กว่า 8 ปีหลังจาก Mockingjay – Part 2 ภาพยนตร์ภาคล่าสุดจากแฟรนไชส์ The Hunger Games ออกฉายเมื่อปี 2015 ล่าสุด คอริโอเลนัส สโนว์ (Coriolanus Snow) ประธานาธิบดีทรราชและ ‘ตัวโกง’ น้ำดีจากวรรณกรรมเยาวชนดิสโทเปียเรื่องดัง ได้กลับมาปรากฏตัวบนจอเงินอีกครั้งในฐานะ ‘ตัวเอก’

The Ballads of Songbirds and Snakes ถือเป็นการต่อยอดความสำเร็จของแฟรนไชส์เดิมที่ยังคงคุกรุ่น ส่วนหนึ่งอาจด้วยความ ‘คมคาย’ ของ ‘สัญญะ’ ที่สื่อถึงการลุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจรัฐเผด็จการ จึงไม่แปลกใจหากความนิยมของนิยายและภาพยนตร์ชุดนี้ไม่มอดดับลง

ในภาคนี้ ภาพยนตร์พาเราย้อนเวลากลับไปเมื่อ 64 ปีก่อน หรือจุดเริ่มต้นก่อนที่เนื้อเรื่องหลักในภาคของ แคตนิส เอเวอร์ดีน จะอุบัติ ชายที่เราได้เห็นในตอนต้นเรื่องไม่ใช่ ‘สโนว์’ ผู้โหดเหี้ยมอำมหิต (รับบทโดย โดนัลด์ ซัทเธอร์แลนด์) แต่เป็น ‘คอริโอเลนัส’ เด็กหนุ่มวัย 18 ปี (รับบทโดย ทอม บลายธ์) ที่แม้จะดูหมกมุ่นกับภาพลักษณ์และฐานะทางสังคมอยู่บ้าง แต่ตัวตนก็ห่างไกลจากนิยามคำว่า ‘ชั่วร้าย’ อยู่มาก

ชนชั้นปกครองผู้ตกยาก

คอริโอเลนัสเกิดมาในตระกูลสโนว์ที่เคยมั่งคั่งและมีชื่อเสียงที่สุดตระกูลหนึ่งของพาเน็ม หากอ้างอิงจากเนื้อเรื่องในหนังสือ ปัญหาในครอบครัวของเด็กหนุ่มเริ่มขึ้นด้วยความตายของแม่ของเขาขณะกำลังคลอดน้องสาวในช่วงสงคราม ตามมาด้วยการสูญเสียพ่อผู้เป็นเสาหลักของครอบครัว จากการถูกลอบสังหารโดยกลุ่มต่อต้าน 

ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาสโนว์และ ‘ไทกริส’ (รับบทโดย ฮันเตอร์ เชฟเฟอร์) ลูกพี่ลูกน้องของเขาจึงต้องเติบโตขึ้นมาอย่างยากจนแร้นแค้น แม้จะอาศัยอยู่ในเพนต์เฮาส์หรูหราที่สุดในแคปิตอลก็ตาม สภาพการณ์ดังกล่าวถูกสะท้อนผ่านฉากภายในบ้านที่แสดงให้เห็นถึงความมืดมนและซอมซ่อ

ความวิตกกังวลเรื่องภาพลักษณ์และเสื้อผ้าเป็นหนึ่งในรายละเอียดแรกๆ ที่เวอร์ชันภาพยนตร์จำเป็นต้องเล่าตกหล่นไปอย่างน่าเสียดายด้วยข้อจำกัดด้านเวลา แม้จะมีอีสเตอร์เอ้กสอดแทรกพอให้แฟนหนังสือสังเกตได้บ้าง แต่มีโอกาสสูงที่ผู้ชมทั่วไปจะไม่ทันสังเกตเห็นสิ่งเหล่านี้

ต้นกล้าแห่งความทะเยอทะยานที่จะเป็นใหญ่

เมล็ดพันธุ์แห่งความกระหายอำนาจของคอริโอเลนัสถูกหว่านลงในหัวใจของเขาตั้งแต่เยาว์วัย ด้วยเพราะรู้ดีว่าตนเป็นนักเรียนที่มีความสามารถ แต่กลับไม่ถูกจดจำ ไม่ได้รับการยอมรับ และไม่มีใครคอยหนุนหลัง มวลความรู้สึกไม่มั่นคงนี้คือส่วนหนึ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเพื่อนร่วมรุ่นหลายคนเป็นไปอย่างตื้นเขิน

แม้แต่มิตรภาพที่มีต่อ ซีเจนัส พลินธ์ (รับบทโดย จอช อันเดรส ริเวรา) เพื่อนร่วมชั้นที่กลายมาเป็นเพื่อนสนิทในภายหลัง และความสัมพันธ์กับ ลูซี เกรย์ แบร์ด (รับบทโดย เรเชล เซกเลอร์) บรรณาการหญิงจากเขต 12 ที่กลายมาเป็นคนสำคัญของเขา ต่างก็เริ่มต้นอย่างไม่จริงใจนัก

เขาไม่ได้ช่วยชีวิตซีเจนัสเพราะห่วงใยจากใจจริง แต่เพราะรู้ว่าครอบครัวพลินธ์ร่ำรวยและทรงอำนาจแค่ไหน และไม่ได้ช่วยเหลือลูซี เกรย์ เพราะตระหนักได้ถึงความโหดร้ายของเกมล่าชีวิต แต่เพราะคุณสมบัติดาราและความโดดเด่นของตัวเธอ ได้ปลุกความกระหายที่จะชนะในตัวเขาให้ตื่นขึ้นมา

คอริโอเลนัสรู้สึกได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ฟังเพลงของลูซี เกรย์ ว่า หากเอาชนะใจเธอในฐานะที่ปรึกษาได้ เธออาจกลายมาเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของเขา

‘รักแรก’ ของทรราช

แม้ภายใต้หน้ากากของชายหนุ่มที่สมบูรณ์แบบจะเป็นหัวใจที่เย็นชาเพียงใด แต่เด็กหนุ่มก็ไม่ใช่ปีศาจไร้ความรู้สึก (อย่างน้อยก็ยังไม่ใช่ในตอนนี้)

หากพิจารณาเพียงเนื้อเรื่องในภาพยนตร์ ผู้ชมอาจตีความความรู้สึกที่คอริโอเลนัสมีต่อลูซี เกรย์ได้หลายทิศทาง ดูผิวเผินอาจเหมือนทั้งคู่ตกหลุมรักกันทั้งสองฝ่าย แต่ก็มีสัญญาณหลายอย่างที่ชวนให้เราสงสัยเช่นกันว่า สโนว์อาจไม่เคยตกหลุมรักเธอจริงๆ เลยแม้แต่น้อย การกระทำของเขาทั้งหมดเกิดขึ้นเพียงเพราะเล็งเห็นแก่ผลประโยชน์มหาศาล จากการเล่นบท ‘ชายหนุ่มนักรัก’ ก็เท่านั้น ซึ่งนั่นแปรเปลี่ยนมาเป็นความหมกมุ่นในภายหลัง

หรือหากไม่ใช่อย่างนั้น เขาอาจตั้งใจใช้ประโยชน์โดยไม่ต้องการจะตกหลุมรักเธอจริงๆ ในช่วงแรก แต่กลับไม่สามารถห้ามความรู้สึกที่ค่อยๆ ก่อตัวขึ้นได้

ข้อแตกต่างประการหนึ่งระหว่างภาพยนตร์กับหนังสือ ในเวอร์ชันนิยาย บทบาทของ บิลลี โทป รักแรกของลูซี เกรย์ เปิดโอกาสให้ผู้อ่านได้สำรวจความรู้สึกลึกๆ ในใจที่คอริโอเลนัสมีต่อลูซี เกรย์ ขณะที่ในเวอร์ชันภาพยนตร์ บิลลีปรากฏตัวเป็นเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่ฉากและแทบไม่ส่งผลอะไรต่อ ‘ความรู้สึกไม่มั่นคง’ ภายในจิตใจของเขา

อย่างไรก็ดี แม้จะมีรายละเอียดที่ต้องตัดทอนออกไปบ้าง แต่ถือว่าภาพยนตร์สามารถคงภาพรวมของความสัมพันธ์ระหว่างคอริโอเลนัสกับลูซี เกรย์ เอาไว้ได้อย่างค่อนข้างซื่อตรงต่อต้นฉบับทีเดียว

Snow Lands on Top

สิ่งหนึ่งที่เราคิดว่าทั้งภาพยนตร์และนิยายต้นฉบับต่างก็ทำได้ดีไม่แพ้กัน คือการเล่าเรื่องให้ ‘เข้าใจ’ ที่มาที่ไปและแรงขับเคลื่อนของตัวละคร และแสดงให้เห็น ‘ความเป็นมนุษย์’ ของเขาในช่วงก่อนที่จะเติบโตมาเป็นผู้นำเผด็จการได้ โดยไม่ต้องใช้ซีนน่าสงสารมาเรียกร้องให้ ‘เห็นใจ’ หรือหาเหตุผลใดๆ มาสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของสโนว์ 

มีหลายฉากที่ปูเรื่องให้เชื่อมต่อไปยังเนื้อเรื่องในอนาคต ด้วยการเผยตัวตนของเขาที่ ‘เชื่อง’ ต่ออำนาจรัฐมาตั้งแต่ต้น โดยเฉพาะในช่วงที่เขาถูกลงโทษด้วยการส่งไปเป็นพีซคีปเปอร์ (Peacekeeper) ที่เขต 12 เขารู้สึกไม่ชอบใจทุกครั้งเมื่อตัวละครอื่นแสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่ไม่สยบยอมต่อแคปิตอล แม้ว่าตัวเองจะถูกแคปิตอลเขี่ยทิ้งมาก็ตาม

จริงอยู่ที่หนังอาจแสดงให้เห็นถึงแง่มุมที่ดูขบถของเด็กหนุ่มอยู่บ้าง แต่นั่นไม่ได้เกิดจากความรู้สึกรังเกียจระบบชนชั้นและความไม่เท่าเทียม สาเหตุที่คอริโอเลนัสแหกกฎต่างๆ และทำอะไรนอกกรอบ เป็นเพราะเขาไม่เห็นด้วยกับรูปแบบเกมที่ซ้ำซากจำเจในปัจจุบัน และเพราะคิดว่าตนเองสามารถเป็นผู้นำที่ยอดเยี่ยมกว่านี้ได้ต่างหาก 

ปณิธานที่จะกอบกู้ความรุ่งโรจน์ของตระกูล เพื่อให้ ‘สโนว์’ สามารถกลับไปยืนอยู่ที่จุดสูงสุดได้อีกครั้งนี้เอง ที่ได้บ่มเพาะให้คอริโอเลนัสวัย 18 ปี กลายมาเป็นประธาธิบดีสโนว์ที่เรารู้จักในภาคหลักในที่สุด

อาจกล่าวได้ว่านี่คือเรื่องราวแนว Coming of Age นอกตำรา ที่พิสูจน์ว่าการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ของ ‘ฝ่ายอธรรม’ ก็สามารถดึงดูดใจผู้ชมได้ไม่แพ้ ‘ฝ่ายธรรมะ’ นั่นเอง

Tags: , , , , ,