“การตระหนักได้ถึงขีดจำกัด คือการได้ก้าวพ้นขีดจำกัดนั้นไปแล้ว” คำกล่าวซึ่งได้รับการดัดแปลงให้ง่ายขึ้นของเฮเกล (Hegel) ใน The Science of Logic (1812) อาจสามารถใช้อธิบายถึงการดื่มและความเมามายได้ด้วยเช่นกัน
ในแง่กายภาพ เมื่อร่างกายสามารถปรับตัวให้ทนต่อแอลกอฮอล์ได้ การเข้าถึงความเมาก็อาจต้องขยับหรือปรับปริมาณการดื่มเพิ่มเข้าไป ซึ่งมักเกิดขึ้นผู้คนในวัฒนธรรมดื่มหนัก (Binge drinking) และในอีกทาง การถึงขีดจำกัดของนักดื่มคือการไม่สามารถหาจุดสิ้นสุดของการดื่มได้ ดังเช่นที่นักเขียนชาวอเมริกันเอฟ. สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (F. Scott Fitzgerald) หรือมัลคอล์ม โลว์รี (Malcolm Lowry) ผู้เขียนนวนิยายเรื่องดัง Under the Valcano (1948) ต่างต้องเผชิญตลอดชีวิตการทำงาน
คำว่า alcohol ในศตวรรษที่ 16 ไม่ได้หมายความถึงของมึนเมา แต่หมายความถึงผงโลหะที่มีความละเอียด ซึ่งในโลกอาหรับ al-kuhul คือสีที่ใช้ทาเปลือกตา และกว่าที่คำนี้จะถูกใช้ในความหมายเช่นในปัจจุบันก็ต้องย่างสู่ศตวรรษที่ 18 ไปแล้ว ส่วนคำว่า alcoholic ที่ใช้ในความหมายของคนติดเหล้าก็พบว่าเริ่มต้นใช้กันจริงจังก็เมื่อต้นศตวรรษที่ 20 ไปแล้ว ซึ่งศัพท์ที่แพทย์ใช้เรียกอาการพิษสุราเรื้อรังในช่วงปลายของศตวรรษที่ 19 ก็คือ alcoholist
แน่นอนว่าในโลกของวรรณกรรมไทย ความเมามายถือเป็นภัยร้ายของการทำงานสร้างสรรค์ อย่างกรณีของกวีผู้ยิ่งใหญ่ชิต บุรทัตนั้น ชีวิตของเขาไม่เพียงหดสั้นด้วยการดื่มแบบยั่งยืน แต่ยังแปรเปลี่ยนรูปร่างและลักษณาการต่างๆ ของเขาไปอย่างสิ้นเชิง
ดังเช่นที่ รสสุคนธ์ หรือ น. ประภาสถิตย์ ได้บรรยายไว้ ในบทความ ‘ชิต บุรทัต กวีผู้มีชื่อรุ่งโรจน์ของประเทสไทย’ ที่ตีพิมพ์ในช่วง ‘อักขรวิบัติ’ ไว้ว่า
“เช่นเดียวกับท่านผู้อ่านที่พอไจเรื่อง “ผจนบาป” และ “ข้างหลังภาพ” ของ “สรีบูรพา” หรือเรื่อง “ธาตุหยิง” และเรื่องสั้นๆ ของ “แม่อนงค์” จะวาดภาพผู้แต่งไนลักสนะซึ่งท่านคิดว่าเหมือนตัวเขาที่ท่านเห็นไนหนังสือที่เขาเขียน ฉันวาดภาพ ชิต บุรทัต ไนลักสนะของคนร่างสูง ท่าทางเปนสง่าผ่าเผย มีชีวิตเรียบร้อยราบรื่นเปนสุขหยู่ไนบ้านและสวนอันงามสงัดเงียบตามที่แลเห็นลักสนะของเขาไนภาพถ่าย และการประพันธ์ซึ่งงดงามสแดงความคิดสูง และสุขุม ไนขนะนั้นฉันยังเชื่อว่าคนที่มีดวงความคิดสูงและสุขุมนั้นจะต้องมีชีวิตที่ราบรื่นผาสุกและงดงาม ต่อมาอีกสิบปีฉันก็ได้พบชายกลางคนขาพิการผู้หนึ่งที่สำนักงานหนังสือพิมพ์ประชาชาติ ชายผู้นั้นแต่งตัวปอนๆ ไม่ไคร่สวมรองเท้า ฉันไม่สนไจว่าชายขาพิการท่าทางอ่อนน้อมต่อคนทั่วไปนี้คือไคร จนกะทั่งไนวันหนึ่งเมื่อไปเที่ยวหาบ้านชิต บุรทัต กวีเอกคนหนึ่งของประเทสไทยสมัยปัจจุบัน เราได้พบชายขาพิการ แต่งตัวตามสบาย นอนเอกเขนกหยู่ไนบ้านหลังหนึ่ง”
ไม่เพียงเท่านั้น แต่ยาขอบ, มนัส จรรยงค์ หรือกระทั่งฮิวเมอริสต์ในช่วงเวลาหนึ่งก็ถือว่าเป็นนักเขียนที่ประสบภัยคุกคามจากความเมามาย ซึ่งนักวิจารณ์ฝีปากคมอย่าง ส. ธรรมยศก็มักจะหยิบยกความเมามายของนักเขียนมาประณาม และแม้แต่ประกาศตนเป็นศัตรูกับแอลกอฮอล์ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกแต่อย่างใด เพราะในสังคมฝรั่งเศสในช่วงปลายของศตวรรษที่ 19 แอลกอฮอล์ก็ถือเป็นภัยร้ายของสังคม ถ้านวนิยายรักพาฝันคืออันตรายสำหรับเด็กสาวในช่วงต้นของศตวรรษที่ 19 เช่นที่โฟลแบรต์ (Flaubert) ได้แสดงไว้ใน Madame Bovary นวนิยายเรื่อง L’Assommoir หรือ เมรัยพิฆาต ของเอมิล โซลา (Émile Zola) ก็เขียนขึ้นเพื่อชี้เตือนให้เห็นถึงอำนาจของแอลกอฮล์ที่ทำลายชีวิตและครอบครัว
อย่างไรก็ตาม นักเขียนกับความเมามายก็ยังเป็นสิ่งที่คู่เคียงกันมา จนหลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่าในความเมามายมีอะไร เหตุไฉนวรรณกรรมจำนวนมากจึงก่อกำเนิดขึ้นจากการท่องไปในโลกของความเมา นักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ฌีส์ เดอเลอซ (Gilles Deleuze) ได้บอกเล่าและอธิบายถึงแง่มุมต่างๆ เกี่ยวกับของการดื่มและความเมามายในสารคดี L’Abécédaire ไว้อย่างน่าคิดว่า โลกของความเมามายคือโลกเฉพาะที่เมาเท่านั้นจะสามารถตระหนักได้ โดยเฉพาะความเมามายทำให้เราสามารถเข้าใจความจริงบางด้านของ ‘ชีวิต’ ที่หนักหน่วง
เดอเลอซยอมรับว่า เขาเป็นคนที่เคยดื่มและดื่มอย่างหนักมาก่อน มันทำให้เขาค้นพบข้อเท็จจริงสำคัญที่ว่า บุคคลที่ถูกเรียกว่าแอลกอฮอลิกนั้นจะไม่มีวันได้ดื่มแก้วสุดท้าย (last drink) หรือแม้แต่แก้วก่อนสุดท้าย (penultimate) เพราะพวกเขาอาจพูดว่า “เดี๋ยวแก้วสุดท้ายละ” แต่แก้วสุดท้ายที่ว่าก็ไม่เคยมาถึง แก้วสุดท้ายในความคิดหรือคำพูดติดปากของพวกเขาอาจเป็นได้แค่ของคืนนั้น วันนั้น และพวกเขาก็จะเริ่มต้นใหม่ และพูดถ้อยคำเดิมซ้ำอีกครั้งในวันต่อๆ มา
เหมือนดังคำกล่าวของกวีชาวฝรั่งเศสชาร์ลส์ เปกีย์ (Charles Péguy) ที่เดอเลอซได้ยกมากล่าวอ้างไว้ในบทสัมภาษณ์นี้ว่า “ไม่ใช่ดอกวอเตอร์ลิลลี่ดอกสุดท้ายที่เลียนซ้ำดอกแรก แต่เป็นดอกเวอเตอร์ลิลลี่ดอกแรกต่างหากที่เลียนซ้ำไปจนถึงดอกสุดท้าย”
แก้วสุดท้ายสำหรับแอลกอฮอลิก จึงเป็นแก้วแรกเสมอ แก้วแรกที่จะก่อให้เกิดแก้วอื่นๆ ตามมา การแสวงหาแก้วสุดท้ายสำหรับ แอลกอฮอลิกจึงไม่ต่างจากการแสวงหาจอกศักดิ์สิทธิ์ (holy grail) ในตำนาน
แต่ถึงจะไม่มีแก้วสุดท้าย แต่แอลกอฮอลิกจะมีแก้วโปรดที่ชื่นชอบเป็นการพิเศษ พวกเขาจะไม่ใช่นักดื่มที่เปลี่ยนแปลงเครื่องดื่มของตัวเองไปเรื่อยๆ แต่เพื่อเขาจะสามารถดื่มได้มากๆ เขาจะมีเครื่องดื่มชนิดที่โปรดปรานมากกว่าชนิดอื่นๆ
เดอเลอซมีความเห็นที่ค่อนข้างเฉพาะและแตกต่างจากคนฝรั่งเศสทั่วไป เขาไม่นับมันเป็นส่วนหนึ่งของมื้ออาหาร ด้วยเขาเห็นว่าการดื่มสำหรับเขาแล้วไม่แตกต่างจากสารเสพติด ในแง่ของการเป็นเครื่องมือของนักเขียน หรือกวีจำนวนหนึ่งเพื่อสามารถมองเห็น หรือเป็นผู้เห็น (seer) ความเป็นจริงบางอย่างได้ เช่น อ็องรี มิโชซ์ (Henri Michaux) ผู้โด่งดังจากการใช้สารเสพติดเขียนงานและภาพจิตรกรรม หรือโดยเฉพาะวรรณกรรมอเมริกันและอังกฤษในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ที่ถือเป็นกรณีที่น่าสนใจสำหรับเดอเลอซอย่างมาก ดังที่เขาได้อธิบายไว้ว่า
“พวกเขาสร้างสรรค์ผลงาน และแอลกอฮอล์สำหรับพวกเขาก็คือความเสี่ยง พวกเขาเลือกจะเสี่ยง เพราะคิด ไม่ว่าจะผิดหรือถูกก็ตาม ว่า แอลกอฮอล์จะสามารถช่วยได้ ผมเองก็เคยคิดว่าแอลกอฮอล์ช่วยให้ผมสามารถสร้างแนวคิดบางอย่างได้ มันเป็นเรื่องน่าแปลกนะ แนวคิดทางปรัชญา ใช่ มันเคยช่วยผม แต่หลังจากนั้นมันก็ไม่ช่วยอีกแล้ว นั่นไปสู่จุดที่เป็นอันตรายสำหรับผม ผมไม่ต้องการทำงานอีกต่อไป และเมื่อถึงจุดนั้น คุณก็ต้องเลิก ทั้งหมดก็มีแค่นั้น…”
อย่างไรก็ตามฟิตซ์เจอรัลด์ได้สร้างผลงานที่ถือได้ว่าเป็นสุดยอดผลงาน (อย่างน้อยก็ในมุมมองของเดอเลอซ) ในตอนที่ดื่มแทบไม่ได้อีกแล้ว ดังที่ฟิตซ์เจอรัลด์ได้สรุปรวบยอดความคิดทุกอย่างไว้ในย่อหน้าแรกของ The Crack-Up ว่า “แน่นอนว่า ชีวิตทั้งหลายคือกระบวนการพังทลาย เพียงแต่แรงกระหน่ำที่ทำให้เกิดผลงานสะเทือนชีวิตนี้—แรงกระหน่ำรุนแรงที่เกิดโดยเฉียบพลัน—ครั้งที่คุณจดจำ ตำหนิโทษว่าสิ่งทั้งหลาย และในห้วงขณะอ่อนแอก็ได้บอกเล่าให้เพื่อนคุณฟังนั้น มิได้แสดงผลออกมาในคราวเดียว เพราะยังมีอีกแรงกระหน่ำกำเนิดจากภายใน—คุณจะไม่รู้สึกจนกระทั่งมันสายเกินแก้ไข จนคุณตระหนักได้ในห้วงเวลาสุดท้ายว่า คุณจะไม่มีวันกลับมาดีเหมือนเดิมอีก การแตกร้าวแบบแรกเหมือนจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว—ในขณะที่แบบหลังเกิดขึ้นโดยไม่ทันรู้สึกตัว แต่กระนั้นคุณก็รับรู้ได้ในทันทีที่เกิดขึ้น”
สำหรับมัลคอล์ม โลว์รี นักเขียนชาวอังกฤษที่เลือกจะดื่มไปจนวาระสุดท้าย และเชื่อกันว่าเขาจงใจดื่มเพื่อจบชีวิตของตัวเอง
เขาได้เขียนคำจารึกบนป้ายหลุมฝังศพไว้ว่า “ณ ที่นี้คือที่พำนักของมัลคอล์ม โลว์รี ผู้ล่วงลับจากถนนคนเมา ร้อยแก้วของเขาอ่อนหวาน และบ่อยครั้งก็ชวนให้ถมึงทึง เขามีชีวิตทุกคืนค่ำ เขาดื่มด่ำทุกวารวัน และตายไปขณะเล่นอูคูเลเล” แต่ไม่มีใครยินยอมใช้ข้อความดังกล่าวของเขา
อ้างอิง
Gilles Deleuze, Logic of Sense, (London: Bloomsbury 2015)
Tags: วรรณกรรม, Literature, นักเขียน, writer, Soliloquy