“เราทำงานสายมาร์เก็ตติงมาก็จริง แต่อยู่ในธุรกิจ FMCG ตลอด เพราะฉะนั้นตอนที่มาทำงานกับเชลล์แรกๆ ก็รู้สึกว่าไม่ค่อยตรงกับแบ็กกราวนด์เราสักเท่าไหร่ แต่ก็อยากรู้ว่าทำไมเขาถึงอยากได้คนที่มีประสบการณ์ในด้านนี้มาทำงาน พอได้พยายามทำความเข้าใจว่าบริษัทฯ คาดหวังอะไร ก็เห็นเป็นโอกาสที่น่าสนใจ”
จากจุดเริ่มต้นที่มองเห็นความน่าสนใจในอุตสาหกรรมที่ไม่คุ้นเคย มาถึงตอนนี้ วีธรา ตระกูลบุญ กรรมการบริหารธุรกิจน้ำมันหล่อลื่น บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด เป็นกำลังสำคัญของบริษัทนี้มาได้ 5 ปีแล้ว และเป็น 5 ปีที่เธอบอกว่า “สนุกทุกปี” กับการทำให้ธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นของเชลล์สามารถมีส่วนเติมความสุขให้กับลูกค้าได้อย่างแท้จริง
โจทย์ที่ได้รับจากเชลล์ตอนที่เข้ามาทำงานที่นี่ครั้งแรกคืออะไร
ในอดีตที่ผ่านมาเชลล์ให้ความสำคัญกับเรื่องการผลิตนวัตกรรมและผลิตภัณฑ์คุณภาพเป็นอย่างมาก บริษัทได้ศึกษาและเห็นโอกาสจากการตอบรับกับความต้องการต่างๆ ของผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความท้าทายในการตอบโจทย์ของผู้บริโภคที่มีความซับซ้อนมากขึ้น ประกอบกับการแข่งขันที่รุนแรง บริษัทจึงต้องโฟกัสกับการผลิต แต่ก็ไม่มองข้ามความต้องการในรายละเอียดของผู้บริโภค เพื่อความแข็งแกร่งในระยะยาวแล้ว เชลล์จึงมองหาคนที่จะเข้ามาทำให้ทีมมาร์เก็ตติงมีศักยภาพในแง่ของการพัฒนาบุคลากร ความสามารถ รวมถึงระบบการทำงาน ทำทุกอย่างให้เป็น customer centric มากขึ้น เข้าใจอินไซต์มากขึ้น เพราะฉะนั้นจุดที่สำคัญก็อยู่ที่การสร้างเชลล์ให้เป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็งด้านการตลาดมองเห็นและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคอย่างแท้จริง
ช่วงแรกกับช่วงนี้ที่ผ่านมา 5 ปีแล้วแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหน
คิดว่าเยอะค่ะ สมัยที่เข้ามาแรกๆ เรารู้สึกว่าเรื่องกลยุทธ์เป็นเรื่องค่อนข้างไกลตัว เป็นภาพระดับโกลบอล ลิงก์กลับมาที่ตัวเราและประเทศไทยได้ยาก ทำให้การทำงานส่วนใหญ่ในด้านการตลาดจะเป็นการเน้น short term และยังต้องทำความเข้าใจผู้บริโภคอีกพอสมควร ซึ่งโจทย์อย่างหนึ่งของการ transformation คือทำให้การตลาดเป็นกำลังสำคัญอันดับต้นๆ ของบริษัท เพราะฉะนั้นเราต้องรู้การเปลี่ยนแปลงของตลาด รู้ความต้องการของลูกค้า ต้องวางแผนได้
ดังนั้น 5 ปีที่ผ่านมาเลยเห็นการพัฒนาค่อนข้างเยอะ คนที่ทำงานต้องพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ อย่างสิ่งใหม่ที่เข้ามาในยุคหลังก็คือเรื่องดิจิทัล เราก็เริ่มเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เข้าสู่ดิจิทัลด้วย ซึ่งต้องยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงพวกนี้นอกจากตัวเราเองแล้ว ตลาดก็ทำให้เราต้องเปลี่ยนด้วยเช่นกัน
การนำเรื่องดิจิทัลเข้ามาใช้ในการทำงานนั้นมีรูปแบบไหนบ้าง
หลายเรื่องเลย เพราะจริงๆ ดิจิทัลเป็นเรื่องใหญ่และเป็นสิ่งที่ disrupt ตลาด เรื่องนี้เป็นที่ยอมรับในทุกๆ สายงาน ในทีมที่เราดูแลเอง แม้จะมองว่าคุณภาพผลิตภัณฑ์อาจยังไม่ได้ถูก disrupt ด้วยดิจิทัลมากนัก แต่ว่าดิจิทัลก็มีผลในทุกๆ เรื่องที่เราทำ อย่างทุกวันนี้ในเรื่องของการผลิต เราได้มีการใช้ระบบดิจิทัลและเครื่องจักรต่างๆ มากขึ้น เพราะช่วยทั้งในเรื่องประสิทธิภาพการผลิตและลดความเสี่ยงเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน
ในฝั่งของการขายและการตลาด เรื่องที่เราทำอย่างจริงจังก็อย่างเช่นการขายผ่านช่องทางดิจิทัล โดยเราเข้าไปอยู่ในวงการ e-commerce เรียบร้อยแล้วและมีพันธมิตรที่หลากหลาย ได้แก่ Lazada, Shopee และ JD Central ทำให้เราได้เริ่มทดลองการขายออนไลน์ที่ถือว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่สำหรับทีมเรา
เท่าที่ทำเรื่องนี้กันมาประมาณปีครึ่ง เรายังไม่ได้คาดหวังว่าผลลัพธ์จะต้องโตขึ้นมากในเวลาสั้นๆ เพราะเราเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคว่า คนที่เปลี่ยนน้ำมันเครื่องประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้เป็นคนเลือกน้ำมันเครื่องเอง คนเลือกจริงๆ คือช่าง แต่เจ้าของรถจะเลือกอู่ เลือกศูนย์ โดยขึ้นอยู่กับความสะดวกสบายหรือความไว้เนื้อเชื่อใจช่าง แต่พอดิจิทัลเข้ามา ทำให้คนต้องเลือกสินค้าที่จะใช้ อย่างถ้าเป็นเจ้าของรถก็ต้องรู้แล้วว่าน้ำมันแต่ละเกรดต่างกันอย่างไร แต่ละยี่ห้อเป็นแบบไหน เพราะคนที่เลือกของออนไลน์จะหาข้อมูลและรู้ว่าตัวเองอยากได้อะไร ต่างกับแต่ก่อนที่จะเป็นแบบอะไรก็ได้ ช่างบอกว่าดี ก็เชื่อว่าดี เราค่อยๆ ศึกษาไปว่าการมีช่องทางขายแบบออนไลน์จะทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมได้มากแค่ไหน ซึ่งก็เห็นกันว่ามันค่อยๆ โตขึ้น
อีกอย่างหนึ่ง เราเชื่อว่ามีลูกค้าบางส่วนซึ่งที่ผ่านมาหาซื้อน้ำมันเครื่องไม่ได้ อย่างเช่นอยากได้เกรดนี้ ยี่ห้อนี้ ซึ่งพรีเมียมมากๆ แต่ที่อู่ไม่มีขายเพราะไม่ได้สต็อกไว้ ก็เลยไม่มีทางเลือก แต่พอตอนนี้เขามีทางเลือกแล้ว เขาก็จะสนุกสนานกับการช้อปปิ้งมากขึ้น ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพตามตั้งใจ
จากจุดนั้น เราพัฒนาอีกช่องทางขึ้นมา เป็นแบบ O2O นั่นคือ Online to Offline ให้เจ้าของรถสามารถซื้อผลิตภัณฑ์น้ำมันเครื่องผ่านทางช่องทางออนไลน์ พอจ่ายเงินเสร็จก็จะมีทีมติดต่อไปสอบถามว่าสะดวกไปเปลี่ยนน้ำมันเครื่องที่ไหน ซึ่งตอนนี้เรามีศูนย์ Shell Helix Oil Change+ ที่อยู่ในสถานีบริการน้ำมันของเชลล์ ลูกค้าสามารถเลือกศูนย์ในสถานีบริการที่ใกล้หรือสะดวกที่สุด นัดหมายเวลาเรียบร้อยแล้วก็เอารถไปรับบริการได้เลย เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องได้เลย เราพัฒนาระบบนี้ขึ้นมาเพื่อดูว่าจะเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าได้แค่ไหน
นอกจากการก้าวเข้าสู่วงการ e-commerce ยังมีเรื่องไหนอีกบ้างที่เรื่องดิจิทัลเข้ามามีส่วนในการทำงาน
เรื่องดิจิทัลมาร์เก็ตติงก็เปลี่ยนชัดเจน จากสื่อดั้งเดิมก็มาให้ความสำคัญกับเรื่องดิจิทัลมากขึ้น เพราะทุกวันนี้คนเสิร์ชหาข้อมูลบนอินเตอร์เน็ตมากขึ้น เราจึงใช้จุดนี้ทำโฆษณาหรือทำคอนเทนต์ในช่องทางนี้มากกว่าแต่ก่อน เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภครุ่นใหม่ด้วย
ด้านการบริการลูกค้าภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเองก็มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเยอะขึ้น อย่างเรามีทีมเทคนิคที่คอยบริการลูกค้า เราก็เลยสร้างเครื่องมือดิจิทัลขึ้นมา ทำให้ data มีความเรียลไทม์มากขึ้น เป็นแพลตฟอร์มที่สามารถดู dashboard ผ่านไอแพ็ดได้เลย ผู้จัดการโรงงานหรือวิศวกรมีความสะดวกสบายกว่าเดิม เพราะการเห็น data แบบเรียลไทม์ทำให้ตัดสินได้ว่าควรจะทำอะไร ต้องซ่อมอะไรตรงไหน ต้องหยุดเครื่องจักรก่อนหรือเปล่า ถือเป็นการใช้ดิจิทัลให้เป็นประโยชน์ในแง่ของการบริการทางเทคนิคที่ทีมเชลล์มีให้กับลูกค้าเพิ่มเติมจากบริการอื่นๆ
การแนะนำเครื่องมือทางดิจิทัลให้ลูกค้าใช้ถือเป็นเรื่องยากไหม
ถือว่าไม่ใช่เรื่องยาก เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ค่อนข้างคุ้นเคยกับเรื่องดิจิทัลอยู่แล้ว โดยเฉพาะลูกค้าที่เป็นกลุ่มบริษัทใหญ่ๆ แต่สิ่งที่เราทำให้เขาก็คือเรามี index ต่างๆ ที่ช่วยในการตัดสินใจได้ เพราะสิ่งที่ลูกค้าต้องการไม่ใช่แค่ระบบ แต่คือการประเมิน การอ่านค่า ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมากเพราะต้องใช้ทักษะ ใช้ความชำนาญ อ่านแล้วบอกได้ว่าตรงนี้มีปัญหา ตรงนั้นต้องแก้ไข
ตัวอย่างที่ชัดเจนมากของเรื่องนี้คือ การทำงานร่วมกับลูกค้ากลุ่มโรงงานน้ำตาล เรื่องนี้ถือเป็นความภาคภูมิใจของทีมเชลล์เป็นอย่างมาก โดยอุตสาหกรรมน้ำตาลถือเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญมากของไทย ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลต้นๆ ของโลก เป็นส่วนหนึ่งของการสร้าง GDP ของประเทศ แล้วน้ำตาลก็ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่เวลาเชลล์ทำงานกับลูกค้า เราต้องเข้าใจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ไม่ใช่แค่ขายน้ำมันแล้วจบ แต่เราต้องการที่จะช่วยเหลือลูกค้าในด้านอื่นๆ อย่างเต็มที่ด้วย อาทิ การลดต้นทุนในการผลิต ซึ่งต้องเริ่มจากการเข้าใจธุรกิจแบบองค์รวม
ต้นน้ำของธุรกิจน้ำตาลคือชาวไร่อ้อยซึ่งจะตัดอ้อยแทบจะ 24 ชั่วโมงเพื่อให้ได้อ้อยที่สามารถผลิตเป็นน้ำตาลที่มีคุณภาพ ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงได้เข้าไปสนับสนุนการทำงานของชาวไร่อ้อย โดยการช่วยให้เครื่องจักรสามารถทำงานได้ตลอดช่วงเก็บเกี่ยว ซึ่งน้ำมันหล่อลื่นก็เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลอุปกรณ์ต่างๆ ของชาวไร่เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโรงงานจะมีซัพพลายที่ดีในสายการผลิต สำหรับช่วงกลางน้ำคือการหีบอ้อยที่มีการผลิตอย่างต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง เรามีทีมเทคนิคเข้าไปให้บริการเพื่อปกป้องการหยุดผลิตโดยไม่จำเป็น เพราะ pain point ของเขาคือหยุดการทำงานไม่ได้ ถ้าหยุดปุ๊บจะเกิดดาวน์ไทม์ ส่งผลให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยเราได้นำเทคโนโลยีคือ dashboard ที่สามารถดูได้แบบเรียลไทม์เป็นเครื่องมือให้กับโรงงานน้ำตาล เรียกได้ว่า เราเป็นส่วนสำคัญในการช่วยให้การทำงานต่อเนื่อง สำหรับปลายน้ำคือกากอ้อยที่สามารถนำไปใช้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน เราก็จะเข้าไปดูผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นี่คือตัวอย่างของการทำงานอย่างครบวงจรจริงๆ
นอกจากเรื่องการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้น ที่เห็นชัดเจนอีกอย่างของเชลล์ก็คือเรื่องกิจกรรมเพื่อสังคมด้วย อย่างเช่นการจัดการแข่งขัน Shell Advance Masterclass อยากให้ช่วยเล่าถึงกิจกรรมนี้ให้ฟังเพิ่มเติม
การเข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคม ถือเป็นสิ่งที่เชลล์ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง การจัดการแข่งขัน Shell Advance Masterclass ถือเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของเรา โจทย์คือเราทำงานกับลูกค้าที่เป็นร้านซ่อมรถมอเตอร์ไซค์ โดยเชลล์ได้ทำการสำรวจแล้วพบว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของคนใช้มอเตอร์ไซค์ วางใจให้ช่างเป็นคนดูแลพาหนะของพวกเขา ในขณะที่พอเราไปถามช่างในประเทศไทย พวกเขาเองต่างก็อยากเรียนรู้มากขึ้น เพื่อที่พวกเขาจะได้ส่งมอบการบริการและทักษะการซ่อมที่เป็นมาตรฐานให้แก่ลูกค้า เราเลยเห็นโอกาสตรงนี้และเลือกที่จะทำงานร่วมกับช่าง
ช่วงแรกเราทำเป็นแคมเปญ Shell Advance Masterclass เพิ่มการเรียนรู้และทักษะต่างๆ ให้กับช่าง ผ่านสื่อในแบบวิดีโอ แล้วก็ค่อยๆ เพิ่มคอนเทนต์เข้ามาเรื่อยๆ
มาในปีนี้ น้องในทีมเกิดไอเดียใหม่ที่ต่อยอดเป็นการทำงานกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อหาคนที่เก่งๆ มาช่วยสอน ช่วยแนะนำ แล้วก็ขยายเป็นการจัดแข่งขัน Shell Advance Masterclass เอาช่างที่เป็นพาร์ตเนอร์กับเชลล์ทั่วประเทศมาแข่งกันตามภาค ทั้ง 5 ภาค จากนั้นนำผู้ชนะแต่ละภาคมาแข่งกันที่กรุงเทพฯ โดยได้ผู้ใหญ่ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน รวมถึงท่านอาจารย์ต่างๆ มาเป็นกรรมการ มาออกข้อสอบ และวัดผล ช่างของเราที่มาแข่งขันเขาก็ได้ทั้งความสนุก ได้ทักษะใหม่ๆ และได้รางวัลจากการแข่งขันด้วย
ปีนี้เป็นปีแรกที่จัดการแข่งขัน ซึ่งทำแล้วเรามีความสุขกันมาก เราดีใจที่เห็นช่างของเรามีความสุขด้วย เขารู้สึกเหมือนได้เปิดโลกของตัวเองและอยากที่จะเรียนรู้ให้มากขึ้นไปกว่าเดิม ที่สำคัญยังเป็นการยกระดับมาตรฐานของช่างในไทย โดยเราหวังไว้ว่าช่างในไทยจะเป็นช่างที่เก่งที่สุดในภูมิภาคหรือระดับโลก ซึ่ง 10 คนแรกที่ผ่านการแข่งขันก็ได้ไปชมการแข่งขัน MotoGP รวมถึงเข้าร่วมเวิร์กช็อปและการแข่งขันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่าช่างมอเตอร์ไซค์ไทยได้แสดงความสามารถคว้ารางวัลชนะเลิศจากงาน Masterclass Global Mechanic Competition Championship ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา
เพราะอะไรเชลล์จึงให้ความสำคัญกับกิจกรรมเพื่อสังคมไม่น้อยไปกว่ากิจกรรมด้านการตลาด
เพราะเรื่องนี้ถือเป็นพันธกิจของเชลล์ บริษัทเราอยู่ในเมืองไทยมานานกว่า 127 ปีแล้ว ถ้าเราเข้ามาแค่เพื่อผลประโยชน์จากประเทศไทย ก็คงไม่สามารถอยู่ได้นานขนาดนี้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำให้เราอยู่ได้นาน อยู่ได้อย่างยั่งยืน ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเราเติบโตเคียงข้างสังคมไทย เรื่องการช่วยเหลือสังคมเป็นเรื่องหนึ่งที่เชลล์ให้ความสำคัญมาก ยิ่งในฐานะที่เป็นคนไทยและอยู่ในองค์กรเชลล์ มันคือความภูมิใจที่อยู่ในองค์กรที่ไม่ใช่แค่มาทำงานในประเทศไทยแล้วจบ แต่ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างสังคมไทย และร่วมส่งเสริมศักยภาพให้กับคนในประเทศไปพร้อมๆ กัน
การทำงานในบริษัทน้ำมัน ส่วนตัวแล้วภูมิใจเสมอที่เราสามารถตอบสนองความต้องการด้านพลังงานของผู้คน ในขณะที่มีบทบาทสำคัญในการร่วมกันลดมลภาวะ และเป็นส่วนหนึ่งที่ร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยมุ่งสร้างความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อม การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการนำพลังงานมาสร้างความสุขให้กับผู้คนในสังคมด้วยการมีชีวิตที่ดีขึ้นในทุกๆ วัน สำหรับทีมน้ำมันหล่อลื่น ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะรวมกลุ่มกันไปปลูกป่าอย่างสม่ำเสมอในพื้นที่ต่างๆ ทีมให้ความสำคัญและร่วมมือร่วมใจกันในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และขณะเดียวกันก็ส่งมอบผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นที่ลดการปล่อยคาร์บอน ถือว่าเพิ่มประสิทธิภาพ และดีต่อสิ่งแวดล้อม
ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของการทำธุรกิจน้ำมันหล่อลื่นในปัจจุบันนี้คืออะไร
น่าจะเป็นการเข้าใจความต้องการของลูกค้าเราจริงๆ ซึ่งต้องแบ่งเป็นลูกค้าสายธุรกิจกับลูกค้าผู้บริโภค สายธุรกิจก็อย่างเช่นเรื่องอุตสาหกรรมน้ำตาล ซึ่งการทำงานจะไม่หยุดนิ่งแค่ขายของแล้วจบ แต่ต้องคิดว่าทำอย่างไรจึงจะพัฒนาศักยภาพเพื่อช่วยลดต้นทุนโดยรวมในการดำเนินธุรกิจ (Total Cost of Ownership) ให้แก่ลูกค้า ไปจนถึงการเข้าใจสินค้าให้มากขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อันนี้คือเรื่องแรก
สองคือเรื่องการพัฒนารูปแบบใหม่ๆ ของการให้การบริการ ในเมื่อเรามีทีมเทคนิคที่ดีมาก ทำอย่างไรถึงจะให้ทีมเทคนิคของเราช่วยลูกค้าได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ที่เรามองไปถึงเรื่องการบริการเพราะถ้าโจทย์ของเราคือความสำเร็จของลูกค้า คือการลดต้นทุนองค์รวมของลูกค้า ความท้าทายคือเราจะทำอย่างไรให้ไปถึงจุดนั้นได้ ซึ่งกลยุทธ์ที่เราวางไว้อย่างหนึ่งก็คือการใช้ดิจิทัลให้เป็นประโยชน์นั่นเอง
สามก็คือเรื่องขององค์กรและบุคลากร เราจะทำอย่างไรให้คนของเราทำงานในมุมมองที่เปิดกว้างมากขึ้น มองเห็นโอกาสมากกว่าอุปสรรค เพราะว่าหนึ่งในความท้าทายขององค์กรที่ทำเรื่องน้ำมันก็คือ เป็นไปได้มากว่าเรามักจะเห็นอุปสรรคก่อนโอกาส เห็นว่าโลกเปลี่ยนไป มีรถไฟฟ้าเข้ามา ถามว่ามันเป็น disruption ไหม มันเป็น แต่ถามว่าในฐานะที่เป็นเชลล์ เรามองอะไร เราก็ต้องไม่มองว่าตัวเองเป็นคนผลิตน้ำมัน ต้องมองและทำตัวเองเป็น Energy provider เพราะถ้ามองอย่างนี้ มันจะเปิดให้เรามองได้กว้างขึ้น เราไม่จำเป็นต้องยึดติดแค่เรื่องน้ำมันเท่านั้น แต่ให้มองว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของการตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างไร มีทางเลือกอะไรที่จะนำเสนอให้ลูกค้าได้บ้าง ซึ่งโจทย์นี้อยู่ในการทำงานทุกระดับของเรา
กลยุทธ์ของเชลล์ในปีหน้าจะยังคงเป็นเรื่องเติมความสุขอยู่เหมือนเดิมหรือเปล่า
สำหรับธุรกิจน้ำมันหล่อลื่น เรามองว่า การเติมสุขให้ทุกชีวิต เป็นแนวทางที่ทำให้คนเข้าใจได้อย่างดีด้วยคำไม่กี่คำ ให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่าที่เราทำมาทั้งหมดเพื่ออะไร ก็เพื่อเติมสุขให้ชีวิตคน เติมความสุขให้กับลูกค้า ให้กับคู่ค้า
หนึ่งในแนวทางการอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน และสุขไปกับชีวิตด้วยกัน คือ การมีวัฒนธรรมที่เรียกว่า Outward Mindset คือการมองเห็นคนเป็นคน ไม่ใช่วัตถุ เพราะเวลาเราทำอะไรไปให้คน มันจะมีความหมาย ไม่ใช่แค่ทำๆ แล้วจบไป จะมีเรื่องของ emotional เรื่องของคุณค่าที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ปนอยู่ด้วย พอมีเรื่องนี้เป็นทั้งแนวทางในการทำธุรกิจและปลูกฝังอยู่ในวัฒนธรรมองค์กร เราจะเห็นแต่คนเต็มไปหมด ทั้งคู่ค้าของเรา ทั้งพนักงานขาย ทั้งซัพพลายเออร์ของเรา ทุกคนใน ecosystem ของเรามีความหมายทั้งนั้น ทำอย่างไรเราถึงจะเติมความสุขให้ทุกคนได้ ซึ่งไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ต้องตอบจุดประสงค์นี้ได้ การ deliver ตัวเลขคือทำอย่างไรให้ขายได้ แต่การ deliver ความภูมิใจในสิ่งที่ทำให้คนอื่น นั่นอาจจะวัดเป็นตัวเลขไม่ได้ แต่ว่าทำได้
5 ปีที่ผ่านมาในการทำงานกับเชลล์ สนุกกว่าที่คิดไหม
เรียกว่าสนุกทุกปี หลังๆ นี่โลกเปลี่ยนเร็วมากนะ มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาตลอด โจทย์เราจึงไม่ใช่แค่ว่าเรามีสินค้าอะไรบ้าง แต่คือเราจะช่วยลูกค้าได้อย่างไร ซึ่งโจทย์นี้ทำให้เราหลุดจากกรอบของคำว่า น้ำมัน ไปสู่ภาพรวมที่ใหญ่กว่านั้น ตอนนี้โจทย์ที่สนุกก็คือจะใช้เรื่องดิจิทัลให้มีประโยชน์อย่างไรเพื่อให้เราทำธุรกิจในแบบที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างจริงจัง ก็จะค่อยๆ พัฒนาและเรียนรู้กันต่อไปค่ะ
Tags: วีธรา ตระกูลบุญ, Shell, Shell Thailand