นักเทววิทยาชาวเยอรมัน พอล ทิลลิช (Paul Tillich) ถือเป็นหนึ่งในผู้ที่พยายามจะจำแนกความแตกต่างระหว่างความโดดเดี่ยว (Loneliness) และความสันโดษ (Solitude) ออกจากกัน คำกล่าวของเขาที่ว่า “ความโดดเดี่ยวนั้นคือการแสดงออกถึงความเจ็บปวดของการดำรงอยู่ และความสันโดษนั้นคือการแสดงออกถึงชัยชนะของการอยู่เพียงลำพัง” สอดพ้องกับแนวคิดของฮันนาห์ อาเรนท์ (Hannah Arendt) นักทฤษฎีการเมืองคนสำคัญของศตวรรษที่ 20

อาเรนท์กล่าวไว้ในตอนท้ายของงานเล่มสำคัญ The Origins of Totalitarianism ว่า “สิ่งที่ทำให้ความโดดเดี่ยวเป็นสิ่งที่เรายากจะรับได้ก็คือการสูญเสียตัวตนของเราไป ซึ่งสามารถตระหนักได้ยามที่เราอยู่เพียงลำพัง…” อย่างไรก็ตามความโดดเดี่ยวของอาเรนท์นั้นไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่ด้วยตัวเอง แต่เป็นสิ่งที่รัฐแบบเผด็จการสร้างขึ้น ภายหลังจากทำลายชีวิตทางการเมืองและชีวิตส่วนตัวของประชาชนที่ไร้พลัง  จนต้องจมอยู่กับความเปลี่ยวดายและไม่รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันกับโลกใบนี้

ฮันนาห์ อาเรนท์ (Hannah Arendt) นักทฤษฎีการเมืองคนสำคัญของศตวรรษที่ 20

ก่อนหน้าทิลลิชและอาเรนท์เกือบ 2 ศตวรรษ ก็ยังมีนักคิดชาวสวิสที่มีชื่อว่า โยฮันน์ เกออร์ก ซิมเมอร์มันน์ (Johann Georg Zimmermann) ผู้เขียน Solitude (1784-1785) หนังสือความยาวกว่า 1600 หน้าที่พยายามวิเคราะห์ลงไปในความสันโดษ

โยฮันน์ เกออร์ก ซิมเมอร์มันน์ (Johann Georg Zimmermann) นักปรัชญาชาวสวิตเซอร์แลนด์

ซิมเมอร์มันน์ได้ลากเส้นแบ่งระหว่างด้านบวกและลบในการใช้ชีวิตเพียงลำพัง ซึ่งเขาเล็งเห็นว่า ความโดดเดี่ยวในทางลบนั้นจะทำให้ผู้โดดเดี่ยวเกลียดชังสังคม มนุษย์ เบื่อหน่าย เกียจคร้าน ในขณะที่การถือสันโดษหรือความโดดเดี่ยวในเชิงบวกนั้นทำให้เราเป็นอิสระ สามารถพึ่งพาตัวเองได้ และในเวลาเดียวกันก็สามารถเข้าใจหรือสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้

ความสันโดษของซิมเมอร์มันน์คล้ายคลึงกับความคิดของอาเธอร์ โชเพนเฮาเออร์ (Arthur Schopenhauer) นักปรัชญาชาวเยอรมันในศตวรรษถัดมาที่ได้กล่าวไว้ว่า “การที่คนเราจะสามารถเป็นตัวเองได้อย่างแท้จริงก็คือการที่เราต้องเป็นอิสระจากคนอื่น” ซึ่งความคิดนี้ต้องเรียกว่าสามารถสืบย้อนกลับไปได้ถึงสมัยเอเธนยุครุ่งเรืองเลยทีเดียว

ความโดดเดี่ยวในเชิงบวก

อริสโตเติล (Aristotle) เป็นหนึ่งในนักปรัชญาชาวกรีกที่มองการถือสันโดษเป็นเรื่องที่ดี เขามีเชื่อว่า ชีวิตที่ดีคือชีวิตที่ผ่านการขบคิด และชีวิตที่จะผ่านการขบคิดได้ก็ต้องอยู่ในภาวะที่สันโดษ ไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลความคิดของคนในสังคม ผู้นำทางทหาร หรือบรรดาผู้มีอำนาจต่างๆ  

หากเป็นยุคกลาง (medeaval age) การปลีกวิเวกออกมาเพียงลำพังจะถือว่าเป็นหนึ่งในหนทางเข้าใกล้พระเจ้า ความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาในยุคกลางนั้นถึงจะมี ก็อาจไม่นับว่าสำคัญเทียบเท่ากับการไม่รู้สึกถึงความห่างไกล หรือการไม่รู้สึกถึงพระองค์

จวบจนมาถึงยุคฟื้นฟูศิลปะวิทยา (Renaissance) เพทราร์ค (Petrarch) กวีและนักเขียนชาวอิตาลีก็ยังได้เขียนหนังสือเรื่อง De vita solitaia  (136-56) ออกมาเพื่อสรรเสริญยกย่องความสันโดษ ความคิดของเพทราคคล้ายคลึงกับความเชื่อของเราหลายคนในปัจจุบัน การออกจากเมืองไปใช้ชีวิตอยู่ในชนบทจะทำให้เราค้นพบตัวเราเอง และเป็นอิสระจากการครอบงำของคนอื่นๆ

เมื่อก้าวเข้าสู่โลกสมัยใหม่ นักปรัชญาคนสำคัญอย่างเรอเน่ เดการ์ต (René Descartes) ถึงกับประกาศชัดว่า ความสันโดษนั้นเป็นภาวะสำคัญจำเป็นสำหรับการขบคิด เราจะสามารถเข้าใกล้สัจจธรรมได้มากอย่างที่สุดในภาวะที่เราอยู่เพียงลำพังจริงๆ จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่เดอการ์ตส์มักจะพูดถึงการออกเดินทางเสาะหาพื้นที่สุขสงบเพื่อหลบหนีความวุ่นวายของผู้คนและชีวิตในเมืองใหญ่ เพื่อมองหาความสันโดษที่ซ่อนตัวอยู่ในธรรมชาติและสังคมชนบท

หากคำถามสำคัญที่ติดตามมาก็คือ เราจะสามารถอยู่เพียงลำพังได้แบบไหน หรือ อย่างไรจึงเรียกว่าเป็นชีวิตที่สันโดษ?

ดังที่เราทราบว่า เฮนรี เดวิด ทอโร (Henry David Thoreau) นักปรัชญาชาวอเมริกัน ผู้ใช้ชีวิตอย่างสันโดษที่บึงวอลเดนเป็นเวลา 2 ปี 2 เดือน 2 วัน จนกลายมาเป็นต้นตอบ่อเกิดของผลงานชิ้นสำคัญที่ชื่อ Walden นั้นก็ไม่ได้ตัดขาดจากมิตรสหายและครอบครัวแต่อย่างใด เขายังคงวางเก้าอี้ 3 ตัวเพื่อต้อนรับแขกที่มาเยี่ยมเยือน หรือบ่อยครั้งที่เดินเข้าไปในหมู่บ้านเพื่อพูดคุยทักทายชาวบ้าน และนำเรื่องราวต่างๆ ที่เขาได้ยินมามาเขียนหนังสือ

เช่นเดียวกับราล์ฟ วัลดู อีเมอร์สัน (Ralph Waldo Emerson) นักปรัชญาชาวอเมริกันที่เสนอความคิดซึ่งดูจะสุดลิ่มทิ่มประตูยิ่งกว่าธอโรหลายขั้น ว่า เราไม่เพียงแต่ต้องโดดเดี่ยวตัวเองออกมาจากสังคมคนรู้จัก แต่เรายังจำเป็นต้องหยุดอ่านเขียนหนังสือ เพื่อใช้ชีวิตใต้แสงเดือนแสงดาว ซึ่งแน่นอนว่าไม่เพียงแต่ธอโรเพื่อนของเขาที่ทำไม่ได้ แต่อีเมอร์สันเองก็ไม่สามารถทำได้ เพราะอย่างน้อยเขาก็ยังเขียนหนังสือไปจนกระทั่งโรคความจำเสื่อมมาพรากความสามารถของเขาไปในช่วงบั้นปลายชีวิต ซึ่งเขายุติการพบปะผู้คนจริงๆ ก็ภายหลังจากรู้สึกอับอายจากโรคความจำเสื่อมที่ทำให้เขาทำอะไรน่าขัน

ถ้าจะนับว่า มีบุคคลที่สามารถถือสันโดษได้อย่างแท้จริงก็คงจะมีเพียงเซนต์แอนโธนี (Anthony the Great) นักบวชคนแรกในตำนานความเชื่อของชาวคริสต์ที่จาริกไปในทะเลทรายฟากฝั่งตะวันออกของประเทศอียิปต์เพียงลำพังเป็นเวลานานนับสิบๆ ปี โดยมีเพียงฝูงสุกรเท่านั้นที่ติดตามเขาไป

ความสันโดษที่สาบสูญ

ไม่เพียงแต่ในโลกปัจจุบันที่มนุษย์เกือบทุกคนถูกบังคับให้ต่อเชื่อมกันด้วยเทคโนโลยี เมื่อในที่ทำงานคุณกลายเป็นพื้นที่ประเมินความสามารถ คุณสามารถถูกจับจ้องสอดส่องด้วยกล้องวงจรปิด กระทั่งวิทยาการล่าสุดยังทำให้บริษัทของคุณสามารถมอนิเตอร์การทำงานผ่านโปรแกรมต่างๆ ที่คุณเปิดใช้ในแต่ละวันได้ แม้กระทั่งแต่ฟรีแลนซ์ การต่อเชื่อมผ่านระบบการส่งข้อความต่างๆ ทำให้คุณถูกดึงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสังคมเฉพาะกิจต่างๆ

มันเป็นความโดดเดี่ยวเช่นที่อาเรนท์กล่าวถึง ว่าโลกเผด็จการได้ทำการขจัดความสันโดษในการมีชีวิตส่วนตัวออกไป และความเป็นส่วนตัวกลายเป็นสิ่งที่เดียวจะรับประกันความมีเสรีภาพของคุณ ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องพูดถึงเฉพาะโลกปัจจุบัน แม้แต่ผู้ที่มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่ 18 อย่าง ฌ็อง-ฌาคส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) ก็ยังประสบปัญหาจากการที่สังคมยังตามไปหลอกหลอนเขาแม้แต่ในท่ามกลางธรรมชาติ

ดังที่เราทราบว่า Reveries of the Solitary Walker เป็นงานเขียนสุดท้ายในชีวิตของรุสโซ (ซึ่งความโด่งดังของมันได้แปลเปลี่ยนความหมายของคำว่า reveries ที่แต่เดิมหมายความเพียง ‘ความฟุ้งฝัน’ ให้มีความหมายเป็น ‘การครุ่นคิด’) ที่เขียนขึ้นมาเพื่อสรรเสริญความสันโดษ การเชื้อชวนให้มนุษย์เรากลับเข้าไปอยู่ร่วมกับธรรมชาติอีกครั้ง

ฌ็อง-ฌาคส์ รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) นักปรัชญาชาวสวิตเซอร์แลนด์ ผู้เป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจให้แก่การปฏิวัติฝรั่งเศส 1789

สำหรับรุสโซแล้วการอยู่เพียงลำพังถือเป็นจุดเริ่มต้นและปลายทางของชีวิตมนุษย์ เพียงแต่เมื่อเขาเริ่มต้นเขียนบทแรกมันก็แสดงให้เห็นว่า ไม่มีความสงบใดๆ ในจิตใจเขานอกจากความอาฆาตมาดร้ายที่เขามีต่อโลกและโลกมีต่อเขาอย่างหาที่เปรียบมิได้

“ในตอนนี้ข้าพเจ้าอยู่เพียงลำพังบนโลกใบนี้ ไม่มีพี่น้อง เพื่อนบ้าน มิตรสหาย และสมาคมใดๆ นอกจากตัวข้าพเจ้าเอง มนุษย์ที่อัธยาศัยดีที่สุด น่ารักใคร่ที่สุดถูกขจัดออกออกไปจากคนทั้งหลาย พวกเขาพุ่งรบด้วยความเกลียดชังอันถูกกลั่นกรองแล้วจะทำร้ายจิตใจอันบอบบางของข้าพเจ้า ซึ่งพวกเขาได้กระชากดึงเชือกทุกเส้นที่ได้ขึงรั้งข้าพเจ้าเอาไว้กับพวกเขาจนปริขาด ข้าพเจ้ารักมนุษย์แม้จะพวกเขาจะเป็นเช่นนั้น พวกเขาไม่มีหนทางใดที่จะยับยั้งสกัดกั้นความอาทรที่ข้าพเจ้ามี แม้ตอนนี้พวกเขาจะเป็นสิ่งแปลกปลอม ไร้ตัวตน เพราะพวกเขาจักต้องเป็นเช่นนั้น แต่ข้าพเจ้าก็ถอนตัวออกมาจากพวกเขา จากทุกสิ่งอย่าง แล้วข้าพเจ้าจะกลายเป็นอะไรเล่า?”

การอ่านความหมายระหว่างบรรทัด ทำให้เราค้นพบว่า Reveries of the Solitary Walker เปรียบเหมือนการประกาศสงครามกับมวลมนุษย์ชาติ หรือ Rousseau V.S. Mankind ความสงบบนผิวหน้าของข้อเขียนนำไปสู่การรบพุ่งอย่างดุเดือดราวกับยุทธการป่าล้อมเมือง

ความยุ่งยากยอกย้อนของการมีชีวิตสันโดษจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าแบบแผนหรือวิธีปฏิบัติ แต่อาจอยู่ที่การมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเราและคนอื่นๆ ซึ่งถึงที่สุดแล้ว เราไม่อาจอยู่เพียงลำพัง หรือเป็นดังเช่นที่อาเรนท์กล่าวไว้ว่า สุดท้ายแล้วการปลีกวิเวกอาจสร้างความโดดเดี่ยวขึ้นมาได้ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในยามที่เขาไม่สามารถเชื่อมั่นหรือวางใจในมนุษย์คนอื่นๆ จนนำไปสู่ความชังมนุษย์ (misanthropy) หรือกลัวมนุษย์ (anthropophoby) ซึ่งรุสโซถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดกรณีหนึ่ง

อ้างอิง

Hannah Arendt, The Origins of Totalitarianism, (London: Penguin Books, 2017)

Tags: ,