นับแล้วก็เป็นเวลาร่วมสิบเจ็ดปีเต็ม ที่แฟนซิตคอม Friends (1994-2004) ตั้งหน้าตั้งตารอการหวนกลับคืนจอของตัวละครหลักทั้งหก ในอพาร์ตเมนต์กลางมหานครนิวยอร์ก และเรื่องราวของมิตรภาพกับความสัมพันธ์ที่อยู่คู่กับชาวอเมริกันมาร่วมสิบปีเต็มของการออกฉาย

เวลาแห่งการรอคอยได้สิ้นสุดลง เมื่อปี 2019 สตูดิโอวอร์เนอร์ บราเธอร์ส เทเลวิชั่น ประกาศจะสร้างเรื่องราวการกลับมารวมตัวกันอีกครั้งของตัวละครทั้งหก และเตรียมให้ออกฉายทาง HBO Max ก่อนที่โปรเจ็กต์จะถูกเลื่อนออกไปหลังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 จนฝั่งฝันของแฟนซิตคอมดูห่างไกลออกไปอีก แต่แล้วล่าสุด HBO Max ก็ปล่อยทีเซอร์การกลับมารวมตัวกันอีกครั้งของทั้งหกใน Friends: The Reunion ความยาวสามสิบวินาที ที่ยังไม่ทันข้ามวันก็มีหลักคนดูพุ่งทะลุหลักล้าน สำนักข่าวใหญ่ๆ ทั่วโลกคว้าไปเขียนถึง ตลอดจนติดเทรนด์ทวิตเตอร์และการค้นหาในหลายๆ ประเทศ 

อะไรกันที่ทำให้ซิตคอมที่ว่าด้วยเรื่องคนหกคนกลายเป็นปรากฏการณ์ขนาดนี้ พวกเขากลายเป็นที่รักและที่ผูกพันของชาวอเมริกันจนสร้างวัฒนธรรมร่วมทางโทรทัศน์ได้อย่างไร เราอยากชวนมาย้อนรอยกลับไปช่วงกำเนิดซีรีส์เรื่องนี้กัน

https://youtu.be/MedRN92V6lE

1.

ปลายปี 1993 สองคู่หูมือเขียนบท มาร์ทา คอฟฟ์แมน และเดวิด เครน พบว่าซีรีส์ที่พวกเขาร่วมกันปั้นขึ้นมาอย่าง Family Album ถูกทางช่องเทกลางทางจนออกอากาศได้เพียงหกตอนเท่านั้น อันเนื่องมาจากเรตติ้งย่ำแย่ และได้รับมอบหมายภารกิจใหม่คือให้พวกเขาเขียนไพล็อต (บทเกริ่นนำ) สำหรับซีรีส์เรื่องใหม่สำหรับออกฉายในปี 1994 สามเรื่อง เพื่อเอามาเป็นตัวเลือกไว้โยนหินว่าเรื่องไหนมีโอกาสประสบความสำเร็จมากที่สุด และหนึ่งในเรื่องที่ทั้งสองเลือกคือ ‘คนหกคนที่อายุกลางๆ 20 ใช้ชีวิตอยู่ในย่านแมนฮัตตัน’ ซึ่งด้านหนึ่งมีเค้าโครงมาจากช่วงชีวิตของทั้งสองสมัยเพิ่งเรียนจบ ได้ใช้ชีวิตด้วยตัวเองเป็นครั้งแรกอยู่กลางเมืองใหญ่

“ตอนที่ฉันกับเดวิดอยู่ในนิวยอร์ก” คอฟฟ์แมนบอก “เรามีกลุ่มเพื่อนหกคนที่ต่างก็เป็นเพื่อนรักของกันและกัน ตัวติดกันตลอดเวลาจนเป็นเหมือนครอบครัว แล้วตอนนั้นเรากำลังคิดว่า ถ้าสร้างเป็นซีรีส์ที่รวมเอานักแสดงจำนวนมากมาอยู่ด้วยกันมันจะเป็นยังไงนะ ซึ่งมันทำให้เรานึกย้อนกลับไปยังช่วงเวลาที่ได้อยู่รวมกลุ่มกับเพื่อนๆ และนั่นแหละ คือต้นกำเนิดของ Friends มันคือช่วงเวลาในชีวิตที่เพื่อนได้กลายเป็นเสมือนหนึ่งในครอบครัวของคุณ”

ประโยคท้ายนี้เองที่จับใจผู้บริหารและโปรดิวเซอร์ของช่อง NBC เข้าอย่างจัง เพราะพวกเขาเชื่อว่ามันล้วนเป็นความรู้สึกที่คนหนุ่มสาวซึ่งต้องอาศัยอยู่ตัวคนเดียวกลางเมืองใหญ่ล้วนเข้าใจกันดี ทั้งมิตรภาพ ความรัก ความโดดเดี่ยว และความผิดหวังที่ไม่อาจประสบความสำเร็จได้โดยง่ายของชีวิต ประกอบกับตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่ วอร์เรน ลิตเติลฟิลด์ อดีตผู้บริหารช่อง NBC Entertainment กำลังมองหาซีรีส์คอเมดี้ ที่พูดเรื่องกลุ่มเพื่อนที่ใช้เวลาด้วยกันจนเหมือนกลายเป็นครอบครัว แต่เขากลับไม่อาจหาบทที่ถูกใจโดยง่าย เพราะส่วนใหญ่แล้วซีรีส์อื่นๆ ในเวลานั้นมักจะออกมาแห้งแล้งและดึงคนดูไม่อยู่ 

พอดีกันกับที่คอฟฟ์แมนและเครนเขียนไพล็อตแรกว่าด้วยคนหนุ่มสาวทั้งหกที่มักปักหลักอยู่ในร้านกาแฟเจ้าประจำด้วยกันเสร็จ ในชื่อที่ตั้งแปะหัวไว้คร่าวๆ ว่า Insomnia Café ซึ่งลิตเติลฟิลด์ซื้อไอเดียนี้ทันที และนั่นเองที่เป็นปฐมบทของมหากาพย์ซิตคอมสิบซีซันที่กวาดเรตติ้งถล่มทลายให้ช่องในชื่อที่พวกเขาตั้งให้ใหม่ว่า Friends โดยได้โปรดิวเซอร์คือ เควิน ไบรต์ ที่เคยร่วมสร้าง Family Album มาด้วยกันกับคอฟฟ์แมนและเครนก่อนหน้านี้แล้ว

สัปดาห์แรกหลังช่อง NBC ฟันธงแล้วว่า Friends จะเป็นซีรีส์ออกฉายปี 1994 อย่างแน่นอน คอฟฟ์แมนและเครนก็ระดมทีมเขียนบทรุ่นเยาว์มาร่วมทีมเจ็ดคน เพื่อให้เรื่องราวและตัวละครออกมาร่วมสมัยมากกว่าจะขึ้นอยู่กับพวกเขาที่ต้องขุดค้นจากความทรงจำเมื่อยี่สิบปีก่อน ทั้งสองจึงยกความดีความชอบเรื่องความสดใหม่ของเนื้อเรื่องซึ่งแน่นอนว่าเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ครองหัวใจคนดูไปมหาศาล และตัวละคร ให้กับกลุ่มทีมเขียนบทที่เพิ่งเรียนจบทีมนี้ และเมื่อถึงตอนนั้น พวกเขาก็ร่างตัวละครหลักทั้งหกไว้ในมือเรียบร้อยแล้ว โดยแนะนำตัวละครทั้งหกผ่านตอนแรกซึ่งในเวลาต่อมาตั้งชื่อว่า The One Where Monica Gets a Roommate 

ซีรีส์เปิดด้วยป้ายร้านกาแฟ Central Perk (ซึ่งจะปรากฏตัวอย่างถี่ยิบในอีกสิบซีซันข้างหน้า) รอสส์ เกลเลอร์ (เดวิด ชวิมเมอร์) นักบรรพชีวินวิทยาที่ชีวิตรักล้มเหลวไม่เป็นท่า หลังจากเขาพบว่าเมียรักที่อยู่กินกันมานานเป็นเลสเบียนและขอหย่าเพื่อไปอยู่กับคนรักใหม่ มิหนำซ้ำ เจ้าหล่อนยังเพิ่งตั้งท้องลูกคนแรกของเขาอีก

ยังโชคดีที่ มอนิกา เกลเลอร์ (คอร์ตนีย์ ค็อกซ์) น้องสาวระเบียบจัดและหวาดหวั่นอยู่ลึกๆ ว่า เธออาจไม่ได้แต่งงานไปทั้งชีวิต ช่วยดูแลและปลอบใจเขา ขณะที่เพื่อนๆ อีกสามคนที่นั่งในร้านกาแฟเจ้าประจำด้วยกัน ช่วยเป็นกำลังใจให้เขาผ่านเรื่องนี้ไปได้โดยไวที่สุด

ทั้ง ฟีบี บัฟเฟย์ (ลิซา คูโดรว) สาวฮิปปี้ที่เชื่อเรื่องเร้นลับ เธอเป็นหมอนวด นักกีตาร์ (มีเพลงเด่นอย่าง Smelly Cat) ที่อาศัยอยู่กับคุณยายในอพาร์ตเมนต์อีกหลัง แชนด์เลอร์ บิง (แมตธิว เพอร์รี) เพื่อนสมัยมหาวิทยาลัยของรอสส์ ที่ช่างเสียดสีและเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขันเจ็บแสบ และโจอี ทริบบิอานี (แมตต์ เลอบลังก์) นักแสดงหนุ่มตกอับลูกครึ่งอิตาเลียน-อเมริกันเจ้าเสน่ห์ และมีบุคลิกอย่างเด็กๆ

ระหว่างที่พวกเขาปลอบอกปลอบใจรอสส์ที่หดหู่สุดขีดและรำพึงออกมาเศร้าๆ ว่า “ฉันอยากแต่งงานอีกครั้งจัง” เรเชล (เจนนิเฟอร์ อนิสตัน) เพื่อนสมัยเด็กของมอนิกาก็พุ่งพรวดเข้ามายังร้านกาแฟในชุดเจ้าสาวเต็มยศ (อันเป็นเหตุให้แชนเลอร์ลั่นมุขตลกเปิดตัวอย่าง “และฉันก็หวังอยากได้เงินล้านดอลลาร์ฯ!”) ละล่ำละลักว่าเธอเพิ่งหนีการแต่งงานกับชายที่เธอเพิ่งรู้ตัวว่าไม่ได้รัก และขอพักอยู่กับมอนิกาไปสักระยะเพื่อพักรักษาใจ โดยที่พวกเขาต่างไม่อาจล่วงรู้ได้เลยว่า นั่นคือบทเริ่มแรกของมิตรภาพอันยาวนานของทั้งหก

2.

คอร์ตนีย์ ค็อกซ์ เป็นนักแสดงคนแรกๆ จากหกคนที่ตกลงเซ็นสัญญาร่วมแสดงใน Friends และหากมองจากภาพรวม ในเวลานั้นเธอเริ่มงานแสดงมานานก่อนคนอื่นและมีชื่อเสียงมากที่สุด หลังปรากฏตัวในงานโฆษณากับมิวสิกวิดีโอ Dancing in the Dark ของ บรูซ สปริงส์ทีน เดิมทีทีมงานอยากให้เธอรับบทเป็นเรเชล แต่ตัวค็อกซ์เองนั้นถูกใจบทและ ‘ความแกร่ง’ ของมอนิกามากกว่า ทั้งทีมงานยังรู้สึกว่าค็อกซ์ให้บรรยากาศของความเป็นแม่หรือผู้ดูแลซึ่งเหมาะกับตัวละครที่เป็นใจกลางสำคัญในการเยียวยาประคับประคองคนอื่นเสมอ 

ส่วนบทเรเชลนั้น ทีมงานได้นักแสดงสาวที่เพิ่งจะเริ่มสร้างชื่อจาก Leprechaun (1993) อย่างเจนนิเฟอร์ อนิสตัน ที่ตอนนั้นก็ดันติดสัญญาซีรีส์ Muddling Through (1994) ของช่อง CBS แถมถ่ายทำไปแล้วบางส่วน เหลือเพียงตอนท้ายๆ ที่ยังถ่ายทำไม่เสร็จ ลิตเติลฟิลด์ที่เป็นหัวเรือใหญ่ของช่อง NBC โยนไพ่ตายว่า ยังไงซีรีส์ของ CBS เรื่องนั้นก็ไม่มีทางรอดหรอกน่า มาเป็นเรเชลของพวกเราเถอะ “ผมบอกเธอไปว่า ไม่สนหรอกว่าจะต้องจ่ายเท่าไหร่ แต่บทนี้มันเป็นของเธอจริงๆ นะเจน” ลิตเติลฟิลด์เล่า อนิสตันเลยเลือก Friends ในที่สุด (อย่างไรก็ตาม Muddling Through ก็ไม่เปรี้ยงตามที่ลิตเติลฟิลด์คาดไว้จริงๆ มันมีเพียงซีซันเดียวเท่านั้น)

ขณะที่นักแสดงลำดับถัดมาที่ร่วมสมทบคือ แม็ตต์ เลอบลังก์ ที่เข้ามาแคสต์บทโจอี ทริบบิอานี เดิมทีเลอบลังก์โลดแล่นสายนักแสดงโฆษณาจนแทบจะปรากฏตัวในสินค้าทุกชนิด เขาเข้ามาแคสต์บทโจอี ซึ่งตอนนั้นตามสคริปต์แล้วมันระบุไว้ว่า โจอีนั้นสนใจแค่ “ผู้หญิง, กีฬา, ผู้หญิง, นิวยอร์ก และก็ผู้หญิงอีกที” ทั้งนี้ ความที่ทีมงานยังเขียนตัวละครโจอีได้ไม่ครบนัก เลอบลังก์จึงหยิบยืมคาแรกเตอร์ตัวละครจาก Vinnie & Bobby (1992) ซีรีส์เรื่องก่อนที่เขาแสดงเป็นหนุ่มอิตาเลียนคนซื่อมาใช้ในบทของโจอี ซึ่งทีมแคสติ้งประทับใจมาก ทั้งยังเห็นว่าเขาเล่นบทคนไม่ประสาโลกได้น่ารักดี

“ตอนแรกเราไม่ได้เขียนให้โจอีเป็นคนซื่อบื้อขนาดนั้นนะ แต่ตอนแม็ตต์ เลอบลังก์มาแคสต์บทก็มีคนบอกว่า ‘หมอนี่เล่นเป็นคนซื่อบื้อได้ดีชะมัด’ จากนั้นก็ตามนั้นเลย” เดวิด เครนบอก ทำให้บทนักแสดงหนุ่มหน้าหล่อตกอับกลายเป็นของเลอบลังก์ในที่สุด อย่างไรก็ดี เขาเล่าว่าก่อนวันไปแคสต์นั้นเมาและล้มหน้าทิ่มวัดพื้น แต่ก็ต้องตื่นไปแคสติ้งทั้งที่หน้ายังเปิงอยู่ในเช้าวันถัดไป

ขณะที่บทแชนด์เลอร์นั้น ทีมงานพยายามติดต่อไปยังแมตธิว เพอร์รี นักแสดงหนุ่มที่ตอนแรกง่วนอยู่กับการถ่ายทำเรื่อง L.A.X. 2194 และไม่ว่างมาแคสต์ โปรดิวเซอร์เลยต้องไปควานหานักแสดงหนุ่มคนอื่นมาลองทดสอบบทดูก่อนและพบว่าไม่ง่ายเลย เดิมที แชนด์เลอร์ถูกวางให้เป็นตัวละครที่คอยชงมุขให้คนอื่นและคิดว่าคงหานักแสดงมารับบทได้ไม่ยากนัก แต่กลับหาคนที่เข้ากันกับคาร์แรกเตอร์เช่นนี้ยากกว่าที่พวกเขาคาดการณ์ไว้หลายปีแสง ลงเอยที่สุดท้าย เพอร์รีมีคิวว่างช่วงที่เกือบจะล่วงเวลาแคสติ้งเข้าไปแล้ว และด้วยการมาทดสอบบทเพียงครั้งเดียว บุคลิกช่างเสียดสีและอารมณ์ขันเจ็บแสบเฉพาะตัวของเพอร์รีที่ในเวลาต่อมากลายเป็นหนึ่งเดียวกับแชนด์เลอร์ ก็ทำให้เขาได้บทนี้ไปครองอย่างไม่ยากเย็น แถมหลายต่อหลายครั้ง มุขตลกเฉพาะตัวของเขาก็ถูกเอาไปใช้ในซีรีส์อยู่บ่อยครั้งด้วย (คนที่เข้าชิงบทนี้ได้ใกล้เคียงที่สุดคือ เคร็ก เบียร์โค เพื่อนของเพอร์รีที่ให้เพอร์รีช่วยเป็นคนซ้อมบทก่อนมาแคสติ้ง แต่กลายเป็นว่าคนที่ได้บทนี้ไปจริงๆ กลับเป็นเพอร์รีเสียเอง) 

ดังนั้น ตัวละครที่เหลือเป็นสองตัวสุดท้ายคือฟีบีและรอสส์ซึ่งทีมงานต่างมีคนในใจอยู่แล้วทั้งคู่ นั่นคือพวกเขาเขียนบทฟีบีขึ้นมาจากการแสดงของลิซา คูโครว ในซีรีส์ Mad About You (1992) จนเมื่อเธอปรากฏตัวเข้ามาแคสติ้งก็คว้าบทนี้ไปอย่างไม่ยากเย็น ขณะที่รอสส์นั้น ทีมเขียนบทใช้บุคลิกและน้ำเสียงของ เดวิด ชวิมเมอร์ เป็นต้นแบบในการเขียนตัวละครด็อกเตอร์ผู้หลงใหลในไดโนเสาร์ เนิร์ด และขี้อาย ตอนนั้นชวิมเมอร์ยังไม่เป็นที่รู้จักนัก และง่วนกับการทำละครเวทีอยู่ที่ชิคาโก รวมถึงยังเข็ดหลาบจากงานโทรทัศน์ภายหลังเจอประสบการณ์ย่ำแย่ในกองถ่าย แต่ถูกโน้มน้าวให้รับบทหนุ่มเนิร์ดไดโนเสาร์ผู้ช้ำรักใน Friends จนในที่สุดเขาก็ยอมตอบตกลง และกลายเป็นนักแสดงหลักคนสุดท้ายที่เซ็นสัญญาร่วมงานกับซีรีส์นี้ 

3.

แม้ตามเส้นเรื่องแล้ว ทั้งหกจะใช้ชีวิตอยู่ในอพาร์ตเมนต์ใจกลางนิวยอร์กก็ตาม แต่ความเป็นจริง ซีรีส์ Friends ถ่ายทำในสตูดิโอของวอร์เนอร์ บราเธอร์สที่ลอสแองเจลิสทั้งหมด (มีบางซีซันที่ต้องออกนอกเมืองหรือต่างประเทศ เช่น ซีซันที่สี่ ซึ่งพวกเขาไปถ่ายทำกันยังลอนดอน เพราะโปรดิวเซอร์เชื่อว่า “ก็ในอังกฤษ ซีรีส์นี้มันดังออกจะตายไป”) หากไม่นับซีซันแรก ซีรีส์ทั้งเรื่องถ่ายทำในสตูดิโอ Stage 24 พร้อมคนดูสด อันเป็นที่มาของเสียงหัวเราะที่แทรกระหว่างการแสดง 

แต่ละเอพิโซดที่ความยาวเฉลี่ย 22 นาทีนั้น กินเวลาถ่ายทำอย่างต่ำเอพิโซดละหกชั่วโมง ถือว่ายาวกว่าซิตคอมทั่วไปเป็นสองเท่า ส่วนใหญ่แล้วมาจากการปรับแก้บทระหว่างถ่ายทำและการรีเทกจำนวนนับไม่ถ้วนของนักแสดงที่ส่วนใหญ่หลุดขำแสดงต่อกันไม่ไหว 

รวมถึง ‘น้ำพุ’ ซึ่งใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำ opening credits อันเลื่องลือของซีรีส์ ที่ตัวละครทั้งหกในชุดขาว-ดำกับร่มหลากสีเต้นรำกันอยู่ในน้ำพุ กับโซฟาตัวเก่งที่ปรากฏในร้านกาแฟ Central Perk ที่แฟนๆ หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นน้ำพุที่แกรนด์อาร์มีพลาซาหรือย่านเชอร์รีฮิลล์ อันที่จริงแล้วก็เช่นเดียวกับทั้งเรื่อง นั่นคือ แม้แต่น้ำพุเองก็ถ่ายทำในสตูดิโอของวอร์เนอร์ บราเธอร์ส (จนแฟนๆ ที่ออกตามรอยบ่นกันระงมว่ามิน่า! ถึงไม่เคยหาน้ำพุนั่นเจอสักที) ขณะที่เพลง I’ll Be There for You ของคู่ดูโอ The Rembrandts กลายเป็นเพลงฮิตประจำซีรีส์ และทะยานขึ้นชาร์ต Hot 100 Airplay ของบิลบอร์ดนานแปดสัปดาห์ติด ซึ่งจริงๆ ทางวอร์เนอร์ บราเธอร์สอยากได้เพลง Shiny Happy People ของวง R.E.M. มาเป็นเพลงธีมหลักของซีรีส์ แต่ทางวงปฏิเสธ ทางสตูดิโอเลยยื่นข้อเสนอให้วง The Rembrandts เขียนเพลงขึ้นใหม่ โดยใช้ซาวนด์และบรรยากาศใกล้เคียงกับเพลงของ R.E.M. ตลอดจนให้ทีมเขียนบทมาร่วมเขียนเนื้อเพลงให้ด้วย 

ยังไม่นับว่าตัวซีรีส์ทำหน้าที่เป็นเสมือนแคตาล็อกแฟชั่นของคนหนุ่มสาวในยุคนั้น ภาพเจนนิเฟอร์ อนิสตันกับทรงผมสมัยซีซันแรกนั้นแปะให้เกลื่อนร้านตัดผมในอเมริกาปี 1994 หลังซีรีส์ออกฉายได้ไม่กี่ตอน จนมันถูกนิยามว่า ‘The Rachel’ ออกแบบโดย คริส แม็กมิลัน ช่างทำผม ที่ในเวลาต่อมาเป็นคนออกแบบทรงผมสุดเลิศให้ คิม คาร์เดเชียน ในวันที่เธอหมั้นกับ คานเย เวสต์ เมื่อปี 2013 หรือรับผิดชอบลุคสุดพังก์ของ ไมลีย์ ไซรัส สมัยอยากสลัดภาพดิสนีย์ออกจากตัว โดยเฉพาะเสื้อผ้าของเรเชล หลังเธอเข้าไปทำงานในอุตสาหกรรมแฟชั่นเต็มตัว ที่กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของสาวๆ ในการจับจองเครื่องแต่งกายที่เธอใส่ ขณะที่ฟากชายหนุ่ม คนที่แต่งตัวฉูดฉาดที่สุดคือแชนด์เลอร์ เจ้าของเสื้อเชิ้ตไม่ซ้ำสีไม่ซ้ำลาย ที่ในอีกหลายปีต่อมา ผู้คนหยิบเอาสไตล์การแต่งตัวของเขามาประยุกต์ให้เข้ากับทั้งหญิงและชาย จนเจ้าตัวได้รับฉายาว่าเป็นไอคอนขวัญใจคอแฟชั่นอีกคน

4.

ภายหลังออกฉายทั้งสิบซีซัน มีรายงานว่า Friends ทำรายได้ให้สตูดิโอวอร์เนอร์ บราเธอร์สไปที่หนึ่งพันล้านเหรียญฯ ตีคู่มากับซีรีส์อีกสองเรื่องคือ The Office และ Grey’s Anatomy ทั้งเมื่อมันลงฉายในเน็ตฟลิกซ์ปี 2018 จำนวนคนดูรวมกันแล้วคิดได้เป็น 54.3 ล้านชั่วโมง (เท่ากับ 62,000 ปี) จนเน็ตฟลิกซ์ยอมทุ่มเงินอีก 80 ล้านเหรียญฯ เพื่อต่อลิขสิทธิ์ให้ยังฉายต่อได้ปีใน 2019

น่าสนใจว่า ทำไมซีรีส์ที่เล่าเรื่องราวคนช่วงกลางปี 90s สมัยที่ยังใช้โทรศัพท์บ้านติดต่อกันจนเริ่มมีเพจเจอร์และโทรศัพท์มือถือในยุคหลังๆ จึงกลายเป็นที่รักของคนดูทุกยุคทุกสมัย รวมทั้งคนรุ่นใหม่ในยุคหลังๆ ที่เกิดและโตในยุคสมาร์ตโฟน หลายคนที่เคยทันดูสมัยยังออกฉายทางช่อง NBC ก็ยังหาโอกาสกลับมาดูซ้ำๆ จนพูดได้ว่า มันอาจจะกลายเป็นซีรีส์ที่เป็นเสมือนบ้านพักพิงของเราในวันตึงเครียดหรือเหนื่อยล้า และอยากดูอะไรที่ผ่อนคลาย เป็นที่ไว้วางใจทางความรู้สึก แม้ว่าด้านหนึ่ง มันจะถูกครหาว่าเป็นซีรีส์ที่ไม่ค่อยมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ เห็นได้จากนักแสดงนำทั้งหก ตลอดจนนักแสดงสมทบส่วนใหญ่ที่เป็นคนขาว ในภายหลัง ตัวคอฟฟ์แมนเองยังบอกว่า เป็นความบกพร่องอันเนื่องมาจากความไม่ตระหนักรู้ของเธอ และเสียใจมากที่ในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้น เธอไม่ได้ขับเคลื่อนหรือพูดประเด็นเหล่านี้ผ่านซีรีส์มากพอ

แต่ในอีกด้านหนึ่ง มันก็เป็นซีรีส์ที่พูดเรื่องความหลากหลายทางเพศที่ชัดเจนและตรงไปตรงมา และเป็นซีรีส์กระแสหลักเรื่องแรกในสหรัฐฯ ที่ฉายฉากการแต่งงานของเลสเบียนด้วยท่าทีจริงจังและเคารพ โดยเป็นการแต่งงานระหว่าง แครอล (เจน ซิบเบ็ตต์) คนรักเก่าของรอสส์ กับซูซาน (เจสสิกา เฮชต์) ในโบสถ์ที่มีผู้ทำพิธีแต่งงานเป็นผู้มีเพศสภาพหญิงโดยกำเนิด และกล่าวว่า “ไม่มีอะไรทำให้พระเจ้าทรงยินดีไปมากกว่าการที่คนสองคนรักกัน” กลายเป็นว่ามีช่องโทรทัศน์ในเทกซัสกับโอไฮโอไม่ยอมฉายเอพิโซดนี้ โดยอ้างว่าเนื้อหาไม่เหมาะสม ตลอดจนการที่ เบน (โคล สเปราส์) ลูกชายของรอสส์ที่เกิดกับแครอลนั้นเติบโตมาอย่างอบอุ่น ได้รับความรักอย่างเต็มเปี่ยมจาก ‘แม่ๆ’ โดยไม่มีท่าทีตัดสินของสังคม หรือเรื่องราวของพ่อแชนด์เลอร์ที่ทำงานเป็นนางโชว์ในบาร์เกย์ (และชื่อแสนจะเก๋ว่า Viva Las Gay-gas) ก็ถูกเล่าด้วยสายตาเข้าอกเข้าใจเป็นอย่างยิ่ง

นอกเหนือจากนั้น เป็นไปได้ว่าเหตุผลสำคัญหนึ่งคือการที่คนดูมักจะเชื่อมโยงตัวเองกับตัวละครไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งความรู้สึกเผชิญโลกใบใหม่เมื่อทิ้งกรอบกรงเก่าๆ ออกมาของเรเชล, ความรู้สึกไม่มั่นคงในความสัมพันธ์แบบแชนด์เลอร์ ตลอดจนการรู้สึกสูญเปล่าในหน้าที่การงาน เมื่อไม่ว่าทำอย่างไรก็ไม่อาจเป็นนักแสดงชื่อดังได้สักทีของโจอี และการแทนค่าตัวเองเข้ากับตัวละครนี้ก็ผลัดเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เมื่อเราในฐานะคนดูเติบโตขึ้น ผ่านความรื่นเริง ยินดี กระทั่งเจ็บปวด และจับประเด็นแหลมคมของตัวละครที่อาจไม่ทันสังเกตมาก่อนหน้านี้ในการดูรอบแรก

อย่างเช่น ภาวะหัวใจสลายของเรเชลที่เพิ่งได้ทำงานที่ตัวเองเชื่อว่าเธอทำได้ดีเป็นครั้งแรก แต่ถูกคนรักหยามใส่อย่างไม่ได้ตั้งใจว่าเป็นแค่งาน, การตั้งใจพูดความรู้สึกของตัวเอง แม้จะรู้ดีว่าปลายทางนั้นมีเพียงความไม่สมหวังในนามของความเป็นเพื่อน, การจำใจต้องเลิกรา เมื่อพบว่าต่างไม่อาจมีกันและกันในอนาคตได้ หรือความหวาดหวั่นต่อชีวิตอันโดดเดี่ยวของตน หลังความตายแสนเปลี่ยวเหงาของชายชราร่วมอพาร์ตเมนต์ มันจึงกลายเป็นซีรีส์ที่พูดถึงชีวิตที่เคลือบด้วยเสียงหัวเราะกับการตบมุขตลอดยี่สิบนาทีเต็ม

สิ่งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากว่ามันปราศจากการเขียนบทที่พัฒนาตัวละครให้เติบโตไปพร้อมกับคนดู แชนด์เลอร์ที่ตกอยู่ในภาวะกลัวการมีชีวิตคู่ขึ้นสมอง หลังภาพแม่ขอหย่ากับพ่อซึ่งถูกเปิดเผยในเวลานั้นว่าแอบรักอยู่กับพ่อบ้านหนุ่มของครอบครัวระหว่างดินเนอร์วันขอบคุณพระเจ้าในวัยเด็กติดตา จนส่งผลให้เขากลัวการแต่งงาน ทั้งยังปฏิเสธงานเทศกาลทุกฤดูกาล ด้วยมันทำให้ภาพจำนั้นปรากฏขึ้นมาอีกครั้ง ก็ค่อยๆ ข้ามผ่านบาดแผลของตัวเองด้วยการพยายามจะคบหาดูใจกับคนอื่น หรือกระทั่งเข้าร่วมงานเทศกาลทั้งเต็มใจและไม่เต็มใจ โดยเฉพาะเรเชลที่กลายร่างจากเด็กสาวที่ถูกครอบครัวตามใจ ไม่สู้คน และไม่รู้จักโลกภายนอกที่อยู่นอกเหนือจากสิ่งที่พ่อแม่ของเธอเลือกให้ กลายมาเป็นหญิงสาวที่เด็ดเดี่ยว เข้มแข็ง และเอาเป็นเอาตายต่อสิ่งที่เธอต้องการมากขึ้นทุกซีซันตามลำดับ

5.

ด้วยเหตุผลทั้งหมดทั้งปวงที่กล่าวมานี้ ไม่แปลกอะไรที่ Friends: The Reunion จะสร้างความฮือฮาให้แฟนๆ ที่ติดตามการกลับมารวมตัวกันของตัวละครทั้งหก แม้จะยังไม่มีการประกาศพล็อตหรือรายละเอียดอื่นใดเกี่ยวกับเนื้อเรื่อง แต่ก็มีรายงานว่าคอฟฟ์แมนกับเครนจะกลับมาเขียนบทเช่นเดิม โดยได้ เบน วินสตัน คนเขียนบทมือฉมังที่เคยเขียนบทให้การประกาศรางวัลแกรมมี่และรายการโทรทัศน์อย่าง The Late Late Show with James Corden เป็นผู้กำกับ (ก่อนหน้านี้เขาเป็นที่รู้จักจากการกำกับมิวสิกวิดีโอเพลงให้ One Direction, 5 Seconds of Summer) พร้อมนักแสดงสมทบที่เคยร่วมจอ ทั้งกันเธอร์ (ไมเคิล ไทเลอร์) เจ้าของร้านกาแฟที่รักเรเชลหัวปักหัวปำ, แจนิซ (แม็กกี วีเลอร์) อดีตคนรักของแชนด์เลอร์ที่เขาหวาดกลัวขึ้นสมอง, จิลล์ (รีส วิตเธอร์สปูน) น้องสาวเอาแต่ใจของเรเชล และริชาร์ด (ทอม เซลเล็ค) คนรักเก่าของมอนิกา ยังไม่นับรายชื่อแขกรับเชิญชวนอึ้งยาวเหยียดทั้ง เดวิด เบ็กแฮม, เลดี้ กาก้า, วง BTS, คารา เดเลวีน, มินดี คาลิง, เจมส์ คอร์เดน, มาลาลา ยูซาฟไซ และจัสติน บีเบอร์ พร้อมออกฉายทางช่อง HBO Max ในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้

หากว่าซีรีส์ Friends นั้นว่าด้วยเรื่องของเพื่อนที่คอยประคับประคองหัวใจกันและกันมาอย่างยาวนาน ในอีกแง่ ครั้งหนึ่งและอาจถึงปัจจุบันของซีรีส์ ก็ได้ทำหน้าที่เป็นเสมือนเพื่อนสนิทในชีวิตจริงของพวกเราไปแล้ว ทั้งการได้เห็นการเติบโตของตัวละคร หรือการได้แทนค่าตัวเองกับภาวะต่างๆ ของผู้คนในเรื่องราวเหล่านั้นตามวัยวุฒิที่เปลี่ยนไปของเรา จึงไม่น่าแปลกใจอะไรหาก Friends: The Reunion จะชวนให้รู้สึกราวกับเฝ้ามองการกลับมาของเพื่อนรักที่หายหน้าหายตาไปนานร่วมสิบเจ็ดปีเต็ม และพร้อมจะกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันอีกครั้งเสมอ

Tags: , ,