*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์บางส่วน

โรงละครและฉากหลังของโลก Cyberpunk 

ยินดีต้อนรับสู่โลกไซเบอร์พังค์ Cyberpunk โลกที่เย้ายวนใจด้วยเทคโนโลยีล้ำอนาคต หลายคนอาจเคยได้รับชมภาพยนตร์หรืออ่านนวนิยายแนวไซไฟ (Sci-fi) ล้ำอนาคตมาบ้าง ไม่ว่าจะเป็น สตาร์วอร์ส (Star Wars) เดอะ แมทริกซ์ (The Matrix) หรือวรรณกรรมสุดคลาสสิคอย่าง The War of the World ของ H.G. wells แต่โลกในภาพยนตร์แบบไหนถึงเรียกว่าไซเบอร์พังค์?

ลองมาทำความรู้จักกับความหมายของคำว่า Cyberpunk กันก่อน

คำว่า ไซเบอร์พังค์ คือการนำคำว่า ไซเบอร์เนติกส์ (Cybernetics) ที่แปลว่าระบบประสาท หรือเครือข่ายกลไกทางไฟฟ้า มารวมกับคำว่า พังค์ (Punk) ที่หมายถึงความกร้านโลก กบฏต่อสังคม ซึ่งทั้งหมดเป็นการเรียกนวนิยายประเภทหนึ่งที่มีแนวความคิดเริ่มต้นจากวิทยาศาสตร์และความล้ำหน้าในอนาคตมาต่อยอดให้ล้ำสมัยใหม่ขึ้น แต่ในขณะเดียวกันโลกดังกล่าวก็ไม่ได้สวยงาม กลับเป็นโลกดิสโทเปีย (Dystopia) ที่ทุกสิ่งเต็มไปด้วยความเลวร้าย ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพชีวิต สภาพอากาศ หรือศีลธรรมในใจของมนุษย์ สิ่งเดียวที่ล้ำหน้าคือเทคโนโลยีไซเบอร์

อาจเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าใครเป็นผู้ริเริ่มคำว่า ไซเบอร์พังค์ แต่ในช่วงปี 1960 เป็นต้นมา นวนิยายประเภทนี้เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นตามท้องตลาด ซึ่งที่เด่นชัดที่สุดคือนวนิยายชื่อตรงตัวอย่าง ‘Cyberpunk’ ของ บรูซ เบ็ธเค (Bruce Bethke) ที่ออกวางจำหน่ายในปี 1983 มีเนื้อหาที่เล่าถึงความอัตคัดข้นแค้นของผู้คนที่อยู่ในเมืองที่ล้ำหน้าเกินกว่ายุคสมัยจะไปถึง ซึ่งได้รับความนิยมจนมีการตีพิมพ์เพิ่มและทำออกในรูปแบบต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นวรรณกรรม ภาพยนตร์ รวมถึงเกมคอนโซล 

ในมีนาคม ปี 2012 บริษัทค่ายเกมน้องใหม่อย่าง CD Projekt RED ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากจากเกมไตรภาค ‘The Witcher’ ได้เปิดตัวเกมใหม่อย่าง ‘Cyberpunk 2077’ ที่ชาวเกมเมอร์ต่างนั่งเฝ้ารอคอยนับเวลาจะได้เล่น แต่กว่าจะได้วางจำหน่ายก็ต้องรอถึง 8 ปี และเมื่อวางจำหน่ายจริง ปรากฏว่าตัวเกมมีปัญหามากมายจนผู้เล่นต่างก่นด่าเป็นเสียงเดียวกัน และกลายเป็นเกมล้มเหลวแห่งปีไปในที่สุด แต่ในภายหลังก็มีการปรับแก้ตัวเกมให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าภาพยนตร์หรือเกม ทั้งหมดกำลังเล่นอยู่ภายใต้โรงละครเดียวกัน นั่นคือโลกของ Cyberpunk แน่นอนว่าเป็นฉากหลังเดียวกับภาพยนตร์แอนิเมชัน Cyberpunk: Edgerunners (2022) ผลิตโดยสตูดิโอทริกเกอร์ (Studio Trigger) และกำกับโดย ฮิโรยูกิ อิมาอิชิ (Hiroyuki Imaishi) ซึ่งเป็นการต่อยอดโลกของเกม Cyberpunk 2077 ให้กว้างขึ้น โดยเป็นเนื้อเรื่องหนึ่งปีก่อนที่จะดำเนินโลกในเกม ที่ทุกตัวละครต่างดั้นด้นใช้ชีวิตในเมือง Night City เมืองแห่งความฝันเช่นเดียวกัน

Night City : เมืองแห่งความฝัน 

ว่ากันว่า 2 สิ่งที่พรากไปจากมนุษย์ได้ยากที่สุดคือ ความหวัง และ ความฝัน” – Johnny silverhand (ตัวละครในเกม Cyberpunk 2077)

โลกที่เป็นฉากเบื้องหลังของทั้งเกมและภาพยนตร์แอนิเมชัน คือเมืองล้ำอนาคตในโลกที่ทุนนิยมเจริญแบบสุดขีด เมือง Night City เมืองแห่งอนาคตที่เต็มไปด้วยอุปกรณ์ที่ล้ำสมัย มีทั้งพาหนะขนส่งผู้คนทางอากาศ คนและปัญญาประดิษฐ์เป็นสิ่งเดียวกัน การเข้าถึงและสั่งการอุปกรณ์เทคโนโลยีด้วยความคิด รวมถึงเป็นที่ตั้งของบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลกที่ต่างแข็งขันกันแสดงแสงสีเสียงจากตึกที่สูงค้ำฟ้า ซึ่งมาพร้อมกับการดูแลความปลอดภัยระดับสูงสุด จนเมืองแห่งนี้ได้รับฉายาว่า ‘เมืองที่ไร้ซึ่งอาชญากร’ เห็นแล้วนึกถึง ‘กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆที่ลงตัว’ ของบ้านเราไม่มีผิด จึงไม่แปลกที่ผู้คนในโลก Cyberpunk ต่างพยายามพาตัวเองเข้ามาใช้ชีวิตในเมืองแห่งนี้ โดยหวังว่าสักวันจะไปยืนอยู่บนจุดสูงสุดของโลกทุนนิยมในเมือง Night City 

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงฉากหน้าของเมือง และผู้คนที่ใช้ชีวิตอย่างสุขสบายมีเพียง 1% จากประชากรทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่าคือเหล่าคนรวยและผู้มีอันจะกินทั้งหลาย ส่วนประชากรชนชั้นล่างในโลกแห่งนี้ต่างดิ้นรนเพื่อหาเงินมาใช้ชีวิต การพบอาชญากรรมทั่วทุกหัวมุมถนนเป็นเรื่องปกติ มีการค้ายาเสพติดอย่างเปิดเผย การค้าอวัยวะมนุษย์ รวมถึงการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์ที่สูงลิ่ว

เดวิด มาติเนส (David Martinez) เด็กหนุ่มผู้ไร้ความฝันจากครอบครัวชนชั้นล่าง อาศัยอยู่กับแม่ที่มีอาชีพเป็นพยาบาล และพักอาศัยในเขตพื้นที่ไม่ต่างจากสลัมสำหรับโลกไซเบอร์พังค์ ซึ่งแม่ของเขาพยายามอย่างหนักเพื่อส่งเสียให้เดวิดได้เรียนและเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทที่ควบคุมทรัพยากรทั้งหมด โดย ‘หวัง’ ว่าสักวัน เดวิดจะขึ้นไปสู่จุดสูงสุดของบริษัทและหลุดพ้นจากวงโคจรความยากจน ส่วนเดวิดเป็นเพียงเด็กหนุ่มที่ใช้ชีวิตไปวันต่อวันโดยไร้ซึ่งความฝันใดๆ

จนกระทั่งอาชญากรรมได้พรากทุกสิ่งไปจากเดวิด แม่เพียงคนเดียวของเขาจากไปด้วยการที่ไม่มีทางเลือก แต่เขาเพิ่งรู้ความจริงว่านอกจากแม่ของเขาเป็นพยาบาลแล้ว ฉากหลังเธอเป็นคนขายอวัยวะจักรกลผิดกฎหมาย และด้วยความโกรธเกรี้ยวต่อโลกทั้งหมด เดวิดจึงตัดสินใจนำอวัยวะดังกล่าวมาติดตั้งกับตัวเอง กระทั่งมาเจอกับลูซี่ (Lucy) แฮกเกอร์มือฉมัง ซึ่งในโลกของไซเบอร์พังค์เรียกว่า Netrunner เขาได้รับการชักชวนให้เข้าสู่กลุ่มนักรบรับจ้างทางไซเบอร์ ที่คอยทำสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะถูกหรือผิดกฎหมายหรือไม่โดยไม่สนวิธีการใดๆ นอกจากความสำเร็จ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ‘ความฝัน’ เขาค้นพบว่าความฝันของเขาคือไม่อยากให้พวกพ้องหรือคนที่รักต้องจากไปอีกแล้ว ในขณะเดียวกัน เขาก็จะนำพา ‘ความหวัง’ ของแม่ที่ว่า สักวันหนึ่งเขาจะต้องไปยืนบนจุดสูงสุดของโลกแห่งไซเบอร์พังค์ให้ได้

ในโลกแห่งนี้คุณจะเก่งขึ้นได้ ก็ด้วยการติดตั้งอวัยวะไซเบอร์แทนที่อวัยวะจริง และอวัยวะไซเบอร์นั้นหาได้ง่ายราวกับการหาร้านสะดวกซื้อชื่อดังในบ้านเรา แต่การได้มาซึ่งอวัยวะไซเบอร์ไม่ต่างจากเหรียญ 2 ด้าน หากติดตั้งอวัยวะไซเบอร์ที่มากเกินไป มีโอกาสที่ทำให้ผู้ติดตั้งมีสภาวะกลายเป็นวิกลจริตไซเบอร์ (Cyberpsycho) หรืออาการระบบประสาทถูกเทคโนโลยีครอบงำ ทำให้การตัดสินใจหรือความเป็นมนุษย์น้อยลง และฉากเปิดเรื่องเองก็ทำให้ผู้ชมเห็นว่าการตกอยู่ภายใต้การควบคุมของเทคโนโลยีนั้นน่ากลัวขนาดไหน

ผู้เขียนจึงอยากชวนคิดต่อว่าหากโลกของเราในปัจจุบัน การแข่งขันด้านเอไอ (AI : Artificial Intelligence) กำลังสูงลิ่ว ทุกบริษัทต่างเปิดตัวนวัตกรรมใหม่ๆ โดยเฉพาะเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่มีปัญญาประดิษฐ์ สามารถคิดเอง ตัดสินใจ และโต้ตอบได้ว่าจะทำสิ่งใด ยิ่งล้ำหน้ามากเท่าไร ระยะทางระหว่างโลกไซเบอร์ในอนาคตกับโลกปัจจุบันก็ดูจะน้อยลงเท่านั้น เมื่อถึงวันนั้นเอไอจะน่ากลัวหรือเป็นเช่นนั้นหรือไม่คงไม่มีใครตอบได้

สนทนาภาษาจักรกล : เอไอบุกเบิกหรือกำลังทำลายเผ่าพันธ์มนุษย์

เอไอ (A.I. : Artificial Intelligence) คือปัญญาประดิษฐ์ที่ติดตั้งโปรแกรมให้ทำงานต่างๆ ตามคำสั่ง และขณะเดียวกันก็สามารถคิดว่าจะทำอย่างไร โดยใช้การตัดสินใจเพียงน้อยนิดและถึงขั้นเป็นการตัดสินใจที่เฉียบคมมากกว่ามนุษย์หลายเท่า

ความเก่งกาจของเอไอแสดงให้เห็นในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเอไอวาดภาพตามการอธิบายอย่าง Midjourney หรือแม้แต่รถยนต์ไร้คนขับ การมาถึงของโลกที่เต็มไปด้วยเอไอเช่นนี้ ย่อมนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลงชนิดเปลี่ยนหน้ามือ แต่จะกลายเป็นฝ่ามือหรือหลังมือยังไม่มีใครรู้

ย้อนกลับไปในปี 2017 เกิดการปะทะคารมขึ้นในโลกออนไลน์ระหว่าง นักธุรกิจหนุ่มชื่อดัง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้บริหารและผู้ก่อตั้งบริษัท Tesla และ SpaceX ที่ออกมาให้ความเห็นว่า AI เป็นสิ่งที่อันตรายและน่ากลัวที่สุดที่มนุษย์เคยสร้างขึ้นมา เขาแสดงจุดยืนชัดเจนในการเตือนภัยถึงอันตรายที่อาจมาพร้อมกับความฉลาดของ A.I. ในกรณีที่เลวร้าย เขาคิดว่า A.I. อาจทำให้มนุษย์สูญสิ้นเผ่าพันธุ์ไม่ต่างจากภาพยนต์ The Terminator (1984) ที่มนุษย์ต้องอยู่ภายใต้จักรกล เขาจึงเสนอให้รัฐต้องมีมาตรการในการควบคุมอุตสาหกรรม A.I. อย่างรัดกุม

ไม่เพียงแค่ อีลอน มัสก์ เท่านั้น บิล เกตส์ (Bill Gates) เจ้าพ่อแห่งเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ผู้ก่อตั้งบริษัท Microsoft ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่เข้ามาตอบโต้ความคิดเห็นดังกล่าว โดยเขาเห็นพ้องกับ อีลอน มัสก์ ว่า ในอนาคต  A.I. จะเป็นภัยคุกคาม และกำลังค่อยๆ แย่งงาน รวมถึงพื้นที่ทางสังคมของมนุษย์อีกด้วย

แนวความคิดการกลัวเทคโนโลยีเช่นนี้ ไม่ได้เพิ่งมีขึ้นในปีหรือสองปีที่ผ่านมา แต่มีขึ้นตั้งแต่ช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม เมื่อกลุ่มคนงานทอผ้าในช่วงทศวรรษที่ 1812 บุกเข้าไปทำลายเครื่องจักรที่กำลังปั่นและทอผ้า เพียงเพราะพวกเขาเชื่อว่าเครื่องจักรเหล่านี้กำลังเข้ามาแย่งงานที่พวกเขาทำ จนมาถึงปัจจุบันก็มีกลุ่มคนที่ต่อต้านเทคโนโลยีอย่างสุดโต่งอยู่ในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในประเทศโลกที่หนึ่ง ที่เป็นหัวหอกในการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ

เมื่อผู้ไม่เห็นด้วยกับเอไอก็ย่อมมีผู้เห็นต่าง หนึ่งในนั้นคือ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) นักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จจากแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก (Facebook) ที่โด่งดังเป็นพลุแตกและกลายเป็นมหาเศรษฐีในช่วงพริบตา เขาเห็นต่างว่า A.I. สร้างโดยมนุษย์มีจุดมุ่งหมายเพียงอย่างเดียวคือเพื่อช่วยเหลือและทำให้คุณภาพชีวิตมนุษย์ดีขึ้น เขากล่าวว่าแนวคิดเรื่องวันสิ้นโลกเป็นความคิดแง่ลบและล้าสมัยในปัจจุบัน รวมถึงในปัจจุบัน เฟซบุ๊ก มีการอัปเดตอีกมากมายรวมถึงสิ่งที่เรียกว่า เมตาเวิร์ส (metaverse) ที่เป็นการนำตัวตนของเราเข้าไปสู่โลกเสมือนจริงในพื้นที่ดิจิทัล ผ่านเครื่องมือทางเทคโนโลยีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแว่น VR หรือ อุปกรณ์ใหม่ๆ ที่สร้างขึ้น แนวความคิดนี้มีอยู่ภาพยนต์แอนิเมชันเรื่อง Cyberpunk: Edgerunners ในช่วงที่ตัวละครเอกกำลังใช้สิ่งที่เรียกว่า เบรนแดนซ์ (ฺBrain Dance) ที่สามารถทำให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าไปอยู่ในโลกเสมือนจริงได้ตามต้องการ

นอกจากมาร์ก ยังมีอีกไม่น้อยที่คิดเหมือนเขา เช่น เอริก ชมิดต์ (Eric Schmidt) อดีต CEO ของ Google ที่เห็นว่าไม่ควรแตกตื่นกับเรื่องของ A.I. แต่ควรมองที่ประโยชน์จากการพัฒนาของพวกมันมากกว่า และเราควรสนใจไปที่การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยี

ไม่ว่าจะลงเอยอย่างไร แต่สิ่งที่สำคัญคือ ในขณะนี้เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งกับวิถีชีวิตประจำวันของเราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้น การหันมาให้ความสนใจว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไรระหว่างไซเบอร์และผู้คนย่อมเป็นเรื่องที่น่าสนใจ

 Cyborg Manifesto การหาความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์ และ จักรกล 

การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และเครื่องจักรมีมากมายหลายวิธี แต่ที่ผู้เขียนให้ความสนใจคือการขยายพรมแดนของความเข้าใจในระหว่างความสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ให้กว้างขึ้นโดยไม่ได้มองความสัมพันธ์เพียงแค่ทวิลักษณ์ เช่น ชายหรือหญิง หรือเข้าใจสังคมเพียงเพราะการกระทำ แต่ให้สนใจความสัมพันธ์ที่ก่อขึ้นระหว่างกันมากกว่าสนใจผู้กระทำและการกระทำ

แนวความคิดปรากฏในบทความ The Cyborg Manifesto ของ ดอนน่า ฮาราเวย์  (Donna J. Haraway) ศาตราจารย์ผู้ช่ำชองการศึกษาสังคมผ่านเทคโนโลยีต่างๆ บทความดังกล่าวตีพิมพ์ขึ้นในปี 1985 โดยเธอพยายามชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของสิ่งที่ช่วยกันสร้างให้เกิดสังคมหรือเกิดระบบต่างๆ โดยมองให้ทะลุจากเส้นแบ่งที่ขีดไว้ว่า มนุษย์ สัตว์ หรือแม้แต่เครื่องจักรที่ไร้ชีวิต (ซึ่งอาจมีชีวิตในอนาคต) ซึ่งการดำรงอยู่ของทั้งหมดต่างมีส่วนผสมรวมกัน จึงเกิดเป็นความสัมพันธ์แบบใหม่ที่ซับซ้อนและคลุมเครือมากกว่าเดิม ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการข้ามพ้นความเป็นศูนย์กลางของมนุษย์และขยับไปสู่การผสานเชื่อมโยงสิ่งต่าง ๆ เข้ามาอยู่ในพื้นที่เดียวกัน

 ผู้เขียนมองถึง ภาพยนต์เรื่อง HER (2013) ที่มนุษย์คนหนึ่งเข้าไปพัวพันและหลงรักเสียงของ A.I. สิ่งเหล่านี้คือการสลายพันธะว่ามนุษย์ต้องรัก โลภ โกรธและหลงได้เพียงแต่มนุษย์ด้วยกันเท่านั้น หรืออีกหลายเรื่องที่ตั้งอยู่บนความท้าทายดังกล่าว

อย่างไรก็ดี มีคำถามอีกมากมายว่ามนุษย์กับจักรกลจะอยู่ร่วมกันอย่างไร หากจักรกลเป็นส่วนหนึ่งของมนุษย์อย่างในแอนิเมชัน Cyberpunk: Edgerunners ที่มีการแทนที่อวัยวะต่างๆ ด้วยจักรกล หากมีมากจนเกินไปเหมือนตัวร้ายหลักของภาพยนตร์ อย่าง อดัม สแมชเชอร์ (Adam Smasher) ที่ร่างกายของเขาแทบไม่ต่างจากจักรกลเดินได้ เช่นนี้ เราจะนิยามว่าเขาเป็นมนุษย์หรือจักรกล? 

ความหมายและการมีชีวิตอยู่ของ Edgerunner

สำหรับ Edgerunner มีคำกล่าวที่ว่า ‘โลกไม่ได้จดจำชื่อของคุณ แต่จดจำว่าคุณตายอย่างไร’

หลายคนกล่าวว่าสิ่งที่ทำให้มนุษย์กับ A.I. ต่างกันคือความหมายของการมีชีวิต ปัญญาประดิษฐ์ออกแบบมาเพื่อทำงานในสิ่งที่ได้รับ แต่มนุษย์อาจมีเจตนาของการดำรงอยู่ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น หรือบางทีเส้นความหมายดังกล่าวอาจจะพร่าเลือนจนไม่อาจทราบได้ว่า เจตนาและความการใช้ชีวิตของ A.I. ก็คือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ไม่ว่าจะอย่างไรสำหรับเหล่า Edgerunner การมีอยู่ของพวกเขาคือการแข่งขันกันสร้างตำนานที่ทิ้งชื่อไว้ในเมือง Night City แห่งนี้

อย่างที่กล่าวไปในข้างต้นว่า เมื่อ เดวิด มาติเนส ผันตัวมาเป็นนักรบรับจ้าง จากเด็กที่มีพื้นฐานชีวิตต่ำต้อยสู่ Edgerunner มือฉมัง ที่โอบอุ้ม ’ความฝัน’ ของแม่ และ ‘ความหวัง’ ที่จะทำให้คนรอบข้างมีความสุข

ในเรื่องนี้มักมีการย้ำการกระทำของตัวละครเสมอว่าเป็น ‘คนพิเศษ’ จึงสามารถทำได้ การที่เดวิดสามารถนำจักรกลไซเบอร์ต่างๆ มาติดที่ตัวและไม่เข้าสู่อาการวิกลจริต นั่นถือว่าเขาพิเศษกว่าใคร แต่ในความเป็นจริงตัวเขาก็มีอาการเช่นกัน แต่ด้วยความหวังที่แบกไว้ว่าจะขึ้นไปถึงจุดสูงสุดของเมือง Night City และขณะเดียวกันก็จะหาเงินเพื่อบินไปยังดวงจันทร์เพื่อทำตามความฝันของคนที่เขารักอย่างลูซี่

ถึงแม้บทสรุปแอนิเมชันเรื่องนี้จะทำให้ทุกคนอึ้งไปตามๆ กัน และอาจทำให้หลายคนเสียน้ำตา แต่สุดท้าย ชื่อของ เดวิด มาติเนส ก็กลายเป็นอีกหนึ่งความทะเยอทะยานและการมีชีวิตอยู่ของบรรดา Edgerunner สิ่งเหล่านี้เองอาจเป็นอีกหนึ่งความตั้งใจของผู้สร้างที่พยายามชี้ให้เราเห็นว่า ความแตกต่างระหว่างมนุษย์และจักรกลอาจจะอยู่ที่การมีชีวิตอยู่เพื่อใครหรือทำอะไร มากกว่าที่ตามหาว่าตัวตนเริ่มต้นเป็นอย่างไรหรือเกิดมาทำไมเสียด้วยซ้ำ

แน่นอนว่าภายหลังปรากฏการณ์ Cyberpunk: Edgerunners จบลง มีผู้คนเข้าไปโหลดและเล่นเกม Cyberpunk  2077 มากกว่าเดิมพร้อมกับการไปล้างแค้นตัวร้าย

ผู้เขียนเชื่อว่าหากผู้อ่านดู Cyberpunk: Edgerunners จนจบ เพลง I Really Want to Stay at Your House และมวลอารมณ์ความรู้สึกจะยังคงตราตรึงไปอีกนาน

 

อ้างอิง

อยู่ด้วยกัน : พื้นที่ เทคโนโลยี และความเป็นอื่น, คงกฤช ไตรยวงศ์

มานุษยวิทยาพ้นมนุษย์, ยุกติ มุกดาวิจิตร ชัชชล อัจนากิตติ

https://cyberpunk.fandom.com/wiki/Cyberpunk_Wiki

https://waymagazine.org/cyberpunk2077-game/

https://thematter.co/science-tech/ai-opinion-war/30774

https://www.sac.or.th/portal/th/article/detail/375?

Tags: , , , ,