ค่ำคืนหนึ่งในกรุงนิวยอร์ก บอส (ธนภพ ลีรัตนขจร) ได้รับโทรศัพท์ทางไกลจาก อู๊ด (ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์) ขอร้องให้กลับมายังประเทศไทยอันเป็นบ้านเกิด เพื่อช่วยเขาทำภารกิจบางประการ เหตุผลหลักคือร่างกายของอู๊ดในโมงยามนี้กำลังเสื่อมสลายลงเรื่อยๆ จากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว และก่อนจะต้องลาจากโลกโดยถาวร เขาจำเป็นต้องจัดการธุระและสะสางเรื่องราวต่างๆ ที่มากมายประดามีให้เสร็จสิ้น นั่นคือการบอกลาคนทุกคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเขา รวมถึงบรรดาคนรักเก่าที่ตกค้างอยู่ตรงไหนสักแห่งหนึ่งของความสัมพันธ์

One For The Road วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ (2021) หนังยาวลำดับล่าสุดของ ‘บาส’ – นัฐวุฒิ พูนพิริยะ ภายใต้การควบคุมการผลิตโดย หว่องกาไว คนทำหนังชาวฮ่องกง ตัวหนังคว้ารางวัล World Cinema Dramatic Special Jury Award จากเทศกาลหนังซันแดนซ์ และเข้าชิงรางวัลใหญ่อย่าง Grand Jury Prize สาขาหนังโลก สายหนังดราม่าด้วย

ก่อนหน้านี้ นัฐวุฒิสร้างชื่อจากการกำกับหนังเรื่องแรก เคาท์ดาวน์ (2012) ซึ่งจะครบสิบปีในปีนี้พอดี เล่าเรื่องของกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่เก็บงำความลับร้ายแรงบางอย่างไว้จนเจอบทลงโทษในที่สุด แล้วจากนั้นจึงสร้างปรากฏการณ์ใน ฉลาดเกมส์โกง (2017) ว่าด้วยกลุ่มนักเรียนมัธยมปลายที่หาทางโกงข้อสอบสุดหฤโหด ที่คว้ารางวัลสารพัดทั้งในและนอกประเทศ ทำรายได้ถล่มทลายในบ้านเกิดร่วมร้อยล้านบาท (แถมยังเป็นข่าวเป็นคราวเมื่อไปออกฉายที่จีน ซึ่งไม่เพียงแต่ทำรายได้กลับมาร่วมพันล้าน แต่ยังถึงขั้นมีนักศึกษาจีนสร้างรูปปั้นตัวละครในภาพยนตร์เพื่อบูชาเป็นเทพเจ้าเลยทีเดียว!) และเรื่อยมาจนถึง One for the Road กับเรื่องราวของคนที่อยากหวนกลับไปชำระความรู้สึกผิดในใจเป็นครั้งสุดท้าย ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นหนังที่เผยให้เห็นความแม่นยำในการกำกับ เรื่อยไปจนความละเมียด ละเอียด และความทะเยอทะยานในการจะเล่าเรื่องของนัฐวุฒิ ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในจุดแข็งที่สุดอย่างหนึ่งของเขา

กล่าวโดยสรุป หนังทั้งสามเรื่องของนัฐวุฒิ ล้วนมีจุดร่วมเดียวกันคือการเรียนรู้ เติบโตผ่านเหตุการณ์ที่สร้างบาดแผลบางอย่างให้แก่พวกเขา และทั้งหมดทั้งมวล ตัวละครล้วนแล้วแต่คลี่คลายปมในหัวใจตัวเองได้โดยไม่มีอะไรติดค้าง ไม่ว่าจะกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่ถูกชายปริศนาลงโทษ สั่งสอนในอพาร์ตเมนต์แคบๆ ของคืนวันปีใหม่, นักเรียนหญิงที่ท้ายที่สุดก็ตระหนักว่าการพยายามโกงข้อสอบ แม้ไม่ได้มีเป้าประสงค์เพื่อเงินอย่างเดียวของเธอนั้นสร้างความสูญเสียอะไรบ้าง และทำให้เธอตัดสินใจเปิดโปงเรื่องนี้ในท้ายที่สุด เรื่อยมาจนถึงชายป่วยเป็นมะเร็งที่ใช้เวลาในวาระสุดท้ายของชีวิตบอกลาคนอื่นๆ รวมทั้งคนที่เขาสร้างแผลฉกรรจ์ให้

ทั้งนี้ การเดินทางของบอสกับอู๊ดเริ่มต้นเมื่อบอสตัดสินใจเดินทางจากนิวยอร์กมายังประเทศไทยตามคำขอร้องของเพื่อนที่ป่วยหนัก และจำใจทำตามคำขอของเพื่อนที่อยากเอาของไปคืนคนรักเก่าสามคน แม้ใจจริงของบอสจะไม่เห็นด้วยกับความปรารถนานี้ของอู๊ดเลย และก็อาจเป็นที่เข้าใจได้ว่าทำไม เมื่อหนังเลือกเปิดเรื่องด้วยฉากที่บอส ในฐานะเจ้าของบาร์ใจกลางกรุงนิวยอร์ก เริงรักกับหญิงสาวมากหน้าหลายตา เห็นได้ชัดว่าสำหรับบอสแล้วเขาไม่ใส่ใจเรื่องความสัมพันธ์ระยะยาวหรืออยากผูกมัด วางหัวใจให้ใคร จึงไม่น่าแปลกที่เขาตั้งคำถามกับความรู้สึกของเพื่อนหนุ่มที่หวังอยากเอาของกลับไปคืนคนรักเก่า หากแต่ก็ด้วยน้ำจิตน้ำใจ บวกกับการที่ครั้งหนึ่งเขาก็เคยได้รู้จักหญิงสาวเหล่านี้ในฐานะแฟนเก่าของอู๊ดเมื่อครั้งอยู่นิวยอร์ก ทำให้เขาตัดสินใจทำหน้าที่เป็นสารถีให้อู๊ด ที่ป่วยหนักจนหมอไม่อนุญาตให้ขับรถ ไปทั่วทีปทั่วแดน ตั้งแต่โคราชแล้วกระโจนไปเชียงใหม่

สิ่งที่น่าสนใจคือ แม้หนังจะมีท่าทีราวกับหนังโร้ดทริปที่ตัวละครออกเดินทางไปยังสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งด้วยกัน แต่เรากลับพบว่ามีฉากต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนรถยนต์น้อยมาก เราแทบไม่รู้เลยว่าระหว่างการเดินทางอันยาวนานจากจังหวัดหนึ่งไปอีกจังหวัดหนึ่งของอู๊ดกับบอสนั้น พวกเขาสนทนาอะไรกันบนรถบ้าง หรือเอาแต่ฟังเทปที่อัดเสียงพ่อของอู๊ดเมื่อครั้งยังเป็นดีเจไปทั้งทางเลยไหม ชวนนึกถึง Drive My Car (2021) หนังสัญชาติญี่ปุ่นความยาวสามชั่วโมงของ ฮามากูจิ ริวสุเกะ ว่าด้วยการออกเดินทางของผู้กำกับละครเวทีกับคนขับรถหญิงซึ่งต่างเป็นคนแปลกหน้าของกันและกัน ก่อนที่ทั้งสองจะค่อยๆ เปิดเผยความรู้สึกนึกคิด อดีตและบาดแผลของตัวเองให้กันฟังบนพื้นที่เล็กๆ ในรถยนต์ กลับกัน เรื่องราวของอู๊ดกับบอสกลับหลุดหล่นออกมาให้คนดูได้รู้เมื่อพวกเขานั่งอยู่ที่บาร์หรือร้านเหล้าเล็กๆ กับยาดองโหลยักษ์ ซึ่งหากเทียบกันรายชั่วโมงแล้ว พวกเขาน่าจะอยู่ด้วยกันบนรถนานกว่าอยู่ด้วยกันที่บาร์ตลอดทั้งเรื่องเสียอีก แต่บาร์ก็กลับกลายเป็นพื้นที่ที่ตัวละครเปิดเปลือยหัวใจต่อกันมากที่สุด

ด้านหนึ่ง พื้นที่ของรถยนต์นั้นมีลักษณะพิเศษ กล่าวคือมันเป็นพื้นที่เล็กแคบและจำกัดจำนวนคน ทั้งยังเรียกร้องบทสนทนาหรือบทเพลงเพื่อดับฆ่าความเงียบงันอันชวนอึดอัดเรื่อยไปจนเสียงกระหึ่มของเครื่องยนต์ มันจึงเป็นพื้นที่จำเพาะที่เหมาะสำหรับการสื่อสาร พูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น (เราจึงพบว่าระยะหลัง รายการทอล์กโชว์หลายๆ รายการจึงเน้นพาพิธีกรและแขกรับเชิญไปนั่งสนทนากันในรถ เนื่องด้วยลักษณะเช่นนี้เป็นส่วนหนึ่ง) เช่นเดียวกันกับบาร์เหล้าซึ่งกลายเป็นพื้นที่เปิดเปลือยหัวใจใน One for the Road ที่น่าสนใจคือ โดยตัวมันเอง บาร์และบาร์เทนเดอร์นั้นก็มีหน้าที่รับฟัง พูดคุยกับลูกค้ามากหน้าหลายตาในแต่ละคืนอยู่แล้ว หนังอย่าง Lost in Translation (2003) ก็มีฉากที่ตัวละครกระซิบบอกความรู้สึกต่อกันในบาร์หรูแห่งหนึ่ง ขณะที่บาร์เทนเดอร์นั้นก็มักรับบทผู้ฟังที่ดีในแต่ละค่ำคืน และองค์ประกอบเช่นนี้เองที่ปรากฏอยู่ในหนังลำดับล่าสุดของนัฐวุฒิ เมื่อเขาใช้ฟังก์ชันของบาร์และบาร์เทนเดอร์อย่างเต็มที่ ที่จะเป็นพื้นที่ให้ตัวละครได้มาชำระล้างบาปต่อกัน ขณะที่พื้นที่อย่างในรถนั้นถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่ตัวละครใช้เวลาอยู่ด้วยกันบนนั้นมากที่สุดของเรื่อง

กลับมาที่ตัวเนื้อเรื่อง ขณะที่เป้าหมายของอู๊ดคือการเอาของกลับไปคืนแฟนเก่าทั้งสามคน ได้แก่ ‘อลิซ’ (พลอย หอวัง), ‘หนูนา’ (ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง) และ ‘พี่รุ้ง’ (ศิรพันธ์ วัฒนจินดา) เรากลับไม่พบความสลักสำคัญหรือแม้แต่เลือดเนื้อ ชีวิตของตัวละครเหล่านี้เลย พวกเธอสำคัญอย่างไรต่อชีวิตของชายหนุ่มคนหนึ่งขณะที่เขาใช้ชีวิตจนตรอกอยู่ที่นิวยอร์ก เรื่องราวของพวกเธอจึงเบาบาง ไร้ใบหน้า ไร้การจดจำอย่างยิ่ง และอาจจะมีหน้าที่เป็นแค่ฟันเฟืองในการพาเรื่องไปสู่ครึ่งหลังที่เข้มข้นกว่าเดิม เมื่อเรื่องขับเคลื่อนไปถึงจุดที่ตัวละครค่อยๆ คลายความลับและความผิดบาปในใจที่เก็บงำมานานแสนนานต่ออีกฝ่าย ทั้งหนังยังเผยให้เห็นบาดแผลฉกรรจ์ที่ตัวละครต่างต้องแบกรับมาอย่างยาวนาน น่าเสียดายเมื่อมองย้อนกลับไปก็อดรู้สึกไม่ได้ว่า พลังงาน น้ำเสียง และความดุเดือด เพิ่งมาปรากฏเอาในช่วงท้ายของเรื่อง ขณะที่ช่วงแรกนั้นเบาบางทั้งในเชิงการเล่าเรื่องและในเชิงของตัวละคร

และเช่นเดียวกับที่กล่าวไปเมื่อข้างต้น ตัวละครทุกเรื่องในหนังของนัฐวุฒิมีลักษณะของการ ‘ไถ่บาป’ อันหมดจด และกับ One for the Road เองก็เช่นกัน เมื่อในความบาดหมาง ความรุนแรงของความลับที่เก็บงำกันมานานเสียจนส่งผลให้ชีวิตอีกคนหนึ่งบิดเบี้ยวไปจากที่เคยนั้นได้รับการยอมรับ เข้าอกเข้าใจและให้อภัย (แม้ว่าแฟนเก่าบางคนจะไม่ให้อภัยเขา แต่ความเบาบางและจางของตัวละครก็ทำให้พฤติกรรมของเธอไม่มีน้ำหนักเท่าการให้อภัยของตัวละครบอสหรือพริมที่ถูกเขียนขึ้นมาอย่างบรรจงและมีมิติมากกว่า) และอาจจะถูกผลักไปถึงขั้นที่ว่า การกระทำกับหยาบช้าของอู๊ดนั้นอาจสร้าง ‘บทเรียนชีวิต’ ให้แก่เด็กหนุ่มบ้านรวยที่ใช้ชีวิตไม่เป็นโล้เป็นพายนานร่วมทศวรรษ

และนี่เองที่ทำให้องก์ท้ายของหนังชืดชาลงอย่างน่าเสียดาย เพราะมันชวนให้วกกลับมายังสูตรในหนังของนัฐวุฒิอย่างการได้ ‘ตระหนักรู้’ และ ‘ผลัดเปลี่ยน’ ตัวตนผ่านบทเรียนหรือการสอนใจบางอย่างของคนมีอันจะกินผ่านการกระทำของคนตัวเล็กตัวน้อยนั่นเอง

Tags: , , ,