ใครสักคนเคยกล่าวว่า การไปดูหนังของ เอ็ดการ์ ไรต์ ทำให้เราได้เพลย์ลิสต์เพลงดีๆ กลับมานอนฟังต่ออีกชุดใหญ่ และแน่นอนว่าผลงานก่อนหน้านี้ของเขาหลายต่อหลายเรื่องก็พิสูจน์คำกล่าวข้อนี้มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน 

ไม่ว่าจะเป็น Shaun of the Dead (2004) หนังซอมบี้โป๊งเหน่งที่ไรต์เลือกใช้แทร็ก Don’t Stop Me Now ของวง Queen ในฉากที่ตัวละครมะรุมมะตุ้มกับฝูงซอมบี้ หรือเรื่อง The World’s End (2013) กับแทร็กสุดจ๊าบ Alabama Song (Whiskey Bar) จากวง The Doors ตอนเปิดตัวชายติดเหล้าห้าคนที่ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันนอกจากเมา และล่าสุด Baby Driver (2017) ที่เปิดเรื่องด้วยความยาวหกนาทีเต็มพร้อมเพลง Bellbottoms ของวงร็อก The Jon Spencer Blues Explosion เพื่อเกริ่นนำถึงความบ้าดีเดือดของไอ้หนุ่มนักขับรถผู้พาอาชญากรซิ่งหนีตำรวจ

  ผลงานล่าสุดของไรต์ยังเปี่ยมไปด้วยลายเส้นและความหมดจดด้านดนตรีประกอบเช่นเคย หากจะมีจุดเปลี่ยนอยู่บ้างคือจากที่เล่าเรื่องตัวละครหลักเป็นผู้ชายมาโดยตลอด ครั้งนี้ไรต์หันมาเล่าเรื่องตัวละครหญิงเป็นครั้งแรกใน Last Night in Soho (2021) ที่ว่าด้วยเรื่องของ ‘เอลลี’ (โธมาซิน แม็กเคนซี) เด็กสาวจากย่านชานเมืองของอังกฤษ ผู้หลงใหลกลิ่นอายความวินเทจและฝันอยากเป็นดีไซเนอร์ 

เอลลีได้ทุนไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยใจกลางเมืองลอนดอน ท่ามกลางสายตาเป็นห่วงเป็นใยของคุณยายที่รู้สึกว่าเมืองหลวงนั้นออกจะ ‘วุ่นวาย’ เกินไปสำหรับหลานสาวที่แสนรักสงบ แต่เอลลีก็ยังตัดสินใจไปตามฝันของเธอด้วยการเก็บข้าวของและออกเดินทางไปยังลอนดอน เพื่อจะพบว่าลอนดอนนั้นอันตรายยิ่งกว่าที่ยายเธอเตือนไว้เสียอีก เพราะเพียงวันแรกที่ก้าวไปยังเมืองนี้ เธอก็เริ่มต้นวันด้วยการถูกคนขับแท็กซี่พูดจาคุกคามทางเพศจนต้องลงก่อนถึงที่หมาย แล้วแบกกระเป๋าใบยักษ์เดินไปเอง

  มิหนำซ้ำ เธอยังพบว่าหอพักที่มหาวิทยาลัยจัดให้นั้นไม่เหมาะกับเธอโดยสิ้นเชิง เอลลีต้องอยู่ร่วมห้องกับเพื่อนสาวแสนก๋ากั่นและไม่มีมารยาท ทั้งแซวทั้งนินทา แถมยังพาผู้ชายบุกเข้ามาในห้องโดยไม่ถามความเห็นเธอ มากไปกว่านั้น ในหอพักก็เต็มไปด้วยการจัดปาร์ตี้กับเสียงเพลงดังสนั่นจนเธอนอนไม่ได้ ลงเอยด้วยการที่เอลลีต้องหอบข้าวหอบของไปหาที่พักแห่งใหม่ในย่านโซโฮ (Soho) ซึ่งเป็นย่านเก่าแก่และค่อนข้างสงบ โดยมีคุณนายคอลลินส์ (ไดอานา ริกก์ นี่เป็นหนังเรื่องสุดท้ายที่เธอฝากไว้ก่อนเสียชีวิตในปี 2020 ที่ผ่านมา) หญิงชราเจ้าระเบียบคอยดูแล

และในที่พักแห่งนี้เอง ที่เอลลีหลับฝันเห็นลอนดอนในยุค 1960s โดยในฝันของเธอนั้นมี ‘แซนดี’ (อันยา เทย์เลอร์-จอย) หญิงสาวหน้าตาสะสวยที่ทะเยอทะยานฝันอยากเป็นนักร้องประจำคลับชื่อดังร่วมด้วยอยู่เสมอ การได้เห็นช่วงเวลาในอดีตของลอนดอนที่ทั้งรุ่งโรจน์และเรืองรองด้วยแฟชั่นล้ำสมัย ทำให้เอลลีโหยหาการได้อยู่ในความฝันเหล่านั้น เนื่องจากเวลาในยุคปัจจุบันไม่เคยเป็นมิตรกับเธอ เธอยังคงถูกหญิงสาวอดีตเพื่อนร่วมห้องกลั่นแกล้ง การเรียนหนักและความห่างไกลจากบ้านเกิดยิ่งทำให้เธอโดดเดี่ยวและว้าเหว่ การได้หลับฝันและเห็นแซนดีในอดีตจึงเป็นเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงหัวใจอันแตกร้าวของเอลลี 

จนกระทั่งเมื่อเธอพบว่าชีวิตแซนดีไม่ได้สวยสดงดงามอย่างที่วาดหวัง ไม่ได้เป็นดาวดังของคลับ ทั้งยังใช้ชีวิตอย่างยากลำบากภายใต้การจับตามองอย่างใกล้ชิดของ ”แจ็ค’ (แม็ตต์ สมิธ) ผู้จัดการหนุ่มเจ้าเสน่ห์ที่เริ่มออกลายให้เห็นธาตุแท้ที่มีต่อแซนดี ก่อนนำไปสู่โศกนาฏกรรมที่ลากดึงเอลลีในยุคปัจจุบันเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

มองเผินๆ พล็อตหลักของ Last Night in Soho อาจเล่าในสิ่งที่โลกภาพยนตร์เล่ามาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกของการอยู่ผิดที่ผิดทาง ผิดยุคสมัย สาวน้อยบ้านนอกเข้ากรุงแล้วโดนสาวชาวเมืองกลั่นแกล้งให้ช้ำใจ ไปจนถึงบรรยากาศเพื่อนสนิทที่คิดเกินเพื่อน หากแต่ไรต์ผลักให้มันกลายเป็นหนังเฮอร์เรอร์แบบสุดทาง พร้อมโหมด้วยประเด็นหลักของเรื่องคือสภาวะการถูกคุกคามจากเพศชายและสังคมของผู้หญิง 

ตลอดทั้งเรื่องเราจะเห็นตัวละครหญิง ไม่ว่าจะเอลลีหรือแซนดี ถูกกระทำและทำร้ายโดยเพศชายเสมอ นับตั้งแต่เมื่อเอลลีก้าวเข้ามายังลอนดอนแล้วถูกคนขับแท็กซี่พูดจาซักไซ้เกี่ยวกับช่วงขาของเธอ ทั้งยังปฏิเสธไม่ยอมจอดรถตามที่เอลลีสั่งหลังจากเธอไม่สบายใจจะเดินทางต่อ จนเด็กสาวต้องออกอุบายว่าขอลงจากรถเพื่อแวะซื้อของในร้านสะดวกซื้อ แต่กลับพบว่าชายคนขับแท็กซี่จอดรถและจับตาเฝ้ารอเธออยู่ด้านนอก ด้านหนึ่งมันจึงเป็นการเล่าถึงความรู้สึกไม่สบายใจและระแวดระวังตัวทุกย่างก้าวของเด็กสาวในเมืองใหญ่ที่หลายคนอาจเคยต้องประสบ ไม่ว่าจะการถูกคนแปลกหน้าพูดจาคุกคาม แท็กซี่ที่ปฏิเสธไม่ยอมจอดตามที่เราร้องขอ หรือการรู้สึกว่าถูก ‘จับจ้อง’ โดยคนแปลกหน้าอยู่ก็ตามที

  ประเด็นนี้ยังถูกบอกเล่าผ่านเส้นเรื่องในยุค 60s ของแซนดีด้วย เธอคือหญิงสาวที่หวังอยากเป็นดาวเจิดจรัสในคลับดังหลายแห่งของลอนดอน ก่อนจะค่อยๆ ถูกกัดกินจนความฝันไม่เหลือเค้าเดิม เธอถูกรายล้อมด้วยผู้ชายไม่ซ้ำหน้าที่หวังอยากหลับนอนกับเธอเป็นครั้งเป็นคราว ชายที่เธอไว้ใจและเคยคาดหวังว่าเขาจะช่วยจับมือเธอไปยังฝั่งฝันก็กลายเป็นแค่คนเห็นแก่ตัวหน้าเงิน 

“เราได้ยินเรื่องชวนขนลุกพวกนี้มาตลอดแหละ แต่ไม่ได้มีใครมาเล่าให้เราฟังตั้งแต่แรกโดยตรงหรอก แล้วเรื่องพวกนี้ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องซุบซิบเอาสนุกปากเกี่ยวกับพวกนางโชว์ต่างๆ แบบที่เหยื่อในเรื่องเล่าไม่มีโอกาสได้มาพูดถึงอีกด้านของเรื่องราวเหล่านั้นเลย” ไรต์บอก “และผมว่าสิ่งที่เศร้ากว่านั้นคือ ผู้คนในเรื่องราวจากยุค 60s ก็ไม่มีโอกาสได้มาเล่าให้เราฟังด้วยตัวเองด้วย เพราะส่วนใหญ่พวกเขาก็ไม่ได้อยู่กับเราในเวลานี้อีกต่อไปแล้ว”

  จากเดิมที่เคยเขียนบทหนังตัวคนเดียวมาตลอด ไรต์ร่วมงานกับ คริสตี วิลสัน-ไคร์นส์ คนเขียนบทหญิงจาก 1917 (2019, แซม แมนเดส) ในการจะเล่าเรื่องโลกและสิ่งคุกคามรอบตัวที่ผู้หญิงต้องเผชิญ และคนที่แนะนำให้ไรต์กับวิลสัน-ไคร์นส์ได้รู้จักกันคือแมนเดสนี่เอง 

“เราเจอกันครั้งแรกที่ภัตตาคารย่านโซโฮ เธอชี้นิ้วข้ามถนนไปแถวๆ บาร์เปลือยสองแห่งที่ยังเหลือรอดจากยุค 60s มาจนทุกวันนี้ให้ผมดู ผมว่าเมื่อก่อนมันคงมีบาร์แบบนี้สักห้าสิบแห่งได้ละมั้ง แล้วตอนนี้เหลือแค่สองเอง แล้วเธอชี้ไปยังบาร์สองแห่งที่ยังเหลืออยู่ ชื่อร้านซันเซ็ต สตริป บนถนนดีน แล้วบอกผมว่า ‘เมื่อก่อน สมัยทำงานเป็นบาร์เทนเดอร์ในร้านทูแคน ฉันเคยต้องอาศัยอยู่ข้างบนบาร์ซันเซ็ต สตริปอยู่สักห้าปีได้ค่ะ’ แล้วเราก็เอาเจ้าบาร์ที่ว่านี่แหละมาใช้ในหนังด้วย”

และแน่นอนว่าไรต์ไม่ทิ้งจุดเด่นงานเพลงประกอบที่แทรกไว้แทบทุกอณูของหนัง ไม่ว่าจะเพลงที่เอลลีฟังท่ามกลางเสียงอึกทึก เพลงในบาร์เมื่อแซนดีย่างกรายเข้าไป จนถึงเพลงร่วมสมัยในฉากที่นักศึกษามหาวิทยาลัยรวมตัวกันปาร์ตี้ โดยไรต์มอบเพลย์ลิสต์ให้เหล่านักแสดงนำในเรื่องกลับไปนอนฟังราว 50 กว่าเพลง รวมถึงหนังจากยุค 60s อีกเป็นตั้งๆ 

“ผมชอบส่งหนังส่งเพลงให้ทั้งทีมงานและนักแสดงตลอดแหละ และบอกพวกเขาเสมอเลยว่า ‘ดูได้เท่าที่อยากเลยนะ หรือจะไม่ดูก็ได้!’ ปรากฏว่าคนที่ขยันที่สุดคือโธมาซินกับโอดีเล ดิกส์-ไมเราซ์ ฝ่ายคอสตูมดีไซเนอร์ของผมเอง ซึ่งผมว่าสองคนนี้ดูหนังที่ผมให้ไปเป็นการบ้านทุกเรื่องเลยมั้ง ทั้งที่ก็ไม่ได้บอกนะว่าต้องดูให้ครบ เธอแค่เป็นคนขยันน่ะ 

  “ผมไม่ได้ให้แต่หนังเฮอร์เรอร์ไปหรอกนะครับ อันที่จริงส่วนใหญ่นั่นก็เป็นหนังดราม่าหรือไม่ก็หนังสารคดีจากยุค 60s แล้วก็อยากให้แต่จะคนสนใจสิ่งที่อยู่ในหนังกันคนละแบบด้วย อย่างแม็ตต์กับอันยา ผมว่ามันน่าสนใจดีที่เอาหนังจากยุคนั้นมาให้พวกเขาดู เพราะสมัยนั้นการแสดงต่างไปจากสมัยนี้มาก เลยให้แอนยาไปดูหนัง Darling (1965) ของ จอห์น ชเลซิงเกอร์ กับอีกเรื่องคือ Beat Girl (1960) ของ เอ็ดมุนด์ ที เกรวิลล์ น่ะ” 

อย่างไรก็ดี ไรต์ก็ ‘คารวะ’ หนังทริลเลอร์ยุค 60s ผ่านหลายๆ ฉาก โดยเฉพาะฉากที่เอลลีแต่งหน้าไปงานแฟนซีแล้วเผชิญเข้ากับภาพหลอนชวนเสียสติ ที่ใครเห็นแล้วคงต้องนึกถึง Rosemary’s Baby (1968), I Saw What You Did (1965) ไม่มากก็น้อย

ขณะที่เพลงหลักๆ ในหนังเรื่องนี้คือ A World Without Love โดยดูโอวง Peter & Gordon, Starstruck ของวง The Kinks, Eloise โดย แบร์รี ไรอัน นักดนตรีและช่างภาพชาวอังกฤษที่เพิ่งเสียชีวิตไปในเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้ ก่อนหน้าหนังเข้าฉายไม่กี่เดือน และ Downtown โดย เพทูลา คลาร์ก ซึ่งถูกนำมาขับร้องใหม่อีกครั้งในหนังโดยเทย์เลอร์-จอย 

พร้อมกันนั้น ไรต์ก็โหมประโคมความเป็นเฮอร์เรอร์ชวนขนหัวลุกและบรรยากาศคุกคามสุดขีด ด้วยแสงสีที่อาบคลุมตัวละครทั้งในยามหลับยามตื่น จนฝันร้ายที่เอลลีต้องเผชิญนั้นแทบจะแยกจากความเป็นจริงเมื่อเธอลืมตาตื่นไม่ออก โดยเขาได้ ชอง ชองฮุน ผู้กำกับภาพชาวเกาหลีใต้ที่เคยกำกับภาพหนังทริลเลอร์สยองขวัญ ขาประจำของ ปาร์ก ชานวุก ทั้งใน Oldboy (2003), Lady Vengeance (2005), Stoker (2013), The Handmaiden (2016) รวมทั้ง It (2017) หนังเขย่าขวัญของ แอนดี มุสชิเอตติ มาร่วมกำกับภาพใน Last Night in Soho ด้วย

  ดังนั้น ท่ามกลางบรรยากาศ แสงสี และความฉูดฉาดของยุค 60s ณ ใจกลางลอนดอน หนังทั้งเรื่องก็ห่มคลุมด้วยความยะเยือกและชวนขนหัวลุกบางอย่าง ทั้งจากความมาดร้ายที่ตัวละครมีต่อกัน และความเป็นลอนดอนที่กัดกินทำลายพวกเธออยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน จนไม่แปลกใจเมื่อหนังดำเนินมาถึงองก์สุดท้าย เรื่องราวจะทวีความเจ็บปวด เดือดดาล และพร้อมกันนั้นก็แสนจะโศกเศร้า อันสรุปภาพรวมของการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ในฐานะของผู้หญิงภายใต้เงื้อมมือของผู้ชายได้อย่างหมดจด

Tags: ,