‘‘เราโดนถุยน้ำลายใส่หน้า พวกนั้นล็อคแขนผมอย่างแรงจนแขนเกือบหัก กระชากโทรศัพท์ออกไปจากมือ หัวเราะเยาะใส่ แล้วเอานิ้วมาจิ้มหน้าผมพร้อมกับถามว่า มึงมาเป็นนักแสดงเพื่อให้หนุนหลังการต่อสู้ของมุสลิมเหรอวะ’’
เป็นหนึ่งในแถลงความยาวสิบสามนาทีเต็มที่ ริซ อาห์เหม็ด ตั้งคำถามต่อภาพลักษณ์ที่อุตสาหกรรมฮอลลีวูดสร้างให้คนมุสลิมซึ่งในที่สุดได้กลายเป็นภาพจำของคนไปค่อนโลก ไม่ว่าจะในฐานะผู้ก่อการร้าย ผู้อพยพซ่อมซอ หรือแม้แต่คนที่พร้อมจะกดระเบิดพลีชีพเพื่อความเชื่อ ในคลิปวิดีโอ Muslim Misrepresentation in Film และประโยคข้างต้น เป็นหนึ่งในสิ่งที่เขา รวมทั้งชาวมุสลิมคนอื่นๆ ได้รับการปฏิบัติด้วยเสมอเมื่อต้องออกเดินทางไปยังสถานที่อื่นๆ นอกเหนือจากบ้านเกิด
อาเหม็ดเพิ่งได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากบท รูเบน มือกลองหนุ่มที่วันหนึ่งหูหนวกจนต้องดิ้นรนหาทางกลับสู่ความเป็นปกติอย่างที่เคยให้ได้ใน Sound of Metal (2019) และสร้างปรากฏการณ์เป็นมุสลิมคนแรกในประวัติศาสตร์ของออสการ์ที่ได้เข้าชิงสาขานักแสดงนำชาย ขณะที่สาขานักแสดงสมทบชายนั้น ฮอลลีวูดและออสการ์ก็มี มาเฮอร์ชาลา อาลี เข้าชิง และคว้าชัยไปได้จากเรื่อง Moonlight (2016) อย่างไรก็ตาม การได้รับการจดจำว่าเป็นมุสลิมคนแรกที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงในสาขานี้ ก็กลายเป็นหนึ่งในคำถามใหญ่ในใจซึ่งเขาเล่าไว้อย่างละเอียดในแถลงการณ์
‘‘โลกเรามีมุสลิม 1.6 พันล้านคน หรือหนึ่งส่วนสี่ของประชากรบนโลกนี้ แต่ที่ผ่านมา กลับไม่เคยมีมุสลิมคนไหนได้เข้าชิงรางวัลนั้นมาก่อนจนกระทั่งถึงปัจจุบันได้อย่างไรกัน’’
คลิปวิดีโอที่ ริซ อาห์เหม็ด แถลง
ก่อนหน้ามาเป็นนักแสดง อาเหม็ดเป็นเด็กชายที่เกิดในครอบครัวผู้อพยพชาวปากีสถานในเวมบลีย์ ประเทศอังกฤษ และเป็นเด็กเรียนดีตั้งแต่ต้นด้วยการชิงทุนจนได้เข้าเรียนในโรงเรียนชายล้วนที่ได้ชื่อว่าเก่าแก่โหดหินอย่างเมอร์แชนต์ เทย์เลอร์ จากนั้นเข้าเรียนต่อในสาขาวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด อันนำพาให้เขาไปพบประสบการณ์ชวนหัวใจสลาย หลังจากพบว่ามันคือหนึ่งในพื้นที่ที่กีดกันคนชายขอบและความเป็นอื่น ซึ่งสำหรับนักศึกษาหลายๆ คนที่เรียนร่วมกันกับเขา การเป็นมุสลิมจัดอยู่ในกลุ่มความเป็นอื่น จนเกือบจะล้มเลิกการเรียนกลางทาง (เขาบรรยายว่า ออกซฟอร์ดเป็นมหาวิทยาลัยของ ‘ชนชั้นนำผิวขาว’ และ ‘พวกผู้ดี’)
‘‘สมัยยังเด็ก ราวๆ ยุค 1980s เห็นจะได้ มีคนตัดผมสกินเฮดเอามีดมาจี้คอพี่ชายผมระหว่างที่เรากำลังเดินกลับบ้าน เขาเรียกเราว่าไอ้ดำ’’ อาเหม็ดเขียนลงบทความในสำนักข่าว The Guardian ‘‘อีกทศวรรษให้หลัง มีดเล่มนั้นกลับมาจ่อคอผมอีกครั้ง เปลี่ยนแค่คนถือ เขาเรียกผมว่า ‘ไอ้ปากี’ เป็นคำในสมัยนั้นที่พวกเขาใช้เรียกเราที่เป็นอังกฤษ-เอเชีย ครั้งต่อมา ผมพบว่าตัวเองจนตรอกถึงที่สุดอยู่ในห้องไร้หน้าต่างที่สนามบินลูตัน แขนร้าวระบมเพราะถูกล็อกข้อมือไว้ และถูกตรึงคอแนบผนังโดยเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองอังกฤษ มันเป็นช่วงเวลาหลังเหตุการณ์ 9/11 และตอนนี้ ผมถูกเรียกว่าเป็นมุสลิม’’
ไม่กี่ปีหลังจากที่เรียนจบ อาเหม็ดในวัย 24 ปี แจ้งเกิดจากหนังยาวเรื่องแรกในชีวิต ที่ดัดแปลงมาจากเหตุการณ์จริงของนักโทษอย่าง The Road to Guantanamo (2006) ซึ่งเขารับบทเป็นชายมุสลิมที่ถูกซ้อมทรมานโดยทหารอเมริกันที่อ่าวกวนตานาโม และความย้อนแย้งอย่างน่าเจ็บปวดคือ ในขณะที่หนังเรียกร้องทวงคืนความเป็นมนุษย์ให้กลุ่มนักโทษที่ถูกเจ้าหน้าที่อเมริกาจับตัวไปโดยไม่มีหมายจับ ชีวิตจริงของอาเหม็ดกลับยังเจอการเลือกปฏิบัติอย่างรุนแรง ภายหลังเดินทางกลับเข้าบ้านเกิดและถูกพนักงานในสนามบินลูตันลากเข้าไปยังห้องมืด ล็อคตัวแล้วใช้แขนตรึงลำคออาเหม็ดไว้กับผนัง
‘‘เราโดนถุยน้ำลายใส่หน้า พวกนั้นล็อกแขนผมอย่างแรงจนแขนเกือบหัก กระชากโทรศัพท์ออกไปจากมือ หัวเราะเยาะใส่ แล้วเอานิ้วมาจิ้มหน้าผมพร้อมกับถามว่า มึงมาเป็นนักแสดงเพื่อให้หนุนหลังการต่อสู้ของมุสลิมเหรอวะ’’
นั่นนับเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่ชวนตื่นตระหนกและสร้างความตื่นกลัวให้อาเหม็ดอย่างรุนแรง เป็นเสมือนเค้าลางที่เตือนเขากลายๆ ว่าโลกนอกห้องมืดนั้นเดือดดาลและโหดร้ายไม่แพ้ข้างใน เมื่อเขาพบว่าการพยายามเดินหน้าเป็นนักแสดงในอุตสาหกรรมฮอลลีวูดนั้นทำให้เขาถูกเลือกปฏิบัติหลายต่อหลายหน แม้ไม่ถึงกับตรึงข้อมือล็อกแขน แต่มันสะท้อนผ่านบทหนังจำนวนมากที่เรียกเขาไปออดิชัน บทบาทที่ฮอลลีวูดมอบให้ ‘นักแสดงชายมุสลิม’ นั้น หากไม่เป็นผู้ก่อการร้าย ก็มักเป็นมือระเบิดพลีชีพกลางสมรภูมิรบ ที่ส่วนใหญ่มีทหารอเมริกันเป็นผู้มาโปรด
‘‘สุดท้าย ผมตัดสินใจว่าจะไม่ไปออดิชันเพื่อจะแค่พูดคำว่า อัลลอหุ อักบัร แล้วทำท่ากดระเบิดพลีชีพตัวเองอีกแล้ว เพราะมันเป็นได้แค่การล้อเลียนสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ทั้งยังทำให้มันเป็นแค่ตัวละครแบนๆ สองมิติเท่านั้น’’ เขาเล่า และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่อาเหม็ดออกมาเคลื่อนไหว ตั้งคำถามถึงการสร้างภาพจำผิดๆ ให้มุสลิมจากฮอลลีวูด อันที่จริงก่อนหน้านี้ ย้อนกลับไปยังปี 2017 เขาเคยกล่าวเนื้อหาท่วงทำนองเดียวกันนี้ในสภาสามัญชนสหราชอาณาจักร ถึงการสร้างภาพแทนของผู้คนในสื่อจำนวนมหาศาล แต่กลับแทบไม่มีสื่อไหนเล่าถึงคนมุสลิมหรือคนชายขอบกลุ่มอื่นๆ เลยแม้แต่นิดเดียว
‘‘ถ้าคุณเคยคิดว่าตัวคุณเองคือภาพสะท้อนของวัฒนธรรมของเรา ผมก็อยากให้คุณได้ใช้เวลาสักหนึ่งนาที ว่าคนที่ไม่เคยเห็นพวกเขาสะท้อนกลับมาในวัฒนธรรมใดๆ เลยนั้นมันรู้สึกอย่างไร ทุกครั้งที่คุณเห็นตัวเองอยู่บนนิตยสารหรือป้ายโฆษณาบิลบอร์ด ภาพยนตร์ มันคือการส่งสารมายังคุณว่าคุณเป็นคนสำคัญ ว่าคุณคือส่วนหนึ่งในเรื่องเล่าของชาติเรา ว่าคุณนั้นมีค่า และคุณก็จะรู้สึกว่าคุณได้รับการบอกเล่า มีภาพแทนในที่สุด’’
อ้างอิงจากกองทุนพิลลาร์ส กองทุนที่สนับสนุนชุมชนชาวมุสลิมซึ่งอาเหม็ดให้การสนับสนุนอยู่นั้น ได้ระบุข้อมูลที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งว่า ในบรรดาตัวละครที่มีบทพูดจำนวน 8,965 คนจากหนังที่ทำเงินสูงสุดระหว่างปี 2017-2019 เป็นจำนวน 200 เรื่องของสามประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และนิวซีแลนด์นั้น มีตัวละครคิดเป็น 1.6 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เป็นมุสลิม (ขณะที่ในโลกความเป็นจริงนั้น มุสลิมคิดเป็น 24 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด) หนักหนากว่านั้นคือ กว่า 30 เปอร์เซ็นต์ของตัวละครมุสลิมมีบทบาทหรือเป็นภาพสะท้อนความรุนแรงที่เกิดขึ้นในหนัง กว่า 50 เปอร์เซ็นต์เป็นฝ่ายตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง
ยังไม่นับว่าภายหลังจากการขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ชายผู้มาพร้อมมาตรการและนโยบายชวนเหวออย่างการห้ามคนมุสลิมเดินทางเข้าประเทศ ยิ่งมีส่วนในการทำให้ความเกลียดชังต่อคนมุสลิมในสหรัฐฯ ทวีขึ้นเป็นเท่าตัว
‘‘จากรายงานของ ดร.สเตซีย์ สมิธ (นักวิจัยที่ศึกษาและค้นคว้าความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกันในอุตสาหกรรมฮอลลีวูด) บอกว่าคนอเมริกัน 62 เปอร์เซ็นต์ไม่รู้จักมุสลิม’’ อาเหม็ดว่า ‘‘มันไม่น่าเศร้าหรือที่สุดท้ายแล้วโดนัลด์ ทรัมป์ก็เป็นฝ่ายชนะการเลือกตั้งผ่านการหาเสียงจากแคมเปญซึ่งว่าด้วยการกลัวอิสลาม ทั้งยังออกกฎหมายการกีดกันต่างๆ อีกต่างหาก นี่มันไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเลขจากการเลือกตั้งนะ เพราะในที่สุด คุณอาจจะลงเอยด้วยเหตุการณ์กราดยิงอย่างที่เกิดขึ้นในนิวซีแลนด์ก็ได้ (เขาหมายถึงเหตุกราดยิงมัสยิดในไครสต์เชิร์ช เป็นเหตุก่อการร้ายของกลุ่มขวาจัดหัวรุนแรงที่เกลียดกลัวมุสลิม มีผู้เสียชีวิต 51 คนและบาดเจ็บ 40 คน นับเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ของนิวซีแลนด์) และมันก็ไม่ได้หมายถึงการแพ้คะแนนเสียง แต่มันอาจหมายถึงการที่เราอาจต้องเจอกับเหตุการณ์สังหารหมู่คนสามรุ่นของครอบครัวหนึ่งดังที่เกิดขึ้นในแคนาดา’’
ที่น่าจับตาคือ แม้ระยะหลังฮอลลีวูดพยายามผลักดันความหลากหลายของเรื่องราว เพศ และเชื้อชาติมากขึ้น แต่อาเหม็ดก็ชี้ให้เห็น ‘น้ำหนัก’ ของการเล่าเรื่องที่ยังถ่วงกันไม่สมดุล กล่าวคือขณะที่ในระยะหลังๆ นั้น เขา ‘โชคดี’ มากพอจะได้รับบทบาทเป็นตัวละครที่ไม่ยึดติดอยู่กับรูปลักษณ์และตัวตนของเขาในฐานะมุสลิมชาวอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นมือกลองหูหนวกหรือนักธุรกิจจอมละโมบแห่ง Venom (2018) ซึ่งเขากล่าวว่าไม่ได้ออดิชันเขามาด้วยเหตุจากชาติพันธุ์หรือความเชื่อ แต่เป็นเพราะเขาเหมาะสมกับบทไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
แต่มีนักแสดงและคนมุสลิมอีกจำนวนมากที่ไม่โชคดีเช่นนี้ หรือกระทั่งนักแสดงมุสลิมในอุตสาหกรรมฮอลลีวูดคนอื่นๆ จะมีพื้นที่มากขึ้นก็ตาม ทั้ง คุมเม็ล นานจิอานี นักแสดงชายลูกครึ่งปากีสถาน-อเมริกันผู้เป็นที่รักจาก The Big Sick (2017) และได้ไปอยู่ในโปรเจ็กต์ยักษ์ของมาร์เวลที่เตรียมลงโรงฉายในปีนี้อย่าง Eternals (2021) ตลอดจนซิตคอม Silicon Valley ที่ออกฉายทางช่อง HBO
‘‘แต่พร้อมกันนั้นในช่องเดียวกัน ช่องก็ฉายซีรีส์ Homeland ที่มี แคลร์ เดนส์ หวาดผวาทุกครั้งเวลาเห็นคนสวมบูร์กาอยู่บนบิลบอร์ด แล้วมีตั้งห้าซีซันแน่ะครับ’’ อาเหม็ดว่า มากไปกว่านั้น เขายังตั้งคำถามถึงท่าทีของเวทีออสการ์และอุตสาหกรรมฮอลลีวูดที่มีต่อคนมุสลิม เพราะแม้ตัวเขาจะได้เข้าชิงสาขานักแสดงนำชาย หรือมาเฮอร์ชาลา อาลีจะคว้านักแสดงสมทบชายไปได้แล้วก็ตาม แต่เวทีเดียวกันนี้ก็ยังมอบรางวัลจำนวนมหาศาลให้หนังที่ ‘สร้างภาพจำเลวร้ายให้คนมุสลิม’ อย่าง American Sniper (2014), The Hurt Locker (2008) หรือ Argo (2012)
(The Hurt Locker)
ต่อประเด็นนี้เราอาจต้องถอยหลับไปมองในภาพรวมมากขึ้น กล่าวคือ ที่ผ่านมานั้นภาพยนตร์คือหนึ่งในเครื่องมือในการสร้างภาพลักษณ์และภาพจำที่ทรงพลังมากที่สุดของอเมริกาเสมอมา ในยุคสงครามเย็น เราจะได้เห็นวายร้ายสัญชาติรัสเซียหรือโซเวียตตามล่าจองล้างจองผลาญผู้ผดุงคุณธรรมชาวอเมริกัน ทั้งนักมวย อีวาน ดราโก (ที่รับบทโดย ดอล์ฟ ลุนด์เกรน นักแสดงชาวสวีเดน) ไล่ถลุงร็อกกี้จนเลือดอาบสังเวียนใน Rocky IV (1985), ซีเนีย โอนาท็อปป์ สาวร้ายผู้มาปราบสายลับชาวอังกฤษจาก GoldenEye (1995) และ อีวาน คอร์ชูนอฟ ที่บุกจี้เครื่องบินของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ใน Air Force One (1997)
ขณะที่ภายหลังโศกนาฏกรรม 9/11 หรือเมื่อสายการบินอเมริกันแอร์ไลน์พุ่งชนตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในวันที่ 11 กันยายน 2001 มันก็ได้เปลี่ยนภาพจำของคนทั้งโลกไปตลอดกาล และนับจากนั้น หนังฮอลลีวูดหลายต่อหลายเรื่องก็พูดถึงประเด็นเหล่านี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็น The Hurt Locker หนังรางวัลออสการ์หกสาขารวมทั้งภาพยนตร์แห่งปีของ แคธรีน บิเกโลว์ ที่เผยให้เห็นประสบการณ์ของทหารอเมริกันที่ไปประจำการในอิรัก (ตัวละครหลักกลายเป็นนายทหารที่เสพติดสงครามและความรุนแรง) พร้อมกันกับที่สร้างภาพจำให้คนมุสลิมกลายเป็นกลุ่มคนหัวรุนแรงและมาพร้อมระเบิดพลีชีพ เช่นเดียวกันกับ American Sniper ที่ส่ง แบรดลีย์ คูเปอร์ เข้าชิงนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม มันก็ว่าด้วยนายทหารอเมริกันที่ได้รับผลกระทบจากสงครามอย่างหนัก พร้อมฉากที่ตัวละครชาวอิรักเป็นพวกโหยหาความรุนแรงและบ้าคลั่ง เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การจะเปลี่ยนแปลงภาพจำเช่นนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะหากมองภาพรวมของอุตสาหกรรมฮอลลีวูด มันยังคงเป็นพื้นที่ที่ถูกยึดครองโดยชายผิวขาว รายงานเมื่อปี 2020 ระบุว่าประธานและผู้บริหารในสตูดิโอใหญ่ของฮอลลีวูดนั้น 91 เปอร์เซ็นต์เป็นคนขาว 82 เปอร์เซ็นต์เป็นเพศชาย การจะแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้โดยไม่มีตัวแทนที่เป็นมุสลิมหรือชนกลุ่มน้อยอื่นๆ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก และอาจเป็นสิ่งที่เรายังต้องต่อสู้กันร่วมกันต่อไป พร้อมกันกับ ริซ อาห์เหม็ด และคนตัวเล็กตัวน้อยอื่นๆ ในสังคมโลกของเรา
Tags: ฮอลลีวูด, มุสลิม, Screen and Sound, นักแสดงมุสลิม, ริซ อาห์เหม็ด, film, Hollywood