1.

‘ท่าทีในการเล่าเรื่อง’ ถือเป็นอาวุธไม้เด็ดในสารคดีเรื่องนี้ที่ทำได้อย่างโดดเด่นและน่าสนใจ เพราะด้วยข้อจำกัดด้านความปลอดภัยของตัวอามินผู้ถ่ายทอดเรื่องราว ทีมงานจึงต้องวาดแอนิเมชันและใช้เสียงพากย์จากนักแสดงท่านอื่นเพื่อกลบร่องรอยและตัวตนของอามิน กลายเป็นรูปแบบสารคดีที่ดูแตกต่างไปจากปกติที่ได้รับชมกัน

สารภาพว่าในช่วงแรกผู้เขียนตั้งคำถามถึงวิธีการดังกล่าว เพราะด้วยภาพจำของคำว่า ‘สารคดี’ ที่เรามักได้เห็นฟุตเทจจริง คนจริง สถานที่จริงเป็นสำคัญ แต่ทว่าโยนัสก็ได้พิสูจน์ให้เห็นเป็นประจักษ์แล้วว่า เขามีกึ๋นเพียงพอทำให้ภาพวาดเสมือนสอดคล้องกับเหตุการณ์จริงในสารคดีได้ 

เพราะจากที่จะได้เห็นหน้าตาของอามิน เรากลับได้เห็นความรู้สึกและห้วงอารมณ์ของเขาเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลายครั้งที่อามินอธิบายถึงความกลัว ความเศร้า ความเหงา Flee ก็ถ่ายทอดออกมาเป็นงานแอนิเมชันที่บางช่วงก็หลุดไปเป็นงานแอบสแตร็คต์ ไร้รูปร่างที่ชัด แต่เปี่ยมอารมณ์ได้อย่างลึกซึ้ง จึงทำให้รู้สึกว่างานภาพของสารคดีเรื่องนี้ เลือกถ่าย ‘ความจริงที่เกิดขึ้นภายในใจของอามิน’ ได้ชัดเจน ไร้ข้อครหาจนถึงขนาดที่ว่า แม้ไม่มีหน้าตาของผู้คนหรือสถานที่จริง เราก็ยังเชื่อว่านี่คือผู้คน เรื่องราว เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และกำลังถูกบันทึกไว้ผ่านงานแอนิเมชัน 

2.

 หากพูดถึง ‘เนื้อหา’ ในสารคดีเรื่องนี้ก็ถือว่าทำได้โดดเด่นไม่แพ้กัน โดย Flee เล่าถึงช่วงเวลาที่กลุ่มมูจาฮีดีน กองกำลังต่อต้านโซเวียต เข้ายึดเมืองคาบูล ทำให้อามินต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศอย่างกระทันหัน กลายเป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล

 บ่อยครั้งเรามักเห็นเหตุการณ์ใหญ่ๆ บันทึกเรื่องราวผ่านบุคคลสำคัญกันจนชินตา แต่ Flee กลับเจาะลึกเล่าเรื่องผ่านเด็กคนหนึ่งในอัฟกานิสถาน เติบโตในครอบครัวที่อบอุ่น กำลังใช้ชีวิตอย่างโลดโผน เปี่ยมล้นไปด้วยความสุขตามประสา ก่อนจะถูกความขัดแย้งและสงครามพรากทุกสิ่งไปจากเขา 

เรื่องราวของมนุษย์ผู้ไม่มีทางสู้ที่ค่อยๆ ถูกลบเลือนให้หายไปจากโลก การอพยพทำให้เขาทอดทิ้งทุกสิ่งอย่าง บ้านเกิด ครอบครัว และความสุขที่เคยเกิดขึ้น ณ เมืองคาบูล จนทุกวันนี้แม้จะมีสารคดีมาสัมภาษณ์ เขายังไม่สามารถใช้ชื่อจริงหรือเปิดเผยใบหน้าได้แม้แต่น้อย 

ทำให้ ‘ความนิรนาม’ ที่ปรากฏขึ้นดูน่ากลัวขึ้นมาทันตา แม้ผู้เขียนจะไม่ได้มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ในดินแดนตะวันออกกลาง แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้นก็ชวนให้คิดว่า ในบรรดาผู้คนทั้งหลายในโลกใบนี้ ใครบ้างที่ต้องทอดทิ้งบางสิ่งบางอย่าง เพราะความขัดแย้ง เพราะสงคราม เพราะผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัวของคนเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้น 

3.

ความประทับใจส่วนตัวของผู้เขียนคือการที่สารคดีย้อนเล่ากลับไปช่วงที่คาบูลยังเป็นเมืองที่สวยงาม เผยอดีตที่รุ่งโรจน์ของเมืองที่ผู้คนยังเปี่ยมด้วยความสุข ชาย-หญิงได้ใช้ชีวิตกันได้อย่างเท่าเทียม ก่อนที่สงครามเข้ามาทำลายเมืองและบดขยี้ชีวิตชาวคาบูลจนสิ้น

ในช่วงนั้นของสารคดี เพลง Take On Me ของศิลปิน A-ha ก็บรรเลงคลอกับบรรยากาศเสริมรับอารมณ์กันได้อย่างยอดเยี่ยม หลังจากนั้น เพลงประกอบภายในเรื่องก็ทำได้ดีมาตลอด โดยเฉพาะการใส่เพลงดังในอดีตมากมายทั้งเพลง Joyride ของศิลปิน Roxette, Wheel of Fortune ของศิลปิน Ace of Base และ VERIDIS QVO ของศิลปิน Daft Punk ที่ซุกซ่อนอยู่ในซาวด์อะเบาต์ เป็นความสุขประเภทเดียวที่วนเวียนอยู่ในเรื่อง 

สุดท้ายคือรสนิยมทางเพศของอามิน ที่ในอดีตอัฟกานิสานยังไม่ใช่ประเทศที่ยอมรับในเรื่อง LGBTQ แต่อย่างใด สิ่งนี้กลายเป็นความอัดอั้นตันใจของอามิน และเป็นสิ่งเดียวที่เขาไม่ได้ทิ้งเอาไว้ในบ้านเกิดเหมือนกับชีวิตและความสุข มันกลับตามติดเขามาโดยตลอด แต่ในท้ายที่สุดครอบครัวก็กลายเป็นส่วนสำคัญที่ปลดล็อกความรู้สึกเหล่านี้ของอามินผ่านการยอมรับตัวตนของเขา กลายเป็นความประทับใจส่วนตัวของผู้เขียนที่ได้เห็นว่า ในยามที่ทุกอย่างมันกำลังพังทลาย แต่ความรัก ความสัมพันธ์ ก็ยังเป็นสิ่งที่ประคับประคอง หล่อเลี้ยงมนุษย์เอาไว้ได้เสมอ 

4.

ปัจจุบัน Flee ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ (Academy Awards) ครั้งที่ 94 ประจำปี 2022 ในสาขา แอนิเมชันยอดเยี่ยม สารคดียอดเยี่ยม ภาพยนตร์นานาชาติยอดเยี่ยม อีกทั้งยังเป็นหนังที่ บง จุงโฮ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Parasite (2019) เจ้าของรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมรางวัลออสการ์ในปี 2020 ยังออกตัวว่าชื่นชอบสารคดีเรื่องนี้เป็นพิเศษ 

สารคดีเรื่องนี้จึงน่าสนใจอย่างยิ่ง จึงอยากชวนผู้อ่านลองไปสัมผัสประสบการณ์และความรู้สึกของอามิน ด้วยตาของท่านเองในโรงภาพยนตร์

Tags: , , , ,