1
นับตั้งแต่ที่ซีรีส์ คาเมน ไรเดอร์ (Kamen Rider) หรือ ไอ้มดแดงอาละวาด ออกฉายเป็นครั้งแรกในเดือนเมษายน ปี 1971 และได้ปฏิวัติวงการภาพยนตร์แนว ‘โทคุซัตสึ’ (Tokusatsu) ไปอีกขั้น ด้วยเทคนิคพิเศษแปลกใหม่ในยุคนั้น หน้ากากรูปทรงหัวตั๊กแตน เข็มขัดแปลงร่าง และมอเตอร์ไซค์ที่เป็นอุปกรณ์สำคัญของตัวเอก ฮอนโก ทาเคชิ (แสดงโดย ฟูจิโอกะ ฮิโรชิ) ในการออกกวาดล้างองค์กรวายร้ายช็อกเกอร์ (Shocker) รวมถึงท่าพิฆาตศัตรูด้วยลูกถีบไรเดอร์คิก ที่เป็นเครื่องหมายการค้าของซีรีส์เรื่องนี้
แต่ภายหลัง อิชิโนโมริ โชทาโร (Ishinomori Shotaro) บิดาผู้ให้กำเนิดคาเมน ไรเดอร์เสียชีวิตไป แม้จะมีผู้กำกับและมือเขียนบทรุ่นใหม่สานต่อเจตนารมณ์ ทว่าซีรีส์ คาเมน ไรเดอร์ กลับถูกดัดแปลงเนื้อหาให้มีความแฟนตาซี พร้อมลูกเล่นอุปกรณ์แปลงร่างพิสดารกว่าเดิม เพื่อเจาะกลุ่มผู้ชมวัยเด็กในการเพิ่มยอดขายของเล่น ไม่เว้นกระทั่งมอเตอร์ไซค์ที่เป็นพาหนะคู่ใจก็ถูกลดทอนความสำคัญลง เหตุผลเพราะกฎหมายจักรยานยนต์ที่เข้มงวดขัดต่อความสะดวกในการถ่ายทำ ส่งผลให้เอกลักษณ์และกลิ่นอายความคลาสสิกของฮีโร่นักบิดรายนี้จางหายตามกาลเวลา
จนกระทั่งในปี 2023 นี้ ที่ผู้กำกับสายเนิร์ด ‘ฮิเดอากิ อันโนะ’ (Hideaki Anno) ได้ปลุกชีพคาเมนไรเดอร์ หมายเลข 1 และ 2 คืนสู่จอเงินอีกครั้ง กับผลงานลำดับที่ 4 แห่งจักรวาลชินที่ชื่อ ชิน คาเมนไรเดอร์ (Shin Kamen Rider) เพื่อเป็นการคารวะผลงานดังกล่าว
หนัง ชิน คาเมนไรเดอร์ ในครั้งนี้ ได้แรงบันดาลใจจากคาเมนไรเดอร์ต้นฉบับ ทั้งในด้านคอนเซปต์ตัวละคร ซาวด์เอฟเฟกต์ และเพลงประกอบเต็มเปี่ยม แต่ด้านเนื้อหาผู้กำกับอันโนะเลือกที่จะสร้างประเด็นใหม่ไว้อย่างน่าสนใจ โดยเฉพาะฝั่งวายร้ายองค์กรช็อกเกอร์ ที่มีเบื้องลึกน่าค้นหามากกว่าแค่จับตัวผู้บริสุทธิ์มาดัดแปลงเป็นอาวุธรุกรานโลก
2
“นายเป็นผลงานเอกของโปรเจกต์ออคเมนเตชันแบบสังเคราะห์แมลง ที่องค์กรคิดค้นขึ้นมา”
เรื่องย่อของ ชิน คาเมนไรเดอร์ เริ่มขึ้นฉับไวชนิดไม่ทันตั้งตัว ด้วยฉากที่ ฮอนโก ทาเคชิ (แสดงโดย โซสึเกะ อิเกะมัตสึ) ควบมอเตอร์ไซค์ไซโคลนหนีการไล่ล่าจากลูกสมุนช็อกเกอร์ โดยมี มิโดริคาวะ รูริโกะ (แสดงโดย มินามิ ฮามาเบะ) อีกหนึ่งตัวละครสำคัญซ้อนท้าย
เพียงอึดใจ ฮอนโกรับรู้ถึงขุมพลังออคตั๊กแตน (Batta Augment) ที่องค์กรช็อกเกอร์ นำโดยดอกเตอร์ มิโดริคาวะ ฮิโรชิ หรือพ่อของรูริโกะ (แสดงโดย ชินยะ สึกาโมโตะ) ผู้วิสาสะดัดแปลงตัวเขาให้มีพลังและสภาพร่างกายไม่ต่างจากอาวุธชีวภาพ สามารถกระโดดสูงหลายร้อยฟุต มีพลังหมัดและลูกถีบหลายร้อยตัน ก่อนที่ฮอนโกจะเลือกใช้พลังนั้นทำลายล้างองค์กรช็อกเกอร์ เพื่อไม่ให้มีผู้บริสุทธิ์ต้องโชคร้ายเช่นตนเองอีก
เรื่องราวต่อจากนั้นผู้กำกับอันโนะ ได้หยิบยกตอนที่ 1-12 มาใช้ ซึ่งมีการปรากฏตัวของคาเมน ไรเดอร์ หมายเลข 2 หรือ อิจิมอน ฮายาโตะ (แสดงโดย ทาสุกุ อิโมโตะ) ที่ออกมาขโมยซีนเรียกคะแนนความเท่ ความฮา ประปรายกันไป เช่นเดียวกับตัวละครรูริโกะ ที่มีเสน่ห์ทุกครั้งยามออกกล้อง
“พอสวมไอนี่แล้วก็แทบควบคุมความคุ้มคลั่งไม่ได้เลย”
อย่างที่กล่าวในข้างต้น ว่าประเด็นที่น่าสนใจจริงๆ คือคาแรกเตอร์ ฮอนโก ทาเคชิ และองค์กรช็อกเกอร์ ที่ถูกตีความผ่านมุมมองที่ต่างไปจากต้นฉบับปี 1971 ให้มีความสมจริงตามสไตล์อันโนะ
ฮอนโก ทาเคชิ เวอร์ชัน 1971 คือนักศึกษาหนุ่ม IQ สูงระดับ 600 ร่างกายแข็งแรง เก่งกีฬาทุกชนิด และมีความฝันอยากเป็นนักแข่งมอเตอร์ไซค์อาชีพ ขณะที่ฮอนโก เวอร์ชัน 2023 มีคุณสมบัติเกือบทุกครบทุกประการยกเว้น ‘ความมั่นใจ’ ทั้งรู้สึกแปลกแยกจากสังคม ทันทีที่เขาได้รับพลังออคตั๊กแตนจึงรู้สึกหวาดหวั่น ใจหนึ่งรู้สึกยินดี แต่ใจหนึ่งกลับรู้สึกถึงหวาดกลัวต่อพลังที่ได้รับมา
ฉะนั้น เราจึงได้เห็นฮอนโกเวอร์ชันนี้ พยายามค้นหาตัวตนและความหมายของการมีชีวิต พลางซุกซ่อนอารมณ์ขุ่นมัวไว้ภายใต้หน้ากาก เพราะแต่ละหมัดที่ชกออกไปล้วนแลกมาด้วยเลือดเนื้อศัตรู
ขณะเดียวกันเข็มขัดไทฟูนที่ใช้แปลงร่าง ก็ต้องแลกมาด้วยการดูดกลืน ‘ปราณ’ หรือ ‘พลังงานชีวิต’ ของสิ่งมีชีวิตรอบข้าง นับเป็นความขัดแย้งของคาแรกเตอร์ฮีโร่ผู้ผดุงความยุติธรรมอันหาได้ยาก ต่างจากเวอร์ชันเก่าที่เล่าเป็นเส้นตรงแบ่งบทบาทชัดเจน ดีคือดี ร้ายคือร้าย และเข็มขัดไทฟูนที่ใช้งานด้วยการดูดซับพลังลมเท่านั้น
3
ตามที่เห็นว่า ซีรีส์ไอ้มดแดงยุคโชวะถูกออกแบบให้เหมาะสมกับผู้ชมวัยเด็ก เนื้อหาส่วนใหญ่จึงจบในตอน และไม่ค่อยจะต่อเนื่องนัก ทำให้จุดมุ่งหมายของตัวร้ายที่เราเห็นในฉากหน้า มักมีอย่างเดียวคือ ‘ยึดครองโลก’ สมดังชื่อเต็มขององค์กรคือ ‘Sacred Hegemony Of Cycle Kindred Evolutionary Realm: S.H.O.C.K.E.R’ ด้านมนุษย์แปลงก็โผล่หน้าให้ตัวเอกกำจัดทิ้งรวดเร็ว จนผู้ชมจึงไม่มีทางรู้ได้เลยว่า พวกเขามีความรู้สึกหรือสำนึกคิดอย่างไร
แต่ใน ชิน คาเมนไรเดอร์ อันโนะได้ตีความช็อกเกอร์ต่างไป โดยเปลี่ยนมาใช้ชื่อเป็น ‘Sustainable Happiness Organization with Computational Knowledge Embedded Remodeling: S.H.O.C.K.E.R’ นั่นหมายความว่า นิยามขององค์กรช็อกเกอร์คือการสร้างความสุขแก่โลกแบบสุดโต่ง ด้วยการจับมนุษย์มาทลายขีดจำกัดของร่างกาย พร้อมล้างความทรงจำส่วนที่รับรู้ถึงความเจ็บปวด และเหลือไว้ซึ่งความทรงจำแสนสุข
ฟังผิวเผินอาจดูดี ทว่าการกระทำเช่นนี้ไม่ต่างจากการลบ ‘สามัญสำนึก’ ที่ปุถุชนพึงมี ดังนั้น คาแรกเตอร์มนุษย์ดัดแปลงในแบบฉบับอันโนะ ดูจะมีความกล้า บ้าบิ่น และมีวิถีทางสร้างความสุขในแบบผิดเพี้ยน แต่ลึกๆ แล้ว มนุษย์แปลงเหล่านี้ล้วนทำไปเพราะความเจ็บปวดอันยากจะลืมเลือนในอดีต
ผู้กำกับ ฮิเดอากิ อันโนะ กับการปลุกชีพคาเมน ไรเดอร์ คืนสู่จอเงิน
น่าเสียดายที่เวลา 2 ชั่วโมง 15 นาที อันโนะกลับเลือกที่จะใส่ฉากเซอร์วิสแก่แฟนไอ้มดแดง จนมีเวลาเหลือไม่มากที่จะเจาะลึกให้เราเห็นโครงสร้างแท้จริงของช็อกเกอร์ (มีเพียงต้นเรื่องที่เกริ่นว่า ช็อกเกอร์เกิดขึ้นได้อย่างไร) ดังในอดีตมีที่มีหัวหน้าอย่าง ผู้พันโซล, ด็อกเตอร์ชินิงามิ, ราชทูตนรก หรือแบล็คโชกุน คอยสั่งการอยู่เบื้องหลัง ทำให้โครงสร้างของหนังดูจะไม่ค่อยสมดุลสักเท่าไรนัก
ชิน คาเมนไรเดอร์ อาจไม่ใช่หนังที่ดูง่ายและกล้าพูดว่าดีได้เต็มปาก แต่หากคุณเป็นแฟนฮีโร่รายนี้ ผู้เขียนขอยืนยันว่า ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง เพราะแต่ละฉาก แต่ละประโยคคำพูด วิธีการถ่ายทำ การใส่จังหวะซาวด์เอฟเฟกต์ การย้อมสีภาพ และกิมมิกเล็กน้อยอีกมากมาย ช่างชวนให้นึกถึงวัยเยาว์ที่ต้องเฝ้าหน้าจอโทรทัศน์ทุกเย็น เพื่อรอดูผู้ผดุงความยุติธรรมภายใต้หน้ากากตั๊กแตนออกปราบเหล่าร้าย พลันปิดท้ายด้วยประโยคสุดคลาสสิกจากนักพากย์ชื่อดังอย่าง น้าต๋อย เซมเบ้ (นิรันดร์ บุณยรัตพันธุ์) ในขณะที่คาเมน ไรเดอร์ ขี่มอเตอร์ไซค์คู่ใจล่องไปตามถนนยามพระอาทิตย์อัสดง ด้วยคำบรรยายที่ว่า
“มนุษย์ดัดแปลงถูกกำจัดไปแล้ว แต่องค์กรช็อกเกอร์ยังคงอยู่ จงสู้ต่อไป ทาเคชิ”
Tags: ชินคาเมน ไรเดอร์, ฮิเดอากิ อันโนะ, Screen and Sound, Shin Kamen Rider