บทความนี้มีการเปิดเผยถึงตัวละครและเนื้อหาในภาพยนตร์
“ไม่มีใครสนใจเธออีกต่อไปแล้ว เพราะเธอแปดเปื้อน สกปรก”
นอกจากพระที่ต้องถือศีล ปฏิบัติตนให้อยู่ในครรลองคลองธรรมแล้ว ไอดอลญี่ปุ่นก็เป็นอาชีพที่ต้องอยู่ในกรอบอย่างเคร่งครัดไม่ต่างกัน กรอบนี้หมายถึงการมีภาพลักษณ์ดี สวย น่ารัก มีเสน่ห์ งดงามราวนางฟ้า ขาวสะอาดตลอดเวลา
ยิ่งขาวสะอาดแค่ไหน แฟนคลับหรือบรรดาโอตาคุทั้งหลายก็จะยิ่งเทิดทูน เลื่อมใสมากขึ้นเท่านั้น
แม้ปัจจุบันไอดอลญี่ปุ่นอาจไม่ต้องอยู่บนหิ้ง เพื่อขายภาพลักษณ์เลิศเลอเพอร์เฟกต์เท่าแต่ก่อนแล้ว เพราะไอดอลกลายเป็นคนที่แฟนๆ เข้าถึงได้ง่ายขึ้น (Idol You Can Meet) มีความเป็นกันเองมากขึ้น และห่วงภาพลักษณ์ความสวยงามน้อยลง แต่หากเหล่าโอตะเห็นนางในฝันแปดเปื้อน ทำอะไรหลุดกรอบความเป็นไอดอลที่ดี เช่น มีข่าวออกเดตกับผู้ชายเมื่อไร นางฟ้าที่น่ารักก็จะตกสวรรค์ทันที
โลกนี้มีภาพยนตร์เกี่ยวกับไอดอลหลายเรื่อง หากจะมีเรื่องไหนสำรวจเบื้องลึกเบื้องหลังของวงการได้ครบเครื่องที่สุด คำตอบก็คือ Perfect Blue ภาพยนตร์อนิเมชันเรื่องเยี่ยม ผลงานการกำกับของ ซาโตชิ คง ผู้กำกับระดับตำนาน ที่ฉายด้านมืดของคนในวงการบันเทิงได้อย่างแหลมคม พร้อมวิพากษ์ระบบอันเน่าเฟะของโลกมายา ที่หากินกับการทำให้คนๆ หนึ่งต้องแปดเปื้อนร่างกายและจิตใจ
อย่างไรก็ตาม คงให้สัมภาษณ์ว่าเขาไม่ได้ตั้งใจวิพากษ์วิจารณ์ความดำมืดของวงการ เขาแค่อยากสำรวจเส้นทางความคิด ความรู้สึกของหญิงสาวคนหนึ่งที่ต้องเผชิญอุปสรรคนานาเพื่อเติบโตขึ้นมากกว่า
นั่นนำมาสู่เรื่องราวของ ‘มิมะ’ ผู้ที่เหมือนกำลังไปได้สวยในฐานะไอดอลวง CHAM กระทั่งวันหนึ่งเธอประกาศจบการศึกษาจากการเป็นไอดอล เพื่อผันตัวไปเป็นนักแสดงแทน
ปัญหาคือ ลึกๆ แล้วเธอรักการร้องเพลง รักการเอนเตอร์เทนคนดูจากบนเวทีในฐานะไอดอลมากกว่า แต่ขัดไม่ได้ เพราะนั่นเป็นความต้องการของต้นสังกัดที่มีสิทธิชี้เป็นชี้ตายอาชีพของเธอได้ ขณะเดียวกัน ‘รูมิ’ ผู้จัดการส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วยที่มิมะต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากเธอมองว่ามิมะมีศักยภาพพอจะทำทั้ง 2 งานนี้ไปพร้อมกันได้
แต่เมื่อตัดสินใจเลือกแล้ว มิมะก็พยายามทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะต้องแสดงบทตัวประกอบ มีบทพูดไม่กี่บรรทัด ปรากฏบนหน้าจอไม่กี่วินาที ไปจนถึงการเล่นฉากโดนข่มขืนชวนจิตตก เป็นนางแบบถ่ายรูปวาบหวิว และถึงขั้นโป๊เปลือย เธอก็พร้อมจะทำงานด้วยความเป็นมืออาชีพ
ปัญหาที่มิมะไม่คาดคิด คือทันทีที่เธอหมดพันธะการเป็นไอดอล เธอกลับรู้สึกว่ามีใครบางคนจ้องมองและตามติดชีวิตของเธออยู่ เขาคนนั้นคือโอตาคุผู้ศรัทธาในตัวเธอ และเสียใจภาพจำอันสวยงามของเธอที่ถูกทำลายจนป่นปี้ จากดอกฟ้าที่ใครก็เอื้อมไม่ถึง กลายเป็นเพียงวัตถุทางเพศไร้ศักดิ์ศรี เธอถูกข่มขู่ด้วยวิธีการต่างๆ และพลอยทำให้คนรอบตัวได้รับลูกหลง โดยเฉพาะผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้เธอต้องกลายเป็นคน ‘แปดเปื้อน สกปรก’
นอกจากนั้น เธอยังไปเจอเว็บไซต์หนึ่งที่รายงานชีวิตประจำวันของเธอละเอียดยิบ เช่น เธอซื้ออะไรบ้างในซูเปอร์มาร์เก็ต เธอก้าวขาข้างไหนออกจากรถไฟก่อน ฯลฯ ราวกับ ‘มิมะ’ เป็นคนเขียนเอง นอกจากจะสร้างความตระหนกแล้ว ยังทำให้เธอเริ่มสับสนด้วยว่า ตกลงแล้วเธอคือใครกันแน่ เธอรู้จักตัวเองดีแค่ไหน เธอเองหรือเปล่าที่ลงมือทำร้ายคนที่อยู่รอบตัวเธอ
หรือนี่เป็นเพียงละครเรื่องหนึ่งที่เธอกำลังสวมบทบาทอยู่กันแน่
หากย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของไอดอลญี่ปุ่น แม้จะมีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ยุค 1960s แต่กว่าคำว่า ‘ไอดอล’ จะกลายเป็นปรากฏการณ์ก็ต้องรอจนถึงยุค 1980s เมื่อไอดอลระดับตำนานอย่าง เซโกะ มัตสึดะ, อากินะ นากาโมริ, เคียวโก โคอิสุมิ และวง Onyanko Club สร้างความนิยมถล่มทลาย ชนิดที่ต่อให้จะไม่สนใจแวดวงนี้เลย อย่างน้อยก็ต้องเคยได้ยินชื่อเสียงเรียงนามของพวกเธอกันบ้าง
แต่น่าสนใจว่าทันทีที่ยุค 1990s มาถึง อยู่ๆ แวดวงไอดอลกลับตกต่ำแบบไม่มีใครคาดคิด การตามไอดอลหญิงกลายเป็นเรื่องนอกกระแส เป็นความนิยมเฉพาะกลุ่มเล็กๆ ทำให้หลายคนต้องกระเสือกกระสนเพื่อเอาตัวรอดในแวดวงบันเทิงด้วยทุกวิถีทางที่ทำได้
กว่าความนิยมในตัวไอดอลหญิงจะเริ่มฟื้นก็ต้องรอช่วงปลายยุค 90s เข้ารอยต่อยุค 2000s เมื่อวง Morning Musume ส่งเพลง Love Machine ฮิตติดชาร์ตทั่วบ้านทั่วเมือง จากนั้นไม่กี่ปีก็ถือกำเนิดวง AKB48 ที่ปลุกกระแสไอดอลสุดคาวาอี้ให้โด่งดังติดจรวด แล้วจากนั้นแวดวงไอดอลก็ไม่มีทีท่าจะกลับไปสู่ยุคตกต่ำอีกเลย
เมื่อมองย้อนกลับไป ถึงแม้ Perfect Blue จะออกฉายมาตั้งแต่ปี 1997 แต่น่าสนใจว่าสิ่งที่ตัวละครต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเรื่องการไต่เต้าในวงการบันเทิง การที่ไอดอลมักถูกมองเป็นดาราเกรดบี ต้องฝ่าฟันเยอะกว่าใครจนประสบความสำเร็จ การเจอโอตาคุคลั่งไคล้เกินพอดี เกิดปัญหาสตอล์กเกอร์ตามคุกคามไอดอลในเวลาส่วนตัว ความน่าขยะแขยงของ Male Gaze หรือการมองผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศ ล้วนเป็นสิ่งที่ไอดอลและหญิงสาวในปัจจุบันยังคงพบเจอเช่นเคย
และนี่ยังเป็นหนังเรื่องแรกๆ ก็ว่าได้ ที่นำเสนอความน่ากลัวของการใช้อินเทอร์เน็ตในการสวมรอยเป็นใครก็ได้ แต่กลับทำร้ายและเชือดเฉือนความรู้สึกของคนเป็นไอดอลรุนแรงกว่าตอนเผชิญหน้ากันเสียอีก
ความโดดเด่นอีกอย่างของ Perfect Blue ยังอยู่ที่การเล่นกับความจริง/ มายา หลายฉากใช้วิธีตัดต่อสลับ 2 เหตุการณ์ไปมา (Match Cut) เช่น เหตุการณ์ระหว่างเป็นไอดอลกับหลังเป็นไอดอล เชื่อมกันราวเกิดขึ้นต่อเนื่อง คนดูจะเห็นว่าเวลาอยู่บนเวทีต่อหน้าแฟนๆ หรืออยู่ต่อหน้ากล้องในกองถ่าย มิมะจะแสดงออกแบบหนึ่ง พูดเสียงสูง หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส
อย่างไรก็ตาม พอเธอกลับห้องพักที่เปรียบเหมือนเซฟโซน วิธีการพูด การวางตัวจะเป็นอีกแบบ ซึ่งในความจริงเคยมีไอดอลญี่ปุ่นเล่าเบื้องหลังออกอากาศเหมือนกันว่า ก่อนเธอจะพบเจอแฟนๆ เธอจะกดสวิตช์ตัวเองให้ตัวตนอีกแบบหนึ่งออกมา ก่อนจะปิดสวิตช์ลงเมื่องานจบ
หากรู้เส้นแบ่งว่าเมื่อไรควรทำอะไร ควรใช้ตัวตนแบบไหน ก็อาจไม่มีปัญหาอะไร แต่เห็นได้ชัดว่า สำหรับมิมะ นานวันเข้าเธอยิ่งแยกไม่ออกระหว่างโลกแห่งความเป็นจริงกับโลกมายา หนังยังเพิ่มความซับซ้อนด้วยการให้มิมะไปแสดงละครสืบสวนสอบสวน เป็นผู้ต้องสงสัยที่มีโรคหลายบุคลิกอยู่ในตัว ทำให้เธอเริ่มสับสนเวลาเห็นในเงาสะท้อน ทั้งกระจกบนรถไฟ กระจกในห้องน้ำ ห้องแต่งตัว กระจกกั้นตู้ปลาว่าสิ่งที่เธอเห็นคือตัวเธอจริงๆ หรือไม่
และไม่เพียงแค่เธอที่หลงอยู่ในวังวน แต่โอตะที่ชื่นชอบเธอเองก็ชักจะแยกไม่ออกเหมือนกันระหว่างแฟนตาซีของการเชียร์ไอดอลเพื่อความผ่อนคลาย และความเป็นจริงที่ว่าไอดอลที่ตัวเองชื่นชอบ ไม่ใช่คนในอุดมคติอีกต่อไป
แม้ชื่อเรื่อง Perfect Blue จะบ่งชี้ถึงสีน้ำเงิน แต่จริงๆ แล้วสีที่โดดเด่นที่สุดในเรื่องคือสีแดง ที่จะยิ่งจัดจ้านขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเรื่องราวดำเนินไป พร้อมทำหน้าที่เป็นสัญญาณเตือนมิมะว่าเธอกำลังมีภัยมาถึงตัว ทั้งสีของการจัดแสงถ่ายทำละคร ไปจนถึงสีของเลือดแดงฉานที่ออกมาจากตัวของผู้บริหารเอเจนซีที่มิมะสังกัด เลือดของคนเขียนบทละครที่ทำให้มิมะต้องเล่นฉากวาบหวิวทำร้ายจิตใจ เป็นเลือดของมิมะและชุดสีแดงที่มิมะเวอร์ชันภาพหลอนสวมใส่ ขณะที่คำว่า ‘Blue’ ถูกใช้เพื่อเสริมสร้างความหมายทางจิตวิทยา ขับเน้นความเศร้า ความเหงาและเปล่าเปลี่ยวเสียมากกว่า
แต่ Blue บนชื่อเรื่องก็ไม่ได้ถูกใช้เพื่อสื่อถึงอารมณ์และความรู้สึกอันเศร้าหมองของมิมะอย่างเดียว ในบริบทของญี่ปุ่น สีน้ำเงินยังสื่อถึงความบริสุทธิ์ผุดผ่อง ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อของบรรดาโอตาคุ ที่จะเชิดชูไอดอลผู้ไร้ที่ติ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์เราไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ทุกคนล้วนมีด้านไม่น่าอภิรมย์แฝงอยู่เสมอ อยู่ที่ว่าจะเปิดเผยออกมาให้เห็นหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ฉากเดียวที่สีฟ้ามีผลต่อเรื่องจริงๆ ก็คือฉากท้ายเรื่อง เมื่อท้องฟ้าสวยงามปรากฏขึ้นต่อหน้าของมิมะ อุปสรรคต่างๆ เริ่มคลี่คลาย ฝันร้ายสีแดงอันหลอกหลอนได้ผ่านพ้นไป มิมะตระหนักรู้เสียทีว่าตัวเองเป็นใคร ทำอะไร คุณค่าของเธออยู่ตรงไหน ซึ่งแค่นั้นก็เพียงพอแล้วกับการใช้ชีวิตต่อไป
ไม่มีใครรู้ว่าในอีก 10-20 ปีข้างหน้า แวดวงไอดอลญี่ปุ่นจะถึงช่วงขาลงแล้วหรือยัง อาชีพนี้จะยังมีอยู่หรือไม่ แต่หากวันนั้นมาถึง Perfect Blue ก็น่าจะยังทำหน้าที่หมุดหมายทางประวัติศาสตร์ ตีแผ่เรื่องราวด้านมืดของวงการไอดอลได้อย่างดีเช่นเดิม ชีวิตของมิมะน่าจะยังย้ำเตือนสติทุกคนได้ว่า การเป็นไอดอลที่ใสสะอาดต้องแลกมาด้วยอะไร และต้องจ่ายแพงแค่ไหนเมื่อผ้าขาวต้องเปรอะเปื้อน
หรือต่อให้วันนั้นโลกนี้จะไม่มีคำว่าไอดอลแล้ว Perfect Blue ก็ยังถือเป็นจดหมายเหตุบันทึกความเป็นไปของยุคสมัยได้อย่างดีว่า ครั้งหนึ่งคนทำอาชีพนี้ต้องยอมลดตัวเองเพียงใด เพื่อตอบสนองแฟนตาซีอันดำมืดของผู้อื่น และดีเพียงใดที่ท้องฟ้าอันสดใสจะไม่กลับไปสู่ยุคมืดเช่นนั้นอีกครั้ง
Tags: Screen and Sound, perfect blue, Japanese movie, Idol