ถ้าให้ยกตัวอย่างศิลปินญี่ปุ่นที่เป็นที่รู้จักของคนไทย คนส่วนมากมักจะยกตัวอย่างศิลปินชื่อดังเช่น ป้าลายจุด ยาโยอิ คุซามะ (Yayoi Kusama) เจ้าพ่อดอกไม้หลากสีอย่าง ทาคาชิ มูราคามิ (Takashi Murakami) ศิลปินในวงการถ่ายรูปอย่าง ไดโดะ โมริยามะ (Daido Moriyama) หรือเจ้าพ่อสายมัดอย่าง โนบุโยชิ อารากิ (Nobuyoshi Araki) แต่ถ้าถามคนในวงการศิลปะจัดวาง (installation art) แล้ว หนึ่งในชื่อที่ต้องโผล่ขึ้นมาแน่ๆ ก็คือชื่อของศิลปินหญิงตัวกระทัดรัดแต่ฝีมือร้ายกาจอย่าง ชิโอตะ ชิฮารุ (Shiota Chiharu) ศิลปินจัดวางและแสดงสดที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของวงการศิลปะญี่ปุ่น 

ตลอดการทำงานนาน 25 ปี เธอมีงานแสดงกว่า 300 ครั้งทั่วโลก โด่งดังในในฐานะศิลปินที่สำรวจเรื่องความสัมพันธ์และความเป็นความตายได้ลุ่มลึกที่สุดคนหนึ่ง และได้รับเกียรติให้เป็นตัวแทนญี่ปุ่นเพียงผู้เดียวจากศิลปินทั้งประเทศในงาน Venice Biennale ครั้งที่ 56 เมื่อปี 2015 

และตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน จนถึง 27 ตุลาคม ปีพ.ศ. 2562 นี้เอง ที่พวกเราจะได้มีโอกาสสัมผัสผลงานเด่นๆ ทั้งหมดของเธอในงาน ‘Shiota Chiharu: The Soul Trembles’ ที่พิพิธภัณฑ์ Mori Art Museum กลางกรุงโตเกียว

Dreaming Time (1999)

During Sleep (2008)

The Key in the Hand (2015)

จากโรคร้าย สู่แรงสร้างสรรค์

นับแต่เริ่มทำงานศิลปะในปี 1994 เธอทำงานสู่สายตาชาวโลกอย่างต่อเนื่องทุกปี ทั้งงานจัดวาง แสดงสด ประติมากรรม และภาพวาด คว้ารางวัลต่างๆ ทั่วโลก ได้รับเชิญไปสอนตามมหาวิทยาลัยศิลปะชั้นนำในต่างประเทศ ทว่าการทำงานหนักตลอดหลายสิบปีก็ทำให้สุขภาพของเธอแย่ลงจนโรคร้ายเริ่มเพรียกหา เธอได้รับการวินัจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งในปี 2005 ต้องเข้ารับการรักษาจนหายดี ก่อนกลับไปทำงานหนักยิ่งกว่าเดิม

แต่แล้วโรคมะเร็งก็กลับมาเยือนเธออีกครั้งในปี 2017 อย่างร้ายแรงกว่าเก่า ครั้งนี้เธอต้องเข้ารับการรักษาด้วยคีโมและการผ่าตัด ต้องทนทุกข์ทรมานเพื่อการรักษา แต่แทนที่จะหมดกำลังใจ โรคร้ายกลับผลักดันให้เธอจัดนิทรรศการครั้งนี้ขึ้นมาเพื่อ “ทบทวนและพูดคุยกับตัวเองอย่างบริสุทธิ์ใจ” ร้อยเรียงเป็นเรื่องราวชีวิตการทำงานตลอด 25 ปี เปิดเผยถึงความเป็นมาและพัฒนาการของชิ้นงานทั้งหมดที่เธอเคยทำครบถ้วนอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน 

เข้าชมงาน

ผู้เขียนไปชมนิทรรศการประมาณกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางบรรยากาศกรุงโตเกียวหน้าฝนขมุกขมัว ผู้เขียนมั่นใจว่าคงจะต่อคิวเข้าชมงานไม่นานเพราะวันนั้นเป็นวันธรรมดา แต่เมื่อขึ้นลิฟท์ไปถึงชั้นบนก็ต้องประหลาดใจเมื่อพบคนเป็นร้อยอัดแน่นยาวลงบันไดเป็นร้อยเมตร ก่อนจะนึกขึ้นได้ว่าเป็นเพราะวันนี้เป็นวันหยุด Marine Day ของคนญี่ปุ่นนั่นเอง ต้องบอกว่าอดชื่นใจไม่ได้ที่คนญี่ปุ่นจำนวนมาก โดยเฉพาะวัยรุ่นเลือกที่จะมาชมผลงานศิลปะในแกลเลอรี่กันอุ่นหนาฝาคั่งในวันหยุดแบบนี้

หลังฝ่าคิวเข้าไปได้ ทางสตาฟก็พาผู้เขียนขึ้นลิฟต์ไปที่ชั้น 52 ของตึก Mori Tower ที่ตั้งของนิทรรศการ เมื่อผู้เขียนเข้าไปถึงโถงของงาน ก็ต้องตื่นตาตื่นใจเมื่อเห็นงานชิ้นใหญ่นับสิบเมตรลอยอยู่เหนือบันไดเลื่อนด้านหน้า นี่คืองานชิ้น ‘Where Are We Going?’ (2008) ที่เป็นโครงเหล็กรูปเรือ ทอด้วยด้ายสีขาว ห้อยด้วยด้ายสีดำนับพันเส้น คล้ายเชื้อเชิญให้พวกเรานั่งเรือเข้าไปชมงานศิลป์ที่อยู่ด้านบน 

Where Are We Going? (2008)

เมื่อขึ้นบันไดเลื่อนไปแล้ว ผู้เขียนก็ได้เห็นชิ้นงานหลักที่เป็นดาราประจำงานครั้งนี้ นั่นคือห้องเรือแดง หรืองาน ‘Uncertain Journey’ (2016) ที่เต็มไปด้วยโครงเรือบนพื้น พันด้วยด้ายสีแดงที่พุ่งขึ้นไปยังเพดานและพันกันไปทั่วห้อง เหมือนความเป็นไปได้ต่างๆ มากมายที่เรามีโอกาสได้พบเมื่อนั่งเรือไปถึงจุดหมาย ถ้าถามว่าทำไมต้องเป็นด้ายสีแดง ทางคุณชิโอตะเองได้บอกไว้ว่า สีแดงนั้นเหมือนสีของเลือดที่ทำให้ทุกอย่างมีชีวิต และถ้ามองอีกนัยหนึ่ง ด้ายแดงเหล่านี้ก็เหมือนด้ายในตำนานด้ายแดงของคนญี่ปุ่น ที่คู่แท้ทุกคนจะมีด้ายแดงล่องหนคล้องนิ้วก้อยของทั้งสองคนเอาไว้ มีหน้าที่ดึงให้ทั้งคู่มาเจอกันในวันที่เหมาะสม

Uncertain Journey (2016)

หลังเดินผ่านสองงานใหญ่คับห้อง ผู้เขียนก็พบตัวเองอยู่ในโถงทางเดินเล็กๆ สีดำที่เต็มไปด้วยรูปต่างๆ เต็มผนัง ที่นี่เองที่ตัวนิทรรศการเริ่มเล่าถึงชีวิตของชิโอตะตามหัวข้อและเทคนิคที่เธอสนใจตั้งแต่ตอนยังเป็นนักศึกษาจนถึงตอนที่เป็นศิลปินมืออาชีพมีชื่อเสียงในปัจจุบัน

ลำดับชีวิต

เมื่อเข้ามาในทางเดินนี้ ผู้เขียนก็ต้องประหลาดใจเมื่อเห็นภาพวาดฝีมือเด็กน้อยบนผนังด้ายซ้าย ในรูปเต็มไปด้วยดอกไม้หลากสี ลายเส้นน่ารัก นี่คือผลงานของเด็กหญิงชิโอตะตอนอายุ 5 ขวบ ซึ่งเธอเขียนอธิบายไว้ว่า “ฉันเองชอบวาดรูปตั้งแต่เด็ก สงสัยเป็นเพราะอย่างนี้ฉันถึงได้โตมาเป็นศิลปิน”​ เหตุผลที่เธอนำรูปวัยเด็กของเธอมาจัดแสดงก็เพื่อเปรียบเทียบกับรูปข้างๆ ที่เป็นภาพวาดสีน้ำมันขนาดใหญ่ สมัยเป็นนักศึกษาคณะศิลปกรรม วิทยาลัย Kyoto Seikan สีสันของรูปสีน้ำมันสดใสไม่แพ้รูปวาดวัยเด็กของเธอ แต่ที่คำบรรยายข้างๆ นั้นกลับเต็มไปด้วยความปวดร้าวตรงกันข้ามกับสีสันในภาพโดยสิ้นเชิง

“นี่คือผลงานที่ฉันวาดด้วยอุปกรณ์ศิลปะทั่วไปเป็นชิ้นสุดท้ายในชีวิต ฉันวาดรูปนี้ด้วยความอึดอัด เหมือนความคิดสร้างสรรค์ถูกจำกัดด้วยฝีแปรงและเนื้อสีหยาบกร้าน จนฉันเสนอความรู้สึกข้างในออกมาไม่ได้เลยแม้แต่นิดเดียว ถ้าคนเราจะทำงานศิลปะต้องใช้แค่อุปกรณ์พวกนี้อย่างเดียว ฉันว่าฉันเลิกดีกว่า” นี่คือความรู้สึกของชิโอตะในโมงยามท้อแท้ขณะเรียนมหาวิทยาลัยที่บังคับให้เธอใช้แค่อุปกรณ์ศิลปะตามขนบ ซึ่งชิโอตะก็อาจจะเลิกทำงานศิลปะไปจริงๆ ถ้าเธอไม่ได้บังเอิญไปโครงการแลกเปลี่ยนที่ออสเตรเลีย และฝันเห็นภาพประหลาดในคืนๆ หนึ่งที่เปลี่ยนเธอไปตลอดกาล

Becoming Painting (1994)

“คืนหนึ่ง ฉันฝันว่าตัวเองกระโดดเข้าไปอยู่ในรูปที่วาด ได้แหวกว่ายอยู่ในเนื้อสี ข้างในมันอิ่มเอิบไปหมด ฉันใช้ตัวของฉันเองละเลงสี วาดเส้น ได้อย่างง่ายได้ นี่แหละคือทางของฉัน” 

ชิโอตะรวบรวมสีแดงทั้งหมดที่มี เอาผ้าใบมาห้อยไว้บนตัว แล้วขอให้เพื่อนสาดสีใส่จนมิด ถึงสีเคมีจะกัดผิวจนแสบ ย้อมตัวเธอเป็นสีแดงนานเป็นสัปดาห์ แต่ชิโอตะกลับมีความสุขอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ในชั่วข้ามคืน ชิโอตะคนเดิมได้ตายจากไป เกิดเป็นชิโอตะคนใหม่ที่ทิ้งฝีแปรงและผ้าใบเพื่ออุทิศตนสร้างผลงานศิลปะด้วยวิธีใดก็ได้ที่ไม่ใช่อุปกรณ์ศิลป์แบบดั้งเดิม

ตลอดทางเดินชิโอตะนำเสนอผลงานสมัยนักศึกษาที่เธอใช้วัสดุนอกเหนือจากอุปกรณ์ศิลปะทั่วไปมาสร้างสรรค์ชิ้นงาน เธอนำเอาเอาเมล็ดพืชมาเรียงเป็นเส้นยาวเต็มกำแพง จนเกิดเป็นงานชื่อ One Line (1994) ใช้ด้ายสีดำทอเป็นใยในแกลเลอรี่ในงาน Accumulation (1994) และใช้ด้ายแดงโยงจากเพดานลงมาที่ตัวเองที่นอนอยู่บนพื้นในงานธีสิสจบมหาวิทยาลัยอย่าง ‘From DNA to DNA’ (1994) เป็นครั้งแรกๆ ที่ด้ายเริ่มปรากฏในงานของเธอ

From DNA to DNA (1994)

ชิโอตะเขียนเอาไว้ว่า “แรงบันดาลใจในการใช้ด้ายของฉันเกิดจากการที่คุณยายของฉันเสียชีวิต ฉันคิดถึงคุณยายมาก เลยตั้งคำถามว่าวิญญาณของคุณยายตายแล้วไปไหน มีทางไหนอีกไหมที่ฉันจะได้เห็นวิญญาณของคุณยายอีก ฉันเริ่มทำการโยงด้ายจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง เพื่อทำสิ่งที่มองไม่เห็นในอากาศให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา หวังว่าจะได้มีโอกาสเห็นคุณยายอีกครั้ง” 

ชิโอตะทดลองการใช้ด้ายอย่างไม่หยุดยั้ง หลังเรียนจบ เธอสร้างผลงานที่ใช้ด้ายมากขึ้นและพัฒนาแนวคิดงานไปในทิศทางใหม่ๆ เช่น ‘Similarity’ (1996) ที่พัฒนาคอนเซ็ปต์ใยด้ายสีดำไปอีกขั้นด้วยการทาสีแดงบนด้าย ปล่อยให้สีหยดลงมาจนเกิดเป็น pattern บนพื้น ‘Return to Consciousness’ (1996) ที่เปลี่ยนจากสีแดงบนด้ายเป็นเลือดจริงๆ และ Flow of Energy (1996) นำเอาไม้ไผ่สีดำมาจัดเรียงบนพื้นใต้ใยด้ายเป็นวง

Return to Consciousness (1996)

Flow of Energy (1996)

จนหลังจากทำงานไปสองปี เธอก็ตัดสินใจไปเรียนต่อที่เยอรมนีตามรอยศิลปินเยอรมันที่ชื่นชอบ เธอได้เข้าเรียนที่ Braunschweig University of Art เมืองฮัมบูร์ก แต่แทนที่จะได้เรียนกับศิลปินในฝัน โชคชะตากลับพาเธอไปพบกับศิลปินชื่อดังอีกคนที่จะเปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล ศิลปินคนนั้นก็คือ มารินา อบราโมวิช (Marina Abramovic) 

ร่างกายเพื่อศิลปะ ความแปลกแยกที่ต้องชะล้าง

มารินา อบราโมวิช ถือได้ว่าเป็นศิลปินแสดงสดอันดับต้นๆ ของโลก ผลงานของเธอเน้นไปที่การท้าทายขีดจำกัดของร่างกายและความสัมพันธ์ระหว่างศิลปินและผู้ชมงาน ผลงานที่เป็นที่รู้จักของเธอก็เช่น Rhythm 0 (1974) ที่เธอยืนนิ่งๆนาน 6 ชั่วโมง ในห้องที่มีของ 72 อย่าง ทั้งอาวุธและของทั่วไป ให้ผู้ที่มาเข้าชมงานใช้ของเหล่านั้นกับเธออย่างไรก็ได้โดยเธอจะไม่ตอบโต้ จนเธอโดนทำร้ายนับสิบครั้งก่อนที่การแสดงจะยุติลง หรือ The Artist is Present (2012) ที่เธอนั่งนิ่งกลางโถงหลักของ Museum of Modern Art เชิญชวนให้ผู้ชมงานมานั่งลงตรงข้ามเธอแล้วจ้องตากันเป็นเวลา 8 ชั่วโมงต่อวัน นานเกือบ 3 เดือน 

ภายใต้การสอนของมารินา ชิโอตะจึงเข้าสู่วงการศิลปะแสดงสดเต็มตัว เธอทุ่มเทตัวเองฝึกฝนการใช้ร่างกายกับมารินา ประจวบกับความรู้สึกแปลกแยกในฐานะคนเอเชียนอกญี่ปุ่น โดดเดี่ยวแปลกแยกนอก ‘ดิน’ แดนบ้านเกิด ทำให้เกิดแนวงานใหม่ขึ้นมาในใจของชิโอตะ นั่นคือการใช้ดินและร่างกายของตัวเองเป็นผลงาน

ที่ผนังทางขวา ผู้เขียนได้เห็นผลงานที่ชื่อ ‘Try and Go Home’ (1997) ที่เธอแสดงในวิชาเรียนของอะบราโมวิช เธออดอาหารนาน 4 วัน ก่อนทาตัวเองด้วยโคลน แล้ววิ่งขึ้นหน้าผาดินจนตัวเองตกลงมาซ้ำๆหลายชั่วโมง แล้วจบงานด้วยการคลานเข้าไปในรูดิน ราวกับการที่การมาเรียนที่นี่ทำให้เธอไม่มีวันกลับไปที่ญี่ปุ่นได้อีก และเธอไม่มีทางเลือกนอกจากคลานเข้าไปในรกของ ‘พระแม่ธรณี’ เพื่อกำเนิดใหม่ในดินแดนแปลกหน้า

‘Try and Go Home’ (1997)

หรือชุดงาน ‘Congregation’ ที่เธอใช้เวลานานนับเดือนในการรวบรวมกระโหลกวัวจากตลาดสดมาเลาะเนื้อจนเหลือแต่กระดูก จัดวางให้เป็นวงกลมรอบสระโคลนแล้วลงไปแช่ในนั้นนานหลายชั่วโมง 

‘Congregation’ (1997)

เธอยังคงหมกมุ่นในเรื่องดินโคลนและสีผิวเมื่อเธอย้ายเข้าไปเรียนในเบอร์ลิน โดยเธอเริ่มสงสัยว่า “ถึงฉันจะอยู่ในเยอรมนีมาหลายปี แต่จริงๆแล้วฉันนับว่าเป็นคนที่นี่ได้หรือยัง ฉันสามารถชะล้างความเป็นญี่ปุ่นของฉันบนผิวกายออกไปได้หรือไม่ แล้วความญี่ปุ่นที่อยู่ข้างในผิวกายของฉันล่ะ” จนเกิดเป็นผลงาน video performance อย่าง Bathroom (1999) ที่เธอนอนในอ่างอาบน้ำ ทาโคลนบนตัวให้สกปรก เทน้ำล้างให้สะอาด แล้ววนลูปไปเรื่อยๆนับหลายชั่วโมงเพื่อ ‘ชำระล้าง’ สีผิวของเธอให้ ‘สะอาด’ 

หรือผลงานอย่าง After That (1999) ที่เธอถักกระโปรงยาวสูงขนาดตึกสามชั้นด้วยมือ ละเลงด้วยดินโคลน แล้วห้อยไว้จากเพดาน ปล่อยให้น้ำไหลลงมาเรื่อยๆจนเปียกโป่ง

ชิโอตะครุ่นคิดถึงประเด็นเรื่องสีผิวนี้อีกนับสิบปี จนไปถึงจุดสูงสุดในปี 2008 เมื่อเธอตีความผิวของคนเราว่า “เป็นกำแพงที่ปิดกั้นสิ่งที่เราเป็นอยู่ข้างในที่แท้จริง” เธอจริงนำความ ‘ความจริง’ ข้างในออกมาให้คนเห็น จำลองหลอดเลือดออกมานอกร่างกายของเธอแล้วพันไว้รอบตัว จนเกิดเป็นงานวิดีโอบันทึกการแสดงอย่าง Wall (2010) ที่ชิโอตะแสดงไว้ที่ปลายทางเดิน เป็นอันจบนิทรรศการงานช่วงนักศึกษาในเยอรมนีของเธอ

Wall (2010)

ผู้เขียนรู้สึกอินกับงานชิ้นนี้เป็นพิเศษเพราะผู้เขียนก็กำลังศึกษาต่ออยู่ต่างประเทศเช่นกัน ความรู้สึกของการเป็นคนนอกในสภาพแวดล้อมที่ไม่ใช่บ้านเกิดเป็นความรู้สึกที่รุนแรงประมาณหนึ่ง ซึ่งการที่ชิโอตะสามารถนำเอาความรู้สึกนี้มาดัดแปลงเป็นผลงานที่สร้างสรรค์สวยงามได้ขนาดนี้ ผู้เขียนต้องขอชื่นชมในความสามารถของเธอ

เชื่อมโยงโดยความเงียบงัน สร้างสรรค์ในสิ่งที่ขาดหาย

หลังออกจากทางเดิน ผู้เขียนก็ได้พบงานชิ้นใหม่ที่เธอทำขึ้นเพื่อนิทรรศการนี้โดยเฉพาะอย่าง Out of My Body (2019) ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากอาการป่วยของเธอเอง หลังเธอต้องเข้ารับการผ่าตัดโรคมะเร็ง แพทย์ได้ตัดชิ้นส่วนอวัยวะของเธอออกไป จนทำให้เธอรู้สึกราวกับวิญญาณบางส่วนของเธอถูกตัดออกไปด้วยจนไม่สมบูรณ์เหมือนเดิม เธอเลยสรรค์สร้างผลงาน sculpture เป็นชิ้นส่วนร่างกายที่เชื่อมต่อกันด้วยด้าย ราวกับเป็นการเชื่อมชิ้นส่วนร่างกายเหล่านั้นกับตัวเธอเอง เพื่อทดแทนชิ้นส่วนที่เธอต้องเสียไป

ชิโอตะยังคงพูดถึงเรื่องเดียวกันในห้องตัดไป ผู้เขียนเดินเข้าไปในห้องขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยด้ายสีดำปกคลุมไปทั้งห้อง ในดงด้ายคือเก้าอี้กว่า 70 ตัวที่รายล้อมเปียโนไหม้ไฟกลางห้อง นี่คือชิ้นงาน In Silence (2008)

In Silence (2008)

ครั้งแรกที่ได้เห็นงานชิ้นนี้ ต้องบอกว่าผู้เขียนรู้สึกขนลุกซู่ รู้สึกได้ถึงก้อนอารมณ์หนักอึ้งอัดแน่นอยู่ในห้อง ทั้งๆ ที่เก้าอี้ทุกตัวว่างเปล่า แต่ผู้เขียนกลับรู้สึกได้ว่าเก้าอี้ทุกตัวเหมือนมีคนนั่งฟังเปียโนอยู่ และทุกคนกำลังหันมาจ้องผู้เขียนที่บังอาจบุกเข้ามาในงานแสดงดนตรีครั้งนี้เขม็ง

บนผนังข้างตัวงาน เธอเขียนไว้ว่า “ตอนฉันอายุ 9 ขวบ ฉันจำได้ว่าบ้านข้างๆ ไฟไหม้ แล้ววันต่อมาเพื่อนบ้านก็เอาเปียโนหลังหนึ่งมาตั้งไว้หน้าบ้าน มันไหม้ไฟจนพังทั้งหลัง ไม่มีวันส่งเสียงอะไรได้อีก แต่ทั้งๆ อย่างนั้น ฉันกลับรู้สึกว่าความเงียบผิดปกติของมัน จริงๆ แล้วคือความสวยงามที่เราไม่เคยเห็น” สำหรับผู้เขียนแล้ว งานชิ้นนี้เหมือนเป็นการตั้งคำถามว่า ถ้าสิ่งๆ หนึ่งสูญเสียหน้าที่ดั้งเดิมของมันไป สิ่งนั้นๆ ยังคงมีความงามอยู่หรือไม่ เทียบได้เปียโนไหม้ไฟที่ไม่มีเสียง แต่ความเงียบของมันยังคงล่องลอยอยู่ในอากาศรอบๆ จนเราเห็นเป็นรูปร่างได้จากด้ายดำที่ทักทอให้เราเห็น

สักครู่หนึ่ง ผู้เขียนเลือกที่จะรีบเดินออกไปจากห้องนี้ ปล่อยให้คอนเสิร์ตเงียบเล่นต่อไปโดยที่ไม่มีเราไปรบกวน

ภายใน / ภายนอก

ในห้องถัดมา ผู้เขียนเห็นประตูหน้าต่างตั้งเรียงเป็นกำแพงสูงอยู่ที่มุมหนึ่งของห้อง นี่คืองาน Inside – Outside (2009) ช่วงปี 2004 อาคารในเบอร์ลินฝั่งเยอรมนีตะวันออกเริ่มโดนทุบเพื่อพัฒนาเป็นตึกสมัยใหม่ เกิดการทิ้งประตูหน้าต่างเก่าๆ มากมาย ความสนใจเรื่องผิวและโลกภายใน/ภายนอก ทำให้ชิโอตะมองว่า ทั้งหน้าต่างและประตูเป็นได้ทั้งกำแพงที่ปิดกั้นเราจากโลกอีกด้านและช่องทางที่เราจะได้เห็นโลกใบนั้น เธอจึงตระเวนรวบรวมประตูหน้าต่างเหล่านี้มาสร้างเป็นผลงาน เพื่อพูดถึงพิ้นที่ภายใน/ภายนอกที่หน้าต่างเป็นตัวขวางกั้น และประวัติศาสตร์การเมืองเข้มข้นของกำแพงเบอร์ลินอีกด้วย 

ในห้องนี้มีงานอีกชิ้นที่พูดเรื่องเดียวกัน นั่นก็คือ Reflection of Space and Time (2018) ที่เป็นชุดเดรสหนึ่งตัวลอยอยู่ในใยด้ายดำหน้ากระจก เกิดเป็นภาพสะท้อนเดรสสองตัว ชิโอตะมองว่า เสื้อผ้าอย่างกระโปรงก็เป็นเส้นแบ่งระหว่างร่างกายกับโลกภายนอก และภาพสะท้อนของกระโปรงในกระจกเป็นการทำให้เส้นแบ่งระหว่างโลกความเป็นจริงและโลกสมมติพร่าเลือนไป

Inside – Outside (2009)

Reflection of Space and Time (2018)

ศิลปะการละคร

หลังจากทำงานศิลปะที่จัดแสดงในแกลเลอรี่มานับสิบปี ผู้กำกับละครเวทีโตชิบะ โอคาดะ (Toshiba Okada) ก็เชื้อเชิญชิโอตะให้มาออกแบบฉากของละครเวทีเรื่องใหม่ของเขา Tattoo (2009) ซึ่งเธอก็ได้นำผลงาน Inside/Out มาดัดแปลงเป็นฉากละครเวทีได้อย่างน่าตื่นตา ห้องนี้รวบรวมผลงานฉากละครเวทีของเธอทั้งหมดให้พวกเราได้ชม เธอได้รับโอกาสให้ดัดแปลงงานเก่าๆของเธอมาเป็นฉากละครเวทีอีกหลายเรื่องในประเทศญี่ปุ่นและเยอรมนี เช่นเรื่อง Matsukaze (2011) ที่นักเต้นในเรื่องปีนด้ายดำขึ้นลงไปมา หรือ Tristan und Isolde (2014) ที่เธอใส่เรือและใยด้ายลงไป นอกจากงานละครเวที ชิโอตะได้ออกแบบงานคอนเสิร์ตด้วยเช่นกัน เช่นงาน Alif:: Split in the Wall (2016) ที่นำผลงานหลอดเลือด Wall ของเธอมาขยายเป็นขนาดใหญ่ 

Tattoo (2009)

Matsukaze (2011)

Tristan und Isolde (2014)

Alif:: Split in the Wall (2016)

ความทรงจำออกเดินทาง

แล้วผู้เขียนก็มาถึงห้องสุดท้ายของนิทรรศการ กลางโถงยาว กระเป๋าเดินทาง 430 ใบถูกห้อยด้วยด้ายแดงอยู่กลางอากาศตลอดความยาวของห้อง กระเป๋าบางใบหมุนและลอยขึ้นลงอยู่กับที่ นี่คือชิ้นงาน Accumulation – Searching for the Destination (2016) ที่ชิโอตะได้แรงบันดาลใจจากกระเป๋าที่เต็มไปด้วยหนังสือพิมพ์เก่าๆ ที่เธอพบในกรุงเบอร์ลิน กระเป๋าใบนั้นทำให้เธอรู้สึกว่าทุกสรรพสิ่งล้วนมีความทรงจำผูกพัน กระเป๋าเดินทางทุกใบย่อมเต็มไปด้วยประวัติการเดินทาง ทั้งการท่องเที่ยวและการเสาะหาบ้านใหม่ของผู้คน โดยเฉพาะผู้อพยพ แต่นอกจากนั้น ผู้เขียนก็อดคิดไม่ได้ว่า งานชิ้นนี้อาจสื่อถึงชะตากรรมของชาวยิวที่ถือกระเป๋าเดินทางขึ้นรถไฟ มุ่งหน้าไปยังค่ายกักกันเพื่อพบกับจุดจบอันน่าเศร้าในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองก็เป็นได้

Accumulation – Searching for the Destination (2016)

และที่มุมสุดท้ายของห้องก่อนเข้าสู่กิฟท์ช็อป ชิโอตะปิดงานด้วยคลิปวิดีโอสั้นๆ ขณะเธอกำลังถามเด็กๆ ในเบอร์ลินว่า “วิญญาณคนเราอยู่ไหน” ให้เด็กๆ ได้ตอบคำถามเป็นการปิดท้าย  

และนี่ก็คือบทสรุปของชีวิตในโลกศิลปะตลอด 25 ปีของชิโอตะ ชิฮารุ ปัจจุบันเธอยังคงทำงานชิ้นใหม่ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง มีงานแสดงทั่วโลกและกล้าพัฒนาแนวคิดของเธอไปในทิศทางใหม่ๆ อยู่เสมอ ผู้เขียนแอบหวังว่างานนี้จะทำให้เธอเป็นที่รู้จักมากขึ้นในเมืองไทยไม่มากก็น้อย

*ขอขอบคุณภาพถ่ายบางส่วนจาก Mori Art Museum และเว็บไซต์ของศิลปิน*

Fact Box

นิทรรศการ Shiota Chiharu: The Soul Trembles ยังจัดอยู่จนถึงวันที่ 27 ตุลาคม ปีนี้ ถ้าใครได้มีโอกาสไปโตเกียวต้องขอแนะนำให้ไปทำความรู้จักกับศิลปินญี่ปุ่นผู้ลุ่มลึกเรื่องความสัมพันธ์และจิตวิญญาณคนนี้ รับรองเลยว่าจะไม่เสียใจ