Glory Glory, Man United สำหรับแฟนฟุตบอลของสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เชื่อว่าเพลงนี้เป็นเหมือนท่วงทำนองที่อยู่ในใจของเหล่าสาวก ‘ปีศาจแดง’ ไม่ว่าหน้าเก่าหรือหน้าใหม่ ด้วยจังหวะที่คุ้นหูและร้องตามได้ง่าย ทำให้เพลงดังกล่าวโดดเด่นกว่าเพลงเชียร์ของสโมสรอื่นๆ 

แต่รู้หรือไม่ว่า แท้จริงแล้วสโมสรแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดไม่ใช่ผู้รังสรรค์บทเพลงเชียร์อมตะนี้แต่อย่างใด แต่ไปหยิบยืมจากบทเพลงทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 1862 และที่สำคัญ ‘ปีศาจแดง’ ไม่ใช่สโมสรแรกบนเกาะอังกฤษที่นำเพลงนี้มาดัดแปลงเป็นเพลงเชียร์สโมสรด้วยซ้ำ

ย้อนกลับไปในปี 1862 เกิดสงครามกลางเมืองในอเมริกาเกี่ยวกับการถือครองทาส ระหว่างฝ่ายอนุรักษนิยมและฝั่งหัวก้าวหน้า โดยในระหว่างการต่อสู้ จูเลีย วอร์ด ฮาว (Julia Ward Howe) กวี นักเขียน และนักเคลื่อนไหวทางสังคม ได้แต่งเพลง The Battle Hymn of the Republic ขึ้น เพื่อเป็นการปลุกใจสำหรับของกองทัพฝ่ายเหนือหัวก้าวหน้า โดยมีเนื้อหาเพื่อให้เกิดการรณรงค์เลิกทาสเป็นสำคัญ และด้วยทำนองของเพลงที่ติดหูโดยเฉพาะท่อน “Glory, Glory, Hallelujah” ทำให้เพลงดังกล่าวถูกนำไปแปลงเนื้อเพลงอย่างแพร่หลาย 

แน่นอนว่ารวมไปถึงในเวทีการแข่งขันฟุตบอลอันยิ่งใหญ่ของเกาะอังกฤษอย่าง พรีเมียร์ลีก

สโมสรทอตแนมฮอตสเปอร์ (Tottenham Hotspur) ในลอนดอน เป็นสโมสรแรกที่มีการนำทำนองเพลง The Battle Hymn of the Republic มาดัดแปลงเป็นเพลงเชียร์ของทีม มีการบันทึกเอาไว้ในปี 1960 หลังจากที่พวกเขาเอาชนะทีมวูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอส์ (Wolverhampton Wanderers) และหยุดทีมจากภาคตะวันตกของอังกฤษจากการคว้าดับเบิลแชมป์ในปีนั้นได้ 

อีกหนึ่งหลักฐานที่ปรากฏคือในฤดูกาลปี 1961-1962 ในฟุตบอลถ้วยยุโรปที่สเปอร์สต้องเจอกับทีมกอร์นิค ซาเบอร์เซ (Górnik Zabrze) ยอดทีมจากโปแลนด์ โดยก่อนหน้านี้มีการพูดคุยในหมู่แฟนบอลว่าสเปอร์สไม่มีเพลงประจำสโมสร ไม่มีสัญลักษณ์ของเกมเหย้า ดังนั้นในเกมที่ 2 ของการเจอกันในสนามไวต์ฮาร์ตเลน ซึ่งเป็นสนามเหย้าของสเปอร์ส แฟนบอลหลายคนได้แต่งตัวเป็นนางฟ้าพร้อมถือป้ายสโลแกน เช่น ‘Glory be to shining White Hart Lane’ และ ‘Rejoice! This is the night of vengeance’ 

ที่สำคัญฝูงชนเริ่มร้องเพลง The Battle Hymn of the Republic เมื่อสเปอร์สเอาชนะไปได้ด้วยสกอร์ 8-1 

หลังจากนั้น สเปอร์สก็เริ่มแปลงเนื้อเพลงทางการเมืองของสหรัฐอเมริกาให้เขากับสโมสรมากขึ้น มีการใส่ประวัติศาสตร์ผ่านชื่อนักเตะตัวหลักของทีมหรือนัดสำคัญของสโมสร ก่อนที่พวกเขาจะทำการบันทึกเสียงเป็นเพลงของสโมรสรอย่างจริงจังในปี 1981 โดย แชส แอนด์ เดฟ  (Chas & Dave) กลายเป็นเพลง Glory Glory, Tottenham Hotspur ที่อยู่ในอัลบั้ม Ossie’s Dream (Spurs Are on Their Way to Wembley)

แต่หากพูดถึงทีมที่มีการบันทึกเป็นเพลงประจำสโมสรอย่างเป็นทางการ ลีดส์ยูไนเต็ด (Leeds United) คือผู้ที่บันทึกประวัติศาสตร์นั้นเอาไว้ แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่ชัดว่าเพลงดังกล่าวเริ่มขึ้นในแมตช์ใด แต่เพลงดังกล่าวกับลีดส์เองก็มีความสัมพันธ์กันในฐานะสโมสรแรกที่นำทำนองเพลง The Battle Hymn of the Republic มาบันทึกเสียงบนเกาะอังกฤษ

 ในปี 1986 ที่ลีดส์ยูไนเต็ดคว้าดัมเบิลแชมป์ทั้งลีกคัพและอินเตอร์-ซิตีส์แฟรส์คัพ สโมสรได้ว่าจ้างให้ รอนนี ฮิลตัน (Ronnie Hilton) นักร้องชาวอังกฤษที่โด่งดังมากในช่วงทศวรรษ 1950 เป็นผู้ขับร้อง จนออกมาเป็นเพลง Glory Glory, Leeds United ที่ได้ยินกันในทุกวันนี้

อย่างไรก็ดี ในโลกฟุตบอลปัจจุบัน หากพูดถึงการดัดแปลงเพลงดังกล่าวที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด คงหนีไม่พ้น Glory Glory, Man United ของยอดสโมสรอย่างแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด โดยที่มาของเพลงดังกล่าวเกิดขึ้นในแมตช์ที่แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดต้องแข่งขันกับไบรท์ตันแอนด์โฮฟอัลเบียน ในรอบชิงชนะเลิศศึกเอฟเอคัพ ปี 1983 ผลปรากฏว่าทีมมวยรองอย่างไบรท์ตันสามารถสู้กับทีมชั้นนำอย่างปีศาจแดงได้อย่างสูสี และจบเกมส์ด้วยผลเสมอ 2-2 ทำให้ทั้งสองทีมต้องกลับมาเตะเพื่อหาผู้ชนะอีกครั้ง

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้แฟนบอลผีแดงเริ่มขยับตัวหาทางช่วยให้ทีมรักของพวกเขาสามารถเอาชนะทีมมวยรองที่กลายเป็นม้ามืดอย่างไบรท์ตันในขณะนั้น พวกเขาได้ว่าจ้าง แฟรงก์ เรนชอว์ (Frank Ranshaw) จากวง Herman’s Hermits ให้ช่วยแต่งเนื้อเพลงให้ใหม่ ด้วยการแปลงเนื้อหาจาก The Battle Hymn of the Republic ให้มีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของสโมสรปีศาจแดง โดยเฉพาะเส้นทางเอฟเอคัพสู่สังเวียนศักสิทธิ์ในนัดชิงชนะเลิศอย่างสนามเวมบลีย์ และเกี่ยวข้องกับแมตช์รีเพลย์ที่จะถึงโดยเฉพาะ

ด้วยทำนองที่ร้องตามง่าย และเนื้อเพลงที่ไม่ซับซ้อน ทำให้แฟนบอลสามารถร้องตามได้ กลายเป็นเสียงตะโกนของทัพปีศาจแดงที่กระหึ่มไปทั่วสนาม ส่งผลถึงผู้เล่นของปีศาจแดงที่ฮึกเหิมราวกับมีผู้เล่นคนที่ 12 อยู่ในทีม ก่อนที่แมนเชสเตอร์ยูไนเต็ดจะสามารถถล่มเอาชนะไบรท์ตันไปได้ด้วยสกอร์ 4-0 คว้าแชมป์เอฟคัพครั้งที่ 5 ได้สำเร็จ

น่าสนใจที่แต่ละทีมสามารถหยิบยืมบริบทของเพลง The Battle Hymn of the Republic มาต่อยอดเป็นเพลงปลุกใจให้กับทีมของตัวเองได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญเพลงเชียร์เหล่านี้ยังเป็นเครื่องบันทึกประวัติศาสตร์อันรุ่งโรจน์ จดจำความยิ่งใหญ่ในแต่ละยุคของสโมสร กลายเป็นบทกวี เป็นเพลงกลอน ที่จะส่งต่อเรื่องราวให้แฟนบอลรุ่นใหม่ต่อไปได้ไม่รู้จบ 

การทำความเข้าใจ และเรียนรู้ประวัติศาสตร์บทเพลงเชียร์แต่ละสโมสร จึงเป็นสิ่งที่ช่วยเพิ่มอรรถรสในการชมฟุตบอลอย่าง ‘ถึงแก่น’ ได้ไม่มากก็น้อย

Tags: , ,