เมื่อพูดถึง ‘หนังเหงา บรรยากาศเปลี่ยว เรื่องราวของคนที่ปลีกวิเวกโคจรมาเจอกัน’ ภาพจำแบบนี้หลายคนคงนึกถึงผลงานของ หว่องกาไว (Wong Kar wai)  และแสงสีของฮ่องกงยุค 90s ขึ้นมาก่อนเรื่องอื่น ทั้งที่ในหลากหลายประเทศก็ต่างมีผลงานในทำนองนี้ จากผู้กำกับคนอื่นเช่นกัน รวมถึงในไทยเองก็มีหนึ่งในผลงานของผู้กำกับมากความสามารถอย่าง เป็นเอก รัตนเรือง ที่ได้ถ่ายทอดแนวทางประเภทนี้ออกมาได้อย่างชัดเจนและมีเอกลักษณ์

‘ความเหงาอยู่คู่กับมนุษย์ เพราะคนเชื่อมโยงกับการมีปฏิสัมพันธ์ แต่เมื่อต้องโดดเดี่ยวอยู่บนโลกเมื่อไร ความคิด และตัวตนของเรา จะสลักสำคัญอะไร ชีวิตจะมีอยู่ไปทำไม’

ข้างต้นคือ มุมมองของเป็นเอกที่มีต่อความเหงาและอ้างว้างซึ่งถูกยึดโยงกับ ‘ความตาย’ จนกลายเป็น เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล (2546) ภาพยนตร์ที่หมกมุ่นกับความเหงาจนอยากตายของตัวละครหลัก จนนำไปสู่การพบเจอคนเหงาเช่นกัน 

  เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล นับเป็นผลงานที่อัดแน่นไปด้วยปูชนียบุคคลในวงการสื่อสร้างสรรค์ ตั้งแต่ผู้กำกับ เป็นเอก รัตนเรือง ที่เคยฝากผลงานดังอย่าง มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2544), ฝนตกขึ้นฟ้า (2554) และเรื่องตลก 69 (2542) ที่เรื่องนี้ได้ประกบคู่กับ คริสโตเฟอร์ ดอยล์ (Christopher Doyle) ผู้กำกับภาพคู่บุญของหว่องกาไว นอกจากนี้ยังได้ ปราบดา หยุ่น นักเขียนรางวัลซีไรต์ เจ้าของผลงานรวมเรื่องสั้น ความน่าจะเป็น (2545) มาร่วมเขียนบทภายในเรื่อง

วันที่ 8 สิงหาคม 2546 ถือเป็นวันแรกที่ภาพยนตร์ออกสู่สายตาสาธารณชน จนถึงปัจจุบัน เวลาก็ล่วงเลยไปกว่า 21 ปีแล้วที่หนังเรื่องนี้ยังคงวนเวียนถูกหยิบขึ้นมาดู ยกขึ้นมาพูดคุย จับมาเทียบเคียงกับความรู้สึกเหงาของผู้คนในแต่ละช่วงเวลาอยู่บ่อยครั้ง 

หนังเรื่องนี้โดดเด่นอย่างไร ทำไมความเหงาในเรื่องนี้ถึงเป็นอมตะ ทันยุคสมัยอยู่ตลอด ร่วมหาคำตอบได้ผ่านบทความนี้กัน

จุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล เกิดขึ้นในวงสังสรรค์ของเป็นเอกและเพื่อนคนทำหนังชาวต่างชาติ ที่จู่ๆ โปรดิวเซอร์ได้ถามเป็นเอกว่า อยากร่วมงานกับคริสโตเฟอร์ ดอยล์ และทาดาโนบุ อาซาโนะ หรือไม่ ซึ่งเป็นเอกตอบรับข้อเสนอทันที 

อย่างไรก็ตามโปรดิวเซอร์กำชับเป็นเอก ขอให้เขียนบทออกมาเร็วที่สุด เพราะกลัวคริสโตเฟอร์และอาซาโนะจะเปลี่ยนใจ เขาจึงนำบทหนังที่เคยเขียนเรื่องราวของผู้ชายคนหนึ่งที่หมกมุ่นกับการฆ่าตัวตายไปเล่าให้ปราบดาฟัง ก่อนที่นักเขียนรายนี้จะตกตะกอนเรื่องราวและถ่ายทอดออกมาด้วยปลายปากกาของเขา เป็นผลงานเรื่องสั้นที่ชื่อ I am home ก่อนที่จะถูกนำกลับไปต่อยอดโดยเป็นเอกอีกที ภายใต้ชื่อใหม่ว่า Last Life in the Universe หรือ เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล ที่ทุกคนรู้จัก

  กล่าวโดยย่อ หนังเรื่องนี้เล่าเรื่องราวของเคนจิ (แสดงโดย ทาดาโนบุ อาซาโนะ) ชายหนุ่มผู้ดูแลห้องสมุดชาวญี่ปุ่น ที่พยายามฆ่าตัวตายทุกครั้งเมื่อมีโอกาส จนวันหนึ่งที่เขากำลังพยายามฆ่าตัวตายอีกครั้ง เขากลับได้เจอนิด (นำแสดงโดย เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์) หญิงสาวผู้ตายตัดหน้าเขาไปก่อนจากการถูกรถชน ซึ่งเหตุการณ์นี้จึงทำให้เคนจิได้เจอกับน้อย (นำแสดงโดย ดารัณ บุญยศักดิ์) พี่สาวของนิด บทความนี้จึงอยากนำผู้ชมกลับไปย้อนความหลังถึงแรงดึงดูดของความเหงา ที่นำพาทั้ง 2 คนให้ได้มาสานสัมพันธ์กัน

ความขำขื่น คือประเภทหนังที่เป็นเอกชอบกำกับ

เมื่อพูดถึงภาพยนตร์ของเป็นเอก สิ่งแรกที่ผู้เขียนนึกถึงคือ มุขตลกขำขื่นที่เรียกได้ว่า เป็นลายเซ็น (Auteur) ของเป็นเอก ประกอบกับอาชญากรรมเลือดสาดและบุคลิกฉีกขนบของตัวละครผู้หญิง อันเป็นองค์ประกอบที่เห็นได้ในหนังหลายเรื่องของเขา

‘ความขบขันที่ขับเคลื่อนไปพร้อมความรู้สึกสิ้นหวังของตัวละคร’ เป็นเสน่ห์ที่ทำให้ เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล สามารถตรึงให้ผู้ชมเสพความเป็นเอกได้ตลอดทั้งเรื่อง ตั้งแต่วิธีเล่าการฆ่าตัวตายของเคนจิ ที่อุปสรรคแวดล้อมเจ้ากรรมก็ขัดจังหวะไม่เลิก ก่อนจะผูกคอตายเขามองความตายเป็นการพักผ่อน ที่ทำให้ตัวเองหลุดพ้นจากวิถีชีวิตที่หน้าหน่าย ไม่ต้องรับโทรศัพท์หรือตอบอีเมล 

ในที่นี้เคนจิอาจเบื่อกับการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนที่เขาเชื่อมต่อด้วยไม่ติด ความขำขื่นเกิดขึ้นในจังหวะที่เจ้าตัวกำลังจะลาโลก แต่เสียงออดก็ทำให้เขาต้องไปเปิดประตูแทนที่จะผูกคอตาย สุดท้ายแล้วแม้กระทั่งความตาย ก็ถูกขัดจังหวะด้วยความน่าหน่ายของชีวิตอย่างเสียงออดจากพี่ชายตัวดี

  อีกหนึ่งความตลกร้ายเกิดขึ้นในฉากที่เคนจิกลับไปเอาหนังสือเดินทาง เพื่อหวังจะไปญี่ปุ่นกับน้อย แต่ก่อนเขาจะออกจากบ้านกลับปวดท้องเข้าห้องน้ำ ทำให้มาเฟียจากญี่ปุ่นที่หวังมาตามเก็บเคนจิที่ไทยเข้ามาในบ้านเคนจิพอดี ความโชคดีคือเขาอยู่ในห้องน้ำ หากรอสักหน่อยมาเฟียก็อาจกลับออกไป ทว่านิสัยความเป็นระเบียบตามฉบับคนญี่ปุ่นของเคนจิ ทำให้เขาต้องกดชักโครก มาเฟียจึงเปิดประตูเข้ามาพอดี จะเห็นได้ว่า สุดท้ายอุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้ตัวละครไปถึงเป้าหมาย กลับเป็นเรื่องพื้นเพอย่างการปวดท้องเข้าห้องน้ำแล้วกดชักโครก ซึ่งการนำเรื่องธรรมดามาขัดขวางเป้าหมายอันใหญ่หลวงของตัวละคร เป็นความน่าอดสู ที่ระหว่างดูก็ชวนให้รู้สึกตลกปนสังเวชกับชีวิตอยู่ไม่น้อย

เรื่องราวมุขตลกร้ายของเป็นเอกทำให้เห็นว่า สุดท้ายแล้วสิ่งที่ขัดขวางความสุขของมนุษย์มากที่สุด ก็อาจเป็นการใช้ชีวิตธรรมดาที่หลายคนอาจเผลอคิดไปเองว่า เราควบคุมมันได้ ทั้งที่จริงๆ แล้ว เราไม่ได้เป็นเจ้านาย เจ้าของ หรือมีอำนาจในการบงการอะไรสักอย่างในชีวิตแต่ละวัน

เสน่ห์ของผู้หญิงในแบบที่เป็นเอกสร้าง

อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของผู้กำกับที่ชื่อเป็นเอก คือการสร้างตัวละครหลักหญิง ให้มีภาพลักษณ์ฉีกไปจากกรอบในภาพจำที่สื่อมักใช้ เพราะฉะนั้น ความเรียบร้อย พูดน้อย น่ารัก จึงไม่อยู่ในคำจำกัดความของตัวละครในหนังเป็นเอก หากย้อนกลับไปมองบริบทสังคมเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว นางเอกที่ไหนจะทำตัวขัดหลักศีลธรรมอันดีงาม นอกจาก นิด ที่ทำงานขายบริการ และน้อย ผู้เป็นพี่ก็มีคนรักเป็นแมงดา แล้วยังสูบยาอีกต่างหาก 

แต่ถึงแม้จะดูขัดกับวิธีการสร้างตัวละครหญิงในยุคสมัยนั้น แต่ต้องยอมรับว่า การมีอยู่ของพวกเธอในหนังเรื่องนี้ ทำให้หนังมีมิติ มีเรื่องราว และมีผู้คนที่มีชีวิตจิตใจกำลังดิ้นรนกันอยู่ภายในเรื่อง

ในส่วนของการเขียนบท แม้ว่าปราบดาจะไม่ได้ทำงานไปพร้อมกับเป็นเอก แต่เป็นการแยกกันทำคนละส่วน แต่สไตล์ของเขาก็ปรากฏชัดเจนในช่วงท้ายของเรื่อง ความเหนือจริง (Surreal) นับเป็นสิ่งที่ปราบดามักเลือกนำมาใช้ในงานของเขา ดังจะเห็นได้ในผลงานนวนิยายฝนตกตลอดเวลา และเรื่องสั้น นอนใต้ละอองหนาว

‘จุดเด่นของปราบดา คือการเล่าเรื่องเหนือจริงแบบปลายเปิด’ ในหนังสือส่วนใหญ่ของเขามีการตั้งปมปัญหาอันใหญ่หลวง ที่ทำให้ผู้อ่านสนใจใคร่รู้ว่า ปราบดาจะเฉลยเรื่องราวอย่างไร ทว่าท้ายที่สุดเรื่องราวก็จะจบลงไปทั้งอย่างนั้น โดยไม่ให้คำตอบที่แท้จริง แต่ทิ้งการตีความไว้ให้ผู้อ่าน เช่นเดียวกับในตอนจบของเรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล ที่ต่างคนต่างประสบการณ์ก็จะตีความแตกต่างกันไป

สำรวจความเหงา แก่นของหนัง หลังยุควิกฤตเศรษฐกิจ

เป็นเวลากว่า 21 ปี ตั้งแต่ภาพยนตร์เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล ปรากฏต่อสายตาผู้ชม แม้เวลาจะผ่านมาอย่างยาวนาน แต่ความร่วมสมัยของหนังเรื่องนี้คือ ประเด็นอันเป็นสากลอย่างเรื่องความเหงา 

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 2540 การเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน ส่งผลให้เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียเกิดการชะลอตัว บริษัทต่างประสบปัญหาทางการเงิน ครอบครัวต้องย้ายถิ่นอาศัย ปัญหาที่ตามมาคือ คนในสังคมมีปฎิสัมพันธ์กันน้อยลง เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่บีบให้การเอาตัวรอดต้องมาก่อนสิ่งอื่น 

ในปี 2546 ที่มีการสร้างภาพยนตร์ เป็นช่วงแห่งการฟื้นตัวจากวิฤติเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามชนชั้นกลางที่เจอพิษเศรษฐกิจไปก่อนหน้า หวาดกลัวที่จะกลับไปอยู่ในจุดเดิม พวกเขาจึงจำใจต้องทำงานที่ตัวเองไม่ได้ชอบ หรือบางคนอาจต้องทำงานนอกกฎหมาย เหมือนกับตัวเอกของเรื่องทั้ง 2 คน โดยความสิ้นหวังในจิตใจที่เกิดขึ้นมา จากการทำงาน การใช้ชีวิตวนลูปซ้ำเดิมไปเรื่อยๆ และไม่ได้สร้างสรรค์อะไรขึ้นมาด้วยตัวเอง ก็ทำให้เกิดความรู้สึกแปลกแยก อันนำไปสู่ความเหงาที่แผ่ซ่านไปทั่วทั้งจิตใจของคนหนุ่มสาว

แต่ขณะเดียวกันไม่ใช่ปัจจัยภายนอกเท่านั้นที่สังเกตได้ในหนัง เพราะในเรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล เป็นเอกสามารถถ่ายทอด ‘ความเหงา’ ที่เป็นปัจจัยภายในของตัวละครได้อย่างแยบยลเช่นกัน ผ่านฉากที่เคนจิอ่านหนังสือนิทานจิ้งจกเดียวดาย

“เจ้าจิ้งจกตื่นมาพบว่าเหลือมันอยู่ตัวเดียวบนโลก ครอบครัว เพื่อนฝูงของมัน หายไปหมด กระทั่งจิ้งจกที่ชอบรังแกมันก็หายไป มีมันอยู่ตัวเดียวบนโลก เจ้าจิ้งจกคิดถึงครอบครัว คิดถึงเพื่อน มันคิดถึงกระทั่งศัตรูของมัน อยู่กับศัตรูยังดีกว่าอยู่คนเดียว มันว่าอย่างนั้น จิ้งจกเหม่อมองอาทิตย์อัสดง เจ้าจะมีชีวิตอยู่ทำไม ถ้าเจ้าไม่มีใครคุยด้วย ความคิดของเจ้าจะมีความหมายอะไร ถ้าเจ้าเป็นจิ้งจกเดียวดาย”

ใจความของนิทานเรื่องนี้ ต่างสอดคล้องกับสิ่งที่ตัวละครหลักทั้งน้อย นิด และเคนจิ รู้สึกอยู่ ประกอบกับในฉากแรกหนังเปิดเรื่องมา ก็เป็นการถ่ายจิ้งจกตัวหนึ่งที่เกาะอยู่บนกำแพงอย่างโดดเดี่ยว ทำให้นิทานเรื่องจิ้งจกเดียวดายเป็นภาพจำที่ประทับใจของผู้เขียนตั้งแต่การรับชมครั้งแรก

21 ปีที่ไม่เลือนหายของ เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล

แม้ว่าจะผ่านมานานถึงสองทศวรรษ นอกจากความเหงาจะอยู่เหนือกาลเวลา แต่สภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันก็ใช่ว่าจะดีขึ้น ปัญหาเดิมจึงยังคงอยู่ ซึ่งผู้คนก็ต่างต้องการสิ่งที่เข้ามาเติมเต็มความว่างเปล่าในชีวิต และสุดท้ายพวกเขาก็ต้องการการปลอบประโลม เหมือนกับภาพฝันในตอนจบของหนังเรื่องนี้

ทั้งหมดจึงเป็นเหตุให้ไม่ว่าจะผ่านไปนานกี่ยุคสมัย สภาวะเศรษฐกิจขึ้นและลงแล้วกี่รอบ ผู้คนจะเติบโตและผ่านประสบการณ์ชีวิตมาสักกี่ฝนแล้วก็ตาม หนังเรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล ก็ยังเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่คอยอยู่เป็นเพื่อนในวันที่รู้สึกเหงา เปล่าเปลี่ยว อยู่ตัวคนเดียว โดดเดี่ยวลำพัง

เพียงแต่ว่าหนังเรื่องนั้น ไม่ได้จะเข้ามาให้กำลังใจ หรือเป็นเพื่อนในยามยาก แต่จะทำเป็นเหมือน เพื่อนเฮงซวย คนหนึ่งที่ถ่ายทอดชีวิตของเขาให้ดู 

ว่ามันช่างตลกและขมขื่น ไม่แพ้กันเลยสักนิด

 

อ้างอิง

ปราบดา หยุ่น. (2546). last life in the universe . กรุงเทพ: ระหว่างบรรทัด.

สถาบันหนังไทย หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) , และเป็นเอก รัตนเรือง. (2557). ชั้นครู 3 One stand-up filmmaker. นครปฐม: หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน)

Tags: , , , ,