สัปดาห์แรกของการขึ้นปีใหม่อาจเรียกได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งความหวังและการเริ่มต้นใหม่ แต่หัวข้อที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างร้อนแรงในโลกอินเทอร์เน็ตขณะนี้กลับไม่ใช่หัวข้อที่สดใสและดีต่อใจสักเท่าไรนัก โดยเฉพาะหลังจากที่ครึ่งแรกของซีรีส์ เกาหลีแนวกลับมาแก้แค้น The Glory ออกฉายให้สตรีมทาง Netflix เมื่อช่วงสิ้นปีที่ผ่านมา

ตัวซีรีส์เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตเหยื่อความรุนแรงในสถานศึกษา มุน ดงอึน (รับบทโดย ซง ฮเยคโย) หญิงสาวบุคลิกหม่นหมองผู้เต็มไปด้วยความแค้น ในช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดในชีวิต ดงอึนล้มเลิกความคิดฆ่าตัวตาย ตัดสินใจอุทิศชีวิตทั้งหมดที่เหลือไปกับการแก้แค้นเพื่อนร่วมชั้นที่รวมหัวกันทำร้ายกลั่นแกล้งตน 

เธอวางแผนอย่างละเอียด ค่อยๆ ดําเนินการตามแผนของตัวเองไปทีละอย่างด้วยความอดทน และรออย่างใจเย็น จนกระทั่งคู่กรณีของเธอเริ่มสร้างครอบครัวจนดูเหมือนจะประสบความสําเร็จกันไปทีละคน ตอนนั้นเองที่ดงอึนเริ่มกลับเข้าไปปรากฏตัวในชีวิตของคนเหล่านั้น

The Glory ได้รับความนิยมและกลายเป็นที่พูดถึงทั้งในและต่างประเทศแทบจะทันที โดยเฉพาะฉากการรังแกในตอนแรกของซีรีส์ พัค ยอนจิน (รับบทโดย อิม จียอน) รวมหัวกับกลุ่มเพื่อนใช้แกนม้วนผมนาบตามแขนขาจนเกิดบาดแผลไหม้ ที่ต่อมากลายเป็นแผลเป็นทั่วร่างกายของดงอึน และเป็นสาเหตุที่ทําให้เธอสวมเสื้อผ้าแขนขายาวมิดชิดอยู่เสมอ จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของตัวละครนี้ 

“ขอชมฝ่ายเอฟเฟกต์กับเมกอัปอาร์ติส ที่แต่งแผลไหม้ ดูแล้วคลื่นไส้ฉิบหาย” 

“ไอ้เด็กพวกนี้เป็นอะไรมากไหม”

“คนเกาหลีช่วยมายืนยันหน่อยเถอะว่ามันไม่ได้เป็นแบบนี้จริงๆ ใช่ไหม”

นี่คือเสียงตอบรับจากชาวเน็ตส่วนหนึ่งในต่างประเทศ น่าเสียดายที่ฉากนี้เขียนขึ้นจากเหตุการณ์จริงในเกาหลีใต้ที่กลายเป็นหัวข้อข่าวดังช่วงปี 2006 

ส่วนในไทยนั้น ทันทีที่ซีรีส์ออกฉายก็เริ่มมีคนเปิดประเด็นเรื่องความเข้มงวดของสังคมเกาหลีต่อคนดังที่อาจมีประวัติการใช้ความรุนแรงทันที

การสาวไส้อดีตอันย่ำแย่ของคนในวงการบันเทิง

ทวีตข้างต้นกล่าวถึงการออกจากวงการบันเทิงของคนดังชาวเกาหลีในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักร้องไอดอล 

หากใครติดตามข่าวลักษณะนี้อยู่บ้าง จะรู้ว่าถ้าคนดังคนไหนถูกกล่าวหาว่าเคยรังแกผู้อื่นหรือใช้ความรุนแรง ต่อให้สุดท้ายจะชนะคดีในชั้นศาลก็ตาม โอกาสจะกลับมาดังเท่าเดิม (หรือในบางกรณี แค่จะกลับเข้ามาทํางานในวงการเฉยๆ) แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากตัวเลขอัตราโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตายในเยาวชน เป็นปัญหาที่เรื้อรังในเกาหลีใต้มาอย่างยาวนาน 

นอกจากจะมีสาเหตุมาจากภาวะกดดันภายใต้ระบบการศึกษาที่เคร่งเครียดแล้ว การตกเป็นเหยื่อความรุนแรงในสถานศึกษา ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทําให้เด็กๆ เหล่านี้ตัดสินใจจบชีวิตของตัวเองลง

ภายหลังจากข้อความนี้ถูกรีทวีตออกไป เริ่มมีคนจำนวนมากเข้ามาแสดงความคิดเห็นและตั้งสมมติฐานว่า หากวงการบันเทิงไทยหันมาจริงจังกับประเด็นนี้ให้ได้สักครึ่งหนึ่งของเกาหลี คนดังกว่าครึ่งวงการในไทยอาจถึงคราวหมดอนาคตก็เป็นได้ ซึ่งนั่นคล้ายจะไปจุดประกายให้คนเริ่มออกมาเล่าประสบการณ์การถูกกลั่นแกล้งโดยคนดังในวัยเรียน และบอกใบ้เป็นนัยๆ ว่าเจ้าตัวเป็นใคร ปัจจุบันมีผลงานอะไรในวงการบันเทิงบ้าง

เมื่อปี 2020 กรมสุขภาพจิตเผยข้อมูลว่า มีเยาวชนไทยกว่า 91% (ราว 6 แสนคน) ตกเป็นเหยื่อการบูลลี่ในระบบการศึกษา ซึ่งถือว่าสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองแค่ญี่ปุ่นเท่านั้น 

จึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย ผู้คนจํานวนมากสนใจประวัติการใช้ความรุนแรงของคนดัง แต่อาจด้วยเคยเห็นกรณีตัวอย่างของคนดังหลายคนที่สามารถพิสูจน์ ความบริสุทธิ์ของตนได้ในชั้นศาล ภายหลังจากสูญเสียโอกาสในเส้นทางบันเทิงไปแล้ว เสียงตอบรับต่อเทรนด์การออกมาแฉในครั้งนี้จึงแตกออกเป็นสองฝั่งอย่างชัดเจน 

ไม่ได้มีแค่ฝั่งที่เห็นด้วยเท่านั้น แต่มีทั้งฝั่งที่ตั้งคําถามเรื่องความน่าเชื่อถือของผู้ที่อ้างตัวเป็นเหยื่อว่าเวลาผ่านมานานแล้ว ทําไมจึงเพิ่งออกมาเรียกร้อง รวมถึงตัวคนดังที่ถูกกล่าวหา ก็ออกมาชี้ชวนให้ใช้วิจารณญาณพิจารณาระหว่างอีกฝ่ายที่เป็น ‘อวตาร’ กับตนที่เป็น ‘คนมีแสง’

ในช่วงท้ายของซีรีส์ตอนแรก ดงอึนในวัยสิบแปดปีที่ผ่านช่วงที่ยากที่สุดในชีวิตมาได้และตัดสินใจจะแก้แค้น เดินตรงเข้าไปในโรงยิม สถานที่ที่เธอเคยถูกรังแก ก่อนถามยอนจินว่าความฝันของอีกฝ่ายคืออะไร

“ฉันไม่มีความฝันหรอกนะดงอึน มีแต่คนอย่างเธอเท่านั้นแหละที่ฝัน ส่วนฉันก็เป็นคนที่คอยจ่ายเงินให้ตอนที่ฝันเธอเป็นจริงแล้วไงล่ะ” 

ยอนจินเย้ยหยัน 

แล้วเธอล่ะ ความฝันของเธอคืออะไร”

“เธอ” 

ดงอึนตอบด้วยสายตาแน่วแน่และรอยยิ้มที่น่ากลัว 

“นับจากวันนี้เป็นต้นไป ความฝันของฉันคือเธอ พวกเราต้องมาเจอกันอีกให้ได้นะ พัค ยอนจิน”

การถูกบูลลี่เพราะความไร้อํานาจในฐานะทางสังคม

เห็นได้ชัดว่าความรุนแรงที่ซีรีส์ต้องการพูดถึง ไม่ใช่เพียงความรุนแรงเชิงพฤติกรรมเท่านั้น แต่รวมไปถึงความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรม สภาวะภายในองค์กรที่เอื้อให้คนกลุ่มหนึ่งสามารถใช้ความรุนแรงได้ คือสาเหตุที่ทําให้ความฝันดงอึนถูกพรากไป 

ชีวิตวัยเรียนของเธอไม่ได้จบลงแค่เพียงเพราะยอนจินและเพื่อนๆ ตัดสินใจว่าจะรังแกเธอ แต่เพราะทุกครั้งที่มีการรังแกเกิดขึ้น ผู้ที่มีอํานาจในระบบอย่างครูประจําชั้นและตํารวจกลับเพิกเฉย ในตอนนั้นเธอจึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากพาตัวเองออกมา กว่าจะเตรียมตัวจนพร้อมกลับไปล้างแค้น เวลาก็ล่วงเลยไปแล้วตั้ง 18 ปี

ความสัมพันธ์ทางอํานาจที่เกิดจากสถานะทางสังคมจึงเป็นปัจจัยสําคัญที่นําไปสู่ความรุนแรงในสถานศึกษา ความจนของดงอึนและความรํ่ารวยของยอนจินไม่ได้ถูกเขียนขึ้นมาเพียงเพราะต้องการให้นางเอกน่าสงสารเป็นพิเศษ แต่เพราะนั่นคือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง 

มีผลงานวิจัยหลายชิ้นที่บ่งชี้ว่า แม้ผู้ใช้ความรุนแรงและเหยื่อความรุนแรงอาจมาจากครอบครัวที่มีพื้นฐานแบบใดก็ได้ แต่หากเทียบกันแล้ว เหยื่อที่มาจากครอบครัวที่มีสถานะทางการเงินมั่นคงนั้นมีน้อยกว่าผู้ใช้ ความรุนแรงที่มาจากครอบครัวแบบเดียวกัน 

นอกเหนือไปจากสถานะทางเศรษฐกิจแล้ว สถานะทางสังคมที่เกี่ยวโยงกับบทบาทหน้าที่และปฏิสัมพันธ์กับคนในวง สังคมเดียวกันก็เป็นส่วนสําคัญเช่นเดียวกัน สืบเนื่องจากเธรดที่มีการพูดถึง The Glory ก็มีทั้งกรณีที่ผู้กระทําเลือกเหยื่อที่มี ความผิดปกติทางพัฒนาการหรือการสื่อสาร และกรณีที่เลือกเหยื่อกลุ่มเพศหลากหลาย กล่าวคือเป็นเหยื่อที่มีอํานาจต่อรองทางสังคมน้อยกว่าตนอย่างไม่ต้องสงสัย

เมื่อผนวกรวมกับความเฉยเมยของระบบและโครงสร้างที่ไม่เพียงแค่เอื้อให้เกิดความรุนแรงเท่านั้น แต่บางครั้งยังสร้างความชอบธรรมให้กับความรุนแรงดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างครูกับนักเรียน หรือระหว่างนักเรียนกับ นักเรียนด้วยกันเอง อํานาจที่ตัวเหยื่อซึ่งยังคงเป็นนักเรียนในสังกัดสถานศึกษานั้นๆ อยู่ในขณะนั้นจึงมีอยู่อย่างจํากัด 

ไหนจะสภาพจิตใจของเหยื่อหลังจากต้องผ่านความรุนแรงที่เกิดขึ้นติดต่อกัน ดังนั้นหลายครั้ง การลุกขึ้นมาต่อกรกับคู่กรณีจึงมาเกิดขึ้นในภายหลังจากที่เวลาผ่านมาแล้วระยะหนึ่ง หลังจากที่เหยื่อฟื้นตัวจากความชอกชํ้าทางใจ และเป็นอิสระจากอํานาจครอบงําของสถานศึกษาแล้วนั่นเอง

เช่นเดียวกับที่ มุน ดงอึน ไม่สามารถอนุญาตให้ตัวเองมีความสุขแม้เพียงกับสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ได้ในวัยผู้ใหญ่ เพราะเด็กหรือวัยรุ่นที่เผชิญหน้ากับความรุนแรงมีแนวโน้มจะโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่ประสบปัญหาในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นในด้านสุขภาพกายและใจ เศรษฐกิจ สังคม ที่สําคัญที่สุดคือด้านการก่ออาชญากรรม แผนแก้แค้นที่ยากและยาวนานถึง 20 ปี อาจฟังดูเหมือนเกิดขึ้นได้เพียงในละคร แต่ผลกระทบที่เหยื่อบูลลี่ต้องเผชิญนั้นล้วนเป็นผลกระทบระยะยาว นั่นหมายความว่าเหยื่อบางคนจะต้องรับมือกับสิ่งเหล่านี้ไปชั่วชีวิต

นี่คือคําตอบของคําถามที่ว่า “ทำไมถึงเพิ่งออกมาพูด”

ดังที่ คิม อึนซุก นักเขียนที่อยู่เบื้องหลังซีรีส์เรื่องนี้ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสาเหตุที่เธอเขียนบทละครเรื่องนี้ขึ้นมา ความกังวลเกี่ยวกับลูกสาวที่กําลังจะเข้าเรียนมัธยมปลาย รวมถึงโพสต์ในโซเชียลมีเดีย และบทสัมภาษณ์ของเหยื่อที่เธออ่าน ได้จุดประกายบางอย่างให้เธอเปิดโน้ตบุ๊กขึ้นมาแล้วลงมือเขียน

“ทันทีที่ต้องเผชิญหน้ากับความรุนแรงในสถานศึกษา สิ่งที่เหยื่อต้องสูญเสียไปคือสิ่งที่จับต้องไม่ได้อย่าง เกียรติ ศักดิ์ศรี และความภาคภูมิใจ นั่นคือสาเหตุที่ฉันต้องใช้ชื่อเรื่องว่า The Glory” คิม อึนซุกกล่าว

อ้างอิง

https://www.looper.com/1156585/netflixs-the-glory-is-a-brutal-look-at-bullying-and-revenge-and-fans-cantturn-away/

http://news.bbsi.co.kr/news/articleView.html?idxno=150332 

https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/19123106/

https://www.thairath.co.th/news/society/1772041 

https://ajph.aphapublications.org/doi/abs/10.2105/AJPH.2014.301960 

https://journals.sagepub.com/doi/full/10.1177/0956797613481608 

https://www.tatlerasia.com/lifestyle/entertainment/netflix-the-glory-kdrama-song-hye-kyo-lee-do-hyun-limji-yeon 

Tags: , , , , , , ,