ครั้งที่สามีของแชรอน คินนี (Sharon Kinne) เสียชีวิตเพราะถูกยิงที่ศีรษะ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังสันนิษฐานว่าเป็นอุบัติเหตุ หลายเดือนต่อมา ตำรวจสืบสวนถึงค่อยมาเพ่งเล็งที่ภรรยา และยังพบอีกว่า การตายของสามีเธอไม่น่าจะเป็นการฆาตกรรมครั้งสุดท้ายของเธอ
ตอนค่ำของวันที่ 19 มีนาคม 1960 แชรอน คินนีได้ยินเสียงปืนลั่นในห้องนอน เธอเปิดประตูเข้าไป และเห็นสามีของเธอนอนจมกองเลือดอยู่บนเตียง กระสุนปืนลั่นผ่านท้ายทอยของเขา ที่ด้านหน้าเตียงนอนมีลูกสาววัยสองขวบนั่งเล่นปืนกระบอกนั้นอยู่ในมือ เจมส์ คินนี (James Kinne) เสียชีวิตระหว่างถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล
ดูคล้ายเป็นอุบัติเหตุน่าเศร้าสลดที่มักเกิดขึ้นบ่อยครั้งในสหรัฐอเมริกา – อย่างน้อยนั่นก็เป็นคำอธิบายของแม่บ้านที่มีบุคลิกนิ่งเงียบ อายุเพิ่งย่าง 20 ปี ระหว่างให้การกับตำรวจ การพิสูจน์กับอาวุธปืนชนิดเดียวกันก็บ่งชี้ว่า เด็กหญิงตัวน้อยสามารถเหนี่ยวไกปืนเองได้ อีกทั้งเพื่อนสนิทและเพื่อนบ้านยังยืนยันว่า เจมส์ชอบปล่อยให้ลูกสาวเล่นปืนอยู่บ่อยๆ เจ้าหน้าที่จึงสรุปการตายของเขาเป็นอุบัติเหตุ บริษัทประกันยอมจ่ายเงินให้กับแชรอนร่วม 30,000 ดอลลาร์ ทั้งที่ความจริงแล้วหญิงสาวผู้นี้ให้การเท็จแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เพราะนั่นคือจุดเริ่มต้นของเส้นทางอาชญากรรมของเธอ ผู้มีสมญานามว่า ‘La Pistolera’ ในเวลาต่อมา
แชรอน คินนี หรือแชรอน เอลิซาเบธ ฮอลล์ (Sharon Elizabeth Hall) เกิดเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 1939 ในรัฐมิสซูรี ตั้งครรภ์ครั้งแรกตอนอายุ 16 และแต่งงานอยู่กินกับเจมส์ คินนี ชายวัยแก่กว่า 4 ปี แชรอนเป็นผู้หญิงแข็งแรง น้ำหนักตัว 56 กิโลกรัม สูง 170 เซนติเมตร ไว้ผมสั้น แก้มตอบ เธอมีลูกกับเจมส์อีกคนหนึ่ง สาวน้อยที่ต่อมาเธอโยนความผิดของตนเองให้
หลังจากแต่งงานไปราวสี่ปี ชีวิตคู่ระหว่างเธอกับสามีเริ่มสั่นคลอน เธอต้องสิ้นเปลืองเงินทองเพื่อเอาใจสามี ถึงกระนั้นฝ่ายสามีก็ยังระแวงว่าเธอนอกใจเขา ทั้งสองเริ่มพูดคุยและตกลงกันเรื่องการหย่าร้าง เธอต้องการบ้านและลูกๆ พร้อมกับเงินค่าเลี้ยงดูเดือนละ 1,000 ดอลลาร์ เขายินยอมตามนั้น แต่พ่อแม่ของเจมส์ซึ่งนับถือนิกายมอร์มอนอย่างเคร่งครัด กลับไม่เห็นด้วย พยายามเกลี้ยกล่อมให้ลูกชายยอมทนกับชีวิตคู่ ไม่นานหลังจากนั้นลูกชายของพวกเขาก็เสียชีวิต
หลังจากครองสถานะหม้ายไม่ทันครบเดือน แชรอนก็นำเงินที่ได้รับจากบริษัทประกันไปซื้อรถฟอร์ด ธันเดอร์เบิร์ดคันใหม่ ขณะเดียวกันเธอก็ตกหลุมรักพนักงานขายรถที่ชื่อ วอลเตอร์ โจนส์ (Walter Jones) และเริ่มมีสัมพันธ์รักกัน แต่โจนส์แต่งงานแล้ว และเลือกที่อยู่กับภรรยามากกว่า แชรอนตั้งท้องกับเขา เธอต้องการให้เขาเลิกกับภรรยา แต่โจนส์ปฏิเสธ ไม่ช้าต่อมา-ตามหลักฐานคำให้การของพยาน-แชรอนหลอกล่อแพทริเซีย (Patricia) ภรรยาของวอลเตอร์ โจนส์ ให้ออกไปพบ โดยอ้างว่าสามีของเธอแอบมีความสัมพันธ์กับหญิงอื่น และบังคับพาเธอเข้าไปในป่าเปลี่ยว จากนั้นลงมือฆ่าเธอด้วยกระสุนหลายนัด
ทั้งสองเริ่มพูดคุยและตกลงกันเรื่องการหย่าร้าง เธอต้องการบ้านและลูกๆ พร้อมกับเงินค่าเลี้ยงดูเดือนละ 1,000 ดอลลาร์ เขายินยอมตามนั้น แต่พ่อแม่ของเจมส์ซึ่งนับถือนิกายมอร์มอนอย่างเคร่งครัด กลับไม่เห็นด้วย
เมื่อภรรยาไม่กลับบ้านหลายวัน วอลเตอร์ โจนส์ จึงเริ่มสงสัย และนัดคุยกับแชรอน เขาบอกว่า เพื่อนร่วมงานของภรรยาเล่าให้ฟังว่า หลังเลิกงานแพทริเซียออกไปพบผู้หญิงคนหนึ่งที่โทรศัพท์นัดหมายไว้ก่อนหน้า แชรอนยอมรับว่าเธอเป็นคนนัดแพทริเซียเอง เพื่อเล่าถึงความสัมพันธ์นี้ แต่หลังจากนั้นเธอก็ไม่พบเห็นแพทริเซียอีกเลย พร้อมทั้งยังอาสาจะช่วยสืบหาให้ด้วย และไม่นานหลังจากนั้นก็ไปพบร่างที่มีรอยกระสุนในป่า เธอโทรศัพท์แจ้งตำรวจ ทว่าคราวนี้เจ้าหน้าที่ไม่ปักใจเชื่อคำที่เธอบอกเล่า แชรอนถูกควบคุมตัวเป็นผู้ต้องสงสัยคดีฆาตกรรมแพทริเซีย พร้อมกันนั้นเจ้าหน้าที่ยังทำสำนวนยื่นฟ้องเธอคดีฆาตกรรมสามีของตัวเองอีกข้อหา
ทั้งสองคดีถูกส่งฟ้องแยกกัน แต่เนื่องจากแชรอนตั้งครรภ์ลูกคนที่สาม การพิจารณาคดีจึงต้องเลื่อนออกไป ปี 1961 ในการไต่สวนคดีฆาตกรรมแพทริเซีย โจนส์ ศาลจำต้องยกฟ้อง เหตุเพราะหลักฐานอ่อน ส่วนการไต่สวนคดีฆาตกรรมสามีของเธอนั้นค่อนข้างซับซ้อน ต้นปี 1962 การไต่สวนคดีครั้งแรก ศาลลงความเห็นให้เธอมีความผิด และตัดสินโทษจำคุกตลอดชีวิต คณะลูกขุนปักใจเชื่อว่า เธอเป็นคนลั่นไกปืนใส่เจมส์ คินนี ไม่ใช่ลูกสาวตัวน้อย
แต่การไต่สวนคดีครั้งที่ 2 ต้องยุติลงในเวลาเพียงไม่กี่วัน เนื่องจากอคติของฝ่ายอัยการ การไต่สวนคดีครั้งที่ 3 ในปี 1964 ต้องมีอันพับไปอีกครั้ง เหตุเพราะคณะลูกขุนหาข้อยุติที่ลงตัวไม่ได้ ในเดือนตุลาคมปีเดียวกันนั้นมีความพยายามจะสืบต่อการไต่สวนคดีครั้งที่ 4 แต่แชรอน คินนี ซึ่งได้รับการประกันตัวไปก่อนหน้านั้น ได้เดินทางหลบหนีไปเม็กซิโกพร้อมกับคนรัก
การหลบหนีครั้งนั้นเธอเงียบหายไปไม่นาน หลังจากเดินทางถึงเม็กซิโกเพียงไม่กี่วัน เธอก็ยิงชายชาวอเมริกันคนหนึ่งที่หน้าอก เสียชีวิตภายในห้องพักโรงแรม เมื่อพนักงานคนหนึ่งพังประตูเข้าไปในห้องพักนั้น เธอได้ลั่นไกปืนยิงที่หัวไหล่ของเขาจนได้รับบาดเจ็บ แต่เขาพยายามตะเกียกตะกายหนีออกจากห้องไปจนได้ แชรอนจึงปิดล็อกประตู และโทรศัพท์แจ้งตำรวจ ให้การในเวอร์ชันของเธอว่า ชายชาวอเมริกันพยายามจะข่มขืน เธอจึงยิงเขาเพื่อป้องกันตัว และด้วยความกลัวจึงยิงพนักงานโรงแรมที่พังประตูเข้ามาในห้องด้วย แต่เจ้าหน้าที่กลับเชื่อว่า เธอคิดจะปล้นทรัพย์ชายคนดังกล่าว เมื่อเขาขัดขืน เธอจึงลั่นไกปืนใส่เขา
การไต่สวนคดีเริ่มขึ้นอีกครั้ง คราวนี้แชรอน คินนี ถูกตัดสินข้อหาฆ่าคนตาย ต้องโทษจำคุก 13 ปี เจ้าหน้าที่สืบสวนทำการพิสูจน์หลักฐานเพิ่มเติม พบว่า ปืนที่เธอใช้ยิงคนตายในเม็กซิโก เป็นกระบอกเดียวกันกับที่ใช้ยิงแพทริเซีย โจนส์ ภรรยาของพนักงานขายรถ แต่คดีนั้น ศาลในสหรัฐอเมริกายกฟ้อง การรื้อฟื้นคดีเดียวกันขึ้นใหม่ในเม็กซิโกจึงเป็นไปไม่ได้
คดีของเธอกลายเป็นข่าวดังในเม็กซิโก จากช่วงเวลานั้นจึงเป็นที่มาของสมญานาม ‘La Pistolera’ ของเธอ หากแปลความในแง่ดีนั้น หมายถึงวีรสตรีถือปืน แต่ความเป็นตำนานของแชรอน คินนี มาเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์บทสุดท้ายของเธอ – เดือนธันวาคม 1969 นักโทษสาววัยขณะนั้น 30 ปีได้หายตัวไปจากเรือนจำของเม็กซิโกอย่างไร้ร่องรอย หลังจากต้องโทษอยู่ในนั้นราวหนึ่งในสาม ผู้คุมผิดสังเกตระหว่างการเดินตรวจตราในตอนค่ำวันหนึ่ง และพบว่านักโทษหญิงไม่ได้อยู่ในห้องขังแล้ว ถึงกระนั้น เวลาก็ล่วงไปถึงเช้าวันรุ่งขึ้น กว่าการติดตามหาตัวนักโทษหนีคุกจะเริ่มต้นขึ้น และเพียงไม่กี่สัปดาห์ก็ได้ข้อสรุปว่า การติดตามค้นหาคว้าน้ำเหลว จวบถึงวันนี้ เกือบ 50 ปีแล้วก็ยังไม่ปรากฏร่องรอยของ ‘La Pistolera’
มีข้อสมมติฐานเกี่ยวกับการหายตัวไปอย่างลึกลับของแชรอน คินนี – บางคนเชื่อว่า เธอได้รับความช่วยเหลือจากผู้คุมในเรือนจำ ในตอนค่ำของวันที่เธอหายตัวไป เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ ประตูห้องขังที่ปกติล็อกไว้ก็ถูกเปิดออก และเชื่อว่าเธอน่าจะเดินทางหลบหนีไปยังประเทศกัวเตมาลา หลังจากต้องขังในเรือนจำกว่าสี่ปี เธอสามารถใช้ภาษาสเปนได้อย่างคล่องแคล่ว ส่วนคนอื่นๆ เชื่อว่าสมาชิกครอบครัวเหยื่อคนสุดท้ายของเธอน่าจะรับตัวเธอออกไปจากเรือนจำ เพื่อฆ่าล้างแค้น
แต่เนื่องจากเธอไม่ปรากฏตัวออกมาอีกเลย ทำให้ทฤษฎีต่างๆ เป็นเพียงข้อสมมติ ไม่ว่าวิธีที่เธอหลบหนี เธอหลบหนีไปที่ไหน เธอยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ หรือเธอเสียชีวิตไปแล้ว
ในปี 1964 เมื่อเธอไม่ได้ไปปรากฏตัวที่ศาล ในการไต่สวนคดีฆาตกรรมสามีของตนเอง จึงมีหมายจับในสหรัฐอเมริกา ซึ่งทุกวันนี้ยังคงค้างอยู่
และหมายจับของเธอนั้นยังสร้างสถิติ…เป็นหมายจับที่ค้างเป็นเวลานานที่สุดในประวัติศาสตร์ของแคนซัส ซิตี รัฐมิสซูรี และของทั้งสหรัฐอเมริกา
อ้างอิง:
- James C. Hays, “I’m just an Ordinary Girl”: The Sharon Kinne Story, Leathers Publishing (1997)
- http://www.crimemagazine.com/sharon-kinne-la-pistolera-0
- https://www.inquisitr.com/3792236/sharon-kinne-patricia-jones-la-pistolera-killers-story-on-ids-a-crime-to-remember-where-is-she-now/
- https://the-line-up.com/sharon-kinne-la-pistolera
- https://www.buzzfeed.com/de/annakopsky/alte-historische-mordfaelle-unsolved?utm_term=.jfgLzg8Lxx#.fr6Eb4zEee