Indiana Jones and the Dial of Destiny (2023) หนังลำดับล่าสุดจากแฟรนไชส์ Indiana Jones อันเกรียงไกรและเพิ่งเข้าฉายรอบปฐมทัศน์ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ ซึ่งนอกเหนือไปจากประเด็นการต่อยอดความสำเร็จของภาคก่อนๆ แล้วนั้น สิ่งหนึ่งที่เหล่านักวิจารณ์พากันพูดถึงแทบจะทุกบทความคือ เทคโนโลยี de-aging ในหนัง ที่ร่ายมนตร์ให้ แฮริสัน ฟอร์ด (Harrison Ford) ในวัย 80 ผู้เป็นเจ้าของบทบาทอินเดียนา โจนส์ กลับไปสู่ความเยาว์วัยอีกครั้ง
แต่ดูเหมือนว่านักวิจารณ์และคนดูจะรู้สึกว่าเทคโนโลยี de-aging อาจไม่ได้ช่วยส่งผลดีต่อหนังสักเท่าไรนัก และอาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ The Dial of Destiny ได้คะแนนจากเว็บไซต์มะเขือเน่าน้อยที่สุดในบรรดาหนังจากแฟรนไชส์นี้
อย่างไรก็ตาม แฟรนไชส์ Indiana Jones สี่ภาคก่อนหน้านี้ล้วนประสบความสำเร็จระดับถล่มทลาย ทุกภาคล้วนกำกับโดย สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ที่เล่าเรื่องของอินเดียนา โจนส์ ผู้ผจญภัยในเมืองโบราณน้อยใหญ่ โดยหลังจากเว้นระยะไปกว่าสี่ทศวรรษ ฮอลลีวูดก็พาโจนส์กลับมาสู่การเดินทางครั้งสุดท้ายภายใต้การกำกับของ เจมส์ แมนโกลด์ (James Mangold) คนทำหนังจาก Logan (2017) ซึ่งเล่าถึงการปิดตำนานของตัวละครวูฟเวอร์รีนมาแล้ว
การกลับมาครั้งนี้ของโจนส์ หนังจับจ้องไปยังช่วงที่เขาปรารถนาจะวางมือจากการเป็นนักสำรวจและใช้ชีวิตวัยเกษียณอย่างสุขสงบ กระทั่งเมื่อบุตรบุญธรรมร้องขอความช่วยเหลือจากเขา โจนส์จึงต้องหวนกลับไปสู่การเดินทางอันนำพาเขากลับไปยังช่วงเวลาในอดีต สมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ยุคที่นาซียังเรืองอำนาจ และตัวเขาเองยังหนุ่มแน่น
ฟอร์ดรับบทเป็นโจนส์ทั้งในวัยหนุ่มและวัยชรา โดยหนังใช้เทคโนโลยี de-aging ทำให้ฟอร์ดดูหนุ่มกว่าความเป็นจริง ซึ่งด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยีที่อาจยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ไม่มากก็น้อยทำให้คนดูรู้สึกตะขิดตะขวงใจ หรือกระทั่งอาจส่งผลต่อตัวการแสดงเอง เนื่องจากมันไปกลบเอาการแสดงออกทางสีหน้า แววตาและมัดกล้ามเนื้อเล็กๆ ออกจนหมด
เรื่องนี้ ฟอร์ดให้สัมภาษณ์ว่า ภาพเขาในวัยหนุ่มจาก The Dial of Destiny ที่เทคโนโลยีรังสรรค์ขึ้นมานั้น คือใบหน้าเขาในช่วงวัยเท่านั้นจริงๆ
“พวกเขาใช้โปรแกรมปัญญาประดิษฐ์สักอย่าง รวบรวมเอาสารพัดฟุตเทจที่ผมเคยแสดงไว้จาก ลูคัสฟิล์ม (สตูดิโอของแฟรนไชส์ Indiana Jones และ Star Wars ซึ่งฟอร์ดร่วมแสดงทั้งสองเรื่อง) อย่างที่รู้กันว่าผมแสดงในหนังของสตูดิโอนี้เยอะมาก ก็เลยมีฟุตเทจเก็บสะสมไว้มหาศาลทีเดียว ปัญญาประดิษฐ์พวกนี้ปั้นใบหน้าขึ้นมาใหม่ได้โดยวัดจากจุดที่แสงตกกระทบ หรือจากการแสดงออกทางสีหน้าต่างๆ แต่มันคือใบหน้าจริงๆ ของผม”
โอกัน แทน (Olcun Tan) ทีมงานวิชวลเอฟเฟกต์ในลอสแอนเจลิสจาก Thor: Ragnarok (2017) และ (2019) ตื่นเต้นกับเทคโนโลยี de-aging มาก เขาให้สัมภาษณ์ว่ามันเหมือนก้าวใหญ่ก้าวสำคัญของฮอลลีวูดที่จะเป็นตัว ‘พลิกเกม’ ทั้งหมด
“เรากำลังเข้าสู่ยุคการปฏิวัติครั้งใหญ่เลยล่ะ เหมือนการคิดค้นพลังงานนิวเคลียร์เลย นี่เรื่องใหญ่นะบอกก่อน แม้ว่าหลายคนจะมองข้ามมันหรือไม่ค่อยแยแสมันก็ตามที เหมือนว่ามันก็เป็นของเล่นอีกชิ้น ก็เจ๋งดี มาดูกันเถอะว่ามันทำอะไรได้บ้าง แต่ผมจะบอกไว้ว่านี่เป็นแค่จุดเริ่มต้นของการเขย่าโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งหมดของอุตสาหกรรมเลย เพราะไอ้เจ้าเทคโนโลยีที่ว่านี่น่ะมันทำอะไรได้มากกว่าที่มนุษย์ทำได้เยอะมากทีเดียว”
กระนั้น The Dial of Destiny ก็ไม่ใช่หนังเรื่องแรกที่ใช้เทคโนโลยีนี้มาช่วยเล่าเรื่อง ก่อนหน้านี้ที่ถูกพูดถึงอยู่มากคือ Gemini Man (2019) กับการทำให้ วิลล์ สมิธ (Will Smith) กลายเป็นหนุ่มน้อยอีกครั้งเพื่อมาสู้กับตัวเองในวัยผู้ใหญ่ และสิ่งที่ทำให้หนังถูกวิพากษ์วิจารณ์หนาหู เว้นไปเสียจากเรื่องที่ว่าบทอ่อนยวบ คือสมิธวัยหนุ่มในหนังนั้นไม่น่าเชื่อถือเอาเสียเลย ประการแรกคือสมิธเป็นนักแสดงที่เริ่มแสดงหนังตั้งแต่วัย 22 จากซิตคอม The Fresh Prince of Bel-Air (1990-1996) ที่โด่งดังเป็นพลุแตก ช่วยไม่ได้ที่คนดูจะเทียบเคียงสมิธวัยเยาว์จากซิตคอมที่พวกเขารู้จักและจำได้ กับสมิธซึ่งเทคโนโลยีรังสรรค์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งก็แน่นอนว่าอย่างหลังนั้นถูกวิจารณ์ยับว่า ‘ไม่สมจริง’ หรือเทคโนโลยีทำให้การแสดงต่างๆ บนใบหน้าสมิธเลือนหายไปหมดเลย
The Curious Case of Benjamin Button (2008) ก็เป็นอีกเรื่องที่ใช้เทคโนโลยี de-aging แทบจะทั้งเรื่อง หนังเล่าถึงชีวิตสุดพิศวงของ เบนจามิน (แสดงโดย แบรด พิตต์) เด็กชายที่ชราภาพตั้งแต่แรกเกิด และค่อยๆ หนุ่มแน่นขึ้นเมื่อเวลาผ่านพ้นไป นอกเหนือจากแบรด พิตต์แล้วคนที่รับบทหนักคือทีมงานวิชวลเอฟเฟกต์ทั้งปวง ที่ต้องใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกใบหน้าพิตต์ (ซึ่งเวลานั้นอายุราวๆ 45 ปี) ให้ดูแก่ราวกับคนอายุหลักร้อยในช่วงต้นเรื่อง แล้วเมื่อตัวละครค่อยๆ หนุ่มขึ้นหรือคือมีใบหน้าของคนอายุราว 50-60 ปี ทีมงานจึงใช้การแต่งหน้าเข้าช่วยแทน (พิตต์จึงต้องลงเอยที่เก้าอี้แต่งหน้าวันละห้าชั่วโมงทุกเช้าก่อนเข้าฉากด้วยเหตุฉะนี้) ก่อนที่วิชวลเอฟเฟกต์จะกลับมามีบทบาทอีกครั้งเมื่อตัวละครของพิตต์ล่วงเลยเข้าสู่วัย 20 ต้นๆ กับการปรากฏตัวในฐานะคนหนุ่ม อย่างไรก็ดี กรณีของ The Curious Case of Benjamin Button นี้ถือว่ากวาดคำชมล้นหลามถล่มทลาย ทีมวิชวล เอฟเฟกต์และเมคอัพคว้าออสการ์กลับมานอนกอดที่บ้าน
The Curious Case of Benjamin Button ถือเป็นหนังไม่กี่เรื่องที่ใช้เทคโนโลยี de-aging เป็นตัวชูโรงแล้วออกมา ‘รอด’ ทั้งนี้ ด้านหนึ่งอาจเป็นเพราะตัวเทคโนโลยีสร้างภาพความ ‘ชราภาพ’ ได้ดีกว่าความ ‘เยาว์วัย’ อันจะเห็นได้จากหนังไม่ได้แช่กล้องช่วงเบนจามินอยู่ในวัย 20 นานนักเนื่องจากดูไม่จริง (และด้วยวิธีนี้ก็หลีกเลี่ยงไม่ให้คนดูเอาภาพตัวละครเบนจามินไปเทียบกับแบรด พิตต์ในวัย 20 ที่พวกเขาจำได้) ขณะที่ฉากตัวละครแก่หง่อมนั้นดูไม่ค่อยสร้างปัญหาในแง่ภาพจำกับคนดูเท่าไร หรือกล่าวอีกอย่างคือ มันอาจสร้างความชราภาพได้ออกมา ‘เนียนตา’ กว่าความเยาว์วัยนั่นเอง
หนังหลายเรื่องที่ใช้เทคโนโลยี de-aging ไม่ได้ลงเอยด้วยคำชมแบบ The Curious Case of Benjamin Button กรณีอย่าง The Dial of Destiny หรือ Gemini Man ถือเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ de-aging อาจไม่ทำงานกับคนดูในแง่บวกนัก เช่นเดียวกันกับ The Irishman (2019) หนังเจ้าพ่อของ มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) ที่แทบจะใช้เทคโนโลยี de-aging เล่าตลอดทั้งเรื่อง เมื่อหนังว่าด้วยช่วงเวลาหลากหลายทศวรรษของมาเฟียสหรัฐฯ จึงต้องแปลงใบหน้าของเหล่านักแสดงนำในเรื่องอย่าง อัล ปาชิโน (Al Pacino), โรเบิร์ต เดอ นีโร (Robert De Niro) และ โจ เปสซี (Joe Pesci) ให้ปรากฏตัวในช่วงหลากหลายอายุ
แม้หนังจะกวาดคำชมในแง่การกำกับและบทภาพยนตร์ แต่หนึ่งในเสียงด้านลบที่ต้องเผชิญคือความ ‘ไม่จริง’ ของตัวละครแต่ละวัยที่ปรากฏในเรื่อง เพราะกว่าครึ่งของหนังสกอร์เซซีใช้เทคโนโลยี de-aging เพื่อเล่าถึงช่วงที่ตัวละครยังเป็นวัยหนุ่ม และช่วยไม่ได้เลยที่มันอาจดูไม่เนียนเท่าตอนที่พวกเขาดูแก่ (กว่าอายุนักแสดงจริง)
โจ พัฟโล (Joe Pavlo) คนทำวิชวลเอฟเฟกต์จาก Total Recall (2012) บอกว่าปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของเทคโนโลยีนี้คือการใช้มันกับนักแสดงที่ดังมากๆ อยู่แล้วนั้นไม่น่าจะส่งผลดี
“คุณไปใช้มันกับนักแสดงระดับโรเบิร์ต เดอ นีโร กับ โจ เปสซี ไม่ได้หรอก พวกเขาโด่งดังเกินไป ใครก็รู้จักพวกเขา ถ้าอยากใช้เทคโนโลยีนี้จริงๆ ก็ไปใช้กับพวกนักแสดงที่ยังไม่ค่อยดังเถอะ” เขาบอก
ทั้งนี้ ความเห็นของพัฟโลก็ไม่ตายตัวนัก เพราะยังมีคนที่คิดว่าการใช้เทคโนโลยี de-aging ส่งผลดีต่อตัวหนังมากกว่า เดร็กเซล เฮิร์ด (Drexel Heard) หนึ่งในทีมงานฮอลลีวูดลงความเห็นว่า
“คนดูน่ะอยากดูนักแสดงคนเดิมไปตลอดทั้งเรื่อง เพราะถ้าคุณลองไปเปลี่ยนนักแสดงเข้าตอนกลางเรื่องเข้าละก็ พวกเขาจะคิดขึ้นมาทันทีเลยว่า ‘เดี๋ยวนะ นี่ไม่ใช่ตัวละครเดิมนี่นา นี่เอ็งเป็นใครเนี่ย แล้วคนนี้จะแสดงได้ดีกว่าคนที่เล่นมาตลอดทั้งเรื่องเหรอ’ ไม่มีอยากเจออะไรแบบนี้หรอกใช่ไหมล่ะ”
กระนั้น การเปลี่ยนตัวนักแสดงก็ไม่ได้ส่งผลลบเสมอไปนัก บ่อยครั้งมันส่งผลดีเสียด้วยซ้ำ Titanic (1997) ก็เป็นหนังที่เล่าถึงสองช่วงเวลาในชีวิตของ โรส ซึ่งในวัยสาวนั้นรับบทโดย เคต วินสเลต (Kate Winslet) และวัยชรารับบทโดย กลอเรีย สจวร์ต (Gloria Stuart) ซึ่งทั้งคู่ก็จับมือกันเข้าชิงออสการ์สาขานำหญิงและสมทบหญิงตามลำดับ ไม่ปรากฏว่ามีคนดูงุนงง หรือนำวินสเลตและสจวร์ตไปเทียบเคียงกัน
หรือแม้แต่ The Godfather Part II (1974) หนังเจ้าพ่อของ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา (Francis Ford Coppola) ที่เปลี่ยนนักแสดงแบบที่แต่ละคนสร้างภาพจำของตัวเองได้อย่างหมดจด กล่าวคือหลังจากที่ The Godfather (1972) ประสบความสำเร็จสุดขีด คนดูหนังจดจำ มาร์ลอน แบรนโด (Marlon Brando) ผู้รับบทเป็น ดอน คอร์ลีโอเน ระดับตำนาน ในภาคต่อซึ่งเล่าถึงที่มาการเถลิงอำนาจเป็นดอนของคอร์ลีโอเนนั้น คอปโปลาก็แคสต์เอานักแสดงหนุ่มวัย 30 ปีอย่างโรเบิร์ต เดอ นีโร มารับบทเป็นคอร์ลีโอเนวัยหนุ่มแทน และสามารถกวาดคำชมเชยถล่มทลาย ทั้งยังส่งเดอ นีโรคว้าออสการ์สาขาสมทบชายได้เป็นครั้งแรก
แฟรนไชส์ Indiana Jones เองก็เคยใช้นักแสดงสองคนรับบทเป็นตัวละครเดียวกันแต่คนละช่วงวัยใน Indiana Jones and the Last Crusade (1989) นั่นคือให้ ริเวอร์ ฟีนิกซ์ (River Phoenix) รับบทเป็นอินเดียนา โจนส์สมัยวัยรุ่น และฟอร์ดก็ยังคงรับบทเป็นโจนส์ช่วงวัยผู้ใหญ่เช่นเดิม ตัวหนังได้รับคำวิจารณ์แง่บวกและทำเงินไปทั้งสิ้น 474 ล้านเหรียญฯ (ฟีนิกส์เคยรับบทเป็นลูกชายฟอร์ดมาแล้วจาก The Mosquito Coast (1986) โดยฟอร์ดเป็นคนเสนอว่าให้เอาฟีนิกส์มารับบทเป็นตัวละครของเขาตอนวัยรุ่น ด้วยเหตุผลว่าเขาตอนรุ่นๆ หน้าตาเหมือนฟีนิกส์)
ที่น่าตื่นตาตื่นใจอีกเรื่องคือ Here หนังที่ยังไม่กำหนดวันออกฉายของ โรเบิร์ต เซเม็กคิส (Robert Zemeckis) ผู้กำกับจาก Back to the Future (1985) และ Forrest Gump (1994) ซึ่งเล่าชีวิตคนกลุ่มหนึ่งตั้งแต่วัยเยาว์จนถึงวัยชรา และกล่าวกันว่าหนังจะใช้เทคโนโลยี de-aging กับนักแสดงทุกคนในเรื่อง หนึ่งในนั้นคือ ทอม แฮงค์ส (Tom Hanks) กับ โรบิน ไรต์ (Robin Wright) ที่กลับมาพบกันอีกหนหลังจาก Forrest Gump
เทคโนโลยี de-aging อาจเป็นเรื่องที่เราต้องถกเถียงกันอีกยาวๆ ว่ามันส่งผลบวกหรือลบต่อหนังอย่างไร บ้างก็ว่ามันคือความทะเยอทะยานของคนทำหนัง ในการจะสรรหาลู่ทางใหม่ๆ เพื่อมาเล่าเรื่อง บ้างก็ว่ามันทำให้คนดู ‘หลุด’ ออกจากหนังเพื่อไปจับจ้องว่าเทคโนโลยีสมจริงแค่ไหน และเราก็อาจต้องรอพิสูจน์ประเด็นนี้ด้วยตาตัวเองเมื่อ The Dial of Destiny เข้าโรงฉาย
ทว่า ไม่ว่าอย่างไร ก็ยากจะปฏิเสธว่า de-aging อาจเป็นอีกก้าวใหญ่ของฮอลลีวูด ทั้งในเวลานี้และในอนาคต Indiana Jones and the Dial of Destiny
Tags: Screen and Sound, De-Aging, Indiana Jones and the Dial of Destiny, Indiana Jone