“Wednesday เป็นซีรีส์ที่ดูได้เพลินๆ และมีหลายช่วงหลายตอนที่ทำให้ตั้งคำถามในหัวว่า ‘อิหยังวะ’ อยู่บ้าง”
“แอบสับสนการโปรโมตของ Netflix ที่จั่วหัวว่า Wednesday เป็น ‘Wednesgay’ แต่สุดท้ายผู้กำกับก็ทำให้น้องวันพุธเป็น Heterosexual เหมือนพยายามทำให้เธอดู ‘ปกติ’ มากเกินไป ทั้งที่ตัวของซีรีส์คือการชูประเด็น ‘คนนอก’ หรือ ‘คนชายขอบ’ ของสังคม”
“Wednesday ที่ไม่เกย์เลยสักนิด”
“หากลบภาพของ Addams Family ออกไป Wednesday เวอร์ชันนี้อาจไม่ต่างอะไรกับซีรีส์ไฮสคูลคลาสสิก ที่เล่าเรื่องของเด็กสาวคนใหม่เพิ่งย้ายมายังโรงเรียนแห่งหนึ่ง เด็กใหม่ที่ว่ามีปัญหากับสาวเจ้าถิ่น ผู้ชายหลายคนเข้ามาจีบเด็กใหม่แล้วขัดแข้งขัดขากันเอง มีคดีหรือเรื่องราวแปลกๆ เกิดขึ้น จนทำให้กลุ่มตัวเอกต้องตามสืบ ก่อนทุกอย่างจะจบลงด้วยความเข้าอกเข้าใจ”
“บุคลิกของน้องวันพุธ อาจตีความได้ว่าถ้าเธอไม่เป็นเกย์ เธออาจเป็น aromantic หรือ asexual แต่สุดท้ายด้วยมุมมองของผู้สร้างที่ไม่รู้ว่ามองแบบไหน เด็กผู้หญิงในเรื่องก็คงต้องคู่กับผู้ชายอยู่ดี”
“แล้วทำไมต้องเควียร์ หนังกับซีรีส์ทุกเรื่องบนโลกต้องมีเพื่อคนกลุ่มนี้เลยเหรอ?”
“สุดท้าย Wednesday เวอร์ชันนี้ก็สนุกและกลายเป็นไวรัล อย่าเครียดและยัดเยียดเรื่อง LGBTQ+ ให้กับซีรีส์มากนักเลย”
ข้อความข้างต้นคือส่วนหนึ่งของความคิดเห็นนับร้อยนับพันที่มีต่อ Wednesday (2022) ออริจินัลซีรีส์จาก Netflix ที่หยิบยืมเรื่องราวของ อาดัมส์ แฟมิลี่ ตระกูลนี้ผียังหลบ (The Addams Family) มาเล่า โดยที่ตัวละครหลักของเรื่องคือ เวนส์เดย์ อาดัมส์ (Wednesday Addams) ลูกสาวคนโตของบ้าน ที่มีบุคลิกลักษณะแตกต่างจากคนทั่วไป
เวนส์เดย์เป็นเด็กที่ชอบปลีกตัวอยู่คนเดียว เป็นโรคภูมิแพ้สีสัน ชื่นชอบเรื่องราวสยองขวัญ ลึกลับ และคดีฆาตกรรม หนึ่งในกิจกรรมที่เธอโปรดปรานที่สุดคือการหมกตัวอยู่ในห้องคนเดียว นั่งอยู่หน้าแท่นพิมพ์ และเริ่มเขียนนิยายฆาตกรรมเลือดสาด ซึ่งเธอก็ทำได้ดีมากจนบรรณาธิการสำนักพิมพ์หลายแห่งไม่สามารถรับงานเขียนไปตีพิมพ์ได้ เนื่องจากผลงานของเด็กสาวนั้นน่ากลัวและสยองขวัญสั่นประสาทเกินไป
เวนส์เดย์เวอร์ชัน 2022 จะเล่าเรื่องหลังจากที่เธอก่อวีรกรรมในโรงเรียนมัธยมปกติธรรมดา จนทำให้ถูกไล่ออกมาแล้ว 8 ครั้ง สุดท้ายครอบครัวอาดัมส์จึงตัดสินใจส่งเด็กสาวเข้าเรียนที่สถาบันเนเวอร์มอร์ (Nevermore Academy) สถานที่ที่หลายคนมองว่าไม่น่าอยู่ เป็นแหล่งรวมคนแปลก คนชายขอบ คนที่สังคมทั่วไปไม่ยอมรับ เพราะกลุ่มคนในโรงเรียนนั้นมีทั้ง ไซเรน (ปีศาจในตำนานกรีกที่มีลักษณะของสัตว์สามอย่างผสมกัน มีขาเป็นครีบเหมือนปลา มีปีก และมีเสียงเหมือนนก) มนุษย์หมาป่า ผีดิบ กากอย แม่มด หมอผี แวมไพร์ คนที่มีความสามารถแปลงร่างได้ คนที่สามารถสะกดจิตผู้อื่นได้ หรือกลุ่มคนแปลกอย่างครอบครัวอาดัมส์
ในช่วงแรกซีรีส์จะย้ำถึงความเป็น ‘คนนอก’ อยู่บ่อยครั้ง ทั้งทัศนคติของคนทั่วไปที่มีต่อโรงเรียนเนเวอร์มอร์คือความหวาดระแวง ไม่ไว้ใจ มองว่าเป็นคนชายขอบที่ถูกสังคมผลักออก และภายใต้ความเป็นคนนอกที่ว่านั้น เด็กๆ แต่ละคนก็มีความเป็น ‘คนนอก’ ซ้อนอยู่อีกที เช่น อีนิด (Enid) มนุษย์หมาป่าเล็บเจลที่ยังไม่สามารถแปลงร่างได้เหมือนกับเพื่อนร่วมฝูง หรือตัวของเวนส์เดย์เองที่คนในโรงเรียนรวมคนแปลก ก็ยังคงมองว่าเธอแปลกกว่าชาวบ้านอยู่ดี
ระหว่างดำเนินเรื่องไปได้พักหนึ่ง สิ่งที่ผู้ชมได้เห็นคือความสัมพันธ์วุ่นวายระหว่างเวนส์เดย์กับผู้ชายสองคน คนหนึ่งเป็นเพื่อนเก่า อีกคนเป็นชายแปลกหน้าที่บังเอิญต้องพบเจอ ก่อนจะเล่าถึงความสัมพันธ์คลุมเครือของทั้งสามคนไปจนเกือบจบเรื่อง ซึ่งผู้ชมบางกลุ่มมองว่า สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอยู่นี้เรียกได้ว่าเป็นความพยายาม ‘ยัดเยียดความสัมพันธ์’ ให้กับตัวละครหลักหรือไม่
เกิดการถกเถียงกันนานหลายวัน เพราะมีทั้งฝั่งที่ไม่ค่อยอินกับรักสามเส้า และมีทั้งฝั่งที่มองว่าไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ที่เด็กสาวอย่างเวนส์เดย์จะเริ่มมีความรู้สึกบางอย่างต่อเพศตรงข้าม ทว่าหากมองจากการโปรโมต และการพูดถึงความจำเป็นที่จะต้องมีเลิฟไลน์ขนาดนั้นหรือไม่ ประเด็นนี้ถูกชาวเน็ตจำนวนมากวิพากษ์หนักกว่าการวิจารณ์เนื้อเรื่องเสียด้วยซ้ำ
ย้อนกลับไปยังวันที่ 9 พฤศจิกายน 2022 Netflix จัดปาร์ตี้แดร็กในเมืองลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา เพื่อโปรโมตออริจินัลซีรีส์ที่กำลังจะออนแออย่าง Wednesday ด้วยการขีดฆ่าคำว่า day แล้วเปลี่ยนเป็น Wednesgay รวมถึงโปรโมตออนไลน์ด้วยภาพทีเซอร์หลายรูป ที่อาจชี้นำไปว่าซีรีส์นี้อาจเสนอความสัมพันธ์ของคนในชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ
งานปาร์ตี้ดังกล่าว ทาง Netflix ได้เชิญนักแสดง LGBTQIA+ และแดร็กควีนจากรายการ Drag Race ดังนั้นแขกหลายคนจึงแต่งตัวเหมือนกับเวนส์เดย์ หรือแต่งกายในแนวโกธิก โดย คริสตัล เมธิด (Crystal Methyd) นักแสดงแดร็กชื่อดังชาวอเมริกัน ถึงขั้นกล่าวในงานนี้ว่า “Wednesday Addams is a queer icon” หรือการที่ชาวเน็ตบางส่วนก็มองว่าเวนส์เดย์คือ เกย์ไอคอน (Gay icon) ที่มักจะนิยามถึงบุคคลสาธารณะที่เป็นที่ยกย่องยอมรับต่อชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ
“โดยพื้นฐานแล้ว เวนส์เดย์มีความสุขกับการที่ได้เป็นคนนอก”
คริสตัล เมธิด กล่าวถึงคาแรกเตอร์ของตัวละครเวนส์เดย์ว่า ในฐานะที่เด็กสาวเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวอาดัมส์ เธอใช้ชีวิตแตกต่างจากวัฒนธรรมกระแสหลักอย่างสิ้นเชิง จึงไม่แปลกที่เธอจะมีความสุขกับการอยู่กับตัวเอง และไม่เคยรู้สึกอับอายเวลาที่คนในครอบครัวทำตัวแปลกแยกจากสังคม
คริสตัลยังเสริมอีกว่า แต่เวนส์เดย์ในเวอร์ชัน Netflix กลับเผยให้เห็นว่าหลายครั้งเด็กสาวกระดากอายเวลาครอบครัวเธอทำตัวแปลกๆ ดูเหมือนจะไม่ยอมรับตัวตนและความแตกต่างของคนอื่นเท่าที่ควร ทั้งที่คาแรกเตอร์ตามที่หลายคนเข้าใจคือการยืนหยัดเพื่อคนชายขอบ เผชิญหน้ากับการบูลลี่ ไม่ยอมแพ้ ขณะเดียวกันก็รักสงบ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ผู้คนจำนวนมาก รวมถึงคนในชุมชน LGBTQIA+ อยากจะเป็น จึงไม่แปลกที่เมื่อนึกถึงครอบครัวอาดัมส์หรือรวมถึงตัวของเวนส์เดย์ เธอจึงถูกยกย่องว่าเป็น Gay Icon
ในช่วงงานเปิดตัวซีรีส์ มีนักข่าวถาม เจนนา ออร์เทก้า (Jenna Ortega) ผู้รับบทเวนส์เดย์ ว่าคิดเห็นอย่างไรกับการที่ผู้คนจำนวนมากมองว่าเวนส์เดย์เป็น Gay Icon เธอตอบคำถามนี้ว่าอาจเพราะเวนส์เดย์เป็นตัวของตัวเองสูง เธอทั้งเก่ง เจ๋ง มีสไตล์ที่โดดเด่นแตกต่าง เธอจะใช้ชีวิตเพื่อความพึงพอใจของตัวเอง และจะไม่พยายามทำให้คนอื่นๆ พอใจ หากสิ่งนั้นสวนทางกับตัวตนของเธอ ทั้งหมดนี้ทำให้เธอเป็นผู้หญิงที่ทรงพลังเอามากๆ
นอกจากนี้ หากมองจากบุคลิก ลักษณะนิสัย การแสดงทัศนคติที่เผยให้เห็น รวมถึงประเด็นการโปรโมต Wednesgay ทำให้เกิดการคาดเดาไปว่าหรือเวนส์เดย์จะเป็น Aromatic หรือ Asexsual ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIA+)
แล้ว Aromatic หรือ Asexsual คืออะไร?
บทความ ‘Asexuality Movement: มนุษย์ที่ไม่ฝักใจทางเพศ’ ของโตมร ศุขปรีชา ที่ลงกับ The Momentum เคยกล่าวถึงไว้แบบคร่าวๆ ว่า “Asexuality ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่คนทั่วไปคุ้นเคย ซึ่งเคยมีการแปลคำว่า Asexuality เป็นภาษาไทยว่าการ ‘ไม่ฝักใจทางเพศ’ ซึ่งทำให้หลายคนคิดว่าผู้ที่เป็น Asexual เป็นพวกถือพรหมจรรย์ แต่เว็บไซต์ AVEN (Asexual Visibility and Education Network) นิยามไว้ว่า การเป็น Asexual ไม่เหมือนการถือพรหมจรรย์ หรือ Celibacy เพราะว่าการถือพรหมจรรย์เป็น ‘ทางเลือก’ แต่ Asexuality นั้้นเป็น Sexual orientation อย่างหนึ่ง
“Asexual ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนเฉยชา ด้านชา ไม่รู้สึกรู้สมอะไร พวกเขาหรือเธอมีอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ เหมือนคนทั่วไปได้ทั้งนั้น รวมทั้งอารมณ์รัก อารมณ์เกลียด และ Asexual บางคนก็ต้องการความสัมพันธ์แบบใกล้ชิดด้วยเหมือนกัน เพียงแต่เขาหรือเธอไม่ได้ต้องการเซ็กซ์เท่านั้น”
ส่วนการนิยามถึง Aromatic อาจอ้างอิงได้จากบทความ ‘Asexual Love Story สำรวจเรื่องของหัวใจจากผู้ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศ’ กับการสัมภาษณ์ ปาร์คเกอร์–ภารวี อากาศน่วม ที่นิยามตัวเองว่าเป็น Asexual-Aromantic และผู้ก่อตั้งเพจ AroAce-clusionist: Aromantic & Asexual Exist ซึ่งเอ่ยถึงความหมายที่คนส่วนใหญ่มีต่อ Aromatic ว่า “ความรักของคน Aromantic เป็นได้หลายอย่างมาก เราคิดว่าความรักมันมีหลายแบบ เราสามารถมีความรู้สึกลึกซึ้งกับคนรอบตัวโดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นแฟนก็ได้ เราเองก็ไม่เข้าใจว่าทำไมคนถึงชอบจำกัดความรักให้อยู่ในกรอบของคนรักอย่างเดียว คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีความรักในรูปแบบโรแมนติกเป็นรักรูปแบบเดียวในชีวิตอยู่แล้ว และถ้าจะบอกว่า Aromantic มีแฟนไม่ได้ ก็คงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง”
เมื่อกล่าวถึง Wednesgay คำว่า Gay Icon หรือการสันนิษฐานว่าเธออาจเป็น Aromatic หรือ Asexsual จึงไม่แปลกใจที่ผู้ชมบางส่วนคาดหวังจะเห็นสิ่งที่ทาง Netflix โปรโมตไว้ แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นการเน้นเรื่องราวสามเส้าของชายหญิง ส่งผลให้หลายคนประณาม Netflix ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคือการเควียร์เบท (Queerbait) ใช้เทคนิคเชิงการตลาดที่ถูกใช้เล่าเรื่องผ่านสื่อที่สร้างความเป็นไปได้ให้เข้าใจว่า ตัวละครนี้ ‘อาจจะ’ เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ
ความไม่ชัดเจนว่าตัวละครมีอัตลักษณ์ทางเพศอย่างไร ทำให้สามารถกอบโกยผลประโยชน์ได้จากทุกฝ่าย และดึงความสนใจจากทั้งผู้ชมทั่วไป โดยเฉพาะ LGBTQ+ ไปจนถึงคนที่เกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน ถือเป็นการตลาดที่เลือกปฏิบัติทางเพศ หยิบยืมอัตลักษณ์ของ LGBTQIA+ ซ่อนเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ของคอมมูนิตี้นี้มาทำการตลาด แต่ก็ไม่ได้ใส่ใจเรื่องราวของคนกลุ่มนี้อย่างจริงจัง ตามที่โปรโมตไว้ก่อนหน้า
บางคนตีความถึงขั้นว่า เมื่อมาดูเรื่องราวในซีรีส์จริงๆ กลับกลายเป็นว่าทิศทางของการดำเนินเรื่องคล้ายกับกำลังพยายามทำให้คนที่อาจอยู่ในคอมมูนิตี้ LGBTQIA+ กลายเป็น Heterosexual หรือคนที่มีรสนิยมชอบเพศตรงข้าม ซึ่งเป็นค่านิยมที่สังคมส่วนใหญ่มองว่าเป็น ‘คนปกติ’ ทั้งที่เรื่องนี้เล่าเรื่องของผู้คนที่ถูกมองว่า ‘แปลก’ หรือเป็น ‘คนไม่ปกติ’ มาตั้งแต่แรก แต่กลับแตะประเด็นซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นหลังของเรื่องเพียงผิวเผินเท่านั้น
อีกหนึ่งเรื่องที่ถูกวิจารณ์ คือการตั้งคำถามว่าทีมงานทำให้ตัวละครหญิงอีกคนอย่างอีนิด หมกมุ่นเรื่องผู้ชายมากเกินความจำเป็นหรือไม่ รวมถึงการพยายามทำให้เธอมีเส้นเรื่องความรักเป็นของตัวเอง ที่บางคนดูแล้วรู้สึกน่ารัก บางคนดูแล้วรู้สึกยัดเยียดเกินไป หรือการที่โรงเรียนแห่งนี้เป็นแหล่งรวมคนชายขอบ แต่กลับแทบไม่เล่าเรื่องคนชายขอบในสังคมจริงๆ และเสียงผิดหวังที่ว่าทีมผู้สร้างทำให้ครอบครัวอาดัมส์ไม่ต่างอะไรกับ ‘ครอบครัวชาวอเมริกันที่หาได้ทั่วไป’ ซึ่งประเด็นนี้ก็มีบางส่วนมองว่า ความแปลกหรือการเป็นคนนอกที่ซีรีส์เรื่องนี้กำลังเล่าอยู่ หมายถึงแค่การเป็นปีศาจ ไม่ใช่ในมนุษย์ธรรมดา ที่ไม่ได้หมายถึงความแตกต่างทางเพศแต่อย่างใด
ความคิดเห็นเหล่านี้ถูกคัดค้านด้วยการตั้งคำถามว่า “บางคนคาดหวังให้หนังหรือซีรีส์ต้องมีเกย์หรือคนจากคอมมู LGBTQIA+ อยู่ในทุกเรื่องเลยหรือไง” ก่อนจะโต้เถียงกันอีกพักใหญ่ บ้างก็แย้งขึ้นมาว่าแล้วทำไมคนที่หวังให้มีเรื่องราวของ LGBTGIA+ ในซีรีส์เรื่องนี้ไม่ได้ เพราะก็เล่าถึงคนชายขอบ แถม Netflix ก็โปรโมตเรื่องนี้เองด้วยซ้ำ
การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันไปมาในโซเชียลมีเดีย เผยให้เห็นถึงคำศัพท์และประโยคน่าสนใจหลายคำ เช่น โว้ก (Woke) โฮโมโฟบ (ย่อมาจาก ‘โฮโมโฟเบีย’ อาการเกลียดหรือกลัวผู้มีความหลากหลายทางเพศ) ชายแท้ (หมายถึงคนที่มีแนวคิดแบบปิตาธิปไตย เหยียดเพศ ไม่เปิดรับความคิดเห็นใหม่ๆ ไม่ได้หมายถึงผู้ชายที่มีรสนิยมทางเพศตรงกับเพศสภาพแต่กำเนิด) เฟมทวิต (คำกล่าวแบบกว้างถึงเฟมินิสต์ที่เล่นทวิตเตอร์ หรือกลุ่มคนในทวิตเตอร์ที่อ้างว่าตัวเองเป็นเฟมินิสต์ และมักเปรียบเทียบกับอาการว้อแตก วีนเหวี่ยง) รวมถึงถึงคีย์เวิร์ดที่พบบ่อยอย่าง ‘โวยวายกับทุกเรื่อง’ และ ‘ชีวิตเคยมีความสุขบ้างไหม’ ฯลฯ
แม้ตอนนี้การโต้เถียงจะน้อยลงกว่าเดิมมากแล้ว แต่ถ้าเสิร์ชคำว่า ‘น้องวันพุธ’ หรือค้นหาคนที่พูดถึง ‘Wednesday’ ในทวิตเตอร์เป็นภาษาไทย เราก็ยังจะพบการต่อสู้แบบนี้ประปราย
ส่วนนักวิจารณ์เจ้าใหญ่ๆ อย่าง The New York Times มองซีรีส์เรื่องนี้ว่าดีในระดับปานกลาง “นี่จะไม่ใช่สิ่งที่แฟนตัวจริงของ Charles Addams (นักเขียนการ์ตูนผู้สร้างครอบครัวอาดัมส์) กำลังมองหา ส่วนตัวของซีรีส์นั้นสร้างความพึงพอใจในแบบที่ค่อนข้างทนได้ ทั้งประเด็นความโรแมนติก ความลึกลับ ชีวิตวัยรุ่นในรั้วโรงเรียน ซึ่งเป็นสูตรสำเร็จที่เห็นกันบ่อยครั้ง”
ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ทั้งบวกและลบ มีรายงานว่าทีมผู้สร้างซีรีส์ Wednesday ได้วางโครงเรื่องเอาไว้อย่างน้อย 3-4 ซีซัน รวมถึงตัวละครเดิมๆ หลายคนที่อาจจะยังได้ไปต่อ นอกจากนี้ เรื่องราวของเด็กสาวจากครอบครัวอาดัมส์ ยังกลายเป็นซีรีส์ภาษาอังกฤษออริจินัลของ Netflix ที่มียอดเข้าชมในสัปดาห์แรกมากที่สุดเท่าที่เคยนับสถิติมา โดยมียอดมาถึง 341 ล้านชั่วโมง โค่นแชมป์เก่าอย่าง Stranger Things 4 (2022) ที่เคยทำสถิติไว้ที่ 335 ล้านชั่วโมง
กระแสความนิยมที่มีต่อ Wednesday ทั้งหมดที่รวบรวมมานี้ ไม่ได้หมายความว่าผู้ชมบางส่วนมีทัศนคติเชิงลบหรือต่อต้านซีรีส์แบบสุดขั้ว เพราะมองอีกแง่หนึ่ง เสียงบ่นจำนวนหนึ่งอาจตีความได้ถึงความคาดหวัง หรือคนที่ผิดหวังจากการโปรโมต
ถึงอย่างนั้น คอมเมนต์จำนวนมหาศาลกับกระแสตอบรับที่ยอดเยี่ยม ทำให้ค่อนข้างการันตีได้ว่าเราอาจจะเห็นเด็กสาวโกธิก สมาชิกครอบครัวอาดัมส์ และเพื่อนฝูงรอบตัวของโรงเรียนเนเวอร์มอร์กลับมาสร้างสีสันให้กับผู้ชมอีกครั้ง แต่กลับมาในรูปแบบไหน คาแรกเตอร์จะเหมือนเดิมหรือต่างไปจากเดิม ก็คงเป็นเรื่องของอนาคตที่ยังไม่มีใครล่วงรู้
ที่มา:
– https://www.nytimes.com/2022/11/22/arts/television/wednesday-review.html
– https://www.unilad.com/film-and-tv/wednesday-netflix-queerbaited-20221123
– https://www.digitalspy.com/tv/ustv/a42061295/wednesday-addams-queer-lgbtq-wenclair/
– https://www.pinknews.co.uk/2022/11/24/wednesday-netflix-wenclair-queer-ship-reaction/
– https://variety.com/2022/tv/news/wednesday-showrunners-finale-season-2-jenna-ortega-1235443656/
Tags: ซีรีส์, Wednesgay, เพศ, Wednesday Addams, เน็ตฟลิกซ์, The Addams Family, ความเท่าเทียมทางเพศ, Queerbate, Screen and Sound, น้องวันพุธ, เควียร์เบท, Entertainment, Queerbaiting, Netflix, LGBTQIA+, Gender, Wednesday Netflix