การหวนกลับมากำกับหนังยาวอีกครั้งในรอบเก้าปีของ แซม ไรมี หลังจากกำกับหนังแฟนตาซีชวนเยือกหลังอย่าง Oz the Great and Powerful (2013) และสำหรับใครที่เป็นแฟนหนังของไรมี ก็น่าจะคุ้นเคยกับลายเส้นการกำกับที่หยิบความระทึกขวัญมาผสมผสานกับความหลอนเฮี้ยน ทั้งจากภูตผีและมนุษย์ได้ดี ไม่ว่าจะฉากแม่มด ธีโอดอรา สำแดงอิทธิฤทธิ์ใน Oz the Great and Powerful ก็ดี ฉากต่อสู้ในลานจอดรถอันแสนเลื่องชื่อ (มาครบทั้งจิกผม ฟันศอก ไปจนถึงตบให้ฟันปลอมกระจายในฉากเดียว!) ของหนังเฮอร์เรอร์ Drag Me to Hell (2009) รวมทั้งไตรภาคสไปเดอร์แมนยุคมิลเลเนียม Spider-Man (2002-2007) กับฉาก ‘ส่องกระจก’ สุดสะพรึงของ นอร์แมน ออสบอร์น (ที่ต้องยกเครดิตส่วนหนึ่งให้การแสดงของ วิลเล็ม เดโฟ)
เป็นที่น่ายินดีว่าลายเส้นต่างๆ เหล่านี้ของไรมีนั้นยังปรากฏอยู่ในจักรวาลมาร์เวล Doctor Strange in the Multiverse of Madness (2022) หนังภาคต่อที่ทิ้งห่างจากภาคแรกร่วมหกปีตั้งแต่ Doctor Strange (2016) โดยมีตั้งแต่กลิ่นอายความเฮอร์เรอร์สยองขวัญ ความสั่นสะเทือนประสาท และเรื่องราวบาดแผลต่างๆ ของตัวละครที่กลัดหนองรอวันระเบิด
ช่วงเวลาให้หลังจากที่มนุษยชาติถูกดีดหายไปเป็นฝุ่นด้วยฝีมือธานอส และหวนกลับมามีชีวิตได้อีกครั้งจากการกอบกู้โดยเหล่าอเวนเจอร์ส สตีเฟน สเตรนจ์ (เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบช) ใช้ชีวิตในฐานะจอมเวทย์ที่ได้รับความเคารพนับถือสูงสุดจากการเป็นหนึ่งในทีมยอดมนุษย์ และแม้จะเป็นเช่นนั้น เขายังรู้สึกเคว้งคว้าง ควานหาความสุขบางอย่างที่คล้ายจะเลื่อนหลุดมือออกไปทุกที โดยเฉพาะเมื่อ คริสทีน (ราเชล แม็กอดัมส์) คนรักที่ตัดสินใจแต่งงานกับชายอื่น โดยที่สเตรนจ์เองก็เต็มใจให้ทุกอย่าง ด้วยเชื่อว่าทางเลือกเดียวที่เขามี คือการเสียสละบางสิ่งบางอย่างเพื่อดำรงให้โลกมีสุข
กระทั่งการปรากฏตัวของ อเมริกา ชาเวซ (โซชิตล์ โกเมซ) เด็กสาวที่ถูกปีศาจไล่จับตัวจนต้องใช้พลังที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดกระโจนเอาชีวิตรอดไปยังมิติอื่นๆ โดยในมิติเหล่านั้น ซูเปอร์ฮีโรอย่างสเตรนจ์ หากไม่ตายอนาถา ก็ตายเพราะดาร์กโฮลด์ คัมภีร์มืดที่มอบความสุขสถาพรให้แก่ผู้ครอบครอง ด้วยเงื่อนไขว่าต้องแลกสารพัดสิ่งซึ่งอาจขยายใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ และยิ่งสเตรนจ์สืบสาวราวเรื่อง เขาก็ยิ่งพบว่า ต้นธารของปีศาจและการไล่ล่าตัวซาเวซอย่างบ้าคลั่งนั้นมาจาก วันดา (เอลิซาเบธ โอลเซน) แม่มดสาวที่โหยหาการสร้างครอบครัว มีลูกอยู่ในบ้านอันอบอุ่น ซึ่งปรากฏอยู่ในชีวิตวันดาที่จักรวาลอื่น – แต่ไม่ใช่วันดาที่จักรวาลนี้ และนั่นทำให้เธอพร้อมแลกทุกอย่างเพื่อเอาตัวเองไปอยู่ในจักรวาลอื่น แม้นั่นหมายถึงการต้องทำลายล้างใครต่อใครก็ตามที
สิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง คือ Doctor Strange ภาคแรกนั้น มาร์เวลใช้บริการทีมเขียนบทมือฉมังสามคนรวด (หนึ่งในนั้นคือ จอน สไปตส์ จาก Prometheus, Dune) ขณะที่ภาคต่ออย่าง Doctor Strange in the Multiverse of Madness นกลับใช้มือเขียนบทคนเดียวคือ ไมเคิล วัลด์รอน ผู้แจ้งเกิดจากการเป็นหนึ่งในทีมเขียนบทให้ซีรีส์ Loki (2021) เพราะนี่ย่อมบอกเป็นนัยว่า มาร์เวลต้องการใช้คนเขียนบทที่เข้าอกเข้าใจความเชื่อมต่อของเส้นเรื่องต่างๆ ในจักรวาลเป็นอย่างดี ยิ่งเฉพาะกับหลังช่วง Avengers: Endgame (2019) ที่เส้นเรื่องเริ่มทับพื้นที่ ทับเส้นเวลากันหลายต่อหลายครั้ง
“อย่างเรื่องนี้ Spider-Man: No Way Home (2021 ว่าด้วยเรื่องสไปเดอร์แมนที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดจากการเหลื่อมมาชนกันของจักรวาลมิติอื่นๆ โดยสเตรนจ์เองก็ต้องวุ่นวายกับการรับมือเรื่องชวนหัวเหล่านี้ด้วย) ก็เป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก เพราะนับจากครั้งนั้นก็ทำให้สตีเฟนมีประสบการณ์ในการรับมือกับพหุจักรวาล ทั้งเขายังรู้ดีทีเดียวว่ามันอันตรายแค่ไหน” วัลด์รอนให้สัมภาษณ์ “ดังนั้นพออเมริกาปรากฏตัว เขาเลยรู้ดีว่าต้องจริงจังกับประเด็นนี้มากแค่ไหน ในหัวของสตีเฟนนี่คือ ‘เอาละ นี่ไม่ใช่ข่าวดีแน่ๆ’ อะไรแบบนั้นเลยละ”
และดังที่กล่าวไปแล้วว่า สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากใน Doctor Strange in the Multiverse of Madness คือการที่ลายเส้นของคนทำหนังปรากฏชัดเป็นพิเศษ ที่ผ่านมา หนังในแฟรนไชส์มาร์เวลนั้นได้รับเสียงบ่นอยู่เนืองๆ ว่า ภาษาภาพยนตร์นั้นถูกจับ ‘เข้าสูตร’ การเป็นหนังซูเปอร์ฮีโร หรือไม่ก็การที่ทำให้ผู้กำกับเข้าสู่เซฟโซน ไม่อาจวาดลวดลายหรือฝากลายเซ็นบางอย่างของตัวเองไว้ในงานได้ ยังผลให้หนังมาร์เวลนั้นมีลักษณะคล้ายคลึงกันเกือบหมด (อาจจะมี Eternals, 2021 บ้างที่หลุดออกมา)
แต่กับเรื่องของศัลยแพทย์ที่กลายมาเป็นจอมเวทย์และออกตะลุยพหุจักรวาลเรื่องนี้ น่ายินดีอย่างยิ่งที่เราได้เห็นลายเซ็นอันแสนแจ่มชัดอีกครั้งของไรมี โดยเฉพาะน้ำเสียงการเล่าเรื่องที่เอนเอียงไปทางหนังเฮอร์เรอร์ที่เขาคุ้นมืออย่างที่สุด อันปรากฏชัดเจนในหลายๆ ฉาก เช่น เมื่อแม่มดวันดาระเบิดพลังครั้งใหญ่ ถล่มอาศรมของเหล่าจอมเวทย์เพื่อคว้าตัวซาเวซ หนังถ่ายทำราวกับเรากำลังดูหนังเขย่าขวัญชั้นดีสักเรื่อง เมื่อตัวละครต้องหนีผี (หรือปีศาจ หรืออำนาจอื่นใจก็ตามที่คุกคามพวกเขา) และสยองอย่างที่สุดเมื่อวันดามุดร่างกายข้ามจากมิติเวทย์ที่สเตรนจ์ใช้ขังเธอไว้ด้วยท่วงท่าราวกับผีหรือซากร่างบางอย่างที่กรุ่นไปด้วยกลิ่นอายความแค้น ชวนนึกถึงงานเก่าๆ ของไรมีอย่าง Drag Me To Hell, The Evil Dead (1981) และ Evil Dead II (1987) รวมทั้งฉากต่อสู้ที่สมบุกสมบันสุดขีด หากว่าหนังซูเปอร์ฮีโรเรื่องก่อนๆ ของมาร์เวลอนุญาตให้เราได้เห็นเลือดของมนุษย์พอเป็นพิธี ไรมีก็ระเบิดฟอร์มร้อนด้วยการสาดเลือดทั้งแผงใส่ตัวละครในฉากต่อสู้ที่เดือดดาลชวนใจหาย ยังไม่นับที่วันดากระหืดกระหอบในร่างกายพังๆ ของตัวเองในจักรวาลอื่น ไล่ล่าสเตรนจ์และซาเวซในสภาพเปื้อนเลือด (จากของคนอื่น) ซึ่งทาบทับไปกับฉากหนังเขย่าขวัญหลายๆ เรื่อง
เมื่อกล่าวถึงผี หนึ่งในสิ่งที่เซอร์ไพรซ์คนดูอย่างมาก คือการได้เห็น ‘ผี’ ตัวเป็นๆ ในหนังมาร์เวล และนี่เองที่ยืนยันว่าไรมีเป็นคนทำหนังที่แม่นยำอย่างมาก ผีใน Doctor Strange in the Multiverse of Madness ไม่ได้เป็นแค่องค์ประกอบเล็กๆ ที่เข้ามาเพื่อแสดงตัวเป็น ‘ลายเซ็น’ ของไรมี หากแต่เป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนพล็อตที่สำคัญ และสิ่งนี้คงเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากว่าไรมีไม่เข้าใจจักรวาลมาร์เวลและความต้องการของตัวเองที่ชัดเจนว่าต้องการให้หนังเรื่องนี้หันเหไปทางไหน โดยถึงที่สุด Doctor Strange in the Multiverse of Madness จึงไม่ได้เป็นแค่หนังซูเปอร์ฮีโรแอ็กชันดาษดื่นธรรมดา หากแต่มันยังเต็มไปด้วยกลิ่นอายของฌอง (Genre) หนังหลายรูปแบบ และหนึ่งในนั้นคือกลิ่นของความเป็นหนังเฮอร์เรอร์ที่แทบไม่ปรากฏให้เห็นในหนังซูเปอร์ฮีโรเลย
พร้อมกันนั้น เช่นเดียวกับหนังลำดับก่อนๆ ของไรมีที่หมกมุ่นกับมนุษย์และข้อบกพร่องอันไม่อาจข้ามผ่านบางประการ ตัวหนังจับจ้องไปยังช่วงเวลาอันไร้สุขของเหล่าซูเปอร์ฮีโรหลังจากกอบกู้มนุษยชาติจากธานอสได้ สเตรนจ์กลายเป็นจอมเวย์เหงาๆ ที่ย้ำเตือนตัวเองทุกครั้งว่า เขาต้องเสียสละบางสิ่งไปเพราะนั่นเป็นหน้าที่ ส่วนวันดาแทบจะกลืนเลือดกลืนเนื้อถูไถชีวิตที่เธอแสนจะชิงชัง เพราะเธอไม่ได้อะไรหวนกลับมาจากวันเวลาแสนวิปโยคเหล่านั้น ขณะที่ตัวของเธอในจักรวาลอื่นๆ นั้นแสนมีสุข มีทุกอย่างที่เธอโหยหาอยากมี และนี่เองที่เป็นชนวนหลักทำให้ตัวละครเหล่านี้ดิ้นรน ไขว่คว้าเพื่อพาตัวไปยังจุดที่พวกเขาจะได้รู้สึกว่า ‘มีความสุข’ เสียที
“ผมชอบที่ว่าสตีเฟน สเตรนจ์เป็นตัวละครที่มีข้อบกพร่องนะ” ไรมีบอก “แล้วยังวิธีที่เบเนดิกต์ถ่ายทอดความเป็นตัวละครนี้ออกมา รวมทั้งที่สตูดิโอมาร์เวลที่เล่าเรื่องราวของสเตรนจ์ด้วย ผมคิดว่าสเตรนจ์นั้นออกจะภูมิใจในตัวเองไม่น้อย และนั่นก็ทำให้อีโก้ของเขาเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เขาเป็นคนที่คิดว่าตัวเองเป็นคนเดียวที่จะทำงานอะไรสักอย่างให้สำเร็จ บรรลุเป้าหมายได้ คือไม่ใช่ผู้เล่นแบบทีมว่าอย่างนั้นเถอะ และข้อผิดพลาดเหล่านี้แหละที่ทำให้คนดูรู้สึกต่อกับเขาติด เพราะแม้ว่านี่จะไม่ใช่ลักษณะนิสัยที่คนดูจะชื่นชม แต่มันก็ทำให้ตัวละครนี้แสนจะเป็นมนุษย์ยังไงละ”
ด้านหนึ่ง ก็อาจนับเป็นสิ่งน่ายินดีที่เราได้เห็นลายเซ็นต่างๆ ของคนทำหนังเล่าเรื่องซูเปอร์ฮีโร และเติมรสชาติให้มันเป็นมากกว่าหนังแอ็กชัน-แฟนตาซี ซึ่งดำเนินมายาวนานร่วมทศวรรษแล้วในโลกภาพยนตร์
Tags: Doctor Strange, Screen and Sound, Doctor Strange in the Multiverse of Madness