1.

หลายชายเจ้าเล่ห์ทำดีเพื่อหวังฮุบมรดกจากอาม่าที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้ระยะสุดท้าย นี่คือพล็อตสั้นๆ ได้ใจความของภาพยนตร์เรื่อง หลานม่า (How to Make Millions Before Grandma Dies) จากค่าย GDH ฉะนั้น คาดเดาได้เลยว่าหน้าตาตอนจบจะเป็นอย่างไร

วันคืนที่อยู่ปรนนิบัติหญิงชรา น่าจะทำให้หลานชายเจ้าเล่ห์เปลี่ยนความคิดจากหน้ามือเป็นหลังมือ และพร้อมอยู่ปรนนิบัติเธอจวบจนลมหายใจสุดท้าย ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านน่าจะคิดไม่ต่างจากผม เมื่อได้อ่านเรื่องย่อหรือดูตัวอย่างเป็นครั้งแรก

กระทั่งไฟในโรงเปิดสว่างขึ้น เสียงปรบมือเกรียวกราวจากผู้ชมร่วมนาที รู้ตัวอีกทีน้ำตาผมค่อยไหลอาบแก้ม แม้บทสรุปของภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่ต่างจากที่เดานัก แต่สิ่งที่ผู้กำกับ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ หยอดไว้ระหว่างทาง กลับสร้างอิมแพ็กกับคนดูอย่างหนักหน่วง

หัวเราะ อบอุ่น เศร้า ปลาบปลื้ม ผสมปนเปรวมเป็นมวลความรู้สึกอิ่มเอมใจ

ขณะเดียวกันยังพาลนึกถึงประสบการณ์ร่วมดังที่เกิดขึ้นในเรื่อง ด้วยความเป็นลูกหลานเชื้อสายจีนแต้จิ๋ว ยิ่งทำให้หลานม่าเป็นมากกว่าหนังดูเพื่ออรรถรสความบันเทิง แต่เป็นดัง ‘กระจก’ สะท้อนตัวเอง หรือ ‘ไทม์แมชชีน’ ย้อนระลึกความหลัง 

 

2.

ถึงตรงนี้ ผู้อ่านอย่าเพิ่งตั้งแง่ว่าหนังเรื่องนี้ต้องการจะบีบคั้นด้วยฉากดราม่าหนักหน่วงหรือบทพูดกระแทกใจ เพราะหลานม่าเล่าเรื่องเป็นเส้นตรงผ่านสายตาของตัวละคร เอ็ม (แสดงโดย บิวกิ้น-พุฒิพงศ์ อัสสรัตนกุล) เด็กหนุ่มนิสัยเหลาะแหละ ที่ตัดสินใจลาออกจากการเรียนเพื่อเป็นนักแคสต์เกม แต่ด้วยนิสัยส่วนตัวทำให้เป้าหมายไกลเกินกว่าคำว่าสำเร็จ

กระทั่งวันหนึ่งเอ็มล่วงรู้ว่า อาม่าเหม้งจู (แสดงโดย แต๋ว-อุษา เสมคำ) กำลังป่วยด้วยโรคร้าย เขาจึงทำตามคำแนะนำของมุ่ย (แสดงโดย ตู-ต้นตะวัน ตันติเวชกุล) ลูกพี่ลูกน้องที่เพิ่งได้รับมรดกเป็นบ้านหลังใหญ่จากอากง ที่เพิ่งเสียชีวิตซึ่งเธอเคยเฝ้าดูแล

และในระหว่างที่เอ็มปฏิบัติภารกิจทำดีเพื่อฮุบสมบัติจากอาม่าเหม้งจู ก็เป็นโอกาสให้ผู้ชมเข้าไปสำรวจความสัมพันธ์ยุ่งเหยิงของครอบครัวจีนชนชั้นกลาง ที่ประกอบด้วยอาม่าเหม้งจูกับลูกๆ อีกสามคน คือ เคี้ยง (แสดงโดย ดู๋-สัญญาคุณากร) พี่ชายคนโต, ซิว (แสดงโดย เจีย-สฤญรัตน์ โทมัส) หม่าม้าของเอ็มและพี่สาวคนรอง และ โส่ย (แสดงโดย เผือก-พงศธร จงวิลาส) น้องชายคนสุดท้อง

ในความสัมพันธ์ยุ่งเหยิงไม่ใช่แค่เรื่องการแบ่งมรดกสมบัติ แต่เป็นเหตุผลสุดคลาสสิกและงี่เง่าที่มักเกิดขึ้นในครอบครัวคนจีน ซึ่งเกิดจากการเลี้ยงดูและสภาพแวดล้อมในบ้านที่เติบโตมา ไม่ว่าจะพี่ชายคนโตที่พ่อแม่ประเคนทุกสิ่งทุกอย่าง พร้อมถูกยัดเยียดให้เป็นความหวังสูงสุดของบ้าน ลูกสาวคนรองที่เปรียบดัง ‘ส้วมหน้าบ้าน’ ถูกบุพการีลดทอนความสำคัญ มีหน้าที่แค่ปรนนิบัติงานบ้านงานเรือน และน้องชายคนสุดท้องที่ถูกเอาอกเอาใจ จนเติบโตมาเป็นคนไม่เอาถ่าน ทำอะไรก็ไม่เป็นโล้เป็นพาย 

และด้วยความที่สถานะเหล่านี้เกิดขึ้นจริง จึงไม่แปลก หากผู้ชมอย่างเราๆ จะเผลอร้องอ๋อพลางตบเข่าฉาดว่า ที่บ้านฉันก็มีคนแบบนี้ และตรรกะแบบนี้ก็เกิดขึ้นจากคนที่มีคาแรกเตอร์ประมาณนี้จริงๆ 

ขณะเดียวกัน ด้วยความที่ถูกเลี้ยงดูเอาใจใส่ต่างกัน ทำให้ความคิดของพี่น้องในครอบครัวดูจะฉีกกันไปคนละทิศคนละทาง และเมื่อไม่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างลงรอย ผลลัพธ์จึงย้อนกลับมาที่ตัวบุพการี ซึ่งก็คืออาม่าเหม้งจูที่ต้องทนเหงา และเฝ้ามองลูกๆ ที่ออกไปใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง

3.

เอ็ม: อาม่าอยู่คนเดียวมาตั้งหลายปีไม่เหงาบ้างหรอ

อาม่าเหม้งจู: กูก็อยู่ของกูมาได้ แต่กูไม่ค่อยชอบตรุษจีนตรงของกินเต็มตู้เย็น ไม่มีใครเอากลับแล้วกูต้องมานั่งกินคนเดียว

ข้างต้นคือบทสนทนาที่ผมชอบและน่าจะสะท้อน ‘ความเหงา’ ของอาม่าเหม้งจูที่เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุในสังคมไทยจริง เมื่อต้องถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ในขณะที่ลูกๆ ออกไปใช้ชีวิต หรือแต่งงานมีครอบครัวเป็นของตัวเอง 

ในแง่ของครอบครัวคนจีนโพ้นทะเลส่วนใหญ่มักรวมตัวกันในเทศกาลสำคัญ เช่น ตรุษจีน เชงเม้ง หรือสารทจีน จุดประสงค์หลักๆ ก็เพื่อกราบไหว้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ 

สำหรับผมแล้ว หลานม่าสามารถตีความเและถ่ายทอดมวลความเหงาของอาม่าเหม้งจูออกมาเป็นอย่างดี เราเห็นเธอให้ความสำคัญกับเทศกาลต่างๆ เหล่านี้ เพราะนั่นเป็นโอกาสเพียงไม่กี่ครั้งที่จะได้เห็นลูกๆ พร้อมหน้า 

และนอกเหนือจากวันเทศกาล มีแค่วันหยุดสุดสัปดาห์เท่านั้นที่อาม่าเหม้งจูจะได้พบหน้าลูกๆ แต่ก็มาบ้างไม่มาบ้าง ยกตัวอย่างในรายของกู๋เคี้ยง ที่เชื่อว่าการส่งเงินเลี้ยงดูบุพการีก็มีค่าเท่ากับการดูแล

และนั่นนำมาสู่คำถามที่ว่า ในขณะที่เราให้ความสำคัญกับคนตาย เรากลับหลงลืมคนเป็น ทั้งๆ ที่เวลาทำงานแข็งขันไม่มีหยุดพัก เช่นเดียวกับร่างกายของมนุษย์ที่เสื่อมถอยในวัยชรา รู้ตัวอีกทีเมื่อก็ต้องจากกันเสียแล้ว ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ผู้อายุต้องการมากกว่าเงินทอง คือ ‘เวลา’ ทว่าเวลานี่แหละครับ กลับเป็นสิ่งที่ยากที่สุดที่ผู้สูงอายุจะกล้าเอ่ยปากขอจากลูกหลาน

4.

นอกเหนือจากปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวแบบคนจีน อีกสิ่งที่น่าสนใจคือการใช้ตัวละครเอ็มเป็นดังสายตาของผู้ชม และเป็นคนตั้งคำถามต่อทุกๆ การกระทำของคนในครอบครัว ซึ่งตัวละครเอ็มคือเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับจารีตประเพณี หรือยึดติดกับความสัมพันธ์ในครอบครัวสักเท่าไร 

ทำให้ในช่วงแรกเราจึงเห็นเอ็มมองอาม่าเหม้งจูที่เป็นคนในครอบครัว เป็นเพียงเครื่องมือหรือบันไดไปสู่เป้าหมายก็คือมรดก หรือข้อสงสัยต่างๆ ที่ไม่เข้าใจก็กล้าที่จะพูดอย่างตรงไปตรงมา เช่น ทำไมต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของเทศกาลเชงเม้ง ทำไมต้องเสียเงินเป็นล้านเพื่อซื้อฮวงซุ้ย ในเมื่อคนเราตายไปก็กลายเป็นเธ้าธุลี

หากคุณผู้อ่านเป็นคน Gen Y หรือ Gen Z น่าจะเข้าใจในความสงสัยของตัวละครเอ็มเป็นอย่างดี แต่ระหว่างที่เนื้อเรื่องกำลังดำเนินไป คำถามที่เกิดขึ้นจะถูกไขกระจ่าง เพียงแต่จะซึมซับตกตะกอนมากเท่าไหร่นั้นล้วนขึ้นอยู่กับตัวเอง

ตัวละครทุกตัวแม้แต่อาม่าเหม้งจู จึงไม่ใช่ตัวละครที่แบ่งฝั่งขาวหรือดำ แต่ออกไปทางเทาๆ เสียมากกว่า คนดูจะได้รู้ถึงทุกๆ เหตุผลของแต่ละการกระทำ ว่าเกิดขึ้นจากอะไรและทำไมจึงคิดเช่นนั้น ซึ่งจะถูกหยอดไว้ระหว่างทางก่อนขมวดปมในองก์สุดท้าย

5.

ใดๆ ก็ตาม สาเหตุที่ทำให้หลานม่าดำเนินเรื่องอย่างแข็งแรง แม้จะถูกเล่าเป็นเส้นตรง ก็เพราะการเล่นกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้ชม ที่ต้องยกความดีความชอบให้กับทีมนักแสดงทุกๆ คน แม้กระทั่งตัวประกอบที่ออกมาไม่กี่วินาที บางฉากแม้ไม่มีบทสนทนา แต่สีหน้าและท่าทางของตัวละครนั้นก็ทำให้เราเข้าใจได้ทันทีว่า ทิศทางของหนังจะเป็นอย่างไรต่อ 

โดยเฉพาะตัวละครอาม่าเหม้งจู ที่คุณยายอุษาสามารถทำให้คนดูเสียน้ำตาเป็นลิตร และเชื่อว่านี่เป็นอาม่าของเราจริงๆ ทั้งภาษาจีนแต้จิ๋วที่ใช้ บุคลิกปากร้ายแต่ก็ใจดี และแอบซ่อนความเป็นห่วงเป็นใยลูกหลาน

เช่นเดียวกับทีมโลเคชันและอุปกรณ์ประกอบฉากที่ต้องขอยกมือคารวะ ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นลูกคนจีน แทบจะไม่เชื่อสายตาว่าทีมงานสามารถเก็บรายละเอียดแทบจะทุกอณู ตั้งแต่ทางเข้าซอยแคบๆ บ้านลักษณะไม้กึ่งปูน เตียงไม้เก่า โต๊ะเครื่องแป้งดูโทรม โต๊ะหินอ่อน กาน้ำสเตนเลสที่ถูกใช้จนเป็นรอยบุบบี้ ฯลฯ เรียกว่าถ้าคุณเป็นลูกหลานชาวจีนน่าจะคุ้นชิ้นสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างดี 

หรือแม้แต่การเลือกให้บ้านของอาม่าเหม้งจูให้อยู่แถวตลาดรถไฟ ย่านตลาดพลู ฝั่งกรุงธนบุรี ที่ยังมีกลิ่นอายของบ้านชุมชนชาวจีนสมัยโบราณ และยังไม่ถูกกลืนกินจากทุนนิยม ดังที่ชุมชนจีนชื่อดังใจกลางกรุงเทพมหานครหลายแห่งกำลังเป็น

และเมื่อผนวกกับดนตรีประกอบที่ถูกใช้ถูกจังหวะ ทุกอย่างจึงลงตัวและทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้แข็งแรง 

แม้จะพอรู้ฝีไม้ลายมือของผู้กำกับ พัฒน์ บุญนิธิพัฒน์ จากผลงานที่ผ่านมา เช่น ซีรีส์ Project S The Series ตอน SOS skate ซึม ซ่าส์ และซีรีส์ฉลาดเกมโกง แต่ผลงานเรื่องหลานม่าเป็นความท้าทายที่ยกระดับโปรไฟล์ไปอีกขั้น กับการหยิบยกเรื่องสามัญที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงของหลายครอบครัวมาเล่าอย่างตรงไปตรงมา โดยที่ไม่ตีขลุมหยิบทุกประเด็นมาดราม่า ทำให้น้ำตาของคนดู คือน้ำตาที่เกิดจากการดูจนย้อนนึกถึงภาพจำส่วนตัว

สำหรับผมแล้ว หลานม่าเป็นภาพยนตร์ที่ควรค่าแก่การพาครอบครัวไปดูในโรงภาพยนตร์พร้อมกัน ไม่ว่าจะคุณจะเป็นครอบครัวคนจีนหรือไม่ เพราะเรื่องราวที่ถูกถ่ายทอดมาสะท้อนหลายๆ แง่มุมของปัญหาครอบครัว และปัญหาผู้สูงอายุ แม้กระทั่งเรื่องของสวัสดิการการดูแลรักษาของรัฐ ซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากที่ต้องใช้สายตาตัวเองพินิจพิเคราะห์

และเมื่อดูจบอาจเข้าใจความรู้สึกของคนในครอบครัวมากยิ่งขึ้น และไม่เผลอทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่เป็นวัยเปราะบางและต้องการความรักกับความเอาใจใส่อย่างยิ่ง

เพราะสุดท้ายแล้วบั้นปลายของมนุษย์คือการจากลา แต่ก่อนที่จะไปถึงตรงนั้นเราใช้เวลากับคนใกล้ตัวมากพอหรือยัง? คนที่จะตอบได้มีแค่ตัวเราเท่านั้น

Tags: , , , , ,