ราวห้าปีก่อน ผู้เขียนได้เริ่มต้นเขียนผลงานชุดหนึ่งที่มีชื่อว่า ‘ความโดดเดี่ยวในยุคผลิตซ้ำเชิงจักรกล’ ลงในนิตยสารสถาปัตย์ฉบับหนึ่งที่ปิดตัวลงไปแล้ว เพื่อแสดงความเห็นเชิงวิจารณ์ต่อความเหงา ความแปลกแยกที่ถูกผลิตซ้ำอย่างเป็นอุตสาหกรรมผ่านสินค้าตัวอักษร อันเป็นการพยายามแสดงให้เห็นแง่มุมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความโดดเดี่ยว ซึ่งก็ผูกโยงกับวิธีคิดของคนในแต่ละพื้นที่และเวลา แน่นอนว่าบทความที่มีความยาวประมาณ 10 ตอนได้ทำหน้าที่ยืนยันความเชื่อของผู้เขียนในเวลานั้น ผ่านทฤษฎี การค้นคว้า และตัวบทวรรณกรรมต่างๆ ได้ประมาณหนึ่ง ไม่เต็มอิ่มลึกซึ้ง แต่ก็พอจะเรียกว่าเป็นอาหารว่างทางความคิด
งานชุดนั้นได้ไปทำความรู้จักกับความโดดเดี่ยวในวรรณกรรมละตินอเมริกานอกเหนือจากกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ (Gabriel García Márquez) มองความโดดเดี่ยวผ่านแนวคิดเรื่องความตายของนักสังคมวิทยาอย่างนอร์เบิร์ท เอเลียส (Norbert Elias) และตัวบทที่เกี่ยวข้องอื่นๆ จนเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผมเริ่มมีความคิดว่าจะเขียนผลงานอีกสักชุดที่เกี่ยวข้องกับความโดดเดี่ยวในแง่มุมที่แตกต่างออกไปจากงานชุดก่อน และนี่ก็คือเป็นที่มาของบทความชุด ‘เราพูดอะไรบ้าง เวลาคุยกันถึงความโดดเดี่ยว’ หรือ Soliloquy ที่ทุกท่านจะได้อ่านกันต่อไป
–
“ฉันอยู่เพียงลำพัง” คือคำต้องห้าม
“นักเขียนที่เขียนว่า ‘ฉันอยู่เพียงลำพัง’ สามารถพิจารณาได้ว่าเป็นเรื่องน่าขันเสียมากกว่า เป็นความน่าขันสำหรับคนคนหนึ่งที่ตระหนักถึงความโดดเดี่ยวของตัวเองโดยการบอกกล่าวกับผู้อ่าน ผ่านวิธีที่ยับยั้งมิให้ปัจเจกบุคคลอยู่เพียงลำพัง คำว่าเพียงลำพังก็ไม่ต่างจากคำว่าขนมปัง การเอื้อนเอ่ยมันออกมาก็คือเรียกหาทุกสิ่งที่ถ้อยคำนั้นได้กันออกไป”
ถ้อยคำจาก The Space of Literature หรือ L’espace de Littérature (1955) ของโมริซ บล็องโชต์ (Maurice Blanchot) นักเขียน-นักวิจารณ์คนสำคัญต่อสำนักหลังโครงสร้างนิยม (Post-Structuralism) คล้ายจะกลายเป็นหลักคิดที่ติดอยู่ในใจผมเรื่อยมา ในแง่ที่มันแสดงถึงความยอกย้อนที่อยู่ในโลกของการเขียน และชวนให้ขบคิดตั้งคำถามว่า ในยามที่เราเขียน เราอยู่เพียงลำพังหรือไม่ใช่? และเพราะเหตุใดนักเขียนจึงต้องโดดเดี่ยว? เหมือนที่เขาได้เขียนว่า “…เขาผู้เขียนจะตกอยู่ในความเสี่ยงของความโดดเดี่ยวนี้”
โมริซ บล็องโชต์ นักเขียนชาวฝรั่งเศสที่ได้ชื่อว่าลึกลับที่สุด
ทำไมการตั้งคำถามถึงความโดดเดี่ยวจึงสำคัญ?
บล็องโชต์ได้อธิบาย และแยกแยะความหมายของ ‘ความโดดเดี่ยว’ ออกจากความหมายโดยทั่วไปตั้งแต่เริ่มแรกว่า “ดูเหมือนว่าเราจะสามารถเรียนรู้บางอย่างจากศิลปะได้ยามเมื่อเราได้เผชิญกับคำหมายชี้ชัดลงไปของคำว่า ความโดดเดี่ยว คำนี้ถูกใช้ในความหมายที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปมาก และการแสดงออกว่า อยู่เพียงลำพัง หมายความถึงอะไร? เมื่อไหร่กันที่เราอยู่เพียงลำพัง? การตั้งคำถามเช่นนี้ไม่ควรนำพาเราไปสู่ความคิดอันเศร้าสร้อย หรือความโดดเดี่ยวที่โลกเข้าใจว่าเป็นความเจ็บปวดชนิดหนึ่งจึงมิใช่เรื่องที่เราจะพูดถึงกัน ณ ที่นี้”
อะไรคือความโดดเดี่ยวที่เป็นความเจ็บปวด? จริงๆ แล้วผมแทบไม่ต้องขยายความเลยด้วยซ้ำ แต่เพื่อให้ผู้อ่านบางคนเห็นภาพ ผมขอยกถ้อยคำจากนวนิยายเรื่อง Sputnik Sweetheart (1999) ของ ฮารุกิ มุราคามิ (Haruki Murakami) มาเปรียบเทียบ “ทำไมคนเราถึงต้องเหงาถึงเพียงนี้ ทั้งหมดเป็นไปเพื่ออะไร คนนับล้านๆ บนโลกใบนี้ ล้วนต้องการ โหยหาคนอื่นเพื่อเติมเต็ม แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังกันตัวเองออกจากคนอื่น ทำไมนะ หรือโลกใบนี้มีเพียงเพื่อหล่อเลี้ยงความโดดเดี่ยวของมนุษย์”
ความโดดเดี่ยวของมุราคามิอาจเป็นเพียงอารมณ์เศร้าสร้อยที่มนุษย์มี แต่ดูเหมือนบล็องโชต์จะไม่ได้กล่าวถึงอารมณ์ และแม้แต่การใช้คำนี้ในความหมายของการถือสันโดษ ที่ได้ระบุชัดว่าไม่ใช่สิ่งที่เขาต้องการจะกล่าวถึง โดยยกเอาจดหมายที่ไรเนอร์ มารีอา ริลเค (Rainer Maria Rilke) กวีเอกชาวเชค-โบฮีเมียเขียนไปเล่าให้เพื่อนคนหนึ่งฟังว่า “เป็นเวลาหลายอาทิตย์ อาจมีเพียงแค่ 2 ครั้งที่ถูกขัดจังหวะ ผมไม่ได้พูดแม้สักคำหนึ่ง ความโดดเดี่ยวค่อยๆ ตีวงล้อมเข้ามาจนกระทั่งผมติดอยู่ภายในความพยายามนั้นราวกับเป็นแกนผลไม้” บล็องโชต์อธิบายว่า ความโดดเดี่ยวที่ริลเคกล่าวถึงไม่ใช่ความโดดเดี่ยวที่แท้จริง แต่เป็นเพียงการจดจ่อมีสมาธิ
ไรเนอร์ มารีอา ริลเค กวีเอกชาวเชค-โบฮีเมีย
ดังนั้นแล้ว อะไรคือความโดดเดี่ยวที่แท้จริง? หากงานเขียนคือการเปิดตัวเองไปสู่คนอื่น สุดท้ายการเขียนก็เป็นหนทางหนึ่งในการทำลายสภาวะของการอยู่เพียงลำพัง โดยเฉพาะเมื่อเราเอ่ยขึ้นมาว่า “ฉันอยู่เพียงลำพัง” คำนี้ได้สกัดกั้นการอยู่เพียงลำพังของฉัน อย่างน้อยก็ในโลกของภาษาและถ้อยคำที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสื่อสาร จะเห็นได้ว่าคำว่า ‘สื่อสาร’ หรือ communicate นั้นมีรากศัพท์มาจากคำละติน communis ที่แปลได้ว่า การแบ่งปัน หรือการมีสิ่งต่างๆ ร่วมกัน
เช่นเดียวกับคำว่า ‘ความโดดเดี่ยว’ หรือ Solitude ที่มีรากศัพท์มาจากคำละติน solus ที่แปลว่า ‘เพียงลำพัง’ นั้นที่ดูเหมือนจะเป็นคำที่ย้อนแย้งในตัวเอง โดยปฏิเสธมิได้ว่า ความโดดเดี่ยวเป็นภาวะจำเป็นสำหรับนักเขียน หรือผู้สร้างสรรค์ผลงาน แต่การแสดงตนว่าโดดเดี่ยวผ่านการเขียนว่า “ฉันโดดเดี่ยวตัวเองออกมาจาก…” อาจทำลายความโดดเดี่ยวที่ว่านั้น ไม่ต่างจากคำว่า “ฉันอยู่เพียงลำพัง” ดังนั้นแล้วนักเขียนจะโดดเดี่ยวได้อย่างไรจึงกลายเป็นปัญหาสำคัญสำหรับบล็องโชต์
สิ่งที่เขาสนใจและพยายามพินิจพิเคราะห์ลงไปในความโดดเดี่ยวที่มาจากความสัมพันธ์ระหว่างนักเขียนและ ‘ผลงาน’ ซึ่งช่วยให้เราได้แลเห็นความหมายที่ลึกลงไปของคำว่า ‘โดดเดี่ยว’
ความโดดเดี่ยวที่แท้จริง
บล็องโชต์กล่าวไว้ใน ‘The Essential Solitude’ บทแรกของ The Space of Literature ว่า “ในความโดดเดี่ยวของผลงาน ผลงานศิลปะ ผลงานวรรณกรรม เราค้นพบสารัตถะของความโดดเดี่ยวมากยิ่งขึ้นไปอีก … เขาผู้เขียนงานถูกกันออกไป เขาผู้เขียนถูกสิ่งที่เขียนขับออกไป ยิ่งกว่านั้น เขาผู้ถูกขับออกไป ไม่รู้จักสิ่งที่เขียน ความไม่รู้ช่วยรักษาเขาเอาไว้ มันเบี่ยงเบนความสนใจเขาด้วยการควบคุมให้เขาทำเช่นนั้นต่อไป นักเขียนไม่มีวันล่วงรู้ว่างานของตนจะเสร็จลงเมื่อไหร่ อะไรก็ตามที่เคยจบสิ้นในหนังสือเล่มหนึ่ง เขาจะเริ่มใหม่ หรือทำลายมันในงานชิ้นถัดไป”
The Space of Literature หรือ L’espace de Littérature (1955) หนังสือความเรียงด้านปรัชญาวรรณกรรมเล่มสำคัญของโมริซ บล็องโชต์
สำหรับบล็องโชต์ งานเขียนและนักเขียนสะท้อนถึงภาวะโดดเดี่ยวด้วยตัวของมันเอง งานของนักเขียนคือภารกิจไม่สิ้นสุด เมื่อนักเขียนเขียนงานออกมาแล้ว เขาก็ถูกขับออกไปจากสิ่งตนเขียน และคงเป็นเช่นนี้เรื่อยไป ดังนั้น โดยไม่จำเป็นต้องแสดงออก หรือแม้แต่เอื้อนเอ่ย งานเขียนของนักเขียนจึงเป็นสิ่งที่แสดงถึงความโดดเดี่ยว เหมือนที่เขาได้กล่าวไว้ในอีกตอนหนึ่งว่า “ณ ที่ซึ่งฉันอยู่เพียงลำพัง ฉันไม่ได้อยู่ที่นั่น ไม่มีใครอยู่ที่นั่น และจะมีอยู่ก็เพียงความไม่มีใครเลย”
สิ่งที่บล็องโชต์อธิบายเกี่ยวกับความโดดเดี่ยวที่แท้จริงนั้นเรียกได้ว่าเป็นต้นเค้าทฤษฎีความคิดที่จะโด่งดังในกาลต่อมาของโรล็องด์ บาร์ตส์ (Roland Barthes) ที่เรียกว่า มรณกรรมของประพันธกร (La mort de l’Auteur) ซึ่งบล็องโชต์เรียกภาวะเช่นนี้ว่า Noli me legere หรือ ภาวะที่นักเขียนกลับไปอ่าน ‘งาน’ ของตนเองไม่ได้ เพราะเขามองไม่เห็น และอ่านไม่ออก งานเป็นความลับและกันเขาออกมา ซึ่งการเขียนก็เป็นภารกิจอันไม่สิ้นสุดจบสิ้น
โรล็องด์ บาร์ตส์ นักสัญวิทยาชื่อดังชาวฝรั่งเศส
ความโดดเดี่ยวของนักเขียนในที่นี้จึงไม่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ไม่ใช่ทั้งความเจ็บปวดที่เป็นสุขซึ่งหล่อเลี้ยงจิตใจคนเหงาทั้งหลาย และอาจเป็นรสชาติใหม่ สำหรับใครก็ตามที่อยากรู้จัก ‘ความโดดเดี่ยว’ ในแบบโมริซ บล็องโชต์
อ้างอิง
– Maurice Blanchot, The Space of Literature, translated by Ann Smock, (Lincoln: University of Nebraska Press, 1982).
Tags: Soliloquy, Maurice Blanchot, loneliness, solitude