ข้อมูลจากทีมวิเคราะห์แพร์รอต (Parrot Analytics) เผยว่าตั้งแต่ปี 2018-2021 จำนวนสารคดี ภาพยนตร์ และซีรีส์เกี่ยวกับคดีฆาตกรรมอิงเรื่องจริง (True Crime) เพิ่มขึ้นบนแพลตฟอร์มสตรีมมิงถึง 63% แสดงให้เห็นว่ามีคนไม่น้อยหลงใหลในคดีสะเทือนขวัญและฆาตกรต่อเนื่อง ยิ่งจริงเท่าไรยิ่งชอบ อาจเพราะกลิ่นของความลึกลับ การได้เห็นความชั่วร้ายดำมืดในจิตใจคนคนหนึ่ง ช่วงเวลาที่ได้ร่วมลุ้น คิดตาม หรือความยินดีในฉากที่ตำรวจจับคนผิดมาลงโทษได้
แต่การเสพเรื่องเหล่านี้ในฐานะ ‘สิ่งบันเทิง’ ควรมีเพดานกั้นความสนุกสนานที่อาจจะท่วมท้นจนเกินงามหรือไม่?
คำถามดังกล่าวเกิดขึ้นในสังคมอเมริกันอย่างแพร่หลาย หลังซีรีส์ ‘Dahmer – Monster: The Jeffrey Dahmer Story’ เข้าฉายบนเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2022 และประสบความสำเร็จจนขึ้นเป็นซีรีส์ที่มียอดผู้ชมสูงสุดทั้งในสหรัฐอเมริกาและระดับโลกภายในเวลาไม่ถึง 1 เดือน จนไต่บันไดไปสู่การเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำครั้งที่ 20 ในปีนี้ (Golden Globes Awards) ถึง 4 รางวัล ได้แก่สาขานักแสดงนำชาย สาขามินิซีรีส์หรือภาพยนตร์โทรทัศน์ยอดเยี่ยม สาขานักแสดงสมทบหญิงและนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม
ความสุขผู้ชม ความสำเร็จผู้สร้าง ความบอบช้ำครอบครัวเหยื่อ
ด้วยความสามารถทางการแสดงของเหล่านักแสดงนำ และความละเอียดของเนื้อหาที่ผู้กำกับอย่าง ไรอัน เมอร์ฟี (Ryan Murphy) ได้ถอดเรื่องราวทุกอย่างมาจากข้อมูลจริงในคดีของ เจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์ (Jeffrey Dahmer) อาทิ บทสัมภาษณ์ของผู้เกี่ยวข้อง วิดีโอในศาล รวมถึงภาพที่เกิดเหตุในห้องของดาห์เมอร์ที่สื่อไม่เคยเผยแพร่
ซีรีส์เรื่องนี้จึงสร้างทั้งความประทับใจและความกลัวให้แก่ผู้ชม จนหลายคนถึงกับรีวิวว่าไม่สามารถดูจนจบได้ เพราะเมื่อรู้ว่าเหตุการณ์สยองทั้งหมดเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับเหยื่อผู้โชคร้าย มันทำใจยอมรับได้ยากว่าคนสามารถทำสิ่งเลวร้ายกับคนด้วยกันขนาดนี้ได้ รวมไปถึงความเน่าเฟะของกรมตำรวจและระบบยุติธรรมที่เกิดขึ้นจริงก็น่ากลัวไม่แพ้กัน จึงถือว่าผลงานชิ้นนี้ประสบความสำเร็จในฐานะทีมผู้สร้าง
ไรอันให้สัมภาษณ์กับเน็ตฟลิกซ์ว่า ทุกคนทุ่มเทอย่างมากในการใช้คดีสยองของดาห์เมอร์เพื่อตีแผ่ปัญหาสังคม ทั้งครอบครัวที่เลี้ยงเด็กคนหนึ่งมาผิดๆ การรังแกกันในรั้วโรงเรียน ความอยุติธรรมที่คนผิวดำและกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ต้องเผชิญในยุค 1980 รวมถึงความมืดบอดของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปล่อยให้ดาห์เมอร์รอดจากการจับกุมได้ทุกครั้ง ทั้งหมดนี้สร้างปีศาจที่ชื่อเจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์
แต่ทุกเรื่องราวมีหลายด้านเสมอ หากมองทะลุความสำเร็จนี้เข้าไป สิ่งที่ถูกซ่อนอยู่หลังจอแก้วคือความเจ็บปวดของครอบครัวเหยื่อผู้เสียชีวิต ที่ต้องทนเห็นวงการฮอลลีวูดหากินจากการผลิตซ้ำคดีนี้เป็นครั้งที่ 6 ตั้งแต่ปี 1993 และครั้งนี้มีทั้งรูปภาพเหยื่อ บันทึกเสียงการแจ้งความ ภาพความรื่นรมย์ของตัวละครเจฟฟรีย์ตอนลงมือ และทุกอย่างที่ทำให้พวกเขาเบือนหน้าหนีทุกครั้งเมื่อมีคนพูดถึงซีรีส์เรื่องนี้
วันที่ 26 กันยายน 2022 ริตา อิสเบลล์ (Rita Isbell) พี่สาวของ แอร์รอล ลินด์เซย์ (Errol Lindsey) หนึ่งในเหยื่อของดาห์เมอร์ได้ออกมาให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวรายการอินไซเดอร์ (Insider) ว่าทางเน็ตฟลิกซ์หรือทีมผู้สร้างไม่เคยติดต่อครอบครัวของเธอมาเลย ไม่มีการแจ้งว่าจะนำวิดีโอคำให้การในศาลของเธอมาสร้างเป็นฉากใหญ่ในซีรีส์เรื่องนี้
“ฉันได้ดูแค่บางส่วน และรู้สึกแย่มากที่ได้เห็นภาพตัวเอง เห็นชื่อของฉันปรากฏขึ้นตรงมุมจอ เห็นนักแสดงหญิงคนนั้นพูดคำพูดทั้งหมดที่ฉันเคยพูดด้วยน้ำเสียงสั่นเครือเหมือนฉันในวันนั้น และไม่เคยมีใครติดต่อมาขออนุญาตหรือไถ่ถามว่าฉันจะรู้สึกอย่างไร ไม่ถามอะไรเลย พวกเขาก็แค่ทำมันออกมา น่าเศร้าที่พวกเขาหาเงินจากโศกนาฏกรรมของพวกเรา” ริตากล่าว
อีริก เพอร์รี (Eric Perry) ญาติอีกคนเสริมว่า “นี่เป็นการทำร้ายจิตใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำไปเพื่ออะไรกัน? เราต้องมีภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือสารคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกเท่าไรถึงจะพอ”
หลังจากข่าวนี้แพร่ออกไป กระแสเชิงบวกที่มีต่อซีรีส์ดังกล่าวก็แปรเปลี่ยนเป็นการตั้งคำถามชุดใหญ่กับวงการฮอลลีวูดว่า พวกเขากำลังใช้ความทุกข์ของคนอื่นในฐานะ ‘วัตถุดิบสร้างความบันเทิง’
เส้นแบ่งอันพร่าเลือนระหว่าง ‘เรื่องจริง’ กับ ‘เรื่องแต่ง’ ที่ทำให้วิจารณญาณผิดเพี้ยน
ในมุมของผู้ชมที่ชื่นชอบเรื่องราวเกี่ยวกับฆาตกรต่อเนื่อง อาจจะหาข้อโต้แย้งให้กับตนเองว่าตนมีวิจารณญาณมากพอในการรับสาร สามารถกลั่นกรองข้อความสำคัญที่เรื่องราวต้องการจะสื่อกับสิ่งที่ไม่ควรทำตามได้ และยืนยันที่จะสนับสนุนให้มีสื่อแบบนี้ออกมาต่อไป แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นจากความเข้าใจผิดต่อสิ่งนี้ก็ไม่ควรถูกมองข้ามเช่นกัน เพราะครั้นผลงานถูกฉายออกไปให้คนทุกเพศทุกวัยรับชม ผลลัพธ์ย่อมหลากหลายและควบคุมไม่ได้
อย่างในช่วงเทศกาลวันฮัลโลวีนในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา มีการพบเห็นวัยรุ่นและเด็กในหลายประเทศทั่วโลก โพสต์ภาพหรือวิดีโอของตัวเองที่เลือกแต่งตัวเป็นเจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์ พร้อมของประกอบต่างๆ เช่น สว่าน ถุงดำใส่ชิ้นส่วนศพ และกระป๋องเบียร์ ตอกย้ำถึงอิทธิพลเชิงลบของสื่อบันเทิงที่เกิดขึ้นจริง เพราะสำหรับคนที่ไม่ได้ตรึกตรองอาจมองว่า ดาห์เมอร์เป็นแค่ตัวละครหนึ่งในโลกภาพยนตร์ ไม่ต่างจากการใส่ชุดซูเปอร์ฮีโร่หรือคนสำคัญในประวัติศาสตร์ โดยไม่คิดถึงมุมที่ว่า ‘เหยื่อคือของจริง’ และหากครอบครัวของพวกเขาจะต้องไปพบเจอคนแต่งตัวเป็นฆาตกรที่คร่าชีวิตคนที่พวกเขารักตามที่ต่างๆ มันจะเป็นการสร้างบาดแผลได้
ซึ่งปัญหานี้สามารถมองย้อนไปถึงความพร่าเลือนของเส้นแบ่งระหว่าง ‘เรื่องจริง’ กับ ‘เรื่องแต่ง’ ในการสร้างงานประเภทอิงเรื่องจริง
สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจก่อนเลยคืองานแนว True Crime ใช้เหตุการณ์จริงเป็นฐานในการเล่าเรื่องเท่านั้น ส่วนองค์ประกอบอื่นเกิดจากการออกแบบของผู้กำกับ ทีมเขียนบท และนักแสดงที่จะสื่อสารออกมาตามความเข้าใจหรือจุดประสงค์ในการนำเสนอ ทำให้ไม่สามารถยึดถือว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นความจริง 100% ได้
ไม่มีใครรู้แน่นอนว่า ณ ตอนนั้น เหยื่อหรือฆาตกรมีความรู้สึกนึกคิดและใช้คำพูดอย่างไรบ้าง ภาพที่สำเร็จออกมาให้ผู้ชมเห็นคือผลจากการตีความประกอบข้อมูล หรือต่อให้สร้างมาจากคำบอกเล่าของผู้เกี่ยวข้อง ก็เป็นแค่เรื่องเล่าจากมุมมองของบุคคลที่สามเท่านั้น
วันที่ 10 ตุลาคม 2022 สำนักข่าวเดอะการ์เดียน (The Guardian) รายงานบทสัมภาษณ์ของเชอร์ลีย์ ฮิวจ์ (Shirley Hughes) แม่ของโทนี ฮิวจ์ (Tony Hughes) เหยื่อผู้พิการทางการพูดและการได้ยินของดาห์เมอร์ ตัวละครสำคัญในซีรีส์ตอนที่ 6 ‘Silenced’ ที่ ‘ถูกเขียน’ ให้เป็นคนรักคนเดียวของดาห์เมอร์ ผู้เกือบทำให้เขาหยุดฆ่าได้ พร้อมการใส่สีตีไข่ฉากโรแมนติกระหว่างทั้งคู่ จนผู้ชมเชื่อจนสนิทใจว่าคือเรื่องจริง และทำให้เชอร์ลีย์ผู้แม่ไม่พอใจอย่างมาก
“เรื่องจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น พวกเขาทำแบบนี้ได้อย่างไร ทำไมถึงเอาชื่อเราทุกคนไปใช้แล้วแต่งเรื่องนี้ออกมา”
นอกจากนี้ สำนักข่าวรายงานว่าเธอไม่สามารถทำใจพูดเรื่องการตายของโทนีได้อย่างสุภาพและสงบเลยตลอดการสัมภาษณ์
ความจริงถูกเฉลยอีกครั้งในสารคดี ‘Conversations with a Killer: The Jeffrey Dahmer Tapes’ ที่เน็ตฟลิกซ์ฉายตามต่อจากซีรีส์ดังกล่าวในเดือนกันยายน โดยเนื้อหาตอนหนึ่งของเทปสอบปากคำเจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์ เขาถูกถามถึงโทนี ฮิวจ์ เริ่มแรกเขาจำไม่ได้ว่าโทนีเป็นใคร แต่กลับจำได้จากความพิการของโทนี
ในการเล่ารายละเอียดการฆาตกรรม ดาห์เมอร์ไม่ได้พูดถึงความสัมพันธ์โรแมนติกที่พิเศษเหมือนกับเรื่องในฉบับซีรีส์เลย โทนีเป็นเพียงแค่หนึ่งในเหยื่อของเขาเหมือนคนอื่นๆ ซึ่งความผิดพลาดนี้แสดงให้เห็นถึงจรรยาบรรณของทีมผู้สร้างที่มีความจงใจบิดเบือนความจริงจนเกินขอบเขต และสร้างความเข้าใจผิดต่อผู้ชมจำนวนมาก
อีกหนึ่งความผิดเพี้ยนที่เกิดขึ้นกับงานแนว True Crime คือการทำให้คนร้ายกลายเป็น ‘ที่รัก’ ของมหาชนโดยไม่ได้ตั้งใจ
นิตยสารคอสโมโพลิแทน (Cosmopolitan) เผยแพร่บทความว่าด้วยการคัดเลือกนักแสดงชายทรงเสน่ห์มารับบทฆาตกร ที่อาจทำให้คนมีมุมมองต่อความโหดร้ายทารุณเปลี่ยนไป โดยยกตัวอย่างเป็นตัวละคร เท็ด บันดี (Ted Bundy) ฆาตกรต่อเนื่องที่ฆ่าและข่มขืนผู้หญิงกว่าร้อยคนและกรณีของซีรีส์ดาห์เมอร์
ในภาพยนตร์เรื่อง ‘Extremely Wicked, Shockingly Evil and Vile’ ปี 2019 ที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับชีวประวัติของเท็ด บันดี ได้นักแสดงขวัญใจวัยรุ่นยุค 2000s อย่างแซก เอฟรอน (Zac Efron) มาบอกเล่าเรื่องของบันดีในมุมหัวหน้าครอบครัวที่สมบูรณ์แบบ จนท้ายที่สุดภรรยาและลูกของเขาเลือกจะต่อสู้ พยายามโต้แย้งต่อศาลและสื่อว่าบันดีไม่มีทางเป็นฆาตกรได้
ดาเนียลลา สกอตต์ (Daniella Scott) ผู้เขียนบทความดังกล่าวแสดงความเห็นว่าส่วนผสมระหว่างนักแสดงทรงเสน่ห์และเป็นที่รัก กับเนื้อหาของเรื่องที่พยายามสร้างความเห็นใจให้ฆาตกรต่อเนื่องในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่แค่ทำผิดพลาดหรือป่วย มันลดทอนสิ่งที่ฆาตกรเหล่านี้ลงมือทำจริงๆ ไปมาก ตัวละครของพวกเขาไม่ใช่แค่หนุ่มแบดบอยพร้อมกลับใจ
ในมุมหนึ่งซึ่งผู้ชมสามารถเข้าใจรากปัญหาแวดล้อมและเห็นใจคนเหล่านี้ได้ แต่ไม่ควรที่จะเข้าใจการกระทำในคดี
เธอเสริมถึงซีรีส์เรื่องดาห์เมอร์เพิ่มเติมว่า การที่ผู้กำกับเลือกหนุ่มฮอตแห่งวงการฮอลลีวูดอย่าง อีวาน ปีเตอร์ (Evan Peters) มารับบทนี้ ประกอบกับเนื้อหามุ่งเน้นไปที่ปมวัยเด็ก ตั้งใจนำเสนอมุมที่อ่อนไหวของฆาตกร เป็นการ ‘พยายาม’ สร้างความเป็นมนุษย์ให้ดาห์เมอร์มากเกินไป จนทำให้คนมองข้ามเหยื่อ
ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่สังคมถกเถียงกันไม่จบไม่สิ้น หลายคนว่ามันไม่เกี่ยวกับความสามารถและเสน่ห์ของนักแสดง แต่สำหรับดาเนียลลาเธอมองว่า การกำกับนักแสดงและเนื้อหามีส่วนสำคัญที่จะสร้างภาพที่ต่างออกไปได้ โดยเธอเขียนทิ้งท้ายเชิงเหน็บแนมว่า
“แววตาเย็นชาสีฟ้าอันสวยงามคู่นั้น เปลี่ยนนักฆ่าที่แสนอันตรายในจอให้กลายเป็นคนที่น่ากินเสียเหลือเกิน”
การจะตีฉากสรุปคุณค่าของภาพยนตร์และซีรีส์ฆาตกรรมแบบอิงเรื่องจริง ยังคงเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ เพราะผลดีและผลเสียขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ชม ที่จะใช้สื่อนี้เป็นภาพสะท้อนปัญหาสังคม ตื่นรู้ไปกับมัน หรือจะมองเป็นแค่ฉากนองเลือดที่ให้ความสุขกับพวกเขาในฐานะ ‘คนที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์’ จึงต้องปล่อยพื้นที่ว่างไว้ให้สังคมได้วิเคราะห์วิจารณ์กันต่อไป
ที่มา:
– https://www.wired.co.uk/article/serial-dahmer-monster-impact-true-crime
ภาพ: Netflix
Tags: ฆาตกรรม, ฆาตกรต่อเนื่อง, Screen and Sound