมพุ่มพวงปราศรัย–ทุกกระเบียดนิ้วของแผ่นดินต้อนรับด้วยคำ ‘อรุณสวัสดิ์’ และดวงอาทิตย์แจ่มจรัสตลอดวัน…”

มหานครที่กรรณิการ์พรรณนาดูจะสอดคล้องกับสิ่งที่เกออร์ก ซิมเมล (Georg Simmel) ได้กล่าวไว้ใน The Metropolis and Mental Life (1903) ไว้ว่า “ไม่มีที่ใดที่เราจะรู้สึกโดดเดี่ยวและเคว้งคว้างมากเท่าการอยู่ในท่ามกลางฝูงชนแห่งมหานครอีกแล้ว” เพียงแต่ความเหงานี้เหมือนจะถูกขจัดไปภายหลังจากที่วิทยาขอกรรณิการ์แต่งงาน

สำหรับกรรณิการ์แล้ว ความรักได้กำหนดหรือสร้างนิยามใหม่ให้ชีวิต เหมือน ‘กรอบทองแห่งชีวิต’ ความตายของวิทยา (ที่ตายเพราะกำลังจะไปหาชู้รัก) จึงเป็นจุดหักเหสำคัญในชีวิตที่ทำให้เธอเลิกเชื่อในความรัก และไม่สามารถรู้สึกรักใครได้อีก ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับริน นิวัต หรือผู้ชายทั้งหลายที่ผ่านเข้ามาในชีวิตไม่อาจนับว่าเป็นความรักได้อีกต่อไป จึงไม่แปลกที่ตลอดเวลา เราจะรู้สึกได้ว่ากรรณิการ์ยังคงรู้สึกโดดเดี่ยวแม้จะไม่เคยอยู่เพียงลำพัง

เมื่อความรักยุติความเดียวดายไม่ได้ ความตายจึงเข้ามาทำหน้าที่แทน การจัดทรงผมหรือแต่งตัวหน้ากระจกในวาระสุดท้ายจึงเปรียบเหมือนการสมรสกับความตาย ซึ่งเธอไม่หวั่นหวาดหรือสะทกสะท้าน ถึงขนาดที่เธอกล่าวว่า “เรามีความยินดีที่จะพบพระเจ้าอย่างเหลือเกิน”

 

อ้างอิง

ภาษาอังกฤษ

Georg Simmel, The Sociology of Georg Simmel, (New York: Free Press, 1965)

ภาษาไทย

-วิตต์ สุทธเสถียร, ตลุยตวันออกและวิญญาณเปลือย, (กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์, 2492)

-อนุสรณ์งานเมรุ วิตต์ สุทธเสถียร, กัมปนาท พลางกูร บรรณาธิการ (กรุงเทพฯ: 2533)

Tags: , , , ,