เร่งเครื่องให้ทันโลก

คุณเคยเกิดคำถามนี้ขึ้นในใจไหมว่า “เราได้พักผ่อนจริงๆ ครั้งสุดท้ายเมื่อไร?” การพักผ่อนที่ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง ไม่มีอะไรติดค้างอยู่ในใจ ไม่คอยกังวลว่าโทรศัพท์จะดังหรือมีอีเมลมาตามงาน หรือแม้แต่การห่างหายไปจากหน้าจอคอมพิวเตอร์นานๆ จะไม่ทำให้คุณกระวนกระวาย

คุณเคยสังเกตไหมว่าทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยีเพื่อประหยัดเวลามากมาย แต่ทำไมเราจึงมีเวลาว่างน้อยลง ทุกครั้งที่ลืมตาตื่น เราจะวิ่งวุ่นไปทั่วบ้าน รีบเร่งออกไปทำงาน ผจญกับการเดินทางแสนทรหด แล้วก็จดจ่ออยู่หน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวัน พอตกเย็นก็เริ่มคิดว่ายังมีอะไรที่ต้องทำอีก สิ่งใดค้างคาและยังไม่ได้สะสาง ต้องไปเข้าฟิตเนสให้ทันกี่โมง ต้องไปรับลูกตอนเลิกเรียนหรือเปล่า หรือต้องไปซื้อของให้ทันเวลาลดราคาหรือไม่ แล้วชีวิตก็วนลูปไปอย่างนี้เรื่อยๆ มันเป็นแบบนี้ตั้งแต่เมื่อไรกัน

เราใช้ชีวิตแบบเร่งความเร็วทั้งโดยที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว พยายามบีบอัดทุกอย่างลงสู่โมงยามของกาลเวลา ซึ่งดูเหมือนว่าแม้จะผ่านมากี่วันหรือกี่เดือน เวลาก็ไม่เคยพอ ‘โรควิตกจริตเกี่ยวกับเวลา’ จึงถูกบัญญัติขึ้นในปี 1982 โดยแลร์รี ดอสซีย์ เพื่ออธิบายถึงภาวะที่เราคิดว่าต้องเร่งฝีเท้าให้เร็วขึ้นสำหรับทุกๆ อย่าง

จนถึงตอนนี้ ในศตวรรษที่ 21 มนุษย์ก็ยังแข่งขันกับความเร็ว จนบางทีหลายคนหลงลืมไปแล้วว่าการเนิบช้านั้นเป็นอย่างไร มอบความสุขและผลดีแบบไหน เราไม่จำเป็นต้องเร่งจังหวะไปเสียทุกเรื่องในชีวิต ไม่เช่นนั้นจะเป็นเราเองที่อ่อนล้าโรยแรงและยอมแพ้ให้กับโลกในที่สุด

ดังนั้น ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่าตอนนี้ชีวิตฉันเร็วเกินไปแล้ว ขอให้คุณค่อยๆ ผ่อนความเร็วลงสักเล็กน้อย แล้วหยิบ SLOW ขึ้นมาอ่าน ถือว่าเป็นการพักผ่อนอย่างหนึ่งซึ่งจะทำให้คุณได้ฉุกคิดถึงวิถีชีวิตในปัจจุบัน

ความเร่งรีบกำลังบั่นทอนสิ่งสำคัญอยู่หรือเปล่า? บางทีความเร็วก็น่ากลัวอยู่เหมือนกัน… อย่าปล่อยให้ชีวิตพลัดหลงไปจนคว้ากลับมาไม่ทัน

เร็วขึ้นอีก เร็วขึ้นอีก เร็วขึ้นอีก

เมื่อก่อนมนุษย์ใช้ชีวิตในยามอาทิตย์ขึ้น และกลับเข้าที่พักหลังอาทิตย์ตก แต่เมื่อกาลเวลาไหลผ่าน มนุษย์ก็มีพัฒนาการตามมา เราเริ่มรู้จักธรรมชาติและสรรพสิ่ง และมันก็มาถึงตอนที่เราตระหนักถึงเวลา

มนุษย์ได้จัดสรรเวลาอย่างชัดเจน จากปีสู่เดือน สู่วัน ไปจนถึงหน่วยที่เล็กที่สุด พอมาถึงปลายศตวรรษที่ 16 เราก็สามารถวัดเวลาได้อย่างเที่ยงตรงในระดับวินาที นับจากนั้นมา เราก็กลายเป็นทาสเวลาอย่างเต็มตัว

จนมาถึงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ความเร็วก็ดูจะเป็นความหวังใหม่ที่ทำให้โลกขับเคลื่อนไปได้อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คนจำนวนมากต้องปรับตัวให้เข้ากับเข็มนาฬิกา ความเร็วแทรกซึมเข้ามาในทุกแง่มุมของชีวิต เราถูกคาดหวังว่าต้องเร็วขึ้น ทั้งการคิด การพูด และการกระทำ ความสัมพันธ์ของเรากับเวลาไม่ราบรื่นอีกต่อไป ประโยค “เวลาเป็นเงินเป็นทอง” จากปากเบนจามิน แฟรงคลิน คือสิ่งสะท้อนเรื่องราวเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี

การก่อตัวของขบวนการเนิบช้า

จนมาถึงศตวรรณที่ 21 เราก็ยังมุ่งมั่นแข่งขันกับเวลา แต่คนกลุ่มหนึ่งเลือกแล้วว่าฉันจะช้าลงสักก้าวหนึ่งในชีวิต ก่อนที่จะแย่ไปมากกว่านี้…

หนังสือ SLOW ไม่ได้บอกให้เราปฏิเสธความเร็ว หรือกล่าวหาว่าความเร็วนั้นเป็นตัวบ่อนทำลายชีวิต เพียงแต่แนะนำ ‘ขบวนการเนิบช้า’ ให้เป็นที่รู้จัก และชี้ให้เห็นถึงการนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือแม้แต่ทำให้เราฉุกคิดได้ว่าตอนนี้ชีวิตเราเป็นแบบไหน

หัวหอกของขบวนการเนิบช้านั้นอยู่ในเมืองคลาเกนเฟิร์ตของออสเตรีย แล้วมันก็ค่อยๆ ขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ จากจุดหนึ่งสู่อีกจุดหนึ่ง และจากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง ผู้คนส่วนใหญ่เลือกจะใช้ชีวิตให้ช้าลงเอง และหันมาสนใจกับขบวนการเนิบช้าในด้านต่างๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของตนมากขึ้น ตั้งแต่บนโต๊ะอาหาร การออกกำลังกาย การเดินทาง การรักษา และแม้กระทั่งเรื่องบนเตียง

พวกเขากลายเป็นสมาคมที่มีสมาชิกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะกลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่ สิ่งสำคัญคือมันเกิดขึ้นแล้ว เช่น สล็อธคลับในประเทศญี่ปุ่น สนับสนุนให้ใช้ชีวิตอย่างรีบร้อนน้อยลง เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มูลนิธิลองนาว สำนักงานใหญ่อยู่ที่ซานแฟรนซิสโก สร้างนาฬิกาเรือนใหญ่ที่เข็มกระดิกปีละติ๊กเดียว เพื่อย้ำเตือนให้เราชะลอความเร็วลง เป็นต้น

ความเร็วที่รุกคืบ และความแช่มช้าที่คืนมา

ลงมือทำอาหาร และกินข้าวอย่างพร้อมหน้า

เรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวันที่ SLOW พาเราไปสำรวจคืออาหาร ทุกวันนี้เราใช้เวลาในการกินอาหารน้อยมาก เรารีบกิน รีบกลืน แล้วรีบไปทำอย่างอื่นต่อ โต๊ะอาหารของเราถูกยึดครองด้วยอาหารอุ่นร้อนหรือไม่ก็ฟาสต์ฟู้ด

ไม่ใช่แค่ความเร็วในการกิน แต่รวมไปถึงกระบวนการผลิต เรามีการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์มากมายเพื่อประหยัดทั้งค่าใช้จ่ายและเวลาในการได้มาซึ่งผลผลิต ผลที่ตามมาคือเกษตรกรรายย่อยต้องล้มหายตายจาก ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ขบวนการสโลว์ฟู้ดจึงผุดขึ้นมา นอกเหนือไปจากความรื่นรมย์กับมื้ออาหาร คือการสนับสนุน ‘ศิลปะในการกินโดยคำนึงถึงระบบนิเวศ’ ในด้านเศรษฐกิจ สโลว์ฟู้ดนำผู้ผลิตรายย่อยมาพบปะกัน จากพืช ผลไม้ และอาหารหลายๆ ชนิดที่ไม่เคยเป็นที่รู้จัก สิ่งเหล่านั้นก็กลายเป็นที่ต้องการ เกษตรกรรายย่อยก็สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง

แต่การที่เราจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เข้ากับสโลว์ฟู้ดได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องเฟ้นหาแต่วัตถุดิบชั้นเลิศ เพียงหาเวลาลงมือทำอาหารเองบ้าง ก็อาจช่วยผ่อนคลายความอ่อนล้าที่ผ่านมาตลอดทั้งวันได้ จากนั้นก็นั่งลงกินข้าวพร้อมครอบครัว เท่านี้ใจเราก็เป็นสุขแล้ว

มีงานศึกษาที่ระบุว่า เด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่กินอาหารด้วยกันเป็นประจำมีแนวโน้มว่าจะประสบความสำเร็จในโรงเรียนมากกว่า และเด็กๆ ยังมีความเครียดน้อยกว่าด้วย เพราะบางทีการกินอาหารพร้อมหน้า ไม่ได้เป็นเพียงการเติมท้องให้อิ่ม แต่เป็นโอกาสให้เราได้พูดคุยกันมากขึ้น

ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ และเวลาว่างที่มากขึ้น

มาถึงเรื่องที่น่าจะเป็นปัญหาในชีวิตคนส่วนใหญ่ คือเรื่อง ‘งาน’ ครั้งหนึ่งมนุษย์เคยมีความหวังว่าเมื่อเครื่องจักรเข้ามาแทนที่ เราจะมีเวลาว่างมากขึ้น จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ ถึงกับเคยทำนายไว้ว่า ภายในปี 2000 เราจะทำงานวันละสองชั่วโมง ส่วนเวลาที่เหลือคือการพักผ่อนหย่อนใจ ฟังดูแล้วช่างห่างไกลจากความเป็นจริงตอนนี้เหลือเกิน

เทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้งานแทรกซึมเข้ามาในทุกช่องทางของชีวิต โดยเฉพาะในยุคอินเทอร์เน็ต มันแทบจะกลายเป็นบรรทัดฐานไปแล้วว่าทุกคนต้องพร้อมที่จะถูกงานโจมตีได้ตลอด 24 ชั่วโมง คนมากมายทำงานทั้งที่ตัวเองเจ็บป่วยหรือเหน็ดเหนื่อยจนแทบไม่ไหว แม้แต่จะใช้วันลาพักร้อนก็ยังไม่เคย

“งานหนักไม่เคยฆ่าคนตาย” กลายเป็นคำกล่าวที่ใช้ไม่ได้อีกต่อไป ญี่ปุ่นมีคำอยู่คำหนึ่งคือ ‘คาโรชิ’ ที่หมายความว่า ‘ตายคางาน’ เหยื่อที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคนหนึ่งได้แก่ คาเมอิ ชูจิ เขาทำงานสัปดาห์ละ 90 ชั่วโมงอยู่เป็นประจำ ในช่วงศตวรรษ 1980s บริษัทเชิดชูเขา และทำให้เขาเป็นคนที่น่าชื่นชมและเอาเยี่ยงอย่าง แล้วชูจิก็จากไปอย่างกะทันหันในวัย 26 ปี ด้วยโรคหัวใจล้มเหลวในปี 1990

ในหลายบริษัทก็ยังมีวัฒนธรรม ‘อยู่โยง’ ด้วย เพราะรู้สึกว่าตัวเองถูกคาดหวังให้ทำอย่างนั้น การเลิกงานตามเวลาปกติถือเป็นเรื่องผิดปกติไปได้อย่างไรกัน? ทั้งๆ ที่คนเราสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพภายในชั่วโมงการทำงานที่กำหนดไว้ เราต้องทำตัวเหมือนทุ่มเทกับงานเต็มที่ แม้นอกเวลางาน ผลที่ตามมาก็คือพวกเขาขาดขวัญและกำลังใจในการทำงานต่อ

บริษัทบางแห่งถึงกับต้องออกปากบอกพนักงานว่าเมื่องานเสร็จแล้วและถึงเวลากลับบ้าน ก็ให้กลับได้เลย ไม่จำเป็นต้องอยู่ต่อ

จากงานศึกษาชี้ให้เห็นว่า คนที่รู้สึกว่าตัวเองควบคุมเวลางานได้จะมีความผ่อนคลายและความคิดสร้างสรรค์มากกว่า หลายบริษัทจึงให้ ‘อิสระเรื่องเวลา’ แก่พนักงาน แต่ทุกอย่างก็ต้องอยู่ในความรับผิดชอบ ความเร็วทำให้เรากดดัน เร่งรีบ จนบ่อยครั้งมันกลายเป็นความเครียด แล้วเราก็จะทำงานอย่างไม่มีความสุข บริษัทหลายแห่งเล็งเห็นปัญหาและพยายามสร้างสมดุลระหว่างความเร็วกับความช้า บางแห่งก็สนับสนุนให้มีกิจกรรมต่างๆ อาทิ จัดสอนโยคะในที่ทำงาน มีบริการนวดผ่อนคลาย ให้พนักงานกินอาหารกลางวันนอกโต๊ะทำงาน มีห้องสงบจิตใจ และอนุญาตให้งีบหลับ เป็นต้น

เมื่อเร็วอย่างเหมาะสม และช้าอย่างลงตัว งานก็จะมีประสิทธิผลที่ดี บางครั้งอาจมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ เมื่อทำงานน้อยชั่วโมงลง

จงพักผ่อนอย่างจริงจัง

เมื่อเหนื่อยล้าจากการทำงานหนัก ชีวิตจะรื่นรมย์ขึ้นได้จากการได้ทำสิ่งที่ชอบ ไม่ว่าจะเป็นการถักนิตติ้ง จัดสวน อ่านหนังสือ เล่นดนตรี ชมงานศิลปะตามแกลเลอรี หรือแม้แต่อยู่เฉยๆ  เราต้องหัดเอาชนะความวิตกจริตเกี่ยวกับเวลา แล้วปล่อยใจให้ได้เพลิดเพลินบ้าง เมื่อเรารู้จักเนิบช้าจากจุดเล็กๆ อีกหน่อยเราก็จะขยับไปทำในสิ่งที่ใหญ่ขึ้น แล้วเลิกประสาทเสียกับความเร็วในเรื่องหยุมหยิม

หนังสือ SLOW ยังพูดถึงความเนิบช้าในอีกหลายๆ เรื่องที่ผู้เขียนไม่ได้หยิบยกมา การทำชีวิตให้ช้ามักทำให้เรารู้สึกกลัวว่าจะไม่ทันคนอื่น อาจล่าถอยและไม่ทันโลก ตัวผู้เขียนเอง ขณะอ่านก็คิดว่า เราจะเบรกความเร็วลงได้จริงๆ หรือ เพราะความรีบร้อนดูเหมือนจะฝังลึกอยู่ในทุกอย่างไปแล้ว

แต่หากเราไม่ลองลงมือทำ เราก็คงไม่รู้ และถ้าหากเราไม่เริ่ม ก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แตะเบรกชีวิตลงบ้างน่าจะไม่ใช่เรื่องเสียหาย ลองมาลิ้มรสความเนิบช้าไปพร้อมกัน และขอให้มีความสุขมากขึ้นกับการใช้ชีวิต

Tags: , , ,