1.

“ผมทำเอง ผมจำชื่อพวกเขาทั้งหมดไม่ได้” 

“พวกเขาไม่ได้หยุดผมไว้”

ชายผมเกรียนวัยกลางคนในชุดเครื่องแบบบุรุษพยาบาลกล่าวด้วยน้ำเสียงแข็งกร้าว สีหน้าเขาเรียบเฉย ขณะที่มือข้างซ้ายถูกคล้องด้วยกุญแจมือ เขาเพิ่งสารภาพต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแผนกสืบสวนสอบสวนและเพื่อนร่วมงาน ว่าเขาได้ลงมือสังหารเหยื่อผู้โชคร้ายไปมากถึง 39 ราย โดยไม่ต้องออกแรงเองให้มือเปื้อนเลือด

เหตุการณ์ข้างต้นคือเรื่องราวจริงๆ ของ ชาร์ลส์ คันเลน (Charles Cullen) ฆาตกรต่อเนื่องผู้ถูกขนานนามว่า เทพบุตรแห่งความตาย (Angel of Death) ที่สร้างคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนไปทั่วสหรัฐอเมริกาช่วงปลายยุค 90s ถึงต้น 2000 ที่ทางเน็ตฟลิกซ์ (Netflix) เพิ่งนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ที่มีชื่อเรื่องว่า The Good Nurse (2022) โดยดัดแปลงมาจากนิยาย The Good Nurse: A True Story of Medicine, Madness, and Murder ของนักเขียนชาวอเมริกันชาร์ลส์ แกรเบอร์ (Charles Graeber) 

ทางผู้กำกับฯ ฝีมือดี โทเบียส ลินด์โฮล์ม (Tobias Lindholm) ได้วางตัวสองนักแสดงเจ้าบทบาทระดับรางวัลออสการ์ คือ เอดดี เรดเมย์น (Eddie Redmayne) และเจสซิก้า แชสเทน (Jessica Chastain) เป็นนักแสดงนำ เล่าผ่านเส้นเรื่องหลักถึงสาเหตุที่ทำให้ชาร์ลส์ลอยนวลพ้นผิดอยู่ในสังคม จนถึงจุดจบของฆาตกรเลือดเย็นรายนี้ ภายใต้บรรยากาศมืดหม่น กดดัน ชวนให้คนดูเสียวสันหลังวาบตลอด 2 ชั่วโมงเต็ม

อะไรคือแรงจูงใจที่ทำให้ ชาร์ลส์ คันเลน ตัดสินใจลุกขึ้นมาก่อเหตุ วิธีการใดที่ทำให้เขาพรากชีวิตผู้อื่นโดยไม่ต้องมือเปื้อนเลือด และเหตุใดจึงลอยนวลพ้นผิดทั้งที่ฆ่าคนไปจำนวนมาก Screen and Sound สัปดาห์นี้จึงอยากชวนผู้อ่านมาร่วมไขปริศนาไปพร้อมกัน

 

*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของภาพยนตร์บางส่วน

 

2.

ย้อนกลับไปในปี 2002 ชาร์ลส์ คันเลน (รับบทโดย เอดดี เรดเมย์น) ได้ย้ายมาเป็นบุรุษพยาบาลกะดึกประจำโรงพยาบาลโซเมอร์เซ็ต เมดิคัล เซ็นเตอร์ (Somerset Medical Center) ก่อนจะได้มาพบกับ เอมี่ ราวเกร็น (รับบทโดย เจสซิก้า เชสเทน) พยาบาลสาวแม่เลี้ยงเดี่ยวที่กำลังประสบปัญหาด้านสุขภาพด้วยโรคภาวะกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ แต่กลับต้องกัดฟันทำงานเพราะต้องประคับประคองสถานะการเงินของครอบครัว

เรื่องราวค่อยๆ ดำเนินไปด้วยบรรยากาศแห่งความเป็นกัลยาณมิตร ชาร์ลส์คอยช่วยเหลือเอมี่ในการทำงาน ทั้งคู่เริ่มเปิดใจผลัดกันระบายทุกข์สุข ชาร์ลเล่าว่าเขาถูกภรรยาฟ้องหย่า ห้ามเจอกับลูกๆ ทั้งถูกใส่ร้ายว่าวางยาเบื่อสุนัขที่บ้านจนตาย และต้องลาออกจากโรงพยาบาลเดิมเพราะถูกเพื่อนร่วมงานใส่ร้าย

ด้วยบุคลิกดูอบอุ่น มีน้ำใจ ทำให้เอมี่มองว่าชาร์ลเป็นคนไม่มีพิษมีภัยอะไรผิดจากข่าวลือลิบลับ แต่แล้ววันหนึ่งขณะเข้างานเหมือนเช่นทุกวันกลับเกิดเหตุไม่คาดฝัน เมื่อเจ้าหน้าที่ในวอร์ดแจ้งว่า ผู้ป่วยที่เธอกำลังดูแลเสียชีวิตกะทันหัน ทั้งที่ป่วยจากอาการแพ้ยาธรรมดา วันเวลาผ่านไปมีผู้ป่วยเสียชีวิตคนแล้วคนเล่าโดยไม่ทราบสาเหตุ ที่น่าสังเกตคือทุกรายเสียชีวิตหลังจากชาร์ลส์เข้ามาทำงานได้เพียงไม่กี่สัปดาห์

โรงพยาบาลโซเมอร์เซ็ตฯ ได้เรียกเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านพิษวิทยาประจำรัฐนิวเจอร์ซีย์ (New Jersey Poison Information and Education System) เข้ามาสืบสวนสาเหตุการเสียชีวิตต่อเนื่องปริศนาที่ว่าตามกฎหมายด้านสาธารณสุข 

ดูเหมือนว่าการสอบสวนจะเป็นไปด้วยความยากลำบาก เมื่อโรงพยาบาลโซเมอร์เซ็ตฯ เลือกที่จะเตะถ่วงปล่อยคดีให้ล่าช้า จนฆาตกรผู้เลือดเย็นมีเวลาลงมือเลือกเหยื่อรายใหม่

 

3.

เอมี่เริ่มสังเกตเห็นพฤติกรรมผิดปกติของเพื่อนชายคนสนิท ชาร์ลส์มีประวัติสั่งจ่ายยาในเครื่องคอมพิวเตอร์บ่อยเกินกว่าจำนวนเคสผู้ป่วยในวอร์ดที่มี ซึ่งยาส่วนใหญ่ที่เขาสั่งคือ อินซูลีน (Insulin) และ ไดจ็อกซิน (Digoxin) 

ต่อมาเมื่อสืบประวัติของผู้เสียชีวิตแต่ละราย พบว่าพวกเขาได้รับยาทั้งสองชนิดมากผิดปกติ และบางรายไม่มีความจำเป็นต้องรับยาเสียด้วยซ้ำ ซึ่งตรงตามอาการของผู้ป่วยที่มีอาการชักเกร็งก่อนสิ้นใจ

พยาบาลแม่เลี้ยงเดี่ยวตัดสินใจต่อสายหา 2 เจ้าหน้าที่ตำรวจ แดน บอลด์วิน (รับบทโดย นามดิ อาโมซูกา) และ ทิม บรอน (รับบทโดย โนอาห์ เอ็มเมอริช) เพื่อวางแผนจับกุมชาร์ลส์มารับโทษ 

เอมิลี่นัดชาร์ลส์มากินข้าว ณ ร้านอาหารแห่งหนึ่ง แต่ฆาตกรเลือดเย็นไม่รู้ว่าเธอแอบติดเครื่องดักฟังไว้ที่ตัว และมีตำรวจสองนายดักซุ่มรออยู่ด้านนอก เธอพูดจาหว่านล้อมจนเขาปริปากสารภาพถึงสิ่งเลวร้ายที่กระทำลงไปนับครั้งไม่ถ้วนและกลายเป็นหลักฐานสำคัญที่ใช้มัดตัวชาร์ลส์

วิธีการที่เทพบุตรแห่งความตายใช้สังหารเหยื่ออย่างไร้ร่องรอย คือการแอบย่องเข้าไปยังห้องเก็บยา ก่อนบรรจงเอาสลิงค์ที่บรรจุอินซูลีนหรือไดจ็อกซินฉีดเข้าไปด้านในถุงน้ำเกลือ และด้วยสีของยาทั้งสองชนิดที่มีความใสจึงทำให้ไม่มีเจ้าหน้าที่พยาบาลรายใดเอะใจ ที่เหลือก็แค่รอให้ใครสักคนนำถุงน้ำเกลือไปใช้กับผู้ป่วย รอเวลาออกฤทธิ์ราว 24 ชั่วโมง ก็บรรลุเป้าหมายชนิดที่ไม่ต้องออกแรงให้มือตัวเองต้องเปื้อนเลือด (จากคำสารภาพของฆาตกรระบุว่าบางครั้งเป็นเขาที่ฉีดยาใส่ถุงน้ำเกลือเอง) 

ในตอนแรกชาร์ลส์ปิดปากเงียบสนิท ไม่มีใครรู้ถึงแรงจูงใจที่เขาฆ่าผู้อื่น กระทั่งภายหลังเขายอมสารภาพว่าที่ทำลงไปเพราะต้องการสงเคราะห์ให้ผู้ป่วยไปสบาย ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคร้ายที่เป็นอยู่อย่างมะเร็ง, หอบหืด, แพ้ภูมิตัวเอง ฯลฯ

ชาร์ลส์ให้การรับสารภาพทุกอย่างเพื่อเลี่ยงโทษประหารชีวิต เขาถูกศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิตด้วยคดีทั้งหมด 18 คดี และไม่มีสิทธิ์ได้รับการทัณฑ์บนจนถึงปี 2403 แม้เขาจะสารภาพว่าฆ่าคนไป 39 คน แต่จากการคาดคะเนตลอดระยะเวลาอาชีพบุรุษพยาบาล 16 ปี เขาอาจลงมือสังหารเหยื่อติดต่อไปมากถึง 400 ราย ทว่าโรงพยาบาลที่เขาเคยสังกัดมาก่อนราว 9 แห่ง เลือกที่จะเก็บเรื่องเงียบเพราะกลัวจะเสื่อมเสียเชื่อเสียง ทำให้ไม่เหลือหลักฐานให้เอาผิดเขาเพิ่มเติมได้ (และเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาลอยนวลอยู่นานโข)

ขณะเดียวกันแพทย์ยังวินิจฉัยว่า ชาร์ลส์ป่วยด้วยอาการทางจิตทั้งพารานอยด์ (Paranoid) โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder) และมีพฤติกรรมต่อต้านสังคมอย่างรุนแรง (Antisocial Personality Disorde) 

กรณีของ ชาร์ลส์ คันเลน ยังส่งผลให้โรงพยาบาลทั่วประเทศสหรัฐฯ ต้องเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การคัดเลือกบุคลากรขนานใหญ่ และมีการออกกฎหมายคุ้มครองผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีกหลายมาตรา

 

4.

ทั้งนี้ ผู้เขียนขอถือโอกาสเล่าถึงประวัติชีวิตของชาร์ลส์ คันเลน เพิ่มเติมแบบคร่าวๆ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ก่อนหน้าที่ไม่มีเล่าในหนัง เพื่อไขข้อสงสัยถึงปัจจัยที่เปลี่ยนให้ผู้ชายธรรมดาคนหนึ่งกลายเป็นปีศาจร้ายคร่าชีวิตเพื่อนมนุษย์ดุจผักปลา

ชาร์ลส์ เกิดเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 1960 ที่เมืองเวสต์ออเรนจ์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ ในฐานะลูกคนที่ 8 ของตระกูลคัลเลน หลังลืมตาดูโลกได้ 7 เดือน พ่อของเขาเสียชีวิตทำให้ครอบครัวเริ่มระส่ำ ฟลอเรนผู้เป็นแม่ต้องหาเช้ากินค่ำเลี้ยงดูลูกๆ เธอเปรียบเสมือนโลกทั้งใบของชาร์ลส์ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันเลวร้ายเขาถูกเพื่อนที่โรงเรียนประถมบูลลี่ ซ้ำร้ายยังถูกพี่น้องรังแกใช้กำลังทุบตี จนวันหนึ่งชาร์ลส์ตัดสินใจผสมสารเคมีและดื่มเพื่อหวังฆ่าตัวตายแต่ถูกช่วยชีวิตไว้ได้ทัน

เรื่องราวเลวร้ายยังไม่จบลง เมื่ออายุ 17 ปี ชาร์ลส์ต้องสูญเสียแม่จากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เขาพยายามติดต่อไปยังโรงพยาบาลเมาน์เทนไซด์  (Mountainside Hospital) ที่เก็บศพแม่ของเขาเพื่อนำไปฌาปนกิจตามพิธีแต่กลับถูกโรงพยาบาลปฏิเสธ เหตุเพราะเขาไม่สามารถกรอกเอกสารยินยอมเคลื่อนย้ายศพได้เพราะอายุยังไม่บรรลุนิติภาวะ ด้านพี่ๆ ก็ไม่ได้ยินดียินร้าย ทำให้จิตใจของชาร์ลส์แตกสลายอย่างมาก

หลังแม่เสียชีวิต ชาร์ลส์ตัดสินใจลาออกจากโรงเรียนมัธยมปลายเพื่อไปเป็นช่างเทคนิคในกองทัพเรือ แต่ด้วยพฤติกรรมและบุคลิกภาพผิดแปลกจากผู้อื่นทำให้เขาถูกเพื่อนทหารด้วยกันพูดจาเหยียดหยามกลั่นแกล้ง ชาร์ลส์ลงมือฆ่าตัวตายถึง 7 ครั้ง แต่ทุกครั้งก็รอดมาได้ เมื่อผู้บังคับบัญชารู้เรื่องเข้าจึงอ้างว่าชาร์ลส์มีโรคประจำตัว ไม่สามารถรับราชการต่อไปได้ และสั่งปลดประจำการเขา 

ปี 1984 ชาร์ลส์ตัดสินใจเข้าเรียนเป็นบุรุษพยาบาลที่ศูนย์ฝึกวิชาพยาบาลของโรงพยาบาลเมาน์เทนไซด์ (Mountainside Hospital School of Nursing) โรงพยาบาลที่ไม่ยอมคืนศพแม่ให้เขา ทุกอย่างดูเหมือนจะราบรื่นเป็นไปด้วยดี ชาร์ลส์เข้ากับเพื่อนๆ ได้ง่าย ก่อนจะเรียนจบและแต่งงานกับแฟนสาว แอเดรียน เทาบ์ (Adrienne Taub) และมีลูกสาวที่น่ารักด้วยกัน 2 คน 

หลังถูกบรรจุเป็นบุรุษพยาบาลในแผนกดูแลผู้ป่วยไฟไหม้ที่ศูนย์การแพทย์เซนต์ บาร์นาบาส (St. Barnabas Medical Center) ชาร์ลส์เริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าวต่อภรรยา แอบทารุณกรรมสัตว์เลี้ยงที่บ้านจนตาย ผลสุดท้ายก็เริ่มก่อเหตุลงมือเหยื่อผู้โชคร้ายรายแรกนามว่า จอห์น เยงโก (John Yengo) ด้วยการฉีดยาลิโดเคน (Lidocaine) ปริมาณมากลงในน้ำเกลือ 

ต่อมาภรรยาที่รับไม่ได้ต่อพฤติกรรมแปลกประหลาดขอฟ้องหย่ารับสิทธิ์เลี้ยงลูกสาวทั้ง 2 คน และทำให้ความอำมหิตของเขาทวีความรุนแรง จนสุดท้ายได้ส่งผลเรื่องราวมาถึงเหตุการณ์ใน The Good Nurse

(ชาร์ลส์ คันเลน ในชีวิตจริงขณะกำลังรับฟังคำตัดสินของศาลรัฐนิวเจอร์ซีย์)

5.

น่าเสียดายที่ The Good Nurse เล่าเนื้อหาเพียงเสี้ยวเดียวจากเหตุการณ์จริง และส่วนใหญ่เลือกเล่าผ่านมุมมองของตัวละครเอมี่ จึงทำให้คนดูอาจงุนงงถึงแรงจูงใจที่ทำให้ชาร์ลส์กลายเป็นฆาตกรต่อเนื่อง ปูมหลังชีวิตของเขาเป็นอย่างไร ก่อนหน้าเคยก่อเหตุอะไรมาบ้าง ล้วนไม่มีฉากใส่มาให้เห็น มีเพียงการพูดถึงแค่สั้นๆ เพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น 

ใครที่ชื่นชอบหนังฆาตกรเลือดสาดอาจผิดหวังได้ง่ายๆ เพราะผู้กำกับโทเบียส ลินด์โฮล์ม เลือกใช้วิธีไต่ระดับความกดดันจากศูนย์ถึงร้อย ตรงจุดนี้กลายเป็นดาบสองคมที่สร้างข้อดีและข้อด้อยต่อหนังไปโดยปริยาย (ส่วนตัวผู้เขียนรู้สึกผิดหวังที่ เอดดี เรดเมย์น ได้เวลาออกหน้ากล้องน้อยกว่าที่คิด ทำให้มีเวลาโชว์การแสดงไม่เต็มที่เท่าไหร่นัก)

ถึงกระนั้นแง่คิดที่ได้จากการดูหนังฆาตกรรม ที่พักหลังชักจะถูกสร้างออกมาบ่อยขึ้นจะเห็นได้ว่าฆาตกรเกือบทุกราย ล้วนตกอยู่ในสภาพแวดล้อมอันเลวร้ายตั้งแต่เด็ก บางรายไม่ใช่คนโฉดชั่วโดยกมลสันดาน บางรายถูกกดดัน ทุบตี หรือข่มขืนจนเกิดอาการทางจิต และเมื่อมีสิ่งเร้าไปกระตุ้นเพียงเล็กน้อยก็พร้อมจะระเบิดจิตใต้สำนึกชั่วร้ายออกมา

นี่ไม่ใช่การออกตัวปกป้องฆาตกรโรคจิตบันลือโลกทั้งมวลในหน้าประวัติศาสตร์ จริงอยู่ที่พวกเขาสมควรได้รับบทลงโทษจากการกระทำ แต่หากมองถึงต้นสายปลายเหตุและนำมาถอดเป็นบทเรียน เราอาจจะมีสิทธิ์หยุดยั้งการเกิดของปีศาจตนใหม่ในอนาคตได้ ดั่งที่ใครหลายคนกล่าวว่าอาการทางจิตไม่ใช่แค่เรื่องธรรมดาเดี๋ยวก็หาย ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีก็ล้วนมีแต่จะแย่ลงทั้งต่อตัวผู้ป่วย คนรอบข้าง ไม่เว้นแม้แต่ผู้คนในสังคม

Tags: , , , ,