“ปะ ไปเดินเล่นในดงสัตว์ดึกดำบรรพ์ขนาดเท่าของจริงกัน ที่เซี่ยงไฮ้” เราชวนคุณไปสัมผัส หน้าหนังสือเรียนวิทยาศาสตร์ในรูปแบบใหม่ ที่เปลี่ยนวิชาอันแสนน่าเบื่อในตำราให้น่าสนใจขึ้นเป็นกอง
ที่ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Natural History Museum) เขาได้ชุบชีวิตสัตว์ในตำนาน และได้รวบรวมซากสัตว์สตาฟมากมายหลายยุคมาให้เราได้เรียนรู้จักจักรวาลสัตว์โลก ไปพร้อมๆ กับเรื่องราวความเจริญทางวิทยการของเมืองทันสมัยที่สุดของจีนแผ่นดินใหญ่นามว่า ‘เซี่ยงไฮ้’ แห่งนี้  

เพื่อนชาวเซี่ยงไฮ้เล่าให้ฟังว่า พิพิธภัณฑ์และสถาบันวิจัยแห่งนี้เขาเปิดทำการมานานกว่า 60 ปี (ตั้งแต่ปี ค.ศ.1956) คนที่เกิดและโตในเซี่ยงไฮ้ต่างมีความทรงจำพิเศษกับสถานที่แห่งนี้ เพราะเปรียบเสมือนเป็นแหล่งเรียนรู้เจ๋งๆ ของเมืองมาหลายยุคหลายสมัย และเมื่อไม่นานนี้ รัฐบาลจีนได้มีแผนย้ายพิพิธภัณฑ์จากตึกเก่าเล็กๆ มายังพื้นที่ปัจจุบัน โดยว่าจ้างบริษัทออกแบบสัญชาติอเมริกัน Perkins and Will มาเป็นผู้ดูแลการออกแบบก่อสร้าง (เขาเล่ากันว่าลงทุนไปกว่า 7,000 ล้านหยวน) 

โถงทางเข้า จำลองโครงสร้างเซลล์ของพืชและสัตว์ 

อาคารสมัยใหม่รูปทรงคล้ายเกลียวเปลือกหอย สร้างเสร็จและเปิดให้เข้าชมในปี ค.ศ.2015 มีพื้นท่ีรวมกว่า 44,500 ตารางเมตร ขนาดพอๆกับสนามฟุตบอล 6 สนาม  ซึ่งใหญ่โตกว่าสถานที่เดิมถึง 20 เท่า! ภายในอาคารแบ่งคอลเลคชั่นจัดแสดงเป็น 5 ชั้น อัดแน่นด้วยความรู้เข้มข้นในราคาค่าเข้าสุดคุ้ม ราคาพอๆ กับกาแฟเชนดัง 1 แก้ว (30 หยวน หรือ 150 บาท เท่านั้น) เราตอกตั๋ว เข้าไปชมที่นี่พร้อมๆกัน 

แค่โถงทางเข้าก็ไม่ธรรมดาแล้ว ด้วยเพดานสูงกว่า 30 เมตร ทำให้แสงธรรมชาติลอดผ่านกระจก รูปทรงจำลองโครงสร้างเซลล์พืชและสัตว์ สวยงดงามในทุกช่วงเวลาตลอดทั้งวัน  การเริ่มต้นสำรวจที่นี่ เราต้องไต่ลงจากชั้นบนสุด และวนลงมาเรื่อย ๆ ถึงชั้นใต้ดิน เพื่อชมหนังสือเรียนมีชีวิตเล่มนี้ 

เริ่มต้น สิ่งมหัศจรรย์

นิทรรศกาลเริ่มเล่าเรื่องจากสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่สูญพันธ์ไปหมดแล้ว ในโซน ‘Mystery of Origins’ หรือโซนกำเนิดโลกและระบบสุริยจักรวาล  โดยได้มอบภารกิจให้เราสวมบทบาทนักวิทยาศาสตร์ สืบค้นหาบรรดาสัตว์โบราณ สองข้างทางเดินจำลองบรรยากาศท่ามกลางหมู่ดาว และมีซากฟอสสซิลในยุคต่าง จัดแสดง พร้อมตั้งคำถามชวนให้เราจินตนาการถึงหน้าตาสัตว์โลกล้านปี 

เริ่มต้น สิ่งมหัศจรรย์

ความล้ำของโซนนี้ เราจะได้เห็นไดโนเสาร์แต่ละยุคผ่านเทคโนโลยี AR หรือ Augmented Reality (แค่ส่องจอในมือไปตามนิทรรศการแล้วจะเห็นไดโนเสาร์ปรากฏขึ้น) นอกจากนั้น โซนนี้เองยังเป็นที่ตั้งของโรงภาพยนต์ 4D ขนาด 250 ที่นั่ง ฉายบนโดมโค้งทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับหนังที่ฉาย น่าชมมากทีเดียว 

ทางเดินนำเราไต่ลงไปเรื่อยๆ ดำดิ่งสู่โซน ‘River of Life’ หรือ สายธารแห่งสิ่งมีชีวิต ดงสัตว์ดึกดำบรรพ์ใต้น้ำที่ว่ายวน หลายสิบตัว คอยต้อนรับเราด้านหน้า ด้วยขนาดมหึมาแบบจำลองสัดส่วนสัตว์มาแบบ 1 : 1 จึงทำให้แอบขนลุกหน่อยๆ ระหว่างทางจะมีป้ายบรรยายกำกับเรื่องราวของสัตว์แต่ละตัวว่าเกิดในยุคใด และมีธรรมชาติการดำรงชีวิตอย่างไร ระหว่างทางเราจะได้ยินเสียงเด็กๆ กรี๊ดกร๊าด ที่ได้เห็นสัวต์แปลกแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน 

River of Life สายธารแห่งสิ่งมีชีวิต

สัตว์สงวนจากทั่วทุกมุมโลก

บรรดาสัตว์ตระกูลกวาง

  ทางเดินวนรูปเกลียวเปลือกหอยนำเราต่อไปตามเส้นทางของสัตว์สงวนจากทั่วทุกมุมโลก ทั้ง เสือ สิงห์ กระทิงป่า กวางทุกตระกูล ทอดยาวไปจนถึงขบวนพาเหรดสัตว์ใหญ่ที่นับเป็นไฮไลท์เด็ดของที่นี่ เราได้เดินสวนกับสัตว์ที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นตัวเป็นๆ นอกจากจะเปิดโอกาสให้เราเซลฟี่แบบใกล้ชิด บางตัวก็ส่งเสียงคำรามทักทายได้สมจริง นับเป็นประสบกาณ์ที่ตื่นตาตื่นใจไปอีกแบบ

สิงห์โตหน้าฉงน คนดังของที่นี่ 

ลิง ค่าง บ่าง ชะนี 

ส่วนไฮไลท์ เดินเล่นไปกับสัตว์ดึกดำบรรพ์  

เมาคลีเวอร์ชั่นจีน

ที่ชั้นล่างถัดไป เป็นส่วนจัดแสดงซากฟอสซิล โดยจำลองบรรยากาศเสมือนห้องสมุดโบราณรวบรวมทั้ง ซากสัตว์ใหญ่ สัตว์กลาง และแมลงสวยงามหลากสีสัน รวมไปถึงสินแร่ต่างๆ ที่หายากจากทั่วทุกมุมโลก 

ห้องสมุดโบราณจัดแสดงฟอสซิล 

ฟอสซิล 

ข้างกันนี้ยังมีห้องจำลองวิถีแอฟริกาในโซน ”Walk to Africa” ให้เราได้ชม ในการเดินชมไม่กี่นาทีนี้ บรรยากาศรอบตัวจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เป็นการจำลองระบบนิเวศตลอด 24 ชั่วโมงในทุ่งหญ้าแอฟริกา  หากมีเวลามากพอเราอยากชวนสำรวจ Shanghai Story แกลลอรีเรื่องราวของเซี่ยงไฮ้ที่น่าสนใจและเด็ด ไม่แพ้กัน 

คอลเลคชั่นผีเสื้อ 

ทำไมถึงมีแต่ ‘เขา’

เราหมดเวลากว่าค่อนวันในการเดินสำรวจพิพิธภัณฑ์อันเป็นที่เชิดหน้าชูตาของคนท้องถิ่นที่นี่ ท่ามกลางความเจริญของเมืองจีนที่เป็นไปอย่างก้าวกระโดด เราสังเกตุเห็นสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือรัฐบาลท้องถิ่น ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาคนซึ่งจะสนับสนุนยุทธศาสตร์หลักของชาติในการก้าวไปข้างหน้า อย่างที่เราได้เห็นตัวอย่างจากการลงทุนมหาศาลกับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้  ซึ่งเราเองก็แอบหวังลึกๆ ว่าวันหนึ่งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ในไทยจะเดินรอยตามความเจ๋งแบบนี้บ้าง ลูกหลานเราคงได้สนุกกับวิทยาศาตร์ในบรรยากาศกระตุ้นการเรียนรู้ รอลุ้นที่จะได้ชมในเร็ววันนี้กันนะครับ 🙂