แม้การเสียรู้หรือถูกหลอก จะสร้างความชอกช้ำ แต่ข้อดีอย่างหนึ่งจากการหลงกลก็คือ เราจะเกิดภาวะตาสว่าง เข้าใจแล้วว่าคนคนนั้นๆ (หรือพรรคๆ นั้น) มีธาตุแท้เป็นอย่างไร ไม่หลงเห็นกงจักรเป็นดอกบัวอีก

เชื่อว่าในภาวะบ้านเมืองปัจจุบันนี้ ช่วงนี้คงมีคนที่มีโมเมนต์ตาสว่างกันไม่น้อยเลยทีเดียว

สัปดาห์นี้ เราไปดูกันว่า ภาษาอังกฤษมีสำนวนอะไรกันบ้างที่ใช้เพื่ออธิบายเมื่อเราเกิดดวงตาเห็นธรรมหลังจากเข้าใจอะไรผิดมานาน

See the light

แสงช่วยให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ และทำความเข้าใจธรรมชาติของสิ่งเหล่านั้นได้ ดังนั้น หลายๆ ภาษาจึงมีคำหรือสำนวนที่เชื่อมโยงการมองเห็นหรือแสงสว่างเข้ากับความรู้ (และโยงความมืดเข้ากับอวิชชาหรือความไม่รู้) ตัวอย่างเช่น ตาสว่าง ในภาษาไทย

สำนวนหนึ่งในภาษาอังกฤษที่ใช้ภาพเปรียบคล้ายๆ กันนี้ก็คือ see the light ซึ่งหากแปลตรงตัวก็จะหมายถึง เห็นแสงสว่าง ในที่นี้ใช้หมายถึง ตาสว่าง เห็นธรรมชาติที่แท้จริงของคนคนหนึ่งหรือสิ่งสิ่งหนึ่งหลังจากหลงผิดมานาน ว่ากันว่าแต่เดิมใช้อธิบายคนที่กลับใจมาเข้ารีตหลังจากหลงอยู่ในความมืดมนของศาสนาอื่นหรือการไม่นับถือศาสนาใดๆ มานาน ทำนองว่าเห็นแสงแห่งทางรอดพ้นทางจิตวิญญาณในที่สุด ดังนั้น หากจะแปลสำนวนนี้ว่า เกิดดวงตาเห็นธรรม ก็คงไม่ผิดเลยเสียทีเดียว ตัวอย่างเช่น I thought the party would never betray their supporters, but I’m starting to see the light now. แปลว่า เราเคยคิดว่าพรรคนี้จะไม่หักหลังคนที่ให้การสนับสนุน แต่ตอนนี้เริ่มตาสว่างแล้ว

ทั้งนี้ สำนวนนี้ยังใช้หมายถึง เริ่มเห็นว่าปัญหาหรือความยากลำบากที่ประสบอยู่จะจบลงหรือคลี่คลายแล้ว ได้อีกด้วย มาจากสำนวนเต็มๆ ว่า see the light at the end of the tunnel หรือเห็นแสงรำไรที่ปลายอุโมงค์แล้ว ทำนองว่าคลำทางอยู่ในความมืดมานานและกำลังจะเจอทางออก ตัวอย่างเช่น After weeks of working non-stop, I’m beginning to see the light (at the end of the tunnel). หมายถึง หลังจากกรำงานหนักมาติดต่อกันหลายสัปดาห์ ตอนนี้เริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่ากำลังจะเข้าสู่ช่วงค่อยยังชั่ว

The scales have fallen off your eyes

สำนวนนี้มีที่มาจากเรื่องเซาโลแห่งทาร์ซัส (Saul) ในพระคัมภีร์ไบเบิล (กิจการ 9: 1-19) เซาโลเป็นฟาริสี (Pharisee) ที่ออกไล่ล่าคริสตชนอย่างสุดลิ่มทิ่มประตู ในเนื้อเรื่องนี้ เซาโลกำลังออกเดินทางไปยังเมืองดามัสคัส (Damascus) เพื่อไปกำจัดสาวกของพระผู้เป็นเจ้า แต่ระหว่างที่เดินทางอยู่นั้น จู่ๆ ก็มีแสงจ้าปรากฏต่อหน้าจนมองอะไรไม่เห็นและได้ยินเสียงของพระเยซูตรัสให้ไปยังเมืองดามัสคัส แล้วจะมีคนบอกเองว่าต้องทำอะไร พอเสียงของพระเยซูสิ้นสุดลง เซาโลพยายามลืมตาแต่ก็มองไม่เห็น จนกระทั่งได้ไปเจออานาเนียส (Ananias) ผู้ได้รับสาส์นจากพระผู้เป็นเจ้าให้มาช่วยเซาโล เมื่ออานาเนียสวางมือลงบนตัวเซาโลและพูดกับเซาโลว่าพระผู้เป็นเจ้าให้มาทำให้เซาโลกลับมามองเห็นอีกครั้ง แผ่นผิวที่ปกคลุมดวงตาก็หลุดร่วงออกมาเป็นเกล็ด ทำให้เซาโลเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าและกลับใจจนกลายมาเป็นอัครสาวกเปาโลหรือ Saint Paul นั่นเอง

เนื้อเรื่องส่วนที่เซาโลกลับมามองเห็นได้อีกครั้งและ ‘เห็น’ แสงสว่างของพระเจ้านี้จึงถูกนำมาใช้เป็นสำนวนหมายถึง ตาสว่าง เลิกหลงผิดและเห็นสิ่งต่างๆ ชัดเจนแจ่มแจ้ง ตัวอย่างเช่น เราหลงแฟนของเรามากๆ แม้เพื่อนรอบตัวจะบอกว่าผู้ชายคนนี้เป็นคนไม่ดี นอกใจและไม่ให้เกียรติเรา แต่เราก็แก้ต่างให้สารพัด จนวันหนึ่งเลิกกันถึงเพิ่งเห็นว่าผู้ชายคนนี้ซังกะบ๊วยขนาดไหน แบบนี้ก็สามารถพูดว่า I was too drunk in love to see what an asshole he was, but the scales have fallen from my eyes.

Damascene moment

สำนวนนี้มีที่มาจากเรื่องของเซาโลเช่นเดียวกัน เนื่องจากขณะนั้นเซาโลกำลังเดินทางไปยังเมืองดามัสคัส ดังนั้นคำว่า Damascene ซึ่งเป็นคุณศัพท์ของชื่อเมืองดามัสคัส จึงมาใช้อธิบายช่วงเวลาหรือประสบการณ์ที่ทำให้เราตาสว่าง เลิกหลงเชื่อในสิ่งที่ผิด เปลี่ยนความคิดที่เรามีไปอย่างสิ้นเชิง หากเทียบกับสำนวนแบบไทยที่ได้รับอิทธิพลพุทธศาสนาก็อาจจะพูดว่า เกิดดวงตาเห็นธรรม โดยมากแล้วมักจะใช้กับคำว่า moment หรือ experience เช่น During his trip to a slaughterhouse, he had a Damascene moment that turned him into a vegan. หมายถึง พอไปโรงฆ่าสัตว์จึงเกิดตาสว่างเปลี่ยนความเชื่อหันมาเป็นกินมังสวิรัติ

ทั้งนี้ Damascene ยังใช้กับคำว่า conversion เพื่อหมายถึง จุดพลิกผันทางด้านความเชื่อ ก็ได้ เช่น Jane was a staunch cynic, but she underwent a Damascene conversion when she read that book. แบบนี้หมายถึง เจนเป็นคนโลกมืดมาแต่ไหนแต่ไร แต่ทัศนคติก็มาเปลี่ยนไปตอนที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ นอกจากนั้น หากไม่ใช้คำว่า Damascene conversion อาจจะพูดว่า Pauline conversion ก็ได้ คือนำเอาชื่อนักบุญ Paul ที่เป็นอีกชื่อของเซาโลมาทำเป็นคำคุณศัพท์นั่นเอง ไม่เช่นนั้นก็อาจใช้สำนวน a road to Damascus เพราะเรื่องนี้เกิดขึ้นตอนที่เซาโลกำลังเดินทางไปยังเมืองดามัสคัส เช่น My experience at the church was my road to Damascus. ก็จะหมายถึง สิ่งที่ได้ประสบพบเจอที่โบสถ์เป็นจุดพลิกผันในชีวิต

บรรณานุกรม

American Heritage Dictionary of the English Language

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Crystal, David. Begat: The King James Bible & the English Language. OUP: New York, 2011.

Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.

Longman Dictionary of Contemporary English

Merriam-Webster Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

Tags: , , ,