เพราะโลกการทำงานเปลี่ยนไปด้วยจังหวะที่ไวกว่าเดิม เพียงวุฒิปริญญาที่เราได้รับมา หรือคอร์สอบรมวิชาชีพที่เพิ่งลงทะเบียนไว้เมื่อไม่กี่ปีก่อน ไม่ได้การันตีว่าเราจะรู้ทุกเรื่องที่ควรรู้ในสายอาชีพของเรา ณ เวลาที่เป็นอยู่

“คนตระหนักว่าการเรียนรู้เป็นสิ่งที่ดี แต่ยังไม่คิดว่าการเรียนรู้อยู่ตลอดชีวิตนั้น คือเรื่อง ‘จำเป็น’ เพื่อจะใช้ชีวิตรอดต่อไป หรือมีโอกาสในสายอาชีพที่ทำอยู่” คุณพิ้งค์-นิภัทรา ตั้งพจน์ทวีผล Executive Director แห่ง SEAC (Southeast Asia Center) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน สะท้อนให้เห็นเทรนด์ที่เปลี่ยนไปเกี่ยวกับการเรียนรู้ เนื่องจากเทคโนโลยีได้เปลี่ยนรูปแบบการทำงานในทุกสาขาอาชีพ และความต้องการของผู้บริโภคก็กดดันให้ทุกอุตสาหกรรมต้องปรับตัว หันไปใช้วิธีการใหม่ๆ ซึ่งแน่นอนว่าก็ต้องมาพร้อมกับบุคลากรที่มีทักษะใหม่ๆ

“เรามองเห็นการเปลี่ยนแปลงนิยามของการเรียนรู้ ต่างจากในอดีตที่คนมักจะนึกถึงการเรียนรู้แค่บางช่วงจังหวะเวลา เช่นในมหาวิทยาลัย หรือองค์กรใหญ่ๆ ก็จะพูดถึงการเรียนรู้ที่หมายถึงการอบรมปีนึง 2-3 หน

“แต่ disruption ที่เราเห็น ทำให้องค์ความรู้ของแต่ละสายอาชีพหมดอายุเร็วมาก เพราะฉะนั้นการเรียนแบบเดิมนั้นไม่พอ ต้องปรับความคิดใหม่ว่า คนเราควรเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และเรียนรู้ได้หลายรูปแบบ”

The Talk #LifeLongLearning ที่ The Garage by SEAC ได้เชิญคนที่ประสบความสำเร็จจากหลายเส้นทางอาชีพ มาร่วมแบ่งปันแนวคิด ว่าเพราะอะไร พวกเขาถึงมาอยู่ ณ จุดๆ นี้ กลายมาเป็นบุคคลต้นแบบ อย่างที่ใครหลายคนเริ่มคิดฝันอยากจะเป็นแบบพวกเขาบ้าง

ศุ บุญเลี้ยง เสียงเพลงและการเรียนรู้นอกระบบ

ศุ บุญเลี้ยง พี่ใหญ่ของเวที ได้ขึ้นมาพูดในหัวข้อ ‘การเรียนรู้เพื่อสอบผ่านวิชาชีวิต’ เขาคือคนหนึ่งที่ไม่ได้เรียนจบจากมหาวิทยาลัย ตัดสินใจออกจากการเป็นนิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ แล้วเริ่มต้นเส้นทางอาชีพนักร้อง นักแต่งเพลง นักดนตรีแห่งวงเฉลียง จนประสบความสำเร็จ

เขาเกริ่นว่า แต่ก่อน อาจมีคำพูดที่ว่า คนเราต้องทำตัวเป็นถ้วยชาที่ว่างเปล่าก่อน เพื่อจะได้พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ได้เต็มที่ เปิดพื้นที่ให้รินเติมน้ำชาลงไปได้เต็มถ้วย

“แต่เดี๋ยวนี้ผมว่าไม่จำเป็น เราอาจจะมีน้ำชาหรือความรู้เดิมอยู่ในนั้น แต่ก็รินเติมสิ่งใหม่ลงไปได้ เพราะอย่างน้อยน้ำชาในถ้วยก็ได้เปลี่ยนไปแล้ว”

เขาเน้นย้ำว่า อุปสรรคของการเรียนรู้อย่างหนึ่งก็คือ น้อยคนที่มีทักษะการฟัง และในฐานะคนที่ชอบเรียนรู้ สิ่งที่ต้องพกไปทุกที่คือเครื่องหมายคำถาม (?) ที่เมื่อได้รู้แล้วจะเปลี่ยนเป็นเครื่องหมายอัศเจรีย์ (!)

“ความรู้สึกแบบนี้ จะทำให้เราสนุกกับการเรียนรู้ และเรียนรู้ต่อไปได้เรื่อยๆ”

ศุ บุญเลี้ยง ย้ำเตือนด้วยว่า หลายๆ ครั้งที่บางคนเลิกตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ เพราะหลงคิดไปว่าตัวเองมีคำตอบแล้ว แต่อาจจะเป็นคำตอบที่ผิดตั้งแต่ตั้งคำถาม

“คำถามที่ผิดก็อย่างเช่น เราฉลาดแค่ไหน คำถามอย่างนี้จะตอบยังไง หรือถึงตอบไปก็เป็นคำตอบของคำถามที่ผิด คำถามที่ถูกอาจจะเป็น เราฉลาดในเรื่องใด มากกว่า”

การหยุดตั้งคำถาม อาจจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามวัย เพราะคิดว่าตัวเองมีประสบการณ์ในเรื่องต่างๆ มากพอแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายและสุ่มเสี่ยง เพราะประสบการณ์ของแต่ละคนในแต่ละเรื่อง แท้จริงแล้วมีจำกัด ประสบการณ์ที่ผิดพลาดของเราคนเดียว อาจทำให้มีอคติและอาจปิดกั้นโอกาสในการเรียนรู้ประสบการณ์จากคนอื่น ที่จะเปิดความเป็นไปได้ของคำตอบอื่น

สิ่งสำคัญที่เขาฝากไว้ให้กับคนที่กำลังค้นหาแรงบันดาลใจให้อยากทำสิ่งต่างๆ คือ “แรงบันดาลใจไม่ต้องหา ที่ต้องไขว่คว้าเพิ่มเติมคือทักษะของสิ่งที่อยากทำ”

เรียนรู้ในแบบที่เป็นตัวเอง

การเรียนรู้ตลอดชีวิตคงไม่ได้มีแค่รูปแบบเดียว แต่ขึ้นอยู่กับอุปนิสัย ความถนัด และลักษณะการทำงานในแต่ละสายอาชีพ เวทีพูดคุยกับวงสนทนา จึงประกอบไปด้วยคนจากสายอาชีพที่หลากหลาย ได้แก่ นักดนตรี หนึ่ง-จักรวาล เสาธงยุติธรรม, ครีเอทีฟและนักเขียน นิ้วกลม สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์, อดีตผู้บริหารบริษัทต่างชาติ ดร. รพีรัฐ ธัญวัฒน์พรกุล และนักแสดงที่เพิ่งเรียนจบใหม่ๆ อย่าง พลอย-พลอยไพลิน ตั้งประภาพร

หยุดถามแล้วทำ

พลอยไพลิน ตั้งประภาพร นักแสดงและเจ้าของเพจ ‘พลอยเรียนจบแล้วทำไรต่อ?’ แสดงความคิดเห็นในมุมมองเด็กจบใหม่อย่างตัวเองว่า ทั้งที่เรียนจบและมีงานการแสดง แต่เป้าหมายสิ่งที่อยากทำไปตลอดชีวิตนั้นยังไม่ชัดเจนนัก

หลังจากเรียนจบด้านภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยรังสิต เธอจึงเปิดเพจแล้วเก็บกระเป๋าออกไปท่องโลก เพื่อทำความรู้จักตัวเอง และเปิดมุมมองที่มีต่อโลกและชีวิต

“ในเมื่อเราเรียนในระบบมา 16 ปีแล้วยังไม่รู้ว่าต้องการทำอะไร ก็ลองให้เวลาตัวเอง 1 ปี ไปเรียนรู้ในแบบอื่นๆ” นั่นคือการเริ่มเดินทางไปตามทางรถไฟสายทรานส์-ไซบีเรีย

ซึ่งผลที่ได้รับก็น่าพอใจ เพจของเธอที่แบ่งปันประสบการณ์เดินทางรอบโลกมีผู้ติดตามหลักแสน และตัวเธอเองได้เจอกับบทสนทนาที่ทำให้ตัวเองก้าวข้ามความกังวลเกี่ยวกับเส้นทางชีวิต

เธอได้พบกับชายชาวอเมริกันต่างวัย นั่งคุยกันในเส้นทางรถไฟยาวนาน 33 ชั่วโมง หลังจากเล่าเรื่องของตัวเอง เขาแนะนำเธอว่า ขออย่างหนึ่งได้ไหม ให้เลิกถามตัวเองว่าควรจะทำอะไร เพราะมัวแต่คิดก็คงไม่ได้คำตอบ ให้ลองลงมือทำสิ่งที่สงสัยนั้นไปเลย ซึ่งพลอยมองว่า ด้วยวิธีการลงมือทำนี่เองที่จะทำให้เรารู้ว่าอะไรที่ใช่หรือไม่ใช่

ความเชื่อ ทำให้เรากล้าพัฒนา

ดร. รพีรัฐ ธัญวัฒน์พรกุล อดีตผู้บริหารของบริษัทต่างชาติ เจ้าของเพจ ‘มนุษย์เงินเดือนพันธุ์ใหม่’ เพจที่ตั้งใจเปลี่ยนความคิดลบๆ เกี่ยวกับการเป็นมนุษย์เงินเดือนเพื่อให้ทุกคนกล้าพัฒนาตัวเอง เล่าว่าตัวเขาโชคดีที่เจ้านายคนแรกเป็นคนต่างชาติที่ผลักดันและคอยจ้ำจี้จ้ำไชให้เขาฝึกภาษาอังกฤษ ทักษะที่เขาอ่อน ทั้งที่มาทำงานบริษัทต่างชาติ

ตอนแรกๆ เขาค่อนข้างไม่พอใจ แต่เมื่อทำได้สำเร็จแล้ว ก็พบว่าทัศนคติของตัวเองเปลี่ยน ทำให้รู้ว่าคนเราสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้เสมอ เขาเริ่มเรียนรู้จากการถามคนอื่นๆ ที่ประสบความสำเร็จในบริษัท ว่าจะไปถึงจุดนั้นต้องอาศัยเส้นทางอย่างไร แล้วลงมือทำ

“หลายคนอาจจะคิดลบว่าอาชีพของตัวเองอาจถึงทางตันเข้าสักวัน แต่ผมคิดว่า อาชีพเราไม่มีทางตันหรอกครับ ความคิดของเราต่างหากที่จะพาตัวเองไปสู่ทางตัน”

ข้างทาง สวยงามขึ้นทุกวัน

บัณฑิตคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ ผันตัวมาเป็นครีเอทีฟ ก่อนประสบความสำเร็จยาวนานด้วยการเป็นนักเขียน นิ้วกลม หรือ เอ๋-สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ บอกว่า วิธีการเรียนการสอนในคณะสถาปัตย์ฯ ทำให้เขาเข้าใจว่า โจทย์เดียวกัน อาจสร้างคำตอบได้หลายรูปแบบ เหมือนที่นิสิตออกแบบบ้านมาคนละสไตล์ ที่เหลือคือการนำเสนอว่าทำไมพวกเขาจึงทำออกมาในแบบนี้ และไม่มีคำตอบไหนผิด

เขาวาดภาพชีวิตแต่ละคนว่าต่างก็มี ‘ทางหลัก’ และ ‘ข้างทาง’ สมัยเรียนสถาปัตยกรรมซึ่งเป็นทางหลัก เขาใช้เวลาส่วนใหญ่แวะข้างทาง คือห้องสมุดของคณะที่เต็มไปด้วยหนังสือดีๆ หนังสือแต่ละเล่มอ้างอิงชื่อนักเขียนและแนวคิดอื่นๆ ข้ามศาสตร์ข้ามศิลป์ ทำให้เขาไล่อ่านมันไปเสียทุกเรื่อง ทั้งแต่ปรัชญา จิตวิทยา มานุษยวิทยา ฯลฯ และเริ่มเขียนหนังสือไปด้วยในเว็บบอร์ดของคณะ จนท้ายที่สุด พวกเราก็ได้รู้จักเขาผ่านตัวหนังสือในนามปากกาว่า นิ้วกลม

“ทางหลักกับข้างทาง จึงสำคัญไม่แพ้กัน และข้างทางทุกวันนี้ มีสีสันมากขึ้นเยอะ จากการเข้ามาของอินเทอร์เน็ต”

นิ้วกลมอยากฝากแนวคิดอย่างหนึ่งไว้ว่า การเรียนรู้จะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คนเราอยากหายใจต่อไป และเขาเชื่อว่า มีมนุษย์อีกแบบในตัวเรา เช่น มนุษย์ที่วิ่งมาราธอนได้ มนุษย์ที่เล่นเปียโนได้ ลองดึงออกมา จะพบว่ามันเป็นเรื่องที่น่าสนุก

วิธีการไม่จำกัด แม้ชีวิตมีข้อจำกัด

หนึ่ง-จักรวาล เสาธงยุติธรรม นักดนตรีฝีมือเทพ ที่เราคุ้นหน้าจากรายการดังอย่าง I Can See Your Voice Thailand และรายการ The Mask Singer Thailand เล่าชีวิตวัยเด็กของตัวเองว่า “ผมเกิดในชุมชนคลองเตย”

การเข้าถึงความรู้ทางดนตรีของเขามีจำกัด มีเพียงพ่อที่ให้หลักคิดว่า เพลงทุกเพลงมีจินตนาการ ส่วนการฝึกทักษะนั้นเกิดจากการใช้กระป๋อง หรือชามตราไก่ใส่น้ำ เพื่อปรับคีย์ให้ตรง ฝึกฝนสร้างทำนองดนตรีด้วยตัวเอง

เมื่อเล่นดนตรีพอได้ สิ่งสำคัญลำดับถัดมาคือการวัดว่าตัวเอง “เล่นได้ดีหรือยัง” การเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับเขาคือการลงมือทำงานจริง ด้วยการสมัครเป็นนักดนตรีคาเฟ่ หากวันไหนเล่นแย่ ก็จะโดนบรรดานักร้องรุมต่อว่า สั่งสมประสบการณ์จนคำต่อว่าเหล่านั้นน้อยลงๆ สำหรับเขา บุคคลเหล่านี้ แท้จริงคือคุณครูที่ทำให้จักรวาลกลายเป็นนักดนตรีมากฝีมืออย่างวันนี้ แม้จะต้องแลกกับการอดนอนเพื่อทำทั้งงานและเรียนไปด้วย

แต่ถึงจะเก่ง จักรวาลก็บอกว่าเขาไม่สามารถหยุดเรียนรู้ได้ นักดนตรีรุ่นใหม่ๆ เริ่มอยากเป็นอย่างเขา สิ่งที่เขาทำได้คือสร้างความแตกต่างไปเรื่อยๆ เปลี่ยนวิธีคิดเพื่อให้ได้แนวเพลงใหม่ๆ

“ถ้าไม่เรียนรู้ ก็มีคนมาแทนเราได้”

Lifelong Learning ลองออกไปดู เพื่อรู้ทันโลก

คุณนิภัทรา เล่าแนวคิดของงานครั้งนี้ว่า “จุดประสงค์หลักคือให้ผู้ฟังตระหนักว่า คนที่ประสบความสำเร็จในต่างอาชีพ เขาอาจมีทักษะไม่เหมือนกัน ต้นทุนชีวิตต่างกัน สิ่งแวดล้อมไม่เหมือนกัน แต่ที่เหมือนกันคือการมีแรงขับในตัวเองให้เรียนรู้ตลอดเวลา”

การเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นเรื่องดี แต่บางคนก็อาจคิดว่าต้องเสียค่าใช้จ่ายและใช้เวลามากเกินไป

“ถ้าเรามองเพียงข้อจำกัดการเรียนรู้ที่มีอยู่ในตลาด เช่นต้องไปลงทะเบียนเรียน ก็อาจจะจริงว่าต้องใช้งบประมาณ แต่ SEAC เราเห็นว่ามันน่าจะมีวิธีอื่น เช่น เรียนรู้จากประสบการณ์ เรียนรู้จากคนที่เราเจอ เป็นที่มาที่เราผลักโมเดลการเรียนรู้ YouNextU ให้การเรียนรู้นั้นเข้าถึงง่ายขึ้น ช่วยให้คนได้อัพเดตตัวเอง และเป็นรูปแบบบุฟเฟต์ ไม่ใช่เพียงการจ่ายเงินให้เพียงหนึ่งคอร์ส เพราะแบบนั้นจะไม่ตอบสนองเป้าหมายการเรียนรู้ตลอดเวลา”

แล้วความเสี่ยงของคนที่หยุดเรียนรู้ เพียงแค่ทำงานไปเรื่อยๆ นั้นคืออะไร

คุณนิภัทราให้ความเห็นที่อิงจากงานวิจัยว่า “เทคโนโลยีดิจิทัลที่เปลี่ยน ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยน ต่อให้เราทำสายงานอะไร จากเดิมที่มีองค์ความรู้อยู่ชุดเดียวแล้วใช้ไปได้ 10-20 ปีของสายอาชีพ แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว ถ้าคนไม่ปรับตัวก็อยู่ไม่ได้ อาจจะถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ หรือถึงไม่ถูกแทนที่ ก็อาจไม่ตรงกับความคาดหวังของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

“เดี๋ยวนี้องค์ความรู้มี lifespan แค่ปีครึ่ง ถ้าไม่เรียนรู้ตลอดชีวิต จุดหนึ่งเขาก็จะรู้สึกว่าตามคนอื่นไม่ทัน กว่าจะรู้ตัวก็อาจทำให้ต้องเหนื่อยกว่าที่ควรจะเป็น”

Fact Box

  • YourNextU เปรียบเสมือนระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ ที่ตั้งใจสร้างสรรค์และออกแบบมาให้ตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของโลก รูปแบบการใช้ชีวิต และสไตล์การเรียนรู้ของคนทุกเพศทุกวัยในราคาที่จับต้องได้ เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้ที่มีคุณภาพที่สุดได้อย่างง่ายดาย
  • จุดเด่นที่แตกต่างของ YourNextU คือการร่วมมือกับสถาบันชื่อดังระดับโลก ผู้คิดค้นและเป็นเจ้าของศาสตร์ความรู้ตัวจริง ในแขนงต่างๆ เพื่อจัดทำหลักสูตรต่างๆ มากมาย โดยมีตัวอย่างหลักสูตรที่น่าสนใจ อาทิ หลักสูตร Design Thinking ต้นฉบับจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด หลักสูตร Outward Mindset จากThe Arbinger Institute หลักสูตร Self-Leadership จาก The Ken Blanchard Companies รวมถึงหลักสูตรเพื่อสร้างทักษะใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ยุค 4.0 อีกมากมาย หากสนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.yournextu.com/
  • ภายใน The Garage by SEAC สถานที่จัดงานนี้เป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยคลาสเรียน เวิร์กช็อป ห้องประชุมทั้งขนาดเล็ก-ใหญ่ และพื้นที่สำหรับดัดแปลงตามความต้องการของผู้ใช้ The Garage by SEAC ถูกออกแบบให้มีลักษณะเป็นสนามเด็กเล่น ให้ทุกคนได้เรียนรู้อย่างสนุกสนานและพบปะมิตรภาพใหม่ๆ ที่นี่ ทั้งยังเต็มไปด้วยอุปกรณ์ที่จะส่งเสริมการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
  • โปรโมชั่นพิเศษ สมัคร YourNextU ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิถุนายน ลุ้นรับฟรี ตั๋วเครื่องบินไป-กลับฮ่องกง เงื่อนไขเพิ่มเติมติดตามได้ที่  https://www.yournextu.com/ สงวนสิทธิ์สำหรับลูกค้ารายบุคคลเท่านั้น
Tags: , , , , , , , , ,