‘การรายงานตัวเลขอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิต’ กลายเป็นข่าวประจำเทศกาลหยุดยาวของไทยไปแล้ว ภาพซากยานพาหนะ ผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตที่กลับไปไม่ถึงบ้าน ถูกฉายให้เห็นจนแทบจะชาชิน อย่างไรก็ตาม ล่าสุด มีข้อมูลใหม่ว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตในช่วงสงกรานต์นั้นแทบไม่ต่างจากช่วงวันปกติ แม้ว่าช่วงสงกรานต์จะมีปริมาณรถยนต์เข้าออกกรุงเทพฯ สู่ภูมิภาคต่างๆ โดยอยู่ที่ 8,756,752 คัน จากเดิม 7,528,906 คัน เพิ่มขึ้น 1,227,846 คัน มากกว่าปกติถึง 16.31%

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลว่า ถ้านำจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งปีมาหาร 365 วัน จะตกที่ราว 60 คนต่อวัน 60 คูณด้วย 7 วัน ก็จะได้ 420 ช่วงสงกรานต์ก็มีผู้เสียชีวิตราวๆ นี้ คือ 400 เศษๆ ต่อหนึ่งสัปดาห์ แปลว่า ผู้เสียชีวิตในช่วงเจ็ดวันของเทศกาลสงกรานต์ใกล้เคียงกับเจ็ดวันปกติ ทั้งที่การเดินทางมากกว่าปกติหลายเท่าตัว

ถามว่าเหตุใดตัวเลขจึงเป็นเช่นนั้น ดร.สุปรีดา ชี้ว่า เกิดจากมาตรการต่างๆ ที่ทำกันมาตลอด 15 ปี ทั้งการรณรงค์เรื่องเมาไม่ขับ การสวมหมวกกันน็อค การตั้งด่านชุมชน หรือแม้แต่ด่านของตำรวจ ซึ่ง สสส. สนับสนุนการดำเนินงานในภาพรวมตลอดทั้งปี ไม่ได้ทำเฉพาะช่วงเทศกาล เพียงแต่ในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ มีปัญหาสูงกว่าช่วงเวลาปกติ  จึงเป็นวาระพิเศษในการรณรงค์กระตุ้นเตือนสังคม ด้วยการสนับสนุนกลไกการทำงานเพื่อการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนทั้งในระดับชาติ จังหวัด และระดับพื้นที่ โดยเฉพาะชุมชนและท้องถิ่น ให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านการสนับสนุนข้อมูลวิชาการ การวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลให้แก่ภาคีเครือข่าย หน่วยงานภาครัฐ รวมทั้งรณรงค์สังคมผ่านเครือข่ายภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน

ที่ภูเก็ต เมืองท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ซ้ำยังมีพื้นที่ที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่ายอย่างภูเขาและทางลาดชัน แก้ปัญหาอุบัติเหตุในพื้นที่ด้วยการสร้างความตระหนักรู้เรื่องกฎจราจรให้กับเยาวชน โดยพุ่งเป้าไปที่กลุ่มนักเรียนอาชีวะ เพราะในภูเก็ตมีสถาบันอาชีวะถึง 6 แห่ง นักเรียนกว่า 3,000 คน โดยจัดอบรมเรื่องการขับขี่ปลอดภัย และทำโครงการให้ยืมหมวกกันน็อควันละหนึ่งบาท

ที่อุตรดิตถ์ ซึ่งมีประชากรกว่า 450,000 คน ใช้วิธีค้นหาจุดเสี่ยงในชุมชน โดยเปิดให้ญาติผู้เสียชีวิตร่วมสะท้อนปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ แล้วจึงอุดช่องโหว่

“บางทีเรายังให้ข่าวกันในทำนองว่าไม่ได้ผล ซึ่งจริงๆ ไม่จริง จำนวนผู้เสียชีวิตเคยถึง 800-900 รายนะในช่วงสงกรานต์”

ถามว่า เทรนด์การรณรงค์เปลี่ยนไปจากเดิมที่เน้นไปที่ตัวคน อย่างแคมเปญเมาไม่ขับ หรือให้สวมหมวกกันน็อค ไปเป็นการทำงานในพื้นที่มากขึ้นใช่หรือไม่ ดร.สุปรีดาบอกว่า ในสามองค์ประกอบหลักของการเกิดอุบัติเหตุ คือ คน รถ และถนน คนยังเป็นเบอร์หนึ่ง ไม่ว่าพฤติกรรมของคน ความประมาท การขาดสติ หรือการไม่รักษาวินัย

“คนเป็นปัญหาที่ยังคงอยู่ แต่ว่าวิธีที่ทำให้คนมีพฤติกรรมที่ดีขึ้น บางครั้งเราไปมุ่งที่ปัจเจกบุคคลอย่างเดียวไม่พอ จึงต้องอาศัยตัวช่วย เช่น องค์กร ถ้าองค์กรที่เขาอยู่ ให้ความสำคัญเรื่องนี้ กวดขันตั้งแต่ในองค์กรเลย อันนี้ก็ช่วย หรืออย่างชุมชน เขาก็จะรู้ว่าวัยรุ่นคนไหนเป็นขาเมา เดี๋ยวถึงเวลาต้องฉลอง หรือถ้าเมา ต้องมีมาตรการยึดรถ ส่วนใหญ่คนที่จะยึดได้ก็ผู้หลักผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน

“นี่คือการที่ให้สังคมรอบข้างช่วยกันดูแล มันก็ยังเกี่ยวพันกับเรื่องของคนอยู่นะ เพียงแต่จากโฟกัสที่ตัวปัจเจกก็ไปหาสังคมรอบข้างเขา ยิ่งใกล้ตัวเท่าไรยิ่งดี ขณะที่ภาพใหญ่ก็ต้องทำ นโยบายชาติก็ต้องทำ ระบบใหญ่ก็ต้องดูแล แต่ว่าเนื่องจากอุบัติเหตุมันเกิดขึ้นแพร่กระจายไปทุกหย่อมหญ้า เราเลยต้องการความร่วมมือระดับข้างล่างช่วยอีกมากเลย”

ในภาพใหญ่ที่ว่า ดร.สุปรีดา มองไปที่ระบบขนส่งมวลชน

“ประเทศไทยโดยรวม หรืออย่างกรุงเทพฯ เราใช้ขนส่งมวลชนต่ำกว่าเมืองสำคัญๆ ของโลกมาก เรายังต้องพึ่งรถส่วนตัว วินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งกลายเป็นรถโดยสารสาธารณะไปแล้ว ทั้งที่ต่างประเทศเขาจะไม่ค่อยยอมรับกัน”

“ฉะนั้น ถ้าเรามีรถสาธารณะมากขึ้น จะทำให้จากที่คนจำนวนหนึ่งต้องใช้รถสิบคัน ก็มารวมที่คันเดียว สองเรามีระบบรางให้มากขึ้น โดยทั่วไปความปลอดภัยสูงกว่าระบบถนนมาก ใช้การคุม แล้วอยู่ในรางใครรางมัน อย่างชินคันเซ็นของญี่ปุ่น วิ่งด้วยความเร็วสูงมาก ฉลองครบล้านเที่ยว โดยไม่มีคนตายสักคนหนึ่ง”

ถ้าลดปัญหาอุบัติเหตุลงได้ สงกรานต์นี้ สมาชิกในครอบครัวก็จะได้เจอหน้ากันพร้อมหน้าพร้อมตา

Fact Box

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เปิดกิจกรรม ‘Thailand Big Move Road Safety’ เพื่อรณรงค์ลดอุบัติเหตุสู่เส้นทางถนนปลอดภัย โดยเปิดพื้นที่นำร่อง 10 จังหวัด แก้ 30 จุดเสี่ยง สร้างถนนปลอดภัย ตั้งเป้าทำให้ครบ 77 จังหวัดในปีนี้

Tags: , , ,