หากนับตั้งแต่วันแรกที่ แดเนียล เคร็ก ตกลงใจรับบทเป็น เจมส์ บอนด์ สายลับชาวอังกฤษใน Casino Royale (2006) ปีนี้ก็จะเป็นขวบปีที่ 15 แล้วที่เขาได้ใช้ชีวิตในฐานะตัวละครอันเป็นที่รักจากปลายปากกาของ เอียน เฟลมมิง และตัดสินใจบอกลาจากมันอย่างเป็นทางการในหนังบอนด์ลำดับที่ห้าของเขาอย่าง No Time to Die (2021)
เคร็กรับไม้การเป็นเจมส์ บอนด์ ต่อจาก เพียร์ซ บรอสแนน นักแสดงชาวไอริช-อเมริกัน ที่สร้างภาพจำในการเป็นสายลับชาวอังกฤษอยู่สี่ภาคนับตั้งแต่ปี 1995-2002 ก่อนหน้านั้นสตูดิโอ MGM ที่ถือครองสิทธิ์แฟรนไชส์นี้มายาวนาน (และเพิ่งจะสั่นคลอนเมื่อตกลงดีลธุรกิจกับแอมะซอน บริษัทผู้จัดจำหน่ายหนังและสตรีมมิงยักษ์ของโลกไปด้วยราคา 8.45 พันล้านเหรียญฯ อันส่งผลถึงสิทธิ์หนังในเครือต่างๆ ด้วย) หัวหมุนอยู่กับการหานักแสดงชายเพื่อมารับบทเป็นบอนด์คนใหม่ ไม่ว่าจะเป็น คาร์ล เออร์บัน จากนิวซีแลนด์, เฮนรี คาวิลล์ ที่ตอนนั้นเพิ่งอายุ 22 ปี ซึ่งสตูดิโอมองว่ายังเด็กเกินกว่าจะรับบทนี้ จนหวยมาออกที่เคร็ก นักแสดงหนุ่มวัย 36 (ในเวลานั้น) ที่ บาร์บารา บร็อกโคลี โปรดิวเซอร์แฟรนไชส์เจมส์ บอนด์สนใจมาตั้งแต่เห็นเขาปรากฏตัวจากบทบาทหลวงวิกลจริตใน Elizabeth (1998) และยื่นข้อเสนอให้เขามาเป็นบอนด์คนถัดไปต่อจากบรอสแนน
นาทีแรก เคร็กซึ่งหวงแหนความเป็นส่วนตัวอย่างยิ่งยวดรีบปฏิเสธในทันที “ขืนรับบทนี้ ชีวิตผมก็ฉิบหายพอดี” แต่ถึงอย่างนั้นก็เกรงใจบร็อกโคลีเกินกว่าจะปฏิเสธตรงๆ จึงขอบทมาอ่านก่อน และนั่นเองที่เป็นต้นกำเนิดการเดินทางอันยาวนานระหว่างเขาและตัวละครนี้ ในไม่กี่วันให้หลัง เคร็กผู้ตกหลุมรักบทเข้าอย่างจังตัดสินใจติดต่อกลับไปยังบร็อกโคลีเพื่อจะบอกว่าเขาพร้อมจะรับบทนี้แล้ว (เรื่องชวนหัวคือ เขาสวมเสื้อเชิ้ตอย่างดีเพื่อเตรียมไปพบบร็อกโคลี แต่กลับหาหมุดกลัดแขนเสื้อไม่เจอ “ผมเลยคิดว่า ช่างแม่งแล้วกัน ปล่อยแม่งห้อยอย่างนั้นแหละ” เขาบอก แล้วไปพบโปรดิวเซอร์เพื่อเข้าทดสอบบทสายลับที่แต่งตัวเนี้ยบเป็นประวัติการณ์ของอังกฤษในวันนั้นเอง)
การเดินทางของเคร็กในบทบาทของบอนด์ใน Casino Royale กับฉาก ‘ทีนี้ทั้งโลกก็จะได้รู้ว่านายตายเพราะเกาไข่ให้ฉัน!’ ในตำนาน มาจนถึง No Time to Die ซึ่งนับเป็นหนังเจมส์ บอนด์ลำดับที่ 25 ของแฟรนไชส์ และเป็นหนังบอนด์ลำดับที่ห้าของเคร็กด้วย กำกับโดย เครี โจจิ ฟูคุนางะ คนทำหนังชาวอเมริกันเชื้อสายญี่ปุ่น ผู้เคยกำกับหนังสงครามชวนหัวใจสลาย Beasts of No Nation (2015) และเขียนบทหนังสยองขวัญ It (2017) เล่าเรื่องของบอนด์ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมานับครั้งไม่ถ้วน เริ่มหวังจะหยั่งรากชีวิตที่เหลือไปด้วยกันกับ แมเดลีน (ลีอา เซย์ดูซ์) นักจิตวิทยาสาว ขณะที่โลกรอบนอกหมุนตีลังกากลับหลัง ออกล่าทั้งเขา คนรัก และผู้คนที่เกี่ยวข้อง จนบีบให้เขาต้องกระโจนกลับสู่สมรภูมิอีกครั้ง
เรื่องราวของบอนด์ในยุคสมัยของเคร็กเดินทางจากสายลับหนุ่มเจ้าสำราญ ดื่มมาร์ตินีไม่คน และสวมสูทเนี้ยบเพื่อปฏิบัติภารกิจนั้น ไม่เพียงเดินทางฝ่าคมกระสุนมาแล้วหลายต่อหลายครั้ง หากแต่ตัวเนื้อเรื่องของมันยังฝ่าด่านคำถามและความท้าทายมากมาย หากเรามองย้อนกลับไป ตัวบอนด์ก่อกำเนิดขึ้นมาในฐานะตัวละครจากนวนิยายของเฟลมมิงมาตั้งแต่ปี 1953 และได้กลายเป็นภาพแทนของอังกฤษ (หรือความทะเยอทะยานของอังกฤษ) ในช่วงสงครามเย็นกับวายร้ายชาวโซเวียตรัสเซีย เจมส์ แชปแมน นักประวัติศาสตร์ชาวสหราชอาณาจักรเคยนิยามบอนด์ในนิยายของเฟลมมิงไว้ว่า “บอนด์คือผลผลิตจากประวัติศาสตร์และอุมดการณ์ของสงครามเย็น ดังนั้นศัตรูจึงเป็นกลุ่มประเทศตะวันออกที่ถูกปกครองโดยโซเวียต ศัตรูจึงมิได้เป็นแค่เพียงประเทศใดประเทศหนึ่ง (เช่น รัสเซีย) อีกต่อไปแล้ว แต่เป็นชุดอุดมการณ์ (เช่น คอมมิวนิสต์) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงภัยคุกคามที่แท้จริงสำหรับโลกเสรีตะวันตก”
อย่างไรก็ตาม บอนด์ในยุคหลังสงครามเย็นก็ยังต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายทางสังคมและพลวัตต่างๆ ในโลกอยู่เสมอ เช่นเดียวกับบอนด์ของเคร็กที่ค่านิยมในตัวของบอนด์ ไม่ว่าจะความเป็นชาย ความเป็นคนขาว หรือภาพแทนของจักรวรรดิอังกฤษ ถูกตั้งคำถามว่ายังไปด้วยกันได้ดีในโลกยุคสมัยใหม่ที่เต็มไปด้วยความหลากหลายอยู่หรือไม่ และหนังตอบคำถามนี้ด้วยการสร้างตัวละครหญิงที่แข็งแกร่งในทุกภาค สถานะของตัวละครเหล่านี้ไม่เคยเป็นแค่ ‘สาวบอนด์’ ที่เข้ามาแล้วผ่านไป แต่เธอมีเจตจำนง มีเป้าหมายของตัวเอง และพร้อมแลกทุกอย่างเพื่อให้ได้มา ตลอดจนภาค No Time to Die ที่มี โนมี (ลาชานา ลินช์) เป็นพยัคฆ์สาวผิวดำผู้ครอบครองรหัส 007 หลังบอนด์ปลดระวางด้วย
“นึกถึงภาคก่อนๆ อย่าง Thunderball (1965) หรือ Goldfinger (1964) สิครับ” ฟูคุนางะว่า “ที่ผู้หญิงบอกว่า ‘ไม่เอาน่ะ อย่าเลยดีกว่า’ แล้วเขา (บอนด์ซึ่งรับบทโดย ฌอน คอนเนอรี) ก็บอกว่า ‘เถอะน่า เถอะน่า’ ปัจจุบันจะมาทำอะไรแบบนี้ไม่ได้หรอกนะครับ”
“เรามี ฟีบี วอลเลอร์-บริดจ์ มาร่วมเขียนบทด้วย ซึ่งผมว่านี่แหละที่เราตั้งใจอยากให้เป็น เพราะผู้หญิงจะเขียนตัวละครหญิงให้ออกมาเข้มแข็งอยู่แล้ว และนี่ก็เป็นสิ่งที่บาร์บารา บร็อกโคลีต้องการมาตั้งแต่ไหนแต่ไร ผมได้คุยเรื่องนี้กับเธอตั้งแต่แรกๆ เลย เราไม่อาจเปลี่ยนบอนด์ให้กลายเป็นคนอีกคนในชั่วเวลาเพียงข้ามคืน แต่เราสามารถเปลี่ยนโลกรอบๆ ตัวเขาและวิธีที่เขาปฏิบัติต่อโลกได้ เราเล่าเรื่องชายคนขาวที่เป็นสายลับในโลกนี้ก็จริง แต่ก็ต้องตั้งใจเล่าเรื่องตัวละครหญิงมากกว่าจะให้เธอเป็นไม้ประดับในเรื่อง”
และหนังทั้งห้าภาคที่เคร็กนำแสดงก็ตอบคำถามได้หมดจดว่าบอนด์ในแบบฉบับของเคร็กนั้นสามารถโลดแล่นและเป็นที่รักของผู้คน นับตั้งแต่การเปิดตัวในปี 2006 กับความสัมพันธ์อ่อนโยนและจริงใจที่เขามีต่อ เวสเปอร์ (เอวา กรีน) สาวบอนด์คนแรกในยุคสมัยของเคร็ก เช่นเดียวกับภาคล่าสุด No Time to Die ที่เล่าถึงบอนด์ในแง่มุมของมนุษย์ที่มีหัวใจ รักได้และเจ็บเป็น อ่อนไหวเรื่องความสัมพันธ์ (และถูกเน้นย้ำด้วยตัวละครหนึ่งในเรื่องอย่างน่าสนใจ) บวกกันกับการแสดงของเคร็กที่ดึงเอาความเป็นมนุษย์ของบอนด์ออกมาได้หมดจด ไม่ว่าจะเป็นความหลงใหล ความแค้นเคือง หรือหัวใจสลาย ซึ่งคงเกิดขึ้นไม่ได้อย่างแน่นอนหากตัวนักแสดงไม่เข้าใจและไม่เป็นหนึ่งเดียวกับตัวละครเช่นนี้ อันจะเห็นได้ฉากต้นเรื่อง (ซึ่งอยู่ในตัวอย่างหนัง) เมื่อบอนด์กับแมเดลีนถูกขังอยู่ในรถ ถูกศัตรูรัวกระสุนใส่ไม่ยั้ง
ฟูคุนางะและผู้กำกับภาพ ไลนัส แซนด์เกร็น (จาก La La Land, First Man) แบกกล้อง IMAX ขนาดยักษ์ถ่ายเจาะไปยังช่วงเวลาอันน่าปวดใจระหว่างบอนด์กับคนรัก “แล้วพูดจริงๆ นะว่าการเอากล้องใหญ่ขนาดนั้นถ่ายช็อตข้ามไหล่ระหว่างนักแสดงสองคนนี่มันแทบเป็นไปไม่ได้เลย” ฟูคุนางะเล่า “จุดประสงค์ของฉากนั้นคือเพื่อให้คนดูได้รู้สึกราวกับอยู่ด้วยกันกับตัวละครขณะที่พวกเขาโดนระดมยิงอยู่ เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนที่เขาจะออกวาดลวดลาย มันจึงเป็นระยะที่ใกล้จนคุณรู้สึกเหมือนเกือบจะจูบเขาได้เลย”
การเดินทางของเคร็กในฐานะบอนด์ก็ผ่านร้อนผ่านหนาวมาไม่น้อยไปกว่ากัน นับตั้งแต่มีการประกาศจากสตูดิโอ MGM อย่างเป็นทางการว่าเขาจะเป็นสายลับ 007 ลำดับถัดไป ก็เกิดระเบิดคำวิจารณ์มากมายที่ถาโถมเข้าใส่นักแสดงหนุ่ม ที่ตอนนั้นเพิ่งจะถูกจดจำจาก Road to Perdition (2002) หนังธริลเลอร์ของ แซม แมนเดส ที่ในเวลาต่อมาพวกเขาจะได้เจอกันอีกทีใน Skyfall (2012) และ Spectre (2015) ตลอดจน Munich (2005, สตีเวน สปีลเบิร์ก)
ถ้ายังจำกันได้ ก่อนหน้าสตูดิโอจะปล่อยภาพนิ่งจากหนัง Casino Royale (และฉากสวมกางเกงว่ายน้ำสีฟ้าตัวเดียว เดินขึ้นมาจากทะเล) เคร็กถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เหมาะสมต่อบทอย่างรุนแรง ทั้งเตี้ยเกิน (เขาสูง 178 ซม. ซึ่งถือว่าตัวเล็กที่สุดในบรรดานักแสดงชายที่เคยรับบทเจมส์ บอนด์ที่ทุกคนล้วนสูง 185 ซม. ขึ้นไป), ผมบลอนด์ไป (ในงานของเฟลมมิง ตัวละครหนึ่งบรรยายว่าบอนด์นั้น ‘มีส่วนคล้ายๆ กับ โฮกกี คาร์ไมเคิล นักดนตรีชาวอเมริกัน กับเรือนผมสีดำที่หล่นลงมาปรกหน้าผาก’) รวมทั้งผอมไปและปราศจากเสน่ห์เฉพาะตัว
“ช่วงสักปี 2005-2006 นะ โลกอินเทอร์เน็ตเอาแต่พูดเรื่องพวกนี้กัน ผมเองไม่ได้มีโซเชียลมีเดียอะไรกับเขาหรอก ขอบคุณพระเจ้า และทุกวันนี้ก็ยังไม่มีด้วยซึ่งผมว่าเป็นผลดีมากทีเดียว มันเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังแบบที่ผมมองไม่ออกว่าใครสักคนหนึ่งจะรับมือกับมันอย่างไร มีแต่ความกดดันต่างๆ นานา แต่กับตัวผมเองแค่รู้สึกว่า ก็ต้องรับมือกับมันไป ตั้งหน้าตั้งตาทำงานให้ดีที่สุดก็พอแล้วว่ะ” เคร็กบอก
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจาก Casino Royale ออกฉายและกวาดรายได้ไป 616 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (จากทุนสร้าง 150 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) เคร็กก็พิสูจน์ตัวเองว่าเขาคือสายลับคนใหม่โดยปราศจากข้อกังขาใดๆ บอนด์ของเคร็กไม่เน้นการใช้เทคโนโลยีหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่องค์กร MI6 มอบให้ แต่เน้นการสาวหมัดหักกระดูกกันซึ่งๆ หน้า ที่ด้านหนึ่งมันไม่เพียงสร้างความ ‘สาแก่ใจ’ ให้แก่คนดูเท่านั้น แต่มันยังขับเน้นบุคลิกบางอย่างของบอนด์ ที่ภายหลังมักถูกฮอลลีวูดหยิบมาเล่าว่าเป็นสายลับหนุ่มเจ้าสำราญ ให้กลายเป็นสายลับกับ ‘ใบอนุญาตฆ่า’ ของอังกฤษ อย่างที่เฟลมมิงเคยเขียนบรรยายถึงเขาไว้ว่า “มีความดำมืด หน้าตาดี แต่ค่อนไปทางเลือดเย็น”
กลับมายัง No Time to Die หนังจับจ้องไปยังห้วงเวลาละเอียดอ่อนเมื่อด้านหนึ่งของบอนด์ก็อยากใช้ชีวิตหลังเกษียณ หากแต่ก็ไม่อาจปล่อยมือจากอดีตที่ผ่านมาได้ ภาวะครึ่งๆ กลางๆ เหล่านี้ผลักให้เขาต้องกระโจนกลับไปรับภารกิจซึ่งด้านหนึ่งทำให้เขาได้กลับไปสำรวจเรื่องราวที่ผ่านมาของตัวเองอีกหน ทั้งในสิ่งที่อยากจดจำและอยากลืมเลือน ตลอดจนการได้ปล่อยมือจากอดีตและการได้สืบต่อบางอย่างไปสู่อนาคต
ด้วยระยะเวลา 2 ชั่วโมง 43 นาทีของหนังซึ่งทำให้มันกลายเป็นหนังบอนด์ที่ยาวที่สุดตั้งแต่มีการสร้างมาในทุกภาค มันก็เล่าความปรารถนาของชายชาวอังกฤษคนหนึ่งที่ใช้ชีวิตในฐานะสายลับอย่างครบถ้วนมากสุดเท่าที่มันจะทำได้ และปิดฉากตัวละครเจมส์ บอนด์ ของแดเนียล เคร็ก ที่เดินทางมาอย่างยาวนานตลอด 15 ปี ได้อย่างสง่างามและสมการรอคอยในที่สุด
Tags: ภาพยนตร์, James Bond, เจมส์ บอนด์, No Time to Die, แดเนียล เคร็ก, สายลับ 007